คลังค้นคว้า
บทที่ 26: 2 นีไฟ 4


บทที่ 26

2 นีไฟ 4

คำนำ

หลังจากลีไฮถึงแก่กรรม เลมันกับเลมิวเอลโกรธนีไฟ “เพราะการตักเตือนของพระเจ้า” ที่นีไฟพูดกับพวกเขา (ดู 2 นีไฟ 4:13–14) โดยที่ยุ่งยากใจเพราะเจตคติและการกระทำของพี่ๆ รวมถึงความอ่อนแอและบาปของตนเอง นีไฟจึงบันทึกความรู้สึกของเขาเป็นคำบรรยายและบทกวี เขาพรรณนาความรักที่มีต่อพระคัมภีร์ ความกตัญญูต่อพรและพลังที่ได้รับจากพระเจ้า (ดู 2 นีไฟ 4:15–35)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 นีไฟ 4:1–11

ลีไฮแนะนำและให้พรครอบครัวเขา

ก่อนชั้นเรียนเริ่ม ให้เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน

หากท่านเป็นปู่ย่าตายายที่ซื่อสัตย์และลูกหลานไม่ได้ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานพระกิตติคุณ ท่านจะให้คำแนะนำอะไรแก่พวกเขา

เริ่มชั้นเรียนโดยเชื้อเชิญนักเรียนให้ตอบคำถามบนกระดาน หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้ถามนักเรียนดังนี้

  • พ่อแม่และปู่ย่าตายายมีความรับผิดชอบอะไรบ้างในการสอนและแนะนำบุตรหลานของตน

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาเรื่องนี้ ท่านอาจต้องการอ่านหรือขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้

“บิดามารดามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรักและความชอบธรรม จัดหาปัจจัยสนองความต้องการทางร่างกายและทางวิญญาณ สอนพวกเขาให้รักและรับใช้กัน ให้เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นพลเมืองดี เชื่อฟังกฎหมายบ้านเมืองไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ ณ ที่ใด สามีภรรยา—บิดาและมารดา—จะมีความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าในการปฏิบัติภาระหน้าที่เหล่านี้ให้ลุล่วง … ญาติพี่น้องควรให้ความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, หน้า 165)

แนะนำ 2 นีไฟ 4 โดยอธิบายว่าก่อนลีไฮถึงแก่กรรม เขาแนะนำลูกหลานให้รักษาพระบัญญัติ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 2 นีไฟ 4:3–11 โดยระบุชื่อคนที่ลีไฮสอนและคำแนะนำที่ให้พวกเขาอ

  • ลีไฮสอนใคร (ดู 2 นีไฟ 4:3, 8, 10–11)

  • ลีไฮให้สัญญาอะไรกับลูกหลานของเลมันและเลมิวเอล (ดู 2 นีไฟ 4:7, 9)

  • จาก 2 นีไฟ 4:5 ท่านจะพูดว่าอะไรคือความรับผิดชอบที่พระเจ้าทรงมอบให้บิดามารดา (นักเรียนอาจจะใช้คำพูดต่างกันเพื่อตอบคำถามนี้ แต่พวกเขาพึงเข้าใจว่า บิดามารดามีความรับผิดชอบที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ในการสอนพระกิตติคุณแก่บุตรธิดา)

  • ท่านเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากบิดามารดาหรือปู่ย่าตายายของท่าน

กระตุ้นนักเรียนให้เป็นห่วงโซ่ที่แข็งแกร่งในสายโซ่ของครอบครัว—ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและเตรียมเป็นพ่อแม่ที่ชอบธรรม ท่านอาจต้องการให้ดูโปสเตอร์ชื่อว่า “จงเป็นห่วงโซ่ที่แข็งแกร่ง” (ดู http://lds.org/liahona/2003/09/poster?lang=eng)

2 นีไฟ 4:12–35

นีไฟยอมรับความอ่อนแอของตนและแสดงความวางใจพระเจ้า

เขียนบนกระดานว่า จิตวิญญาณข้าพเจ้าเบิกบานใน

ขอให้นักเรียนเขียนข้อความนี้ในสมุดสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา และจบข้อความโดยเขียนสิ่งที่เบิกบานต่อจิตวิญญาณของพวกเขา

