คลังค้นคว้า
บทที่ 124: 3 นีไฟ 14


บทที่ 124

3 นีไฟ 14

คำนำ

ขณะที่พระเยซูคริสต์ทรงเทศนาที่พระวิหารในอุดมมั่งคั่งต่อไป พระองค์ทรงเตือนผู้คนว่าอย่าตัดสินผู้อื่นและสั่งสอนพวกเขาให้แสวงหาพรจากพระบิดาบนสวรรค์โดยสวดอ้อนวอนและทำตามพระประสงค์ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนพวกเขาเช่นกันเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ปลอมและเน้นความสำคัญของการทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

3 นีไฟ 14:1–6

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเรื่องการตัดสินอย่างชอบธรรม

เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมศึกษาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเรื่องการตัดสินอย่างชอบธรรม ให้อ่านเรื่องต่อไปนี้ที่เล่าโดยประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“หนุ่มสาวคู่หนึ่ง ลิซากับจอห์น ย้ายเข้าไปอยู่ในละแวกใหม่ เช้าวันหนึ่งขณะรับประทานอาหารเช้า ลิซามองออกไปนอกหน้าต่างและเห็นเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันกำลังตากผ้า

“‘ยังซักไม่สะอาดเลย!’ ลิซาพูดเสียงดัง ‘เพื่อนบ้านของเราไม่รู้วิธีซักผ้าให้สะอาดหรือนี่!’

“จอห์นมองดูเฉยๆ และไม่ได้พูดอะไร

“เมื่อเห็นเพื่อนบ้านของเธอตากผ้า ลิซาจะวิจารณ์แบบนี้ทุกครั้ง

“ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ลิซาแปลกใจเมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างและเห็นผ้าสวยสะอาดตากอยู่ในสนามของเพื่อนบ้าน เธอพูดกับสามีว่า ‘ดูสิคะจอห์น—ในที่สุดเธอก็รู้วิธีซักผ้าให้สะอาด! ฉันสงสัยจังว่าเธอรู้ได้อย่างไร’

“จอห์นตอบว่า ‘ที่รัก ผมมีคำตอบให้คุณ คุณคงอยากรู้แน่เลยว่าวันนี้ผมตื่นแต่เช้ามาเช็ดหน้าต่างบ้านของเรา!” (“จิตกุศลไม่มีวันสูญสิ้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, หน้า 155)

  • เราสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรได้บ้างจากเรื่องนี้

อธิบายว่า 3 นีไฟ 14 มีความต่อเนื่องของคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดต่อชาวนีไฟที่พระวิหาร เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน 3 นีไฟ 14:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุพระดำรัสเตือนของพระเยซูคริสต์เกี่ยวกับการตัดสินผู้อื่น ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคำว่า มาตร ที่พบใน 3 นีไฟ 14:2 หมายถึงการวัดหรือตัดสิน วลี “ด้วยมาตรใดที่เจ้าวัด” หมายถึงมาตรฐานที่คนๆ หนึ่งใช้วัดหรือตัดสินผู้อื่น

  • ท่านจะกล่าวความจริงใน 3 นีไฟ 14:2 ด้วยคำพูดของท่านเองว่าอย่างไร (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนความจริงต่อไปนี้: เราจะถูกตัดสินตามวิธีที่เราตัดสินผู้อื่น)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจพระบัญชาของพระผู้ช่วยให้รอดว่า “อย่าตัดสิน” ใน 3 นีไฟ 14:1 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังรูปแบบการตัดสินที่เราพึงหลีกเลี่ยงไม่ทำกับผู้อื่น

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“การพิพากษาครั้งสุดท้าย … คือสภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งเราทุกคนจะยืนต่อหน้าบัลลังก์พิพากษาของพระคริสต์เพื่อรับการพิพากษาตามงานของเรา … ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระบัญชาในพระคัมภีร์ว่า ‘อย่าตัดสิน’ บอกชัดเจนที่สุดว่าหมายถึงการพิพากษาครั้งสุดท้ายนี้ …

“… เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาเราไม่ให้ตัดสินการพิพากษาครั้งสุดท้าย ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์ประทานพระบัญชานี้เพราะเราทำการพิพากษาครั้งสุดท้ายโดยพลการเมื่อใดก็ตามที่เราประกาศว่าบุคคลนั้นจะไปนรก (หรือสวรรค์) เพราะการกระทำนั้นหรือเมื่อถึงเวลานั้น เมื่อเราทำเช่นนี้—และมีการล่อลวงอย่างมากให้ทำเช่นนั้น—เท่ากับเราทำร้ายตนเองและคนที่เราจ้องตัดสิน …

“… พระกิตติคุณคือพระกิตติคุณแห่งความหวัง และพวกเราไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิเสธเดชานุภาพแห่งการชดใช้อันก่อให้เกิดการชำระบาปส่วนตัว การให้อภัย และการปรับปรุงแก้ไขชีวิตตามเงื่อนไขที่เหมาะสม” (“‘Judge Not’ and Judging,” Ensign, Aug. 1999, 7, 9).

  • คำกล่าวของเอ็ลเดอร์โอ๊คส์ช่วยให้ท่านเข้าใจพระบัญชา “อย่าตัดสิน” ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

ให้ดูชิ้นส่วนของวัตถุบางอย่าง เช่น เศษไม้ชิ้นเล็กๆ อธิบายว่าอีกคำหนึ่งของชิ้นส่วนคือ ผง จากนั้นให้ดู (หรือวาดบนกระดาน) ท่อนไม้หรือไม้ท่อนยาว บอกนักเรียนว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงผงและท่อนไม้เพื่อช่วยให้เราเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเราตัดสินผู้อื่นอย่างไม่ชอบธรรม เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 14:3–5 และขอให้ชั้นเรียนตรึกตรองว่าผงและท่อนไม้เป็นตัวแทนของอะไร

  • ผงเป็นตัวแทนของอะไร (ความผิดที่เราเห็นในผู้อื่น) ท่อนไม้เป็นตัวแทนของอะไร (ความผิดของเราเอง)