คลังค้นคว้า
บทที่ 38: 2 นีไฟ 28


บทที่ 38

2 นีไฟ 28

คำนำ

นีไฟพยากรณ์ถึงสภาพท้าทายบางอย่างในยุคสุดท้าย รวมถึงคำสอนเท็จและความจองหองของศาสนจักรมากมายที่จะสร้างขึ้นมา เขาสอนวิธีรู้จักหลักคำสอนเท็จ เจตคติทางโลก และเตือนเรื่องวิธีที่ซาตานจะพยายามทำให้เราหันเหไปจากความชอบธรรม

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 นีไฟ 28:1–19

นีไฟพูดถึงศาสนจักรปลอมและแนวคิดจอมปลอมในสมัยของเรา

บนกระดานให้วาดป้ายเตือนที่คุ้นกันดีในวัฒนธรรมของท่าน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะวาดป้ายจราจรหรือสัญลักษณ์หนึ่งซึ่งสื่อให้รู้ว่าสารบางอย่างเป็นอันตรายหรือมีพิษ

  • อะไรคือจุดประสงค์ของป้ายเหล่านี้

ภาพ
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

อธิบายว่าพระคัมภีร์มอรมอนสามารถช่วยให้เราเห็นป้ายเตือนเกี่ยวกับอิทธิพลที่เป็นภัยทางวิญญาณ ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันอธิบายว่าจุดประสงค์ประการหนึ่งของพระคัมภีร์มอรมอนคือเผยให้รู้ว่าปฏิปักษ์และศัตรูคนอื่นๆ ของพระคริสต์จะทำงานอย่างไรในยุคสุดท้าย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเบ็นสัน

“พระคัมภีร์มอรมอนเปิดโปงศัตรูของพระคริสต์ หักล้างหลักคำสอนเท็จ … เสริมกำลังผู้ติดตามที่อ่อนน้อมของพระคริสต์ให้มีแรงต้านแผนชั่ว กลอุบาย และหลักคำสอนของมารในสมัยเรา รูปแบบของผู้ละทิ้งความเชื่อในพระคัมภีร์มอรมอนคล้ายกับรูปแบบที่เรามีในปัจจุบัน” (“The Book of Mormon Is the Word of God,” Ensign, Jan. 1988, 3)

  • พระคัมภีร์มอรมอนเปิดโปงศัตรูของพระคริสต์อย่างไร (เผยเรื่องราวของคนที่พยายามชักนำผู้คนให้ละทิ้งศรัทธาในพระคริสต์ ช่วยให้เราเห็นความผิดพลาดและแนวคิดผิดๆ ของพวกเขา)

  • พระคัมภีร์มอรมอนเสริมกำลังเราให้มีแรงต้านปฏิปักษ์อย่างไร

เป็นพยานว่า พระคัมภีร์มอรมอนเผยแนวคิดเท็จของมารและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เรามีแรงต้านแผนชั่วของเขา อธิบายว่านักเรียนจะเห็นตัวอย่างนี้ใน 2 นีไฟ 28 บทนี้มีคำพยากรณ์เรื่องหนึ่งของนีไฟเกี่ยวกับยุคสุดท้าย ในคำพยากรณ์นี้ นีไฟเตือนให้ระวังคำสอนเท็จที่จะแพร่หลายในสมัยของเรา

เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า 2 นีไฟ 28:3–9 ในใจโดยมองหาคำเตือนของนีไฟเกี่ยวกับคำสอนเท็จ ชี้ให้เห็นว่า 2 นีไฟ 28:7–9 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจจะกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อความนี้ให้ชัดเจนเพื่อพวกเขาจะหาเจอได้โดยง่าย หลังจากนักเรียนมีเวลาศึกษาข้อความดังกล่าวมากพอแล้ว เชิญนักเรียนหลายๆ ออกมาที่กระดาน ขอให้แต่ละคนเขียนคำสอนหรือแนวคิดเท็จจากข้อความนั้น รวมทั้งข้อที่พบข้อความ จากนั้นถามนักเรียนคนอื่นๆ ว่าพวกเขาสังเกตเห็นคำสอนหรือแนวคิดจอมปลอมอื่นๆ อีกหรือไม่ หากเห็น เชิญพวกเขาออกมาเขียนเพิ่มบนกระดาน