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 4:15–16 เพื่อเรียนรู้ว่านีไฟจบข้อความนี้อย่างไร

  • เราจะทำสิ่งใดได้บ้างถ้าจิตวิญญาณเราเบิกบานในพระคัมภีร์

  • การเบิกบานในเรื่องของพระเจ้ามีความหมายต่อท่านอย่างไร

  • นีไฟกล่าวว่าใจเขาไตร่ตรองเรื่องที่เขาเห็นและได้ยินมา ข้อความนี้มีความหมายต่อท่านอย่างไร

ชี้ให้เห็นว่านีไฟประสบปีติใหญ่หลวงในชีวิต แต่เขาเผชิญความยุ่งยากเช่นกัน ให้นักเรียนอ่าน 2 นีไฟ 4:12–13 ในใจเพื่อดูการท้าทายบางอย่างที่นีไฟพบเจอในชีวิตช่วงนี้ (มรณกรรมของลีไฮและความโกรธเคืองของเลมัน เลมิวเอล กับพวกบุตรของอิชมาเอล)

การทดลองมากมายของนีไฟเกิดจากการกระทำและเจตคติของพี่ๆ แต่นีไฟรู้สึกสลดใจเพราะความอ่อนแอของตนเองเช่นกัน เขียนบนกระดานว่าใจข้าพเจ้าสลดเพราะ

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 2 นีไฟ 4:17–18 และหาเหตุผลที่นีไฟรู้สึกสลดใจ

เมื่อนักเรียนมีเวลาอ่านข้อเหล่านี้แล้ว ถามพวกเขาว่าพวกเขาพบอะไร ดึงความสนใจของพวกเขามาที่คำว่าน่าเวทนา เนื้อหนัง และ รุกราน ในข้อเหล่านี้ อธิบายว่าคำว่า น่าเวทนา หมายถึงเศร้าหมองหรือขาดคุณสมบัติ ในพระคัมภีร์ คำว่า เนื้อหนัง มักหมายถึงความอ่อนแอที่เรามีเพราะเราอยู่ในสภาพที่ตกแล้ว คำว่า รุกราน หมายถึงห้อมล้อมหรือกดดันรอบด้าน

  • มีตัวอย่างความยุ่งยากอะไรบ้างที่สามารถรุกรานเราได้ (คำตอบอาจได้แก่ ความเดือดร้อนที่บ้าน แรงกดดันจากเพื่อนวัยเดียวกัน การบ้านยากๆ จากโรงเรียน และการล่อลวง)

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน 2 นีไฟ 4:19 ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้เน้นข้อความที่ว่า “กระนั้นก็ตาม, ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าได้วางใจผู้ใด.” ชี้ให้เห็นว่าใน 2 นีไฟ 4:19 ถ้อยคำของนีไฟเปลี่ยนจากความเศร้าเป็นความหวัง

  • ท่านคิดว่านีไฟหมายถึงอะไรเมื่อเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าได้วางใจผู้ใด”

  • การระลึกถึงพระเจ้าและพระกรุณาธิคุณของพระองค์ช่วยเราได้อย่างไรในยามที่เราท้อแท้สิ้นหวัง

อ่านออกเสียง 2 นีไฟ 4:20–25 ขอให้นักเรียนดูพระคัมภีร์ตาม เชื้อเชิญพวกเขาให้มองหาคำและข้อความที่อธิบายว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสนับสนุนคนที่วางใจในพระองค์

  • ท่านพบคำหรือข้อความใดใน 2 นีไฟ 4:20–25 ที่มีความหมาย เพราะเหตุใด

  • นึกถึงเวลาที่พระเจ้าทรงสนับสนุนท่านหรือทรงช่วยท่านในยามยากลำบาก พระองค์ทรงช่วยท่านอย่างไร ประสบการณ์นั้นมีอิทธิพลต่อท่านอย่างไร

