คลังค้นคว้า
การศึกษาที่บ้านหน่วย 15


บทเรียนการศึกษาที่บ้าน

แอลมา 5–10 (หน่วย 15)

การเตรียมเนื้อหาสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

สรุปบทเรียนประจำวันภาคการศึกษาที่บ้าน

ต่อไปนี้เป็นใจความสรุปหลักคำสอนและหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา แอลมา 5–10 (หน่วย 15) ไม่ได้ตั้งใจจะให้สอนเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน บทที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมบางประการเหล่านี้ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะที่ท่านพิจารณาสิ่งที่นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้

วัน 1 (แอลมา 5:1–36)

เมื่อนักเรียนศึกษาโอวาทที่แอลมาให้ผู้คนในเซราเฮ็มลา พวกเขาค้นพบว่าเมื่อเราเชื่อในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราสามารถประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจได้ เมื่อนักเรียนตอบคำถามของแอลมาพวกเขาเรียนรู้เช่นกันว่าโดยประสบกับการเปลี่ยนแปลงในใจ เราเตรียมตนเองให้พร้อมรับที่ในอาณาจักรแห่งสวรรค์

วัน 2 (แอลมา 5:37–62)

เมื่อนักเรียนศึกษาครึ่งหลังของ แอลมา 5 พวกเขาเรียนรู้หลักธรรมเหล่านี้: ถ้าเราทำตามสุรเสียงของพระเจ้า (พระเมษบาลผู้ประเสริฐ) พระองค์จะทรงรวมเราไว้ในอาณาจักรของพระองค์ เราสามารถรู้ได้ด้วยตนเองผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของมนุษยชาติ

วัน 3 (แอลมา 6–7)

โดยศึกษา แอลมา 6 นักเรียนเรียนรู้ว่าในสมัยของนีไฟและในสมัยของเราศาสนจักรได้รับการสถาปนาเพื่อความผาสุกของคนทั้งปวง จากโอวาทของแอลมาต่อผู้คนในกิเดียน นักเรียนเรียนรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อช่วยให้เรารอดจากบาปและความตาย และเพื่อช่วยให้เราผ่านพ้นการท้าทายของความเป็นมรรตัย พวกเขาเรียนรู้เช่นกันว่าโดยดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณ เราเดินตามเส้นทางสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

วัน 4 (แอลมา 8–10)

โดยศึกษาเกี่ยวกับความเต็มใจของแอลมาที่จะกลับไปหาผู้คนในแอมันไนฮาห์หลังจากพวกเขาปฏิเสธท่าน นักเรียนเรียนรู้ว่าเมื่อเราตอบรับพระวจนะของพระเจ้าอย่างรวดเร็ว พระองค์จะทรงช่วยให้เราเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ แอลมาเรียกผู้คนมาสู่การกลับใจและสอนพวกเขาว่าต้องเตรียมรับการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอด จากประสบการณ์ของอมิวเล็คกับเทพ นักเรียนเรียนรู้ว่าเมื่อเราฟังและเชื่อฟังการเรียกของพระเจ้า พรย่อมมาถึงเราและถึงผู้อื่น

คำนำ

ในบทนี้ จงพยายามช่วยให้นักเรียนมุ่งเน้นหลักธรรมที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในใจ มองหาวิธีช่วยให้พวกเขาวางใจพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและเพิ่มพูนประจักษ์พยานของพวกเขาในพระผู้ช่วยให้รอด

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 5:1–36

แอลมาสอนว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจจึงจะเข้าอาณาจักรแห่งสวรรค์ได้

เขียนคำว่า การเปลี่ยนแปลง บนกระดานหรือในกระดาษ ขอให้นักเรียนยกตัวอย่างด้านต่างๆ ที่ผู้คนเปลี่ยนได้ อาทิ รูปลักษณ์ภายนอก พฤติกรรม หรือเจตคติ เชื้อเชิญพวกเขาให้อธิบายว่าอะไรอาจเป็นสาเหตุให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้

ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 5:14 และระบุคำถามสามข้อที่แอลมาขอให้ผู้คนในเซราเฮ็มลาพิจารณา ท่านอาจเชิญนักเรียนสองสามคนอธิบายว่า “การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ” หมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 5:3–7 และระบุสิ่งที่แอลมาบอกผู้คนในเซราเฮ็มลาซึ่งช่วยเตรียมใจพวกเขาให้พร้อมเปลี่ยนแปลง

แอลมาบอกผู้คนในเซราเฮ็มลาเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของบิดาเขาและคนอื่นๆ เช่นเดียวกับการปลดปล่อยจากการเป็นเชลย ถาม: ท่านคิดว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์เหล่านี้ช่วยผู้คนเตรียมรับประสบการณ์ของการเปลี่ยนแปลงในใจอย่างไร (ท่านอาจต้องการเตือนความจำของนักเรียนว่าพวกเขาเขียนคำตอบของคำถามนี้ไว้ในบทเรียนสำหรับวัน 1 ในคู่มือศึกษาของพวกเขา)

ถามว่ามีนักเรียนสักคนอยากเล่าประสบการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในใจเขาหรือไม่ ท่านอาจต้องการเล่าประสบการณ์ของท่านเอง ท่านอาจต้องการเตือนนักเรียนเช่นกันให้นึกถึงคำกล่าวของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน (ในบทเรียนสำหรับวัน 1 ในคู่มือศึกษาของนักเรียน) อธิบายว่าสำหรับคนส่วนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจเกิดขึ้นทีละน้อยขณะที่เราเรียนรู้และเติบโตในพระกิตติคุณ

ขอให้นักเรียนดูแผนภูมิ “แอลมา 5 กราฟแสดงการเต้นของหัวใจทางวิญญาณ” ในบทเรียนสำหรับวัน 1 ในคู่มือศึกษาของนักเรียน เชื้อเชิญพวกเขาให้ทบทวนพระคัมภีร์บ้างข้อใน แอลมา 5 ที่อยู่ในแผนภูมิ จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • คำถามข้อใดของแอลมามีความหมายต่อท่านเป็นพิเศษ

  • คำถามเหล่านี้สามารถช่วยให้คนๆ หนึ่งประสบกับการเปลี่ยนแปลงในใจได้อย่างไร

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้คนทั้งปวงมาหาพระองค์และประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจเพื่อพวกเขาจะได้รับชีวิตนิรันดร์ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 5:33–36 ถามว่า

  • พระเจ้าทรงกำลังเชื้อเชิญเราให้ทำอะไร

  • อะไรคือรางวัลสำหรับการยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญของพระองค์

แอลมา 5:43–52

แอลมาบอกวิธีที่เขาได้รับประจักษ์พยานและสอนเรื่องการกลับใจ

อธิบายว่าเพื่อกระตุ้นผู้คนในเซราเฮ็มลาให้แสวงหาการเปลี่ยนแปลงในใจ แอลมาแสดงประจักษ์พยานของเขาและอธิบายว่าเขาได้รับประจักษ์พยานนั้นอย่างไร จากคำแนะนำของเขา เราสามารถเรียนรู้วิธีได้รับหรือเสริมสร้างประจักษ์พยานของเรา เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 5:45–48 ในใจ ขอให้พวกเขาระบุสิ่งที่แอลมาบอกว่าเขารู้ ขอให้พวกเขาระบุคำตอบของแอลมาด้วยสำหรับคำถามที่ว่า “และท่านคิดว่าข้าพเจ้ารู้ถึงความแน่นอนของเรื่องเหล่านี้ด้วยวิธีใด?”

ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ และเขียนคำตอบไว้บนกระดาน เขียนหลักธรรมนี้ด้วย: เราสามารถรู้ด้วยตนเองผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของมนุษยชาติ

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าสักวันจะมีบางคนหรือบางสิ่งท้าทายประจักษ์พยานของพวกเขา นี่อาจจะเคยเกิดขึ้นแล้ว คำแนะนำของแอลมาเสนอวิธีให้เรายืนหยัดและมั่นคงแม้จะมีการท้าทายประจักษ์พยานของเรา ท่านอาจเล่าตอนที่ท่านเผชิญการท้าทายประจักษ์พยานของท่านและเอาชนะหรือเมื่อคนที่ท่านรู้จักเผชิญกับการท้าทายเช่นนั้น ท่านเล่าประสบการณ์จากคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญหรือบทความจากนิตยสารศาสนจักรได้เช่นกัน ท่านอาจจะเชิญนักเรียนคนหนึ่งเล่าประสบการณ์ดังกล่าว

