คลังค้นคว้า
บทที่ 27: 2 นีไฟ 5


บทที่ 27

2 นีไฟ 5

คำนำ

โดยเอาใจใส่พระดำรัสเตือนจากพระเจ้านีไฟกับผู้ติดตามเขาจึงแยกตนจากเลมัน เลมิวเอล และบรรดาบุตรของอิชมาเอล พวกเขาดำเนินชีวิตด้วยความชอบธรรมและความสุข ส่วนผู้ติดตามเลมันกับเลมิวเอลตัดขาดตนเองจากพระเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 นีไฟ 5:1–8

พระเจ้าทรงแยกผู้ติดตามนีไฟออกจากผู้ติดตามเลมันกับเลมิวเอล

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองการตัดสินใจและปัญหายุ่งยากบางอย่างที่พวกเขาพบเจอ กระตุ้นพวกเขาให้นึกถึงการท้าทายส่วนตัวเหล่านี้ขณะศึกษาว่านีไฟตอบสนองการท้าทายอย่างไร เตือนพวกเขาว่าเมื่อลีไฮถึงแก่กรรม นีไฟได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำทางวิญญาณของครอบครัว ขอให้นักเรียนอ่าน 2 นีไฟ 5:1–4 ในใจเพื่อดูการท้าทายที่นีไฟเผชิญ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 2 นีไฟ 5:1 นีไฟทำอะไรเพื่อช่วยหาวิธีแก้ไขการท้าทายของเขา

  • แม้หลังจากนีไฟสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ เลมันกับเลมิวเอลก็ยังพยายามทำอะไร

ขณะนักเรียนรายงานคำตอบของพวกเขา ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าคำสวดอ้อนวอนของเราอาจไม่ได้รับคำตอบทันทีหรืออย่างที่เราปรารถนาเสมอไป

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 5:5–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยหาสิ่งที่พระเจ้าทรงทำเพื่อช่วยนีไฟกับผู้ติดตามเขา

ขอให้นักเรียนสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก 2 นีไฟ 5:1–8 ความจริงประการหนึ่งที่ท่านอาจจะเน้นคือ พระเจ้าทรงนำทางคนเหล่านั้นผู้แสวงหาพระองค์อย่างซื่อสัตย์ในการสวดอ้อนวอน เกี่ยวกับข้อเหล่านี้ ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องซื่อสัตย์ต่อไปเมื่อคำสวดอ้อนวอนของเราไม่ได้รับตอบทันทีหรืออย่างที่เราปรารถนา

  • พระเจ้าทรงเตือนเราด้วยวิธีใดบ้าง

ขณะนักเรียนตอบคำถามนี้ ท่านอาจจะให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“เราย่อมไม่หลงไปในทางที่ผิดถ้าเราฟังเสียงเตือนเสียแต่แรก” (อ้างอิงใน เคนเนธ จอห์นสัน, “การยอมต่อการชักจูงของพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, หน้า 112)

  • เราจะทำตามแบบอย่างของนีไฟในด้านใดเมื่อเราเผชิญการท้าทาย

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา 2 นีไฟ 5:1–8 ชี้ให้นักเรียนเห็นว่าการแยกตัวของชาวนีไฟจากชาวเลมันเป็นผลสืบเนื่องจากความเกลียดชังที่เลมันกับเลมิวเอลมีต่อนีไฟ การแยกตัวครั้งนี้ดำเนินต่อไปหลายศตวรรษโดยผู้สืบตระกูลของเลมันกับเลมิวเอลสอนลูกหลานให้เกลียดชังผู้สืบตระกูลของนีไฟ (ดู โมไซยาห์ 10:12–17)

2 นีไฟ 5:9–18, 26–27

ชาวนีไฟมีชีวิตอยู่ตามทางแห่งความสุข

นำนักเรียนในการอ่าน 2 นีไฟ 5:27 ออกเสียงพร้อมกัน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อนี้ เขียนคำว่า ความสุข บนกระดาน

  • ท่านคิดว่ามีชีวิตอยู่ “ตามทางแห่งความสุข” หมายความว่าอย่างไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์มาร์ลิน เค. เจนเซ็นแห่งสาวกเจ็ดสิบ

ภาพ
เอ็ลเดอร์มาร์ลิน เค. เจนเซ็น

“หลักธรรมและความจริงที่แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงนำความสุขมาสู่ชีวิตเรา เรื่องนี้ทำให้ข้าพเจ้าสนใจมาหลายปีเพราะถึงแม้ข้าพเจ้าได้รับพรมากมายและมีเหตุผลให้เป็นสุขด้วยประการทั้งปวง แต่บางครั้งข้าพเจ้ากระวนกระวายใจไม่ค่อยมีความสุขและร่าเริงเบิกบานอย่างที่บางคนมีอยู่เสมอ