การให้เวลานักเรียนนึกถึงประสบการณ์เช่นนั้นและบันทึกไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขานับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง นักเรียนอาจจะได้ประโยชน์เช่นกันถ้าท่านเล่าเหตุการณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสนับสนุนหรือค้ำจุนท่าน

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าความสามารถของนีไฟในการจดจำและเห็นคุณค่าสิ่งที่พระเจ้าทรงทำเพื่อเขาในอดีตให้ความหวังและกระตุ้นเขาให้เป็นคนดีขึ้น เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 2 นีไฟ 4:26–30 ในใจ โดยดูว่าประสบการณ์ของนีไฟส่งผลอย่างไรต่อความปรารถนาจะเป็นคนชอบธรรมของเขา ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาค้นพบ

ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 2 นีไฟ 4:30–35 ให้ชั้นเรียนระบุคำมั่นสัญญาที่นีไฟทำกับพระเจ้าและพรที่เขาขอ

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากคำสวดอ้อนวอนนี้ที่ช่วยเราได้ในการสวดอ้อนวอนส่วนตัวของเรา (นักเรียนอาจจะใช้คำพูดต่างกันเพื่อตอบคำถามนี้ แต่พวกเขาพึงเข้าใจว่า การสวดอ้อนวอนที่จริงใจสามารถทำให้เรามีปณิธานแน่วแน่มากขึ้นว่าจะเอาชนะบาปและความท้อแท้สิ้นหวัง

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงเวลาที่การสวดอ้อนวอนช่วยให้พวกเขาเอาชนะบาปหรือความท้อแท้สิ้นหวัง ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์หรือจดไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

ให้เวลานักเรียนสักครู่เพื่อหาข้อความใน 2 นีไฟ 4 ซึ่งสะท้อนถึงความปรารถนาที่พวกเขามี หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองว่าการสวดอ้อนวอนสามารถหล่อเลี้ยงการเติบโตทางวิญญาณได้อย่างไร

“”เราอาจมีหลายอย่างในบุคลิกลักษณะ พฤติกรรม หรือเรื่องที่เกี่ยวกับการเติบโตทางวิญญาณของเราซึ่งเราต้องการปรึกษากับพระบิดาบนสวรรค์ในการสวดอ้อนวอนตอนเช้า หลังจากกล่าวขอบพระทัยสำหรับพรที่ได้รับ เราวิงวอนขอความเข้าใจ แนวทาง และความช่วยเหลือเพื่อทำสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ด้วยกำลังของเราเอง ตัวอย่างเช่น เมื่อเราสวดอ้อนวอนเราอาจทำดังนี้

“• ครุ่นคิดถึงเหตุการณ์เหล่านั้นเมื่อเราใช้วาจารุนแรงหรือไม่สุภาพต่อคนที่เรารักมากที่สุด

“• นึกได้ว่าเรารู้การควรไม่ควร แต่เรามักไม่ทำตามสิ่งที่เรารู้

“•แสดงความเสียใจอย่างจริงใจต่อความอ่อนแอของเราและการไม่ละทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชนของเรา

“•ตัดสินใจวางแบบแผนชีวิตของเราตามพระผู้ช่วยให้รอดมากยิ่งขึ้น

“•วิงวอนขอความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นเพื่อทำดีกว่าเดิมและเป็นคนดีกว่าเดิม” (“สวดอ้อนวอนเสมอ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, หน้า 52)

สรุปโดยอ้างข้อความที่ท่านเขียนบนกระดานในช่วงต้นบทเรียน (“จิตวิญญาณข้าพเจ้าเบิกบานใน …” และ “ใจข้าพเจ้าสลดเพราะ …”) แสดงความมั่นใจว่าแม้เมื่อเราเผชิญสถานการณ์ยุ่งยาก แต่เราสามารถประสบความสุขและความสงบขณะที่เราแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้า

การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

หมายเหตุ: ความยาวของบทนี้อาจมีเวลาให้ทำกิจกรรมการทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ต่อไปนี้ ท่านอาจดำเนินกิจกรรมตอนต้นบทเรียน ช่วงพักระหว่างหัวข้อของบทเรียน หรือท้ายบทเรียน พึงสอนให้กระชับเพื่อจะมีเวลาสำหรับบทเรียน สำหรับกิจกรรมทบทวนอื่นๆ ให้ดูภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้

