คลังค้นคว้า
บทที่ 130: 3 นีไฟ 21–22


บทที่ 130

3 นีไฟ 21–22

คำนำ

ขณะที่พระเยซูคริสต์ยังคงสอนชาวนีไฟ พระองค์ทรงอธิบายว่าการปรากฏออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนในวันเวลาสุดท้ายจะเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงเริ่มการรวมอิสราเอลและทรงทำให้พันธสัญญาของพระองค์กับผู้คนสมบูรณ์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงยกคำพยากรณ์ของอิสยาห์เกี่ยวกับการนำผู้คนแห่งพันธสัญญากลับคืนโดยทรงเน้นความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

3 นีไฟ 21:1–11

พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่าการปรากฏออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนจะเป็นเครื่องหมายของการรวมอิสราเอลในวันเวลาสุดท้าย

ก่อนชั้นเรียน ให้วาดเครื่องหมายต่อไปนี้ไว้บนกระดาน (หรือใช้เครื่องหมายอื่นที่ท่านเห็นได้ทั่วไป)

ภาพ
คนนั่งเก้าอี้เข็น
ภาพ
คนข้ามถนน
ภาพ
ทางออก
ภาพ
รถสวน

ขอให้นักเรียนระบุว่าเครื่องหมายแต่ละอย่างหมายถึงอะไร จากนั้นให้ถามดังนี้

  • เครื่องหมายใช้สำหรับอะไร (เตรียม เตือน และสอนเรา)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องติดเครื่องหมายอย่างถูกต้องและข่าวสารบนเครื่องหมายนั้นต้องเข้าใจง่าย

เตือนความจำนักเรียนว่าพระคัมภีร์มักพูดถึงเครื่องหมายที่เตรียม เตือน และสอนเราเกี่ยวกับสัมฤทธิผลในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 21:1–2, 7 คร่าวๆ โดยมองหาคำว่า เครื่องหมาย ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายคำนั้นทุกครั้งที่ปรากฏในข้อเหล่านั้น จากนั้นขอให้พวกเขาอ่าน ข้อ 1 อย่างละเอียดในใจ

  • เหตุใดพระเจ้าจึงตรัสว่าพระองค์จะประทานเครื่องหมายเฉพาะเจาะจงในเรื่องนี้ (เพื่อผู้คนจะรู ้ว่าพระองค์ทรงกำลังรวมรวมเชื้อสายแห่งอิสราเอล)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 21:1–7 ในใจ ขอให้พวกเขาสังเกตวลี “สิ่งเหล่านี้” และ “งานเหล่านี้” พิจารณาว่าวลีเหล่านี้กล่าวถึงอะไร

  • เมื่อกล่าวถึงชาวนีไฟ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึง “สิ่งเหล่านี้ซึ่งเราประกาศแก่เจ้า” (3 นีไฟ 21:2) พระวจนะที่พระองค์ตรัสถึงชาวนีไฟบันทึกไว้ที่ใด (ในพระคัมภีร์มอรมอน)

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เครื่องหมายอย่างหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำลังทำให้พันธสัญญาของพระองค์ในยุคสุดท้ายสมบูรณ์คืออะไร (ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้ [เขียนไว้บนกระดาน]: การปรากฏออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงกำลังทำให้พันธสัญญาของพระองค์ว่าจะรวมอิสราเอลในยุคสุดท้ายสมบูรณ์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัคร-สาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังด้านต่างๆ ที่พระคัมภีร์มอรมอนช่วยผู้คนมารวมกันทำงานของพระเจ้า

ภาพ
เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“พระคัมภีร์มอรมอนเป็นศูนย์กลางของงานนี้ พระคัมภีร์มอรมอนประกาศหลักคำสอนของการรวบรวม ทำให้ผู้คนเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เชื่อในพระกิตติคุณของพระองค์ และเข้าเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระองค์ แท้จริงแล้วถ้าไม่มีพระคัมภีร์มอร-มอนการรวบรวมอิสราเอลที่สัญญาไว้ก็จะไม่เกิดขึ้น” (“การรวบรวมอิสราเอลที่กระจัดกระจาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, หน้า 101)

  • พระคัมภีร์มอรมอนได้ช่วยท่านในด้านต่างๆ เหล่านี้เมื่อไร ท่านเคยเห็นพระคัมภีร์มอรมอนช่วยคนอื่นๆ ในด้านเหล่านี้เมื่อใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 21:9 ขอให้ชั้นเรียนสังเกตวลี “งานสำคัญยิ่งและน่าอัศจรรย์” ชี้ให้เห็นว่าวลีนี้กล่าวถึงการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ซึ่งรวมถึงการปรากฏออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนด้วย

