คลังค้นคว้า
บทที่ 99: แอลมา 42


บทที่ 99

แอลมา 42

คำนำ

แอลมาสรุปคำแนะนำที่ให้กับโคริแอนทอนบุตรชายโดยอธิบายว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงจัดหาวิธีให้คนที่ทำบาปได้รับพระเมตตา เขาสอนว่าความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าทำให้คนบาปต้องถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า เขาเป็นพยานต่อจากนั้นว่าพระเยซูคริสต์จะทรง “ให้พอแก่ข้อเรียกร้องของความยุติธรรม” (แอลมา 42:15) โดยทรงทนทุกข์เพื่อทุกคนที่ทำบาปและโดยประทานพระเมตตาแก่คนสำนึกผิด

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 42:1–14

แอลมาสอนโคริแอนทอนเกี่ยวกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า

ก่อนชั้นเรียนให้วาดรูปตาชั่งแบบง่ายๆ บนกระดาน ดังแสดงไว้ในหน้าถัดไป (ไม่ต้องเติมคำในภาพวาดจนกว่าในบทเรียนจะแนะนำให้ทำเช่นนั้น ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ลอกภาพวาดดังกล่าวลงในสมุดจดหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์)

เขียนข้อความต่อไปนี้เหนือตาชั่ง: ฉันต้องการให้การพิพากษาครั้งสุดท้ายเที่ยงธรรม

เชื้อเชิญนักเรียนให้ยกมือถ้าพวกเขาเห็นด้วยกับข้อความบนกระดาน

  • เหตุใดท่านจึงต้องการให้การพิพากษาครั้งสุดท้ายเที่ยงธรรม

  • คำว่า เที่ยงธรรม หมายถึงอะไร

แนะนำว่า เที่ยงธรรม อาจจะหมายถึงการได้สิ่งที่ท่านสมควรได้ แนวคิดเรื่องความเที่ยงธรรมเกี่ยวข้องกับคำในพระคัมภีร์ว่า ความยุติธรรม เขียนคำว่า ความยุติธรรม ไว้บนกระดานใต้ตาชั่ง

เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจแนวความคิดเรื่องความยุติธรรม ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำอธิบายต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ความยุติธรรม มีหลายความหมาย สัญลักษณ์ยอดนิยมของความยุติธรรมคือตาชั่ง ด้วยเหตุนี้เมื่อกฎของมนุษย์ถูกฝ่าฝืน ความยุติธรรมจึงมักเรียกร้องให้กำหนดโทษ โทษที่จะคืนสมดุล [ให้ตาชั่ง] …

“กฎของพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวข้องกับความยุติธรรมด้วยเช่นกัน แนวคิดเรื่องความยุติธรรมตามที่คนๆ หนึ่งสมควรได้รับเป็นคำสัญญาพื้นฐานของพระคัมภีร์ทุกเล่มที่บอกว่ามนุษย์จะได้รับการพิพากษาตามงานของตน” (“Sins, Crimes, and Atonement” [address to CES religious educators, Feb. 7, 1992], 1, si.lds.org)

อธิบายว่าโคริแอนทอนบุตรของแอลมากังวลเรื่องความเที่ยงธรรมของการพิพากษาครั้งสุดท้าย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 42:1 ขณะที่ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่โคริแอนทอนคิดว่าจะไม่เที่ยงธรรม หรือไม่ยุติธรรมเกี่ยวกับการพิพากษาครั้งสุดท้าย

  • โคริแอนทอนรู้สึกว่าอะไรไม่เที่ยงธรรม (ผู้ทำบาปจะไปสู่หรือถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพของความเศร้าหมอง)

  • เหตุใดโคริแอนทอนจึงต้องการเชื่อว่าการลงโทษไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ทำบาป (หากต้องเตือนความจำของนักเรียนว่าโคริแอนทอนกำลังมีปัญหากับการทำบาปหลายอย่าง ให้พวกเขาเปิดไปที่ แอลมา 39:2–3)

  • ถ้าความยุติธรรมหมายถึงการได้รับสิ่งที่เราสมควรได้และการถูกลงโทษเพราะบาปของเรา นี่จะเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับเราด้วยอย่างไร (เราทุกคนทำบาปและขึ้นอยู่กับข้อเรียกร้องของความยุติธรรม)