“ด้วยเหตุนี้ หลายปีก่อนพระคัมภีร์มอรมอนข้อหนึ่งจึงดึงดูดความสนใจของข้าพเจ้า … นีไฟสร้างสังคมหนึ่งที่มีรากฐานบนความจริงพระกิตติคุณ และท่านพูดถึงสังคมนั้นว่า ‘และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือเรามีชีวิตอยู่ตามทางแห่งความสุข’ (2 นีไฟ 5:27) ข้อความนี้ทำให้ข้าพเจ้าประทับใจอย่างสุดซึ้ง …ข้าพเจ้าสงสัย … ว่าองค์ประกอบแต่ละอย่างของสังคมและชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริงคืออะไร ข้าพเจ้าเริ่มค้นคว้างานเขียนของนีไฟเพื่อหาคำตอบ ข้าพเจ้า … เชื้อเชิญท่านให้ค้นคว้าด้วยตนเอง นั่นอาจจะเป็นการแสวงหาชั่วชีวิตแต่คุ้มค่า …

“… แบบฉบับและองค์ประกอบเดียวกันของชีวิตประจำวันที่ทำให้นีไฟและผู้คนของเขามีความสุขได้ 560 ปีก่อนพระคริสต์ใช้ได้ผลเท่าๆ กันในปัจจุบัน” (“Living after the Manner of Happiness,” Ensign, Dec. 2002, 56, 61)

กระตุ้นนักเรียนให้ยอมรับคำเชื้อเชิญของเอ็ลเดอร์เจนเซ็น ขอให้พวกเขาอ่าน 2 นีไฟ 5:6, 10–18, 26–27 ในใจโดยมองหา “องค์ประกอบของสังคมและชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริง” ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายหลักธรรมที่เอื้อต่อความสุขของชาวนีไฟ หลังจากสองสามนาทีผ่านไป เชิญนักเรียนสองสามคนเขียนสิ่งที่พวกเขาพบไว้บนกระดาน (คำตอบอาจได้แก่ นีไฟกับผู้ติดตามเขาไปกับครอบครัว [ดูข้อ 6]; เชื่อฟังพระเจ้า [ดูข้อ 10]; ขยันขันแข็งเพื่อเลี้ยงดูตนเอง [ดูข้อ 11, 15–17]; นำพระคัมภีร์ไปด้วย [ดูข้อ 12]; สร้างพระวิหาร [ดูข้อ 16]; และทำตามผู้นำที่ชอบธรรม [ดูข้อ 18, 26]

เชื้อเชิญนักเรียนให้เลือกหลักธรรมหนึ่งหรือสองข้อบนกระดานและแบ่งปันว่าหลักธรรมเหล่านี้ช่วยให้พวกเขา “มีชีวิตตามทางแห่งความสุข” อย่างไร

โดยขึ้นอยู่กับสิ่งที่นักเรียนเน้น ท่านอาจต้องการติดตามผลด้วยการถามคำถามสองสามข้อดังต่อไปนี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 2 นีไฟ 5:10–11, 16 ผู้คนได้รับพรอะไรบ้างเพราะพวกเขารักษาพระบัญญัติของพระเจ้า ท่านรู้สึกเมื่อใดว่าพระเจ้าทรงอยู่กับท่าน อิทธิพลของพระเจ้าในชีวิตท่านเอื้อต่อความสุขของท่านอย่างไร

  • พระวิหารจะช่วยให้ผู้คน “มีชีวิตตามทางแห่งความสุข” ได้อย่างไร พระวิหารทำให้ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักมีความสุขมากขึ้นอย่างไร

  • ความขยันขันแข็งเอื้อต่อความสุขในทางใด

เชื้อเชิญนักเรียนให้สรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีเพิ่มความสุข แม้นักเรียนจะแบ่งปันหลักธรรมต่างกัน แต่พวกเขาพึงเข้าใจว่า เมื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กลายเป็นวิถีชีวิตของเรา เราจะมีความสุขเพิ่มขึ้น ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน

เชื้อเชิญนักเรียนให้สำรวจชีวิตตนเองและพิจารณาบางสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อมีชีวิต “ตามทางแห่งความสุข” โดยสมบูรณ์มากขึ้น กระตุ้นพวกเขาให้เขียนการกระทำนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมและหลักปฏิบัติที่นำความสุขมาสุ่ชีวิตท่าน