  • อะไรคืองานสำคัญยิ่งและน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ภาพ
บราเดอร์โจเซฟ

ชี้ให้เห็นว่า 3 นีไฟ 21:9 กล่าวถึง “ชายคนหนึ่ง” เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาว่าชายคนนี้น่าจะเป็นใคร จากนั้นให้ดูภาพโจเซฟ สมิธ (อาจจะเป็นภาพบราเดอร์โจเซฟหรือภาพนิมิตแรกก็ได้ [หนังสือภาพพระกิตติคุณ (2009), ภาพที่ 87 หรือ 90]) บอกนักเรียนว่าเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองระบุว่าชายคนนั้นคือโจเซฟ สมิธ (ดู Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 287–88) เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 21:10–11 ในใจโดยไตร่ตรองว่าศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธตรงกับคำบรรยายในข้อเหล่านี้อย่างไร

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงให้เห็นผ่านโจเซฟ สมิธว่า “พระปรีชาญาณ [ของพระองค์] ยิ่งใหญ่กว่ากลโกงของมาร” อย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 21:11 อะไรจะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่เชื่อในพระวจนะของพระคริสต์ที่โจเซฟ สมิธนำออกมา (พวกเขาจะถูก ตัดขาด” จากพรที่ผ่านมาทางพันธสัญญา)

3 นีไฟ 21:12–22:17

พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงความพินาศของคนที่ไม่กลับใจและการนำผู้คนของพระองค์กลับคืนผู้จะกลับใจและกลับมาหาพระองค์

สรุป 3 นีไฟ 21:12–21 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดประทานพระดำรัสเตือนให้คนในวันเวลาสุดท้ายผู้จะไม่เชื่อในพระองค์และกลับใจ พระองค์ตรัสว่าทรัพย์สินทางโลก เมืองต่างๆ ที่มั่น และการปฏิบัติชั่วของพวกเขาจะถูกทำลาย พระองค์ตรัสเช่นกันว่าพวกเขาจะถูกตัดขาดจากบรรดาผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 21:22, 25–28 ในใจโดยมองหาพรและความรับผิดชอบที่จะมาถึงคนในวันเวลาสุดท้ายผู้จะกลับใจและสดับฟังพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอด

ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะสรุปคำสอนใน 3 นีไฟ 21:12–22, 25–28 อย่างไร เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน จากนั้นให้สรุปคำตอบทั้งหมดบนกระดานโดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อเรากลับใจและสดับฟังพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์จะทรงรวมเราไว้เป็นส่วนหนึ่งของผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์ (ท่านอาจต้องการเขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

วาดรูปกระโจมบนกระดานหรือในโปสเตอร์ (ท่านอาจต้องการทำสิ่งนี้ก่อนชั้นเรียน) อธิบายว่าพระเยซูคริสต์ทรงอ้างคำพยากรณ์ที่พระองค์ทรงดลใจศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ให้เขียนเมื่อหลายศตวรรษก่อน ในคำพยากรณ์นี้อิสยาห์เปรียบศาสนจักรพร้อมด้วยพันธสัญญาและพรของศาสนจักรกับกระโจม

ภาพ
กระโจม
  • การอยู่ใต้ที่กำบังของกระโจมมีข้อดีอะไรบ้าง (คำตอบอาจได้แก่ กระโจมให้ความคุ้มครองจากพายุและเป็นร่มเงาบังดวงอาทิตย์)

  • ศาสนจักรเหมือนกระโจมอย่างไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 22:2

  • เหตุใดจึงต้องขยายและทำให้ “กระโจม” นี้มั่นคงในยุคสุดท้าย (เพราะคนเป็นอันมากจะเข้าร่วมศาสนจักรหรือหวนคืนสู่พันธสัญญาของพวกเขากับพระเจ้า) ท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อขยายกระโจมและทำให้สเตคมั่นคง (กระตุ้นนักเรียนให้ปฏิบัติตามคำตอบของพวกเขาสำหรับคำถามนี้)

อธิบายว่าในคำพยากรณ์เดียวกันนี้ อิสยาห์ใช้อุปลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง เขาอ้างถึงเชื้อสายแห่งอิสราเอลว่าเป็นภรรยาที่สามีของนางคือพระเจ้า เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 22:4–5 และขอให้ชั้นเรียนมองหาคำปลอบโยนสำหรับภรรยา