สรุป แอลมา 42:2–11 โดยอธิบายว่าแอลมาพูดถึงข้อกังวลของโคริแอนทอน เขาสอนว่าการตกของอาดัมนำมนุษยชาติทั้งปวงมาอยู่ในสภาพที่ตกแล้วซึ่งพวกเขาต้องประสบกับความตายทางร่างกายและความตายทางวิญญาณ (ดู แอลมา 42:9) เขาอธิบายด้วยว่าหากไม่มีวิธีกลับคืนจากสภาพที่ตกแล้วนี้ จิตวิญญาณของมนุษยชาติทั้งปวงย่อมเศร้าหมองและถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าตลอดกาล (ดู แอลมา 42:11)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 42:12 อธิบายว่าข้อนี้เน้นว่าการตกและผลของการตก รวมไปถึงการถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า เกิดจากการที่อาดัมไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเมื่อเราไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า—เมื่อเราทำบาป—เราเหินห่างทางวิญญาณจากพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและทำให้ตัวเราขึ้นอยู่กับข้อเรียกร้องของความยุติธรรม (ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักแห่งความเชื่อ 1:2) ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 42:14 ในใจโดยมองหาผลที่ความยุติธรรมเรียกร้องจากการไม่เชื่อฟัง

  • “ถูกตัดขาด” จากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร (ถูกแยกจากพระผู้เป็นเจ้าและไม่สามารถกลับไปอยู่ในที่ประทับของพระองค์ได้ ท่านอาจต้องการกล่าวด้วยว่าเมื่อเราทำบาป เราถอนตัวจากความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้ทรงเป็นสมาชิกองค์หนึ่งในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์)

เพิ่มวลี การไม่เชื่อฟังหรือบาป และ ถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า ในแผนภาพบนกระดานดังแสดงไว้ด้านล่าง

ภาพ
ตาชั่ง

จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้ใน แอลมา 42:1–14 ท่านจะสรุปสิ่งที่กฎแห่งความยุติธรรมเรียกร้องเมื่อบุคคลไม่เชื่อฟังให้ได้หนึ่งประโยคว่าอย่างไร (เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดานใต้ตาชั่ง: เพราะการไม่เชื่อฟังของเรา กฎแห่งความยุติธรรมจึงเรียกร้องให้เราถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนความจริงนี้ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ แอลมา 42:1–14)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 42:18 ในใจ โดยมองหาผลลัพธ์อีกอย่างหนึ่งของบาป

  • การสำนึกผิดจากมโนธรรมหมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองเวลาที่พวกเขาประสบกับความเสียใจและโทมนัสหรือไม่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์เพราะพวกเขาทำบาป ขอให้พวกเขาจินตนาการว่าความรู้สึกนั้นทวีคูณเนื่องด้วยทุกอย่างที่พวกเขาเคยทำผิด จากนั้นขอให้พวกเขาจินตนาการว่าความรู้สึกนั้นอยู่กับพวกเขาตลอดกาล

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจและรู้สึกว่าต้องได้รับพระเมตตา ท่านอาจต้องการถามคำถามต่อไปนี้

  • จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้ใน แอลมา 42:1–14 ท่านต้องการให้การพิพากษาครั้งสุดท้ายขึ้นอยู่กับความยุติธรรมเพียงอย่างเดียวหรือไม่

แอลมา 42:15–31

แอลมาสอนโคริแอนทอนเกี่ยวกับแผนแห่งความเมตตา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าต้องสนองข้อเรียกร้องของความยุติธรรม จงชี้ให้ดูตาชั่งด้านการลงโทษบนกระดาน ท่านอาจจะถือแปรงลบกระดานประหนึ่งกำลังจะลบข้อเรียกร้องของความยุติธรรม

  • มีวิธีใดลบหรือยกเลิกข้อเรียกร้องของความยุติธรรมหรือไม่ (ไม่มี เมื่อทำผิดกฎของพระผู้เป็นเจ้า ความยุติธรรมเรียกร้องการลงโทษ ต้องสนองข้อเรียกร้องของความยุติธรรม)