เพื่อช่วยนักเรียนสนทนาหลักคำสอนและแนวคิดจอมปลอมเหล่านี้บางข้อ ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ตัวอย่างปัจจุบันของแนวคิดจอมปลอมเหล่านี้คืออะไร (ชั้นเรียนไม่ต้องบอกเจาะจงนิกายเมื่อพวกเขาตอบคำถามข้อนี้)

  • แนวคิดจอมปลอมดังกล่าวขัดขวางผู้คนไม่ให้ทำตามแผนของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 28:12–14 เชื้อเชิญชั้นเรียนให้มองหาคำเตือนของนีไฟเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับหลายๆ นิกายและคนมากมายในวันเวลาสุดท้ายเพราะความจองหองและหลักคำสอนเท็จ

  • ความจองหองและคำสอนเท็จมีอิทธิพลต่อผู้คนในด้านใดบ้าง

  • เหตุใด “ผู้ติดตามที่ถ่อมตนของพระคริสต์” จึงไม่หลงทางเพราะความจองหองและความชั่วร้าย เราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูก “กฎเกณฑ์ของมนุษย์” หลอกได้อย่างไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าวลี “กฎเกณฑ์ของมนุษย์” หมายถึงคำสอนของคนทั่วไป—ตรงข้ามกับคำสอนของพระเจ้า)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 2 นีไฟ 28:15–16, 19 ในใจ โดยมองหาผลลัพธ์ของคำสอนเท็จ

  • คำหรือวลีใดในข้อนี้ที่ท่านเห็นว่าพูดถึงผลของความจองหองและคำสอนเท็จ

2 นีไฟ 28:20–32

นีไฟเตือนว่าซาตานพยายามหลอกเราอย่างไร

เล่าเรื่องต่อไปนี้ให้นักเรียนฟัง

ระหว่างทำงานมอบหมายในแอฟริกา ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ไปดูสัตว์ที่เขตสงวนแห่งหนึ่ง ท่านสังเกตเห็นว่าสัตว์ในแอ่งน้ำตื้นตื่นกลัว เมื่อท่านถามมัคคุเทศก์ว่าทำไมสัตว์พวกนั้นไม่ดื่มน้ำ มัคคุเทศก์ตอบว่าเพราะมีจระเข้ ประธานแพคเกอร์เล่าว่า

“ข้าพเจ้ารู้ว่าเขาคงพูดเล่นจึงถามอย่างจริงจังว่า ‘ปัญหาคืออะไรครับ’ เขาตอบอีกครั้งว่า: ‘จระเข้ครับ’ …

“เขาคงดูออกว่าข้าพเจ้าไม่เชื่อและข้าพเจ้าคิดว่าเขาตั้งใจจะสอนบทเรียนแก่ข้าพเจ้า เราขับรถไปอีกจุดหนึ่งตรงที่รถยนต์อยู่บนตลิ่งเหนือหลุมโคลนที่เรามองลงไปได้ ‘นั่นไง’ เขาบอก ‘ดูให้เห็นกับตาเลยคุณ’

“ข้าพเจ้ามองไม่เห็นอะไรนอกจากโคลน น้ำนิดหน่อย และสัตว์ตื่นกลัวที่อยู่ไกลๆ แล้วทันใดนั้นข้าพเจ้าก็เห็น!จระเข้ตัวใหญ่ นอนนิ่งอยู่ในโคลน กำลังรอสัตว์พาซื่อบางตัวที่กระหายมากพอจะมากินน้ำ

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“ข้าพเจ้ากลายเป็นผู้เชื่อในบัดดล! เมื่อเขาเห็นว่าข้าพเจ้าเต็มใจฟัง เขาจึงสอนบทเรียนต่อไปว่า ‘มีจระเข้อยู่ทั่วอุทยาน’ เขาบอก ‘ไม่ใช่แค่ในแม่น้ำ แหล่งน้ำทุกแห่งที่นี่มีจระเข้ป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆ คุณเชื่อเถอะ’ …

“ระหว่างเดินทางไปแอฟริกาอีกครั้ง ข้าพเจ้าสนทนาประสบการณ์นี้กับเจ้าหน้าที่ดูแลอุทยานอีกแห่งหนึ่ง …

“จากนั้นเขาพาข้าพเจ้าไปดูสถานที่เกิดเหตุน่าสลดใจ ชายหนุ่มคนหนึ่งจากอังกฤษมาทำงานที่โรงแรมพักหนึ่ง ทั้งที่เตือนซ้ำๆ สม่ำเสมอเขาก็ยังลอดรั้วออกไปสำรวจบางอย่างบริเวณน้ำตื้นที่ลึกไม่ถึงตาตุ่ม