อธิบายว่าแอลมาออกไปสอนผู้คนเรื่องการกลับใจ ท่านอาจต้องการให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน แอลมา 5:50 และคำกล่าวของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ที่พบในหน่วย 15 วัน 2 ของคู่มือศึกษาของนักเรียน ขอให้พวกเขาแบ่งปันแนวคิดว่าเหตุใดเราจึงควรดำเนินชีวิตในแต่ละวันประหนึ่งเรากำลังเตรียมพบพระเจ้า

แอลมา 7–10

แอลมาสอนในกิเดียนและแอมันไนฮาห์

นำเสนอสถานการณ์ต่อไปนี้และขอให้นักเรียนจำให้แม่นขณะทบทวนคำสอนของแอลมาต่อผู้คนในกิเดียน

  1. เยาวชนหญิงคนหนึ่งเข้าใจว่าการชดใช้สามารถช่วยให้เธอเอาชนะบาป แต่เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายและไม่คิดว่าการชดใช้จะช่วยได้

  2. เยาวชนชายคนหนึ่งทุกข์ใจเมื่อพ่อแม่หย่าร้าง แต่เขาไม่ขอความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอด

  3. เยาวชนหญิงคนหนึ่งพยายามควบคุมอารมณ์หุนหันพลันแล่นของเธอ เธอไม่คิดว่าการชดใช้จะช่วยเธอได้

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 7:11–13 และทบทวนสภาพที่พระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัย “รับ” ไว้กับพระองค์เพื่อประโยชน์ของเรา เชิญนักเรียนสองสามคนสรุปว่าข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ กระตุ้นนักเรียนให้ดูแผนภูมิแสดงสภาพบางอย่างที่เราประสบในความเป็นมรรตัย (ในบทเรียนสำหรับวัน 3 ในคู่มือศึกษาของนักเรียน)

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าโดยผ่านเดชานุภาพแห่งการชดใช้ ความเจ็บปวดและความขมขื่นจากความทุกขเวทนาของชีวิตถูกยกไปจากเราได้ นักเรียนพึงเข้าใจหลักธรรมนี้: พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อช่วยให้เรารอดจากบาปและความตาย และเพื่อช่วยให้เราผ่านพ้นการท้าทายของความเป็นมรรตัย

เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาอยากพูดกับเยาวชนชายและเยาวชนหญิงในสถานการณ์สามเรื่องที่ท่านนำเสนอ ถามว่า คำสอนของแอลมาเกี่ยวกับการชดใช้สามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร

เตือนนักเรียนให้นึกถึงภาพสามภาพและพระคัมภีร์อ้างอิงเกี่ยวกับแอลมาในแอมันไนฮาห์ (ในบทเรียนสำหรับวัน 4 ในคู่มือศึกษาของนักเรียน) ซึ่งพวกเขาศึกษาและเขียนคำอธิบายภาพ ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำอธิบายภาพที่พวกเขาเขียนไว้เกี่ยวกับประสบการณ์ของแอลมากับเทพ ขอให้นักเรียนบอกเล่าความรู้สึกว่าประสบการณ์นี้สัมพันธ์กับหลักธรรมต่อไปนี้อย่างไร: เมื่อเราตอบรับพระวจนะของพระเจ้าอย่างรวดเร็ว พระองค์จะทรงช่วยให้เราเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์

หน่วยต่อไป (แอลมา 11–16)

ขอให้นักเรียนตรึกตรองคำถามต่อไปนี้ขณะเตรียมศึกษางานมอบหมายของสัปดาห์ถัดไป: ท่านจะรู้สึกอย่างไรถ้าถูกบังคับให้ดูผู้บริสุทธิ์ถูกสังหารเพราะศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ ท่านคิดว่าแอลมาและอมิวเล็ครู้สึกอย่างไรขณะดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเขาพูดอะไรกันเมื่อเห็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น พวกเขาทำอะไร

พิมพ์