แบบสอบถามสามารถช่วยนักเรียนให้จดจำสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และประเมินการเรียนรู้ของตน เลือกข้อผู้เชี่ยวชาญใหม่ๆ สองสามข้อ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านและทำเครื่องหมายในพระคัมภีร์ของพวกเขา จากนั้นให้แจกแบบสอบถามที่ตอบด้วยวาจาเกี่ยวกับข้อความเหล่านั้นและผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้ออื่นที่พวกเขาเรียนรู้แล้ว อ่านคำหรือข้อความสำคัญของแต่ละข้อจากที่คั่นหนังสือเซมินารี จากนั้นขอให้นักเรียนหาข้อที่ถูกต้องในพระคัมภีร์ของพวกเขา

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

2 นีไฟ 4:16–35 เอาชนะบาปและความอ่อนแอของเรา

ขณะที่เราศึกษาคำวิงวอนจากใจของนีไฟเพื่อขอให้พระเจ้าทรงช่วยเขาเอาชนะบาปและความอ่อนแอ เราเห็นว่าเราสามารถทูลขอความช่วยเหลือเดียวกันจากพระเจ้าได้ ถ้อยคำของนีไฟสะท้อนให้เห็นในคำพูดของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนดังนี้

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนดังนี้

“ยิ่งมนุษย์เข้าใกล้ความดีพร้อมมากเท่าใด การมองเห็นของเขาจะยิ่งชัดมากขึ้นเท่านั้นและความปลื้มปีติของเขาจะมากขึ้น จนเขาเอาชนะความชั่วร้ายของชีวิตและสูญสิ้นความปรารถนาที่จะทำบาป” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 226)

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นพยานถึงพรที่เราได้รับเมื่อเรากลับใจดังนี้

“ทำไมพระบิดาและพระบุตรของพระองค์จึงทรงบัญชาเราให้กลับใจ เพราะพระองค์ทรงรักเรา พระองค์ทรงทราบว่าเราทุกคนจะละเมิดกฎนิรันดร์ แต่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ความยุติธรรมเรียกร้องให้สนองทุกกฎที่ถูกฝ่าฝืนเพื่อรักษาคำสัญญาแห่งความปีติยินดีในชีวิตนี้ และสิทธิพิเศษที่จะกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ หากไม่เช่นนั้น ในวันแห่งการพิพากษา ความยุติธรรมจะทำให้เราถูกขับออกจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าไปอยู่ใต้การควบคุมของซาตาน [ดู 2 นีไฟ 9:8–10; 2 นีไฟ 2:5]

“เป็นเพราะพระอาจารย์และการไถ่ของพระองค์ที่ทำให้เรารอดพ้นจากการพิพากษาโทษเช่นนั้น ซึ่งเป็นไปตามศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การเชื่อฟังพระบัญญัติ และความอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ในความชอบธรรม

“ท่านกำลังรับเอาประโยชน์โดยครบถ้วนของอำนาจการไถ่แห่งการกลับใจในชีวิตเพื่อท่านจะมีสันติสุขและปีติมากขึ้นหรือไม่ ความรู้สึกสับสนและท้อแท้มักจะเป็นสัญญาณเตือนว่าต้องกลับใจ การขาดการชี้นำทางวิญญาณที่ท่านแสวงหาในชีวิตเป็นผลจากการไม่ทำตามกฎ หากจำเป็นการกลับใจอย่างสมบูรณ์จะจัดชีวิตของท่านใหม่ จะแก้ไขความเจ็บปวดรวดร้าวทางวิญญาณที่เกิดจากการล่วงละเมิด แต่ในชีวิตนี้คงไม่สามารถเยียวยาผลทางกายภาพบางอย่างที่เกิดขึ้นจากบาปร้ายแรงได้ จงใช้ปัญญาและดำเนินชีวิตให้ดีอยู่เสมอภายในขอบเขตของความชอบธรรมที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้” (ดู “เส้นทางสู่สันติและความปีติยินดี,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 26)

พิมพ์