คลังค้นคว้า
บทที่ 95: แอลมา 38


บทที่ 95

แอลมา 38

คำนำ

ชิบลันรับใช้เป็นผู้สอนศาสนากับแอลมาบิดาของเขาในบรรดาชาวโซรัม (ดู แอลมา 31:7) หลังจากงานเผยแผ่ครั้งนี้ แอลมาแสดงความปลื้มปีติในความแน่วแน่และความซื่อสัตย์ที่ชิบลันแสดงให้เห็นขณะทนรับการข่มเหง แอลมาเป็นพยานต่อชิบลันถึงเดชานุภาพแห่งการปลดปล่อยของพระผู้ช่วยให้รอดและให้คำแนะนำเกี่ยวกับความพยายามอย่างต่อเนื่องของชิบลันในการสอนพระกิตติคุณ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 38:1–3

แอลมาแสดงความปลื้มปีติในความซื่อสัตย์ของชิบลัน

หากท่านเชื้อเชิญนักเรียนให้ทำกิจกรรมนำกลับบ้านตอน จบบทเรียนครั้งก่อน ให้เตือนพวกเขาเรื่องคำถามสองข้อที่ท่านเชื้อเชิญพวกเขาให้ถามบิดามารดาหรือผู้ใหญ่อีกคนที่พวกเขาไว้ใจ

  • การเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าช่วยคุณอย่างไร

  • คุณมีคำแนะนำอะไรที่จะช่วยให้ฉันฉลาดขึ้นในวัยเยาว์ของฉัน

ขอให้นักเรียนรายงานประสบการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับกิจกรรมนี้ หลังจากนักเรียนแบ่งปันแล้วให้ถามว่า

  • ประสบการณ์นี้มีอิทธิพลอย่างไรต่อความปรารถนาของท่านที่จะรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า

อธิบายว่า แอลมา 38 บันทึกคำแนะนำที่แอลมาให้ชิบลันบุตรชาย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 38:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาวลีที่บอกว่าแอลมารู้สึกอย่างไรต่อชิบลันและเพราะเหตุใด เชื้อเชิญนักเรียนให้รายงานสิ่งที่พบ

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจาก แอลมา 38:2–3 เกี่ยวกับผลซึ่งลูกที่ชอบธรรมมีต่อบิดามารดา (นักเรียนอาจมีคำตอบหลากหลาย พวกเขาพึงระบุความจริงว่า เมื่อเยาวชนแน่วแน่และซื่อสัตย์ในการรักษาพระบัญญัติ พวกเขาจะนำความปลื้มปีติมาสู่บิดามารดา)

  • บิดามารดารู้สึกปลื้มปีติเพราะการตัดสินใจที่ดีของท่านหรือเพราะท่านพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณเมื่อใด

  • การที่ท่านพยายามรักษาพระบัญญัติมีอิทธิพลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ของท่านกับบิดามารดา

ท่านอาจต้องการยกตัวอย่างว่าครอบครัวท่านได้รับอิทธิพลอย่างไรจากการเลือกที่ชอบธรรมของบุตรธิดาในครอบครัว

แอลมา 38:4–9

แอลมาเป็นพยานถึงเดชานุภาพแห่งการปลดปล่อยของพระผู้ช่วยให้รอด

อธิบายว่าแอลมาเตือนชิบลันว่าพวกเขาทั้งคู่ประสบเดชานุภาพแห่งการปลดปล่อยของพระผู้ช่วยให้รอดมาแล้ว จงเตรียมแผนภูมิต่อไปนี้ไว้เป็นเอกสารแจก หรือติดไว้บนกระดาน และขอให้นักเรียนลอกลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

ชิบลัน (Alma 38:4–5)

แอลมา (แอลมา 38:6–8)

เขาได้รับการปลดปล่อยจากอะไร

เหตุใดเขาจึงได้รับพรของการปลดปล่อย

เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์นี้

เติมแผนภูมิให้ครบถ้วนด้วยกันในชั้นเรียน หรือมอบหมายให้นักเรียนเติมเป็นคู่ ให้นักเรียนเปิดอ่านข้อพระคัมภีร์ที่เขียนไว้ในแผนภูมิขณะพวกเขาตอบคำถาม กระตุ้นพวกเขาให้เพิ่มเติมสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับพระเจ้าทรงปลดปล่อยชิบลัน (ดู แอลมา 38:2–3) และแอลมา (ดู โมไซยาห์ 27; แอลมา 36) หลังจากนักเรียนเติมแผนภูมิครบถ้วนแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยพวกเขาสนทนาหลักธรรมที่เรียนรู้