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าคงจะไม่เที่ยงธรรมถ้าลบผลที่ความยุติธรรมเรียกร้อง เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 42:25

  • ตามคำกล่าวของแอลมา จะเกิดอะไรขึ้นถ้านำเอาผลของบาปออกไปและไม่สนองความยุติธรรม

ขอให้นักเรียนไตร่ตรอง คำถามต่อไปนี้ก่อนให้พระคัมภีร์อ้างอิงเพื่อหาคำตอบ

  • หากไม่สามารถลบข้อเรียกร้องของความยุติธรรมได้ คนที่ทำบาป (เราแต่ละคน) จะสามารถมีความสงบสุขในมโนธรรมและกลับคืนสู่ที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร (หลังจากให้เวลานักเรียนไตร่ตรองคำถามแล้ว เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน แอลมา 42:15 อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าอธิบายว่าวลี “ให้พอแก่ข้อเรียกร้องของความยุติธรรม” หมายถึงจ่ายราคาหรือยอมรับการลงโทษที่ความยุติธรรมเรียกร้อง)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 42:15 ความเมตตาจะเผื่อแผ่มาถึงเราได้อย่างไร

จากคำตอบของนักเรียน ให้ลบวลี “ถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า” ออกจากกระดานและเขียนว่า การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ และ ความเมตตา เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้ใต้ตาชั่ง: การชดใช้ของพระเยซูคริสต์สนองข้อเรียกร้องของความยุติธรรมทั้งนี้เพื่อให้ความเมตตาเผื่อแผ่มาถึงเรา

ภาพ
ตาชั่ง
  • การรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัยทนทุกข์แทนท่านทั้งนี้เพื่อให้ความเมตตาเผื่อแผ่มาถึงท่านมีความหมายต่อท่านอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 42:22–24 และมองหาสิ่งที่เรียกร้องให้เราทำเพื่อให้ความเมตตาเผื่อแผ่มาถึงเรา

  • เราต้องทำอะไรเพื่อให้ได้ความเมตตาและหลีกเลี่ยงข้อเรียกร้องทั้งหมดของความยุติธรรม (เมื่อนักเรียนบอกว่าการกลับใจเป็นวิธีที่เราจะได้ความเมตตาให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดานใต้ตาชั่ง: ถ้าเรากลับใจ เราจะได้รับความเมตตาผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาเขียนข้อความนี้ไว้ในพระคัมภีร์ใกล้ แอลมา 42:22–24 ด้วย)

  • ท่านคิดว่าวลี “สำนึกผิดอย่างแท้จริง” หมายความว่าอย่างไร (กลับใจอย่างจริงใจ)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรับโทษบาปของเราแทนเรา

อธิบายว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้เป็นสื่อกลาง ผู้เป็นสื่อกลางคือคนที่ยืนอยู่ระหว่างสองฝ่ายเพื่อช่วยแก้ไขความขัดแย้ง ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง เชื้อเชิญชั้นเรียนให้ฟังเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีบุคคลที่สามเพื่อให้ความเมตตาเผื่อแผ่มาถึงคนบาป

“โดยกฎนิรันดร์ ความเมตตาจะเผื่อแผ่ไปถึงใครไม่ได้นอกจากจะมีคนที่เต็มใจอีกทั้งสามารถรับภาระหนี้ของเรา จ่ายราคา และวางข้อตกลงเพื่อไถ่เราได้

“ถ้าหากไม่มีผู้เป็นสื่อกลาง ถ้าหากเราไม่มีเพื่อน น้ำหนักเต็มของความยุติธรรมต้องตกอยู่กับเราโดยไม่ยั้งและไร้ความเห็นใจ การชดเชยครบถ้วนตามการล่วงละเมิดทั้งหมด ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือลึกซึ้งเพียงใด จะถูกบังคับเอาจากเราจนครบเพนนีสุดท้าย

“แต่จงรู้ว่า ความจริง ความจริงอันรุ่งโรจน์ ประกาศว่ามีพระผู้เป็นสื่อกลางดังกล่าว …