“เขาเดินไม่ถึงสองก้าว’ เจ้าหน้าที่อุทยานเล่า ‘จระเข้ก็คาบเขาไป เราช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย’” (“Spiritual Crocodiles,” Ensign, May 1976, 30–31)

  • อะไรทำให้ชายหนุ่มคนนี้ตกเป็นเหยื่อของจระเข้ เขาจะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์น่าสลดใจครั้งนี้ได้อย่างไร (เชื่อฟังคำเตือนที่เคยได้รับ)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำแนะนำต่อไปนี้จากประธานแพคเกอร์

“คนที่อาบน้ำร้อนมาก่อนท่านได้ตรวจสอบแอ่งน้ำมาบ้างแล้วและเปล่งเสียงเตือนให้ระวังจระเข้ ไม่เพียงจระเข้สีเทาตัวใหญ่เท่านั้นที่จะกัดท่านเป็นชิ้นๆ ได้ แต่ จระเข้ทางวิญญาณ อันตรายกว่ามาก ลวงตามากกว่าและเห็นยากกว่าสัตว์เลื้อยคลานเหล่านั้นในแอฟริกาที่พรางตัวเก่งมาก

“จระเข้ทางวิญญาณเหล่านี้สามารถฆ่าหรือทำให้จิตวิญญาณท่านเสียหายได้ มันสามารถทำลายความสงบสุขของใจท่านและความสงบสุขของใจคนที่รักท่าน มันคือจระเข้ที่เราต้องระวัง และเวลานี้แทบไม่มีแหล่งน้ำใดในความเป็นมรรตัยที่มันไม่เข้าไปรังควาน” (“Spiritual Crocodiles,” 31)

  • จระเข้ในเรื่องเล่าของประธานแพคเกอร์คล้ายกับการล่อลวงและกลยุทธ์ของซาตานในทางใด เราได้รับคำเตือนอะไรบ้างเพื่อช่วยเราหลีกเลี่ยงอันตรายทางวิญญาณ

อ่านออกเสียง 2 นีไฟ 28:19 ขณะนักเรียนดูตาม จากนั้นให้เขียนบนกระดานว่า ซาตานพยายามจะจับพวกเราไว้ในอำนาจของเขาโดย …

อธิบายว่าขณะที่นีไฟพยากรณ์ต่อไป เขาพูดถึงกลยุทธ์ที่ซาตานจะใช้ต่อต้านเราในยุคสุดท้าย แบ่งนักเรียนเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้แต่ละคู่อ่าน 2 นีไฟ 28:20–29 โดยมองหาวิธีเติมประโยคบนกระดานให้ครบถ้วน

หลังจากผ่านไปสองสามนาที เชิญหลายๆ คู่รายงานว่าพวกเขาเติมอะไรในข้อความบนกระดาน ส่วนหนึ่งของการสนทนานี้คือนักเรียนพึงเข้าใจว่า ซาตานใช้กลยุทธ์มากมายเพื่อพยายามครอบงำเรา เช่น ปลุกปั่นเราให้โกรธ ปลอบโยนเรา กล่อมเรา และหว่านล้อมเรา

  • มีตัวอย่างอะไรบ้างของการที่ซาตานพยายาม “ปลุกปั่น [ผู้คน] ให้โกรธสิ่งที่ดี” ความโกรธทำให้ผู้คนสับสนอย่างไรว่าอะไรดีและอะไรชั่ว

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงเป็นอันตรายที่ผู้คน “นิ่งนอนใจในไซอัน” โดยคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงอะไร ท่านคิดว่าเหตุใดซาตานจึงสามารถ “ค่อยๆ พา [ผู้คน] ลงสู่นรก”

  • การหว่านล้อมบางคนหมายความว่าอย่างไร (กล่าวคำชมเชยสรรเสริญที่ไม่จริงใจ) ท่านคิดว่าเหตุใดการหว่านล้อมจึงทำให้บางคนออกห่างจากพระเจ้า

  • เหตุใดซาตานจึงพยายามทำให้คนเชื่อมั่นว่าไม่มีเขา

  • เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความโกรธ เราจะป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าทุกอย่างดีได้อย่างไร เราจะป้องกันการหว่านล้อมได้อย่างไร

เพื่อสรุปบทเรียน แจ้งนักเรียนว่าท้าย 2 นีไฟ 28 มีคำเตือนสุดท้ายและการรับรองจากพระเจ้า เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 2 นีไฟ 28:30–32 ในใจ