  • ท่านเห็นคำปลอบโยนอะไรบ้างใน 3 นีไฟ 22:4 (คำตอบอาจได้แก่ “เจ้าจะไม่ต้องละอาย” และ “เจ้า … จะไม่ต้องจำเรื่องอัปยศ [เรื่องเสื่อมเสีย] ในวัยเยาว์ของเจ้า”) เหตุใดการรู้ว่า “สามี” คือ “พระผู้ไถ่ …, พระผู้บริสุทธิ์แห่งอิสราเอล” จึงเป็นการปลอบโยน (3 นีไฟ 22:5)

  • ข้อเหล่านี้คล้ายอย่างไรกับการตอบสนองของพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อเราทำบาป

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 22:7–10 ในใจโดยมองหาสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์ผู้กลับมาหาพระองค์

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาอะไรกับคนที่กลับมาหาพระองค์

  • เราเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างเกี่ยวกับพระเจ้าในข้อเหล่านี้ (นักเรียนอาจแบ่งปันคำตอบต่างกันไปบ้างสำหรับคำถามข้อนี้ พวกเขาพึงระบุความจริงต่อไปนี้: พระเจ้าทรงแสดงพระกรุณาและพระเมตตาอันเป็นนิจต่อผู้ที่กลับมาหาพระองค์ ท่านอาจต้องการเขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน ท่านอาจเสนอแนะให้นักเรียนเขียนไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ 3 นีไฟ 22:7–10.)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจ 3 นีไฟ 22:4–10 ดีขึ้น ท่านอาจจะให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“แม้จะมีความเป็นหมันและความไม่ซื่อสัตย์บางครั้ง ทว่าสามี (พระคริสต์) จะทรงไถ่และทรงนำเจ้าสาวของพระองค์ (อิสราเอล) กลับคืน มโนภาพของพระเยโฮวาห์ในฐานะเจ้าบ่าวและเจ้าสาวคืออิสราเอลเป็นหนึ่งในอุปลักษณ์ที่ใช้มากที่สุดในพระคัมภีร์ โดยพระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ใช้บรรยายความสัมพันธ์ระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับลูกหลานแห่งพันธสัญญา

“… พระคริสต์บางครั้งทรงสมควรกริ้วอิสราเอลที่เสื่อมถอย แต่มักจะกริ้วสั้นๆ และชั่วคราว—‘ชั่วประเดี๋ยว’ พระเมตตากรุณากลับคืนมาเสมอและมีอยู่อย่างแน่นอนที่สุด ภูเขาและเนินเขาอาจหายไป น้ำในทะเลกว้างอาจแห้งเหือด สิ่งเล็กน้อยที่สุดในโลกอาจเกิดขึ้น แต่พระกรุณาและสันติสุขของพระเจ้าจะไม่ถูกนำไปจากผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์ พระองค์ทรงสาบานไว้ด้วยคำปฏิญาณอันสูงส่งว่าจะไม่กริ้วพวกเขาอีกเลย” (Christ and the New Covenant, 290)

  • ท่านเคยเห็นหลักฐานอะไรบ้างของพระเมตตาและพระกรุณาของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตท่าน (นักเรียนพึงเข้าใจว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องแบ่งปันเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)

  • การมีความรู้เรื่องพระเมตตาและพระกรุณาของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถมีอิทธิพลต่อความซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาของเราได้อย่างไร

อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดยังคงสอนชาวนีไฟเกี่ยวกับพรที่คอยท่าคนชอบธรรม เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า 3 นีไฟ 22:13–17 ในใจโดยมองหาพรที่สัญญาไว้ประการหนึ่งซึ่งมีความหมายต่อพวกเขาเป็นพิเศษ ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเราอ่านเกี่ยวกับพรที่สัญญาไว้เหล่านี้ เราเห็นว่า ผู้คนของพระเจ้าจะได้รับการสถาปนาในความชอบธรรมและจะชนะความชั่วร้าย

สรุปด้วยประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่ได้สนทนาในบทนี้ เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนข้อความสามถึงสี่ประโยคในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับสิ่งหนึ่งที่พวกเขาสามารถทำได้วันนี้เพื่อให้ตนมีคุณสมบัติคู่ควรรับพรที่พระเจ้าทรงปรารถนาจะประทานแก่พวกเขา

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

3 นีไฟ 21:12–13 “ดังสิงห์อยู่ในบรรดาสัตว์แห่งป่า”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวถึงคำสอนใน 3 นีไฟ 20:16 โดยกล่าวดังนี้ ความคิดเห็นของท่านสามารถประยุกต์ใช้ได้กับ 3 นีไฟ 21:12–13