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์ของชิบลัน (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมต่างกัน พวกเขาพึงระบุความจริงต่อไปนี้: หากเราทนรับทุกอย่างด้วยความอดทนและความวางใจในพระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะทรงปลดปล่อยเราจากการทดลอง ความเดือดร้อน ความทุกข์ และยกเราขึ้นในวันสุดท้าย)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์ของแอลมา (ถึงแม้นักเรียนจะตอบต่างกัน แต่พวกเขาพึงแสดงให้เห็นว่า เพื่อรับการปลดบาปของเราและพบสันติสุขให้จิตวิญญาณของเรา เราต้องใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และแสวงหาพระเมตตาของพระองค์)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 38:9 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่แอลมาต้องการให้บุตรชายเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็น “ทางหรือวิธี [เดียว] ซึ่งโดยทางนั้น [เรา] จะได้รับการช่วยให้รอดได้”

  • ท่านเคยมีประสบการณ์ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปลดปล่อยท่านผ่านเดชานุภาพของพระองค์ในด้านใด (ท่านอาจต้องการให้เวลานักเรียนไตร่ตรองคำถามนี้ก่อนขอให้พวกเขาตอบ) ท่านทำอะไรเพื่อแสวงหาการปลดปล่อยดังกล่าว

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองพอสมควรว่าพวกเขาจะแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าในเรื่องการท้าทายส่วนตัวได้อย่างไร

แอลมา 38:10–15

แอลมาแนะนำชิบลันให้สอนพระกิตติคุณและพัฒนาคุณลักษณะอันชอบธรรมต่อไป

อธิบายว่าแอลมากระตุ้นชิบลันให้พัฒนาคุณสมบัติอันจะช่วยเขาขณะยังคงสอนพระกิตติคุณและรับใช้ผู้อื่นต่อไป คำแนะนำของแอลมาต่อชิบลันสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกคนที่ต้องการรับใช้ สอน หรือมีอิทธิพลดีต่อผู้อื่น เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 38:10–15 ในใจ โดยมองหาคำแนะนำที่จะช่วยพวกเขาเป็นพิเศษ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาพบ

แจกสำเนาของคู่มือศึกษาท้ายบทนี้ให้นักเรียน อธิบายว่าเมื่อพวกเขาใช้คู่มือ พวกเขาจะเห็นว่า การที่เราพยายามพัฒนาคุณลักษณะอันชอบธรรมจะเตรียมเราให้พร้อมสอนและรับใช้ผู้อื่น เชื้อเชิญพวกเขาให้เลือกคำแนะนำส่วนหนึ่งของแอลมาในคอลัมน์ซ้ายของคู่มือและทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกันในคอลัมน์ขวา (หากท่านไม่สามารถทำสำเนาคู่มือศึกษาได้ ให้ดัดแปลงกิจกรรม โดยนำการสนทนาในชั้นเรียนและใช้ข้อมูลในคู่มือศึกษาเป็นแหล่งช่วย)

เมื่อนักเรียนมีเวลาทำกิจกรรมการเรียนรู้หนึ่งกิจกรรมในคู่มือศึกษามากพอแล้ว ท่านอาจขอให้พวกเขาหลายๆ คนแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้จากกิจกรรมนี้และวิธีที่พวกเขาวางแผนจะประยุกต์ใช้ หากท่านแจกสำเนาคู่มือศึกษาให้นักเรียน จงกระตุ้นพวกเขาให้นำกลับบ้านไปเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคำแนะนำที่แอลมาให้แก่ชิบลัน

คู่มือศึกษาสำหรับ แอลมา 38:10–12

สำรวจคำแนะนำส่วนต่างๆ ของแอลมาที่เขียนไว้ด้านล่าง และเลือกมาหนึ่งอย่างที่ท่านต้องการปรับปรุง ทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกันเพื่อช่วยท่านประยุกต์ใช้คำแนะนำนี้ในชีวิตท่าน