“โดยผ่านพระองค์ความเมตตาเผื่อแผ่มาถึงเราแต่ละคนได้อย่างเต็มที่โดยไม่ฝืนกฎนิรันดร์แห่งความยุติธรรม …

“การเผื่อแผ่ความเมตตาจะไม่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จะต้องผ่านพันธสัญญากับพระองค์ จะเป็นไปตามข้อตกลงของพระองค์ ข้อตกลงที่โอบอ้อมอารีของพระองค์” (“The Mediator,” Ensign, May 1977, 55–56)

ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 42:29–31 ในใจโดยมองหาสิ่งที่แอลมาปรารถนาสำหรับโคริแอนทอน (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาพบ)

  • ท่านคิดว่าการให้ความยุติธรรม ความเมตตา และการทนทุกข์ของพระเจ้า “มีอิทธิพลเต็มที่อยู่ในใจลูก” หมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนแผนบทเรียนพอสังเขปที่แสดงว่าพวกเขาจะสอนแนวความคิดเรื่องความยุติธรรมและความเมตตาให้คนอื่นๆ อย่างไร กระตุ้นพวกเขาให้สอนครอบครัวในสิ่งที่ได้เรียนรู้วันนี้

เตือนความจำของนักเรียนเกี่ยวกับข้อกังวลของโคริแอนทอนเรื่องความเที่ยงธรรมอันเนื่องจากความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจต้องการเป็นพยานว่าการพิพากษาครั้งสุดท้ายจะเที่ยงธรรมและสุดท้ายเราจะได้สิ่งที่เราสมควรได้รับตามความยุติธรรมและความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นด้วยว่าโคริแอนทอนกลับใจจากบาปของเขาและนั่นส่งผลดีต่อการเติบโตของศาสนจักร (ดู แอลมา 49:30) ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาต้องดำเนินการอย่างไรในกระบวนการกลับใจของพวกเขาเอง

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนให้แสดงความสำนึกในพระกรุณาธิคุณและแสดงประจักษ์พยานถึงความเต็มพระทัยของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อชดใช้บาปของเราและสนองข้อเรียกร้องของความยุติธรรมแทนเรา แสดงประจักษ์พยานของท่านถึงความเมตตาและการไถ่ที่มีให้ผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 42:1 ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าความสุขพบได้โดยการกลับใจเท่านั้น

“ความสุขที่แท้จริงไม่พบในการปฏิเสธความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าหรือการพยายามหลีกเลี่ยงผลของบาป แต่จะพบในการกลับใจและการให้อภัยโดยพระคุณจากการชดใช้ของพระบุตรพระผู้เป็นเจ้า” (“พรจากพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 41)

แอลมา 42:15 “พระผู้เป็นเจ้าพระองค์เองจึงทรงชดใช้บาปของโลก”

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจการอ้างถึง “พระผู้เป็นเจ้าพระองค์เอง” ทรงชดใช้บาปของเรา ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“พระคริสต์ไม่เพียงเป็นสื่อกลางเท่านั้นแต่ทรงเป็นผู้พิพากษาด้วย ในบทบาทของผู้พิพากษานั่นเองที่เราพบความหมายลึกซึ้งขึ้นในคำกล่าวที่ว่า ‘พระผู้เป็นเจ้าพระองค์เอง’ จะเสด็จลงมาไถ่ผู้คนของพระองค์ ประหนึ่งผู้พิพากษาในห้องพิจารณาคดีห้องใหญ่ในสวรรค์ไม่ทรงยอมขอให้ใครนอกจากพระองค์ เพื่อแบกภาระของคนผิดที่ยืนอยู่ในคอกพยาน ทรงถอดครุยผู้พิพากษาและเสด็จลงมาแผ่นดินโลกเพื่อรับการโบยด้วยพระองค์เอง พระคริสต์ในฐานะผู้พิพากษาที่เปี่ยมด้วยเมตตาถือเป็นแนวความคิดที่สวยงามและวิเศษสุดเท่าๆ กับแนวคิดที่ว่าพระคริสต์ทรงเป็นที่ปรึกษา ผู้เป็นสื่อกลาง และผู้วิงวอนแทน” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 81)

พิมพ์