2 นีไฟ 5:19–25

ชาวเลมันถูกสาปแช่งเพราะการไม่เชื่อฟังของพวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 2 นีไฟ 5:19–24 ในใจโดยมองหาความแตกต่างระหว่างวิธีที่ชาวเลมันดำเนินชีวิตกับวิธีที่ชาวนีไฟดำเนินชีวิต

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 2 นีไฟ 5:20 อะไรคือผลจากการไม่เชื่อฟังของชาวเลมัน

  • 2 นีไฟ 5:21 ช่วยให้ท่านเข้าใจอย่างไรว่าเหตุใดชาวเลมันจึงถูกตัดขาดจากพระเจ้า (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าหินเหล็กไฟคือหินแข็งชนิดหนึ่ง ขณะกล่าวว่าชาวเลมัน “กลับกลายเป็นดังหินเหล็กไฟ” นีไฟกำลังเน้นความแข็งกระด้างของใจชาวเลมัน)

  • พระเจ้าทรงเตือนอะไรเกี่ยวกับการแต่งงานของชาวนีไฟกับชาวเลมันที่ไม่ยอมรับพระกิตติคุณ (ดู 2 นีไฟ 5:23)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องหลีกเลี่ยงการออกเดทและการแต่งงานกับคนที่ไม่สดับฟังพระเจ้า ท่านคิดว่าคนที่ท่านออกเดทและแต่งงานด้วยในท้ายที่สุดจะมีอิทธิพลอย่างไรต่อการพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของท่าน (อาจจะช่วยได้ถ้าเตือนนักเรียนว่าฝ่ายประธานสูงสุดแนะนำให้ “เลือกออกเดทเฉพาะกับคนที่มีมาตรฐานสูงทางศีลธรรมและท่านสามารถรักษามาตรฐานของท่านได้ขณะคบหากับคนเหล่านั้น” [เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน (จุลสาร, 2011), หน้า 4])

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจาก 2 นีไฟ 5:20–24 (ขณะนักเรียนแบ่งปันหลักธรรม พวกเขาพึงเข้าใจว่า เมื่อผู้คนทำใจแข็งกระด้างต่อพระเจ้า พวกเขาแยกตนเองจากพระองค์)

เน้นว่า 2 นีไฟ 5 นำเสนอความแตกต่างอย่างมากระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน เราสามารถเลือกได้ว่าจะทำตามแบบอย่างของใคร กระตุ้นนักเรียนให้จดจำสิ่งที่พวกเขาตั้งใจไว้ว่าจะทำเพื่อมีชีวิต “ตามทางแห่งความสุข” โดยสมบูรณ์มากขึ้น แสดงความเชื่อมั่นของท่านว่าพวกเขาสามารถทำตามแบบอย่างของชาวนีไฟและมีความสุขอย่างแท้จริงได้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

2 นีไฟ 5:5–9 แยกตัวเราจากความชั่วร้าย

มีหลายครั้งที่จำเป็นต้องหนีจากความชั่วเช่นเดียวกับนีไฟและผู้ติดตามเขา อย่างไรก็ดี เราอาจจะไม่สามารถพาตัวเราออกจากความชั่วร้ายได้เสมอไป เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเราจะสามารถป้องกันตัวเราในสถานการณ์เช่นนั้นได้อย่างไร

“พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดหาวิธีให้ดำเนินชีวิตในโลกนี้และไม่แปดเปื้อนความกดดันอันเสื่อมทรามที่ตัวแทนชั่วร้ายแพร่ออกไป ท่านมีชีวิตที่ดีงาม เกิดผล และชอบธรรมได้โดยทำตามแผนแห่งการคุ้มครองที่พระบิดาในสวรรค์ทรงรังสรรค์ นั่นก็คือแผนแห่งความสุขที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ และในถ้อยแถลงที่ได้รับการดลใจของศาสดาพยากรณ์ …

“จงหลีกเลี่ยงความชั่วร้ายของโลก จงรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงควบคุม เมื่อถึงเวลาซาตานจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และจะถูกลงโทษเพราะความชั่วแบบดันทุรังของเขา พระองค์ทรงมีแผนเพื่อชีวิตท่านโดยเฉพาะ พระองค์จะทรงเปิดเผยส่วนต่างๆ ของแผนนั้นต่อเมื่อท่านค้นหาด้วยศรัทธาและเชื่อฟังตลอดเวลา พระบุตรของพระองค์ทรงทำให้ท่านเป็นอิสระ—มิใช่จากผลการกระทำของท่าน แต่เป็นอิสระที่จะเลือก จุดประสงค์นิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้าคือให้ท่านประสบความสำเร็จในชีวิตอันเป็นมรรตัยนี้ ไม่ว่าโลกจะชั่วร้ายเพียงใด ท่านจะได้รับพรนั้น จงแสวงหา และใส่ใจการนำทางส่วนตัวที่พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ประทานแก่ท่าน จงมีค่าควรต่อการนำทางนั้น ยื่นมือออกไปช่วยเหลือผู้ที่สะดุดล้ม และสับสน ไม่ทราบว่าจะไปทางใด” (ดู “วิธีดำเนินชีวิตให้ดีท่ามกลางความชั่วร้ายที่เพิ่มขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 123, 126)

