คลังค้นคว้า
บทที่ 23: 2 นีไฟ 2 (ตอน 1)


บทที่ 23

2 นีไฟ 2 (ตอน 1)

คำนำ

2 นีไฟ 2 เป็นความต่อเนื่องในคำสอนของลีไฮก่อนเขาถึงแก่กรรม ขณะพูดอย่างตรงไปตรงมากับเจคอบบุตรชาย ลีไฮเป็นพยานถึงพระปรีชาสามารถของพระเจ้าในการอุทิศความทุกข์ของเราให้เป็นพรของเรา ขณะพูดกับบุตรชายทุกคน เขาสอนเรื่องการตกของอาดัม—เหตุใดจึงจำเป็นและมีผลอย่างไรต่อมนุษยชาติ—และเกี่ยวกับความจำเป็นในการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (ลีไฮสอนหลักคำสอนเกี่ยวกับสิทธิ์เสรีเช่นกัน หลักคำสอนเรื่องนี้จะพูดถึงในบทต่อไป)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 นีไฟ 2:1–4

ลีไฮพูดกับเจคอบเกี่ยวกับการทดลองและพร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่า 2 นีไฟ 2 เกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเขา ขอให้พวกเขานึกถึงคนรู้จักผู้ประสบความยากลำบากหรือความทุกข์ใหญ่หลวง เชื้อเชิญพวกเขาให้ไตร่ตรองว่าพวกเขาจะพูดอะไรเพื่อให้กำลังใจบุคคลนั้น ขอให้พวกเขาเตรียมแบ่งปันความคิดกับชั้นเรียน

อธิบายว่า 2 นีไฟ 2 มีบันทึกของลีไฮพูดกับบุตรชายคนหนึ่งผู้ประสบความยากลำบาก เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 2 นีไฟ 2:1 ในใจ ขอให้พวกเขาบอกชื่อบุตรชายที่ลีไฮสอน (เจคอบ) และอะไรทำให้บุตรชายคนนี้เป็นทุกข์ (ความรุนแรงจากพี่ๆ) จากนั้นให้นักเรียนอ่าน 2 นีไฟ 2:2–3 ในใจ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายคำและข้อความที่บอกว่าพระเจ้าจะทรงทำอะไรเพื่อเจคอบ

ขอให้นักเรียนแบ่งปันข้อความที่พวกเขาพบ จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่า พระเจ้าทรงสามารถอุทิศความทุกข์ของเราให้เป็นพรของเรา

  • ประโยคที่ว่า “อุทิศความทุกข์ของลูกให้เป็นพรของลูก” มีความหมายต่อท่านว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่า อุทิศ หมายถึงสละให้หรือทำให้ศักดิ์สิทธิ์)

  • ท่านเห็นเมื่อใดว่าพระเจ้าทรงอุทิศความทุกข์ของเราให้เป็นพรของเราได้

2 นีไฟ 2:5–25

ลีไฮสอนบุตรชายเกี่ยวกับการตกและการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

อธิบายว่าลีไฮสอนเจคอบและบุตรชายคนอื่นๆ เกี่ยวกับการตกของอาดัมและเอวา ท่านอาจต้องอธิบายว่าวลี “การตก” หมายถึงสภาพอันเกิดแก่อาดัมและเอวากับผู้สืบตระกูลของพวกเขาเนื่องด้วยอาดัมและเอวาเลือกรับส่วนผลไม้ต้องห้ามในสวนเอเดน

  • พระเจ้าทรงให้อาดัมและเอวาเลือกอะไรในสวนเอเดน (พระองค์ทรงยอมให้ทั้งสองเลือกว่าจะกินผลไม้ต้องห้ามหรือไม่)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 2 นีไฟ 2:15 เหตุใดพระเจ้าทรงให้การเลือกนี้แก่พวกเขา (“เพื่อนำมาซึ่งจุดประสงค์นิรันดร์ของพระองค์ในเจตนารมณ์ของมนุษย์” ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อความนี้)

  • อะไรคือจุดประสงค์นิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับเรา (เพื่อเปิดโอกาสให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์และเป็นเหมือนพระองค์ ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้จดสิ่งนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาติดกับวลี “จุดประสงค์นิรันดร์” และอาจต้องการให้พวกเขาอ่าน โมเสส 1:39 ด้วย)

ลอกแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บนกระดานโดยเว้นสองช่องด้านล่าง (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนลอกแผนภูมินี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา

ปราศจากการตก

เนื่องด้วยการตก

สิ่งทั้งปวงจะคงอยู่ในสภาพเดิมดังที่สร้างไว้ (ดู 2 นีไฟ 2:22)