คำแนะนำของแอลมา

กิจกรรมการเรียนรู้

“ขยันหมั่นเพียรและรู้จักยับยั้งใจในทุกสิ่ง” (แอลมา 38:10)

ความขยันหมั่นเพียรคือความพยายามอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ถี่ถ้วน และจริงจัง การยับยั้งชั่งใจคือ “ใช้ความพอประมาณในทุกเรื่องหรือใช้การควบคุมตนเอง” (ดู เคนท์ ดี. วัทสัน, “ยับยั้งตนในทุกสิ่ง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, หน้า 46)

“จงแน่ใจว่าลูกจะไม่ทะนงตนจนถือดี; … ไม่โอ้อวด” (แอลมา 38:11)

ด้านหนึ่งของความจองหองคือวางใจตนเองมากกว่าพระผู้เป็นเจ้า ความจองหองประจักษ์ชัดเช่นกันเมื่อคนหนึ่งคิดว่าเขาเหนือกว่าหรือสำคัญกว่าผู้อื่น เขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าสมาชิกศาสนจักรจองหองในการเรียกของเขา เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “สานุศิษย์ที่แท้จริงพูดด้วยความมั่นใจเงียบๆ ไม่ใช่ยโสโอหัง” (“ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งการเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, หน้า 91) นึกถึงคนรู้จักที่สอนพระกิตติคุณ “ด้วยความมั่นใจเงียบๆ” ให้เขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านเกี่ยวกับบุคคลนี้และประสิทธิผลของการสอนที่มีต่อท่าน เขียนหนึ่งหรือสองวิธีที่ท่านจะพยายามหลีกเลี่ยงความจองหอง

“ใช้ความองอาจ, แต่ไม่ใช่วางเขื่อง” (แอลมา 38:12)

อ่านคำพูดของอัครสาวกเปาโลใน ฟีลิปปี 1:14 (ในพันธสัญญาใหม่) เพื่อดูว่าผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้าสามารถแสดงความองอาจได้อย่างไร ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงการวางเขื่องได้อย่างไร “ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเราจำเป็นต้อง … เสียงดัง ระราน หรือมีความรู้สึกเชื่องช้าในวิธี [ทำงานเผยแผ่ศาสนา] ของเรา” (ใน เจมส์ พี. เบลล์, In the Strength of the Lord: The Life and Teachings of James E. Faust [1999], 373) ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน ให้เขียนว่าคนๆ หนึ่งจะองอาจโดยไม่วางเขื่องได้อย่างไร บันทึกวิธีหนึ่งที่ท่านจะประยุกต์ใช้คำแนะนำให้องอาจแต่ไม่วางเขื่อง เขียนด้วยว่าคำแนะนำนี้สามารถช่วยให้ท่านประสบความสำเร็จในการสอนและรับใช้ผู้อื่นได้อย่างไร

“หักห้ามความลุ่มหลงทั้งปวงของลูก” (แอลมา 38:12)

การหักห้ามหมายถึงยับยั้ง นำทาง หรือควบคุม ความลุ่มหลงคืออารมณ์รุนแรง ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ และเขียนคำตอบของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน: ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องหักห้ามความลุ่มหลงของเรา ท่านคิดว่าการหักห้ามความลุ่มหลงสามารถช่วยให้ท่านเปี่ยมด้วยความรักได้อย่างไร ท่านจะทำอะไรเพื่อทำตามคำแนะนำของแอลมาให้หักห้ามความลุ่มหลงทั้งหมดของท่าน

“ละเว้นจากความเกียจคร้าน” (แอลมา 38:12)

ทบทวนข้อความพระคัมภีร์ที่เขียนไว้ในดัชนีของพระคัมภีร์สามเล่มรวมใต้คำว่า “เกียจคร้าน (ความ)” มองหาคำแนะนำเกี่ยวกับความหมายของความเกียจคร้านและเกี่ยวกับคำตรงข้ามกับความเกียจคร้าน เลือกสองข้อที่เขียนไว้ใต้ข้อมูลเหล่านั้นและศึกษา เขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่าท่านเรียนรู้อะไรจากข้อความที่ท่านเลือก เขียนว่าคำแนะนำให้ละเว้นจากความเกียจคร้านจะช่วยให้ท่านสอนและรับใช้ผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร สุดท้ายให้เขียนวิธีหนึ่งที่ท่านจะละเว้นจากความเกียจคร้าน

พิมพ์