  • พระเจ้าทรงให้เกียรติสิทธิ์เสรีและความพยายามของเราในการเรียนรู้จากพระองค์ ตามที่กล่าวไว้ใน 2 นีไฟ 28:30 พระองค์ทรงสอนเรา “บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์,” นี่หมายความว่าอะไร ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ เกิดอะไรขึ้นกับคนที่พูดว่า “เรามีพอแล้ว”

  • ใน 2 นีไฟ 28:32 พระเจ้าตรัสกับคนที่ปฏิเสธพระองค์ ในข้อนี้ ท่านคิดว่าพระองค์ทรงหมายถึงอะไรเมื่อตรัสว่า “เราจะยื่นแขนของเราออกไปให้พวกเขาวันแล้ววันเล่า” (ในข้อนี้ พระเจ้าตรัสถึงพระเมตตาและคาวมเต็มพระทัยจะช่วยเราทุกวันขณะที่เราหมายมั่นทำตามพระประสงค์ของพระองค์ แม้เราจะเคยปฏิเสธพระองค์มาก่อน ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า พระเจ้าจะทรงเมตตาคนทั้งปวงที่กลับใจและมาหาพระองค์)

เขียนบนกระดานดังนี้ เพราะสิ่งที่ฉันเรียนรู้วันนี้ ฉันจึงจะ … เชื้อเชิญนักเรียนให้เติมประโยคนี้ให้จบในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนโดยบอกว่าพวกเขาจะทำอะไรอันเป็นผลจากการศึกษาคำพยากรณ์ใน 2 นีไฟ 28 ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน อย่างไรก็ดี พวกเขาพึงเข้าใจว่าพวกเขาไม่ควรรู้สึกว่าต้องแบ่งปันความคิดหรือประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป

เป็นพยานว่าด้วยการนำทางและพลังจากพระเจ้า เราสามารถเอาชนะการล่อลวงได้ และแม้เมื่อเราทำบาป พระเจ้าจะทรงเมตตาเราถ้าเรากลับใจอย่างจริงใจ

ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—2 นีไฟ 28:7–9

อธิบายว่าบางครั้งผู้คนหาข้ออ้างให้กับบาปโดยบอกตนเองว่าทุกคนก็ทำหรือพวกเขากลับใจทีหลังก็ได้ แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มอ่าน 2 นีไฟ 28:7–9 ด้วยกัน โดยมองหาคำและวลีที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดจอมปลอมเหล่านี้ เชื้อเชิญนักเรียนให้สนทนาคำถามต่อไปนี้ในกลุ่มของตน (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียน):

  • อะไรคืออันตรายของการทำ “บาปเล็กน้อย”

  • พระผู้เป็นเจ้าจะทรงแก้ต่างให้แก่การทำบาปเล็กน้อยหรือนานๆ ครั้งของเราหรือไม่ (ขอให้นักเรียนอ่านเพื่อหาข้อคิดเพิ่มเติมใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:31)

  • บุคคลหนึ่งอาจจะ “เอาเปรียบผู้อื่นเพราะคำพูดของเขา” อย่างไร บางครั้งเราอาจจะ “ขุดหลุมดักเพื่อนบ้าน [ของเรา]” อย่างไร

เชื้อเชิญแต่ละกลุ่มให้เขียนข้อเหล่านี้ใหม่เป็นภาษาที่คนสมัยนี้ใช้ชักชวนคนหนุ่มสาวให้ทำตามหลักคำสอนที่โง่เขลาเหล่านี้

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขายังมีพลังทางวิญญาณแม้จะมีแนวคิดผิดๆ ที่โรงเรียน ในสื่อ หรือจากเพื่อนๆ เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนเล่าประสบการณ์เหล่านี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา ท่านอาจจะขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียน

หมายเหตุ: ท่านอาจจะใช้แนวคิดนี้ในระหว่างบทเรียนขณะแนะนำข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ หรือท่านอาจจะใช้ตอนจบบทเรียนก็ได้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

2 นีไฟ 28:7–9 อันตรายของการทำบาป

นีไฟเผย “หลักคำสอนเท็จและเหลวไหลและโง่เขลา” (2 นีไฟ 28:9) บางอย่างที่ซาตานยอมรับและจะใช้ต่อไป แต่ละข้อความที่พบใน 2 นีไฟ 28:7–9 ถ่ายทอดปรัชญาที่เป็นอันตรายทางวิญญาณ ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายระบุความเท็จเหล่านี้และพูดคัดค้านเช่นกัน