อาดัมและเอวาจะไม่มีลูก (ดู 2 นีไฟ 2:23)

อาดัมและเอวาจะคงอยู่ในสภาพไร้เดียงสา ไม่สามารถรู้จักปีติหรือความเศร้าหมอง ความดีหรือบาป (ดู 2 นีไฟ 2:23)

อาดัมและเอวาถูกขับออกจากสวนไปทำไร่ไถนา (ดู 2 นีไฟ 2:19)

อาดัมและเอวาให้กำเนิดบุตรธิดา—ครอบครัวของแผ่นดินโลกทั้งปวง (ดู 2 นีไฟ 2:20)

อาดัมและเอวากับผู้สืบตระกูลของพวกเขาจะประสบชีวิตมรรตัย รวมถึงความเศร้าหมอง ปีติ และความสามารถในการทำดีและทำบาป (ดู 2 นีไฟ 2:23, 25)

เราอยู่ภายใต้ความตายทางร่างกายและทางวิญญาณ (ดู 2 นีไฟ 9:6; ฮีลามัน 14:16)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งมาที่กระดานและเป็นคนจดให้ชั้นเรียน ขอให้นักเรียนค้นคว้า 2 นีไฟ 2:19–25 ในใจ โดยระบุ (1) ผลที่จะเกิดขึ้นถ้าอาดัมและเอวาไม่กินผลไม้ต้องห้ามและตกและ (2) ผลอันเนื่องจากการตก ขอให้คนจดเขียนคำตอบของนักเรียนในแผนภูมิ คำตอบควรมีรายการข้างต้นรวมอยู่ด้วย (ยกเว้นข้อมูลเกี่ยวกับความตายทางร่างกายและทางวิญญาณซึ่งจะเพิ่มเติมภายหลัง)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวนคำตอบของพวกเขาใต้หัวข้อ “ปราศจากการตก”

  • สภาพในสวนเอเดนจะขัดขวางอาดัมและเอวาไม่ให้ก้าวหน้าในแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร (ดู 2 นีไฟ 2:22–23.)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวนรายการใต้หัวข้อ “เนื่องด้วยการตก” พวกเขาพึงเข้าใจว่าเพราะเราเป็นผู้สืบตระกูลของอาดัมและเอวา เราจึงอยู่ภายใต้สภาพอันเกิดแก่พวกเขาหลังจากการตก (ดู 2 นีไฟ 2:21)

  • วลี “ทำไร่ไถนา” หมายความว่าหลังจากอาดัมและเอวาถูกขับออกจากสวน พวกเขาต้องทำงานจึงจะได้อาหาร ท่านคิดว่าการทำงานช่วยให้เราเจริญก้าวหน้าในแผนของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร

  • การมีลูกช่วยให้อาดัมและเอวาเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นอย่างไร ครอบครัวสำคัญในด้านใดต่อแผนของพระบิดาบนสวรรค์

  • โอกาสที่เราจะประสบปีติและความเศร้าหมองช่วยให้เราเจริญก้าวหน้าในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ได้อย่างไร

หลังจากสนทนาคำถามเหล่านี้ ให้เน้นว่า การตกของอาดัมและเอวาเป็นส่วนจำเป็นในแผนแห่งความสุขของพระบิดาบนสวรรค์

ชี้ให้เห็นว่า 2 นีไฟ 2:25 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจจะกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อนี้ เพราะข้อนี้สั้น ท่านจึงอาจต้องการใช้เวลาช่วยนักเรียนท่องจำ

อธิบายว่าถึงแม้การตกเปิดทางให้เราเจริญก้าวหน้า แต่ก็นำความเจ็บปวด ความทุกขเวทนา บาป และความตายเข้ามาในโลกด้วย เพื่อช่วยนักเรียนขยายความเข้าใจในความจริงนี้ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 9:6 จากนั้นให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียงฮีลามัน 14:15–17 ขอให้ชั้นเรียนมองหาผลของการตกที่บรรยายไว้ในข้อเหล่านี้

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับการตก (การตกทำให้เกิดความตายทางกาย ซึ่งคือความตายของร่างกาย และความตายทางวิญญาณ ซึ่งคือสภาพของการถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า เขียนบนกระดานว่า เราอยู่ภายใต้ความตายทางกายและทางวิญญาณ ใต้หัวข้อ “เนื่องด้วยการตก”)