2 นีไฟ 5:11, 13 “เราเริ่มรุ่งเรืองอย่างยิ่ง”

ใน 2 นีไฟ 5:11, 13 นีไฟพูดถึงความรุ่งเรืองและความสำเร็จของผู้คนของเขาในการเลี้ยงฝูงสัตว์เลี้ยง ฝูงสัตว์ใหญ่ และการเพาะปลูก เรามักเชื่อมโยงความรุ่งเรืองกับพรที่จับต้องได้ ประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์สอนว่าความรุ่งเรืองที่แท้จริงเป็นมากกว่าความมั่งคั่งหรือสิ่งของทางโลก

“เมื่อข้าพเจ้าพูดถึงความรุ่งเรือง ข้าพเจ้าไม่ได้คิดในแง่ของเงินแต่อย่างเดียว … แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าถือเป็นความรุ่งเรืองอย่างแท้จริง เป็นหนึ่งในบรรดาหลายสิ่งที่มีค่ายิ่งต่อชายหญิงทุกคนบนโลกนี้ สิ่งนั้นคือ การเติบโตในความรู้เรื่องพระผู้เป็นเจ้า ในประจักษ์พยาน ในพลังอำนาจที่จะดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและเป็นแรงบันดาลใจให้ครอบครัวเราทำเช่นเดียวกัน นั่นคือความรุ่งเรืองในแบบที่ถูกต้องแท้จริงที่สุด” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: ฮีเบอร์ เจ. แกรนท์ [2002], 124)

2 นีไฟ 5:10–18, 26–27 “ตามทางแห่งความสุข”

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายว่ามีเส้นทางที่นำไปสู่ความสุข “ความสุขคือวัตถุประสงค์และแบบแผนการดำรงอยู่ของเรา และจะเป็นเป้าหมายการดำรงอยู่ของเรา หากเราดำเนินตามเส้นทางที่นำไปสู่ความสุขนั้น และเส้นทางนี้คือคุณธรรม ความซื่อตรง ความซื่อสัตย์ ความศักดิ์สิทธิ์ และการรักษาพระบัญญัติทั้งสิ้นของพระผู้เป็นเจ้า” (History of the Church, 5:134–35)

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์สอนว่า “ความสุขเกิดจากความชอบธรรม ‘ความชั่วร้ายไม่เคยเป็นความสุขเลย’ แอลมา 41:10) บาปไม่เคยเป็นความสุขเลย ความเห็นแก่ตัวไม่เคยเป็นความสุขเลย ความละโมบไม่เคยเป็นความสุขเลย ความสุขมีอยู่ในการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” (ใน “Fast-Paced Schedule for the Prophet,Church News, Apr. 20, 1996, 3)

2 นีไฟ 5:16 “ข้าพเจ้า, นีไฟ, สร้างพระวิหาร”

เอ็ลเดอร์มาร์ลิน เค. เจนเซ็นแห่งสาวกเจ็ดสิบอธิบายว่าการเข้าพระวิหารนำไปสู่ความสุขอย่างไร

“นีไฟเขียนว่า ‘และข้าพเจ้า, นีไฟ, สร้างพระวิหาร’ (2 นีไฟ 5:16) พระวิหารของนีไฟอาจแตกต่างบางด้านจากพระวิหารยุคสุดท้ายของเรา แต่จุดประสงค์หลักของพระวิหารเหมือนกันนั่นคือ สอนและทำให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าคุ้นเคยกับแผนของพระองค์เพื่อความสุขของพวกเขาและจัดทำศาสนพิธีและพันธสัญญาที่จำเป็นต่อการได้รับความสุขนั้น