“พระดำรัสเหล่านี้ที่พระเจ้าตรัสกับชาวนีไฟหยิบยกมาจาก มีคาห์ 5:8–9 มีการอ้างถึงความรกร้างว่างเปล่าและการเผาไหม้ในท้ายที่สุดซึ่งจะทำลายคนชั่วร้าย ณ การเสด็จมาครั้งที่สอง นอกจากไม่กี่คนซึ่งเป็นผู้ติดตามที่ถ่อมตนของพระคริสต์แล้ว คนต่างชาติจะไม่กลับใจ พวกเขาจะกระหยิ่มยิ้มย่องในความน่าชิงชังของตนและทำบาปต่อต้านพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู และพวกเขาจะถูกความเจิดจ้าในการเสด็จมาของพระเจ้าเผาไหม้ขณะที่คนชอบธรรม—ณ ที่นี้เรียกว่าพวกที่เหลืออยู่ของยาโคบ—จะอยู่ในวันนั้น ต่อจากนั้น ในมโนภาพอันเป็นการพยากรณ์ จะเป็นประหนึ่งพวกที่เหลืออยู่ของอิสราเอลล้มล้างศัตรูของพวกเขาดังสิงห์หนุ่มอยู่ท่ามกลางฝูงแกะ” (The Millennial Messiah: The Second Coming of the Son of Man [1982], 248)

3 นีไฟ 21:22 “เราจะสถาปนาศาสนจักรของเราในบรรดาพวกเขา”

การรวมอิสราเอลเกิดขึ้นเมื่อผู้คนเชื่อในพระเยซูคริสต์และเป็นส่วนหนึ่งในศาสนจักรของพระองค์ (ดู 1 นีไฟ 15:14–16; 2 นีไฟ 9:1–2; 3 นีไฟ 5:20–26; 21:22; มอรมอน 9:36–37) เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีสอนว่า

“ไม่มีใครจะรวมอยู่กับอิสราเอลจนกว่าพวกเขายอมรับพระผู้ทรงถูกตรึงกางเขน … การรวมชาวยิวไปปาเลสไตน์ในปัจจุบันเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องทางวิญญาณ และไม่ใช่การรวมอิสราเอลซึ่งคำพยากรณ์กล่าวถึง

“การรวมอิสราเอลประกอบด้วยการเข้าร่วมศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ศาสนจักรซึ่งเป็นศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่เพียงแห่งเดียวบนพื้นพิภพ” (A New Witness for the Articles of Faith [1985], 564, 565; ดูหน้า 511, 519–20 และ The Millennial Messiah: The Second Coming of the Son of Man [1982], 229 ด้วย)

3 นีไฟ 21:22–25 เยรูซาเล็มใหม่

ดาเนียล เอช. ลัดโลว์ชี้แจงว่าใครจะสร้างเมืองเยรูซาเล็มใหม่

“เยรูซาเล็มใหม่’ ของวันเวลาสุดท้ายจะสร้างบนทวีปอเมริกาโดย (1) ‘พวกที่เหลืออยู่ของยาโคบ’ (2) คนต่างชาติผู้ ‘จะเข้ามาสู่พันธสัญญาและจะนับเข้าในบรรดาพวกที่เหลืออยู่ … ของยาโคบ และ (3) ‘เชื้อสายแห่งอิสราเอลมากเท่าที่จะมา’ ’ (3 นีไฟ 21:22–25 อ่าน 3 นีไฟ 20:22; อีเธอร์ 13:1–12 ด้วย)” (A Companion to Your Study of the Book of Mormon [1976], 281)

3 นีไฟ 22:2 “ทำให้เสาของเจ้ามั่นคง”

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันอธิบายความหมายของคำว่า เสา ตามที่ใช้ใน 3 นีไฟ 22:2 และพระคัมภีร์ข้ออื่น

“คำว่า เสา เป็นคำพูดเชิงสัญลักษณ์ ลองนึกภาพการตั้งกระโจมขนาดใหญ่โดยใช้เชือกขึงไปหาเสาหลายๆ ต้นเพื่อให้ตั้งมั่นอยู่ในดิน

“ศาสดาพยากรณ์เปรียบไซอันยุคสุดท้ายกับกระโจมขนาดใหญ่คลุมแผ่นดินโลก กระโจมดังกล่าวมีเชือกดึงขึงกับเสา แน่นอนว่าเสาเหล่านี้คือองค์กรต่างๆ ทางภูมิศาสตร์ที่ขยายไปทั่วโลก ปัจจุบันอิสราเอลกำลังมารวมกันยังสเตคต่างๆ ของไซอัน” (“Strengthen Thy Stakes,Ensign, Jan. 1991, 2)

พิมพ์