เพื่อช่วยนักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาเคยประสบผลของการตกที่เขียนไว้บนกระดานอย่างไร กระตุ้นพวกเขาให้ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ในใจ (อ่านคำถามช้าๆ และหยุดระหว่างข้อเพื่อให้นักเรียนมีเวลาคิดมากพอ)

  • สาเหตุของความเศร้าหมองในชีวิตนี้มีอะไรบ้าง

  • เหตุใดความตายจึงเป็นส่วนจำเป็นของแผนแห่งความรอด

  • ความยุ่งยากและโทมนัสช่วยให้เราเรียนรู้และเติบโตได้อย่างไร

อธิบายว่าเมื่อเราเข้าใจว่าการตกส่งผลต่อเราอย่างไร เราย่อมตระหนักว่าเราต้องการการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“มนุษย์ไม่ปรารถนาอาหารจนกว่าเขาจะหิวฉันใด เขาย่อมไม่ปรารถนาความรอดของพระคริสต์จนกว่าเขาจะรู้ว่าเหตุใดเขาจึงต้องการพระคริสต์ฉันนั้น

“ไม่มีใครรู้อย่างเพียงพอและถูกต้องว่าเหตุใดเขาจึงต้องการพระคริสต์จนกว่าเขาเข้าใจและยอมรับหลักคำสอนเรื่องการตกและผลของการตกต่อมวลมนุษย์ ไม่มีหนังสือเล่มใดในโลกอธิบายหลักคำสอนอันสำคัญยิ่งนี้ได้ดีเท่าพระคัมภีร์มอรมอน” (“The Book of Mormon and the Doctrine and Covenants,” Ensign, May 1987, 85)

หลังจากนักเรียนมีเวลาไตร่ตรองคำถามเหล่านี้มากพอแล้ว ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอด แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่า โดยผ่านการชดใช้ พระเยซูคริสต์ทรงไถ่เราจากผลของการตกและทรงเสนอการไถ่จากบาปของเรา

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 2 นีไฟ 2:5–10, 21 และ แอลมา 7:11–13 ขอให้ชั้นเรียนระบุวลีในข้อเหล่านี้ที่แสดงให้เห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อไถ่เราจากผลของการตกและจากบาปของเราแต่ละคน (เกี่ยวกับข้อ 9 ท่านอาจต้องอธิบายว่าวลี “วิงวอนแทน” หมายถึงขอร องแทนอีกคนหนึ่งหรือทำแทนอีกคนหนึ่ง) เพื่อช่วยนักเรียนวิเคราะห์วลีที่พวกเขาระบุ ให้ถามนักเรียนดังนี้

  • วลีใดในข้อเหล่านี้บ่งบอกว่าโดยผ่านการชดใช้ พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงไถ่เราจากความตายทางกาย

  • วลีใดบ่งบอกว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงไถ่เราจากความตายทางวิญญาณ (ถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า)

  • วลีใดบ่งบอกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถไถ่เราจากบาปของเราได้

  • วลีใดบ่งบอกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยเราผ่านช่วงเวลาแห่งการทดลองเช่นความป่วยไข้และความเจ็บปวด

ตามที่กล่าวไว้ใน 2 นีไฟ 2:7–9, 21 เราต้องทำอะไรจึงจะได้รับพรทุกประการที่มีให้เราผ่านการชดใช้ (เกี่ยวกับข้อ 7 ท่านอาจต้องอธิบายว่าบุคคลที่มี “ใจชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” ย่อมอ่อนน้อมและพร้อมทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า บุคคลเช่นนั้นรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งเพราะบาปและปรารถนาจะกลับใจอย่างแท้จริง)

หลังจากสนทนาคำถามเหล่านี้ ให้นักเรียนสำรวจข้อที่มอบหมายในใจ โดยมองหาวลีที่มีความหมายต่อพวกเขาเป็นพิเศษ ขอให้นักเรียนแบ่งเป็นคู่ๆ และแบ่งปันวลีที่พวกเขาเลือกให้กัน เชื้อเชิญพวกเขาให้แบ่งปันว่าเหตุใดวลีเหล่านี้จึงมีความหมายต่อพวกเขา

เชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนสรุปให้ชั้นเรียนฟังว่าเหตุใดการตกจึงเป็นส่วนจำเป็นในแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์ จากนั้นขอให้พวกเขาแบ่งปันความรู้สึกว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ไถ่เราจากการตกอย่างไร