“หลังจากใช้ชีวิตบนโลกที่ดีนี้เป็นเวลากว่าห้าทศวรรษ ข้าพเจ้าพูดตามตรงว่าคนที่มีความสุขและมีวุฒิภาวะทางวิญญาณมากสุดที่ข้าพเจ้ารู้จักคือคนที่ไปพระวิหารด้วยความกระตือรือร้น มีเหตุผลที่ดีในเรื่องนี้ ในพระวิหารจะบอกเราหลายต่อหลายครั้งเกี่ยวกับโปรแกรมอันสมบูรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ทุกครั้งที่บอกจะทำให้เราเข้าใจและมุ่งมั่นดำเนินชีวิตตามวิถีของพระองค์มากขึ้น …

“วิธีที่ดีในการทดสอบว่าเรากำลังทำดีเพียงใดในการแสวงหาของเราเพื่อมาหาพระคริสต์คือ เรารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระวิหารและประสบการณ์ของเราที่นั่น พระวิหาร สามารถมีความหมายเหมือนกับ ความสุข และ ปีติ นี่คือความรู้สึกของนีไฟและผู้คนของเขา” (“Living after the Manner of Happiness,Ensign, Dec. 2002, 60)

2 นีไฟ 5:20–25 การสาปแช่งชาวเลมัน

ใน 2 นีไฟ 5:20–25 เราพบคำตอบของคำถามอย่างน้อยสี่ข้อเกี่ยวกับการสาปแช่งที่มาสู่ชาวเลมัน

1. การสาปแช่งคืออะไร

การสาปแช่งมีนิยามชัดเจนใน 2 นีไฟ 5:20 ว่าคือการ “ถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระเจ้า” ผิวคล้ำของชาวเลมันไม่ใช่การสาปแช่ง

2. อะไรเป็นสาเหตุของการสาปแช่ง

ตามที่กล่าวไว้ใน 2 นีไฟ 5:21 การสาปแช่งมาสู่ชาวเลมัน “เพราะความชั่วช้าสามานย์ของพวกเขา” และเพราะ “พวกเขาทำให้ใจตนแข็งกระด้างต่อ [พระเจ้า]” เนื่องจากการตกของอาดัม ความชั่วร้ายจึงมักส่งผลให้ถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระเจ้าเสมอ (ดู 1 นีไฟ 2:21; 2 นีไฟ 4:4; 9:6; แอลมา 9:13; อีเธอร์ 10:11)

3. เหตุใดเครื่องหมายผิวคล้ำจึงเกิดแก่ชาวเลมัน

นี่เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เฉพาะด้านสำหรับสภาวการณ์เฉพาะอย่าง นีไฟอธิบายว่า “เพื่อ [ชาวเลมัน] จะไม่เป็นที่ดึงดูดใจต่อผู้คนของข้าพเจ้าพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้ผิวคล้ำเกิดแก่พวกเขา” (2 นีไฟ 5:21) แอลมาให้คำอธิบายคล้ายกันดังนี้ “ผิวของชาวเลมันคล้ำ … เพื่อด้วยการนี้พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าจะได้ทรงปกปักรักษาผู้คนของพระองค์, เพื่อพวกเขาจะไม่ปะปนและเชื่อในประเพณีอันไม่ถูกต้อง” (แอลมา 3:6, 8) คำอธิบายเหล่านี้สอดคล้องกับคำเตือนอื่นในพระคัมภีร์ที่ว่าผู้คนของพระเจ้าไม่ควรแต่งงานกับผู้ไม่เชื่อเพราะผลจากการทำเช่นนั้นมักเป็นว่าคนชอบธรรมจะหันหลังให้พระเจ้า (ดู เฉลยธรรมบัญญัติ 7:2–4; 1 พงศ์กษัตริย์ 11:4; 2 โครินธ์ 6:14; คพ. 74:5)

4. ผลของการสาปแช่งคืออะไร

ผลอันสืบเนื่องจากการสาปแช่ง—การถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระเจ้า—ชาวเลมันจึง “กลายเป็นคนเกียจคร้าน, เต็มไปด้วยอุบายและเล่ห์เหลี่ยม” (2 นีไฟ 5:24)

การสาปแช่งนี้คงอยู่ตราบที่ผู้คนชั่วร้ายเท่านั้น เมื่อชาวเลมันกลับใจและเลือกดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ “การสาปแช่งของพระผู้เป็นเจ้าจึงไม่ดำรงอยู่กับพวกเขาอีกต่อไป” (แอลมา 23:18) พระคัมภีร์มอรมอนรวมตัวอย่างมากมายของชาวเลมันที่กลับใจและได้รับการนำทางจากพระวิญญาณของพระเจ้า หนังสือของฮีลามันเล่าถึงครั้งที่ชาวเลมันชอบธรรมกว่าชาวนีไฟ (ดู ฮีลามัน 13:1)

พิมพ์