“จงกิน, จงดื่ม, และจงรื่นเริงเถิด, เพราะพรุ่งนี้เราก็ตาย” (2 นีไฟ 28:7) เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเตือนให้ระวังเจตคติเช่นนี้:

“ปรัชญาของความสุรุ่ยสุร่ายฟุ้งเฟ้อคือ ‘จงกิน, จงดื่ม, และจงรื่นเริงเถิด … [และ] พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตีเราสองสามที’ นี่เป็นทรรศนะตื้นเขินเชิงเย้ยหยันเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า ตัวเรา และชีวิต พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงสามารถแก้ต่างให้เราใน ‘การทำบาปเล็กน้อย’ ได้(2 นีไฟ 28:8) พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งจักรวาล ไม่ใช่ผู้พิพากษาศาลเตี้ยอย่างบางคนที่เราสามารถต่อรองและขอเจรจาได้!

“แน่นอนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัย! แต่พระองค์ทรงทราบเจตนาของใจเรา พระองค์ทรงทราบเช่นกันว่าเราจะทำดีอะไรได้บ้างแม้ไม่ได้อยู่กับพระองค์ ในทุกกรณี สิ่งที่ผู้อื่นทำไม่ใช่ข้อแก้ตัวสำหรับสานุศิษย์ที่ถูกเรียกร้องมาก (ดู แอลมา 39:4) นอกจากนี้ บนทางคับแคบและแคบ ไม่มีหัวโค้งให้เลี้ยว (ดู คพ. 82:3) (“Answer Me,Ensign, Nov. 1988, 33)

“พระผู้เป็นเจ้า … จะทรงแก้ต่างให้แก่การทำบาปเล็กน้อย” (2 นีไฟ 28:8) พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาอธิบายชัดเจน

“เพราะเราพระเจ้าไม่อาจมองดูบาปด้วยระดับความยินยอมแม้เล็กน้อยที่สุด; กระนั้นก็ตาม, คนที่กลับใจและทำตามบัญญัติของพระเจ้าจะได้รับการให้อภัย” (คพ. 1:31–32)

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงความเห็นเกี่ยวกับความโง่เขลาของการคิดว่าเราได้เปรียบกว่าหลังจากเราทำบาปเพราะสิ่งที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์นั้น

“แนวคิดที่ว่าคนเราได้เปรียบกว่าหลังจากทำบาปและกลับใจเป็นคำโกหกหลอกลวงของปฏิปักษ์ มีใครในที่นี้คิดหรือไม่ว่าเขาได้เปรียบกว่าถ้าเรียนรู้ด้วยตนเองว่าการตีแรงๆ จะทำให้กระดูกหักหรือสารเคมีบางอย่างจะระเบิดและทำให้ผิวหนังของเราไหม้เกรียม เราได้เปรียบกว่าหรือไม่หลังจากเราผ่านอาการบาดเจ็บเช่นนั้นแล้วรักษาหาย ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราทุกคนเห็นได้ว่าเราได้เปรียบกว่าถ้าเราเอาใจใส่คำเตือนของคนมีปัญญาผู้รู้ผลอันจะเกิดแก่ร่างกายของเรา” (“Sin and Suffering,” [Brigham Young University fireside address, Aug. 5, 1990], 6, speeches.byu.edu)

“จงพูดปดเล็กน้อย” (2 นีไฟ 28:8) ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เตือนเราให้ต่อต้านการล่อลวงให้พูดปดเล็กน้อย

“นีไฟพูดถึงผู้คนในสมัยของท่านฉันใด ท่านพูดถึงคนมากมายในสมัยของเรา ง่ายเพียงใดที่เราจะพูดว่า ‘เราเชื่อในการเป็นคนซื่อสัตย์, แน่วแน่, บริสุทธิ์, มีเมตตา’ (ลช. 1:13) แต่ยากเพียงใดที่คนจำนวนมากจะต่อต้านการล่อลวงให้พูดปดเล็กน้อย โกงเล็กน้อย ขโมยเล็กน้อย เป็นพยานเท็จในถ้อยคำติฉินนินทาผู้อื่น จงอยู่เหนือสิ่งนั้น … จงหนักแน่นในคุณธรรมอันเรียบง่ายของความซื่อสัตย์” (“Building Your Tabernacle,Ensign, Nov. 1992, 52)

“พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตีเราสองสามที,และในที่สุดเราจะได้รับการช่วยให้รอด” (2 นีไฟ 28:8) ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวคัดค้านความเท็จนี้

“[การหลอกลวงอย่างหนึ่ง] คือสิ่งที่บางคนเรียกอย่างผิดๆ ว่า ‘การกลับใจที่วางแผนไว้ล่วงหน้า’ ไม่มีคำสอนเช่นนั้นในศาสนจักรนี้ นี่อาจฟังดูแล้วน่าดึงดูดใจ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นแนวคิดที่ผิดและเป็นภัย นี่อาจฟังดูแล้วน่าดึงดูดใจ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นแนวคิดที่ผิดและเป็นภัย วัตถุประสงค์ของมันคือเพื่อกล่อมเราว่าเราสามารถล่วงละเมิดอย่างจงใจและตั้งใจไว้ก่อนได้ จากนั้น การกลับใจอย่างรวดเร็วจะทำให้เราได้รับพรที่สมบูรณ์ของพระกิตติคุณ เช่น พรพระวิหารและงานเผยแผ่ การกลับใจที่แท้จริงเป็นกระบวนการที่ยาวนานและเต็มไปด้วยความเจ็บปวด นีไฟมองเห็นล่วงหน้าถึงคำสอนที่โง่เขลานี้

“‘และจะมีคนเป็นอันมากที่จะกล่าวด้วยว่า: จงกิน, จงดื่ม, และจงรื่นเริงเถิด; กระนั้นก็ตาม, จงเกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้า—พระองค์จะทรงแก้ต่างให้แก่การทำบาปเล็กน้อย; … ไม่มีอันตรายในการนี้; และจงทำสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้, เพราะพรุ่งนี้เราก็ตาย; และหากเป็นไปว่าเราผิด, พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตีเราสองสามที, และในที่สุดเราจะได้รับการช่วยให้รอดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า’ [2 นีไฟ 28:8]

“… นี่เป็นเพราะพันธสัญญาทั้งหมดของเราไม่เพียงต้องได้รับโดยผ่านศาสนพิธีเท่านั้นแต่เพื่อเป็นนิรันดร์ ต้องผนึกโดยพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญาด้วย เครื่องหมายแห่งการยินยอมจากสวรรค์นี้วางอยู่บนศาสนพิธีและพันธสัญญาของเราโดยผ่านความซื่อสัตย์เท่านั้น แนวคิดผิดๆ ของการกลับใจที่วางแผนไว้ล่วงหน้าเกี่ยวพันกับปัจจัยสำคัญของการหลอกลวง แต่พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญาจะถูกหลอกไม่ได้” (ดู “ศัตรูภายใน,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 66)

2 นีไฟ 28:21–22 “คนอื่นนั้นจะกล่อม … คนอื่นนั้นเขาหว่านล้อม”

อธิการริชาร์ด ซี. เอชลีย์ ที่ปรึกษาในฝ่ายอธิการควบคุม พูดถึงอันตรายของการถูกกล่อมและถูกหว่านล้อมดังนี้

“การกระทำทุกอย่าง ดีหรือไม่ดี มีผลตามมาเสมอ การทำ ดี ทุกครั้งปรับปรุงความสามารถของเราในการทำดีและยืนหยัดมั่นคงขึ้นในการต่อต้านบาปหรือความล้มเหลว การล่วงละเมิดทุกครั้ง ไม่ว่าเล็กน้อยเพียงใด ทำให้เราอ่อนไหวง่ายขึ้นต่ออิทธิพลของซาตานเมื่อเขาล่อลวงเราครั้งต่อไป ซาตานพาเราไปทีละนิ้ว โดยหลอกเราเกี่ยวกับผลของบาปที่เรียกว่าเล็กน้อยจนเขาจับเราไว้ในการล่วงละเมิดที่ร้ายแรง นีไฟเรียกเทคนิคนี้ว่าเทคนิคของการปลอบโยน กล่อม และหว่านล้อมเราจนซาตาน ‘จับ [เรา] ไว้ด้วยโซ่อันน่าพรั่นพรึง, ซึ่งจากนั้นย่อมไม่มีการปลดปล่อย’ (2 นีไฟ 28:22; ดู ข้อ 21 ด้วย)” (“That Thy Confidence Wax Strong,Ensign, Nov. 1994, 40)

พิมพ์