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—2 นีไฟ 2:25

หมายเหตุ: ท่านอาจจะใช้กิจกรรมต่อไปนี้ช่วยให้นักเรียนใช้ 2 นีไฟ 2:25 เมื่อพวกเขาสอนพระกิตติคุณ เนื่องด้วยลักษณะและความยาวของบทเรียนวันนี้ ท่านอาจต้องการใช้กิจกรรมนี้อีกวันหนึ่งเมื่อท่านมีเวลามากขึ้น

เชื้อเชิญนักเรียนให้ใช้ 2 นีไฟ 2:25 เตรียมบทเรียนเกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องการตก พวกเขาอาจจะสอนบทเรียนนี้ที่การสังสรรค์ในครอบครัวหรือในสภาพแวดล้อมอื่น ถามนักเรียนสองสามคนว่าพวกเขายินดีรายงานประสบการณ์หลังจากพวกเขาสอนหรือไม่ อนุญาตให้นักเรียนเริ่มเตรียมในระหว่างชั้นเรียนเท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวย

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

2 นีไฟ 2:15 ผลไม้ต้องห้าม

พระเจ้าทรงยกย่องสิทธิ์เสรีของอาดัมและเอวาหลังจากสอนพวกเขาเรื่องผลของการรับส่วนผลไม้ต้องห้าม พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “เจ้าเลือกได้ด้วยตนเอง” (โมเสส 3:17) ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธช่วยให้เราเข้าใจพระบัญชาที่พระเจ้ารับสั่งกับอาดัมและเอวาเกี่ยวกับผลไม้ต้องห้าม

“สาเหตุที่พระเจ้าตรัสกับอาดัมว่าห้ามรับส่วนผลของต้นนั้นไม่ได้บอกชัดเจนในเรื่องราวพระคัมภีร์ไบเบิล [ดู ปฐมกาล 2:17] แต่ในต้นฉบับที่มาถึงเราในหนังสือของโมเสส [ดู โมเสส 3:17] บอกไว้อย่างชัดเจน นั่นคือพระเจ้าตรัสกับอาดัมว่าถ้าเขาประสงค์จะอยู่ในสภาพเดิมเหมือนที่เขาอยู่ในสวน เขาก็ไม่ต้องกินผลไม้ แต่ถ้าเขาปรารถนาจะกินและรับส่วนความตายเขาย่อมมีเสรีภาพที่จะทำเช่นนั้น” (Answers to Gospel Questions, comp. Joseph Fielding Smith Jr., 5 vols. [1957–66], 4:81)

2 นีไฟ 2:14, 25–26 การสร้าง การตก และการชดใช้

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“เหตุการณ์สำคัญที่สุดที่เคยเกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในนิรันดร … คือการสร้าง การตก และการชดใช้

“ก่อนเราจะเริ่มเข้าใจการสร้างสรรพสิ่งทางโลกได้ เราต้องรู้ว่าความจริงนิรันดร์สามเรื่องนี้—การสร้าง การตก และการชดใช้—ถักทอเข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออกจนเป็นแผนแห่งรอดแผนหนึ่งได้อย่างไรและในลักษณะใด ไม่มีความจริงเรื่องใดอยู่โดดเดี่ยว แต่ละเรื่องผูกโยงเข้ากับอีกสองเรื่อง และหากไม่รู้ทั้งสามเรื่อง ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง …

“… จงจำไว้ว่า การชดใช้เกิดขึ้นเพราะการตก พระคริสต์ทรงจ่ายค่าไถ่สำหรับการล่วงละเมิดของอาดัม หากไม่มีการตก ย่อมไม่มีการชดใช้กับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ อันเนื่องจากมูลเหตุนี้ ฉะนั้น ความรอดเกิดขึ้นเพราะการชดใช้ฉันใด ความรอดจึงเกิดขึ้นเพราะการตกฉันนั้น” (“Christ and the Creation,Ensign, June 1982, 9)

2 นีไฟ 2:24 “โดยปรีชาญาณของพระองค์ผู้ทรงรู้แจ้งในสรรพสิ่ง”

ประธานบริคัม ยังก์สอนว่าการตกของอาดัมและเอวาเป็นส่วนหนึ่งในแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์

“[อาดัมและเอวา] ทำตรงกันข้ามกับพระผู้เป็นเจ้าและการปกครองของพระองค์หรือไม่ ไม่ แต่พวกเขาล่วงละเมิดพระบัญชาของพระเจ้า และโดยผ่านการล่วงละเมิดนั้นบาปจึงเข้ามาในโลก พระเจ้าทรงทราบว่าพวกเขาจะทำเช่นนี้ และพระองค์ทรงวางแผนไว้ว่าพวกเขาควรทำ” (Discourses of Brigham Young, sel. John A. Widtsoe [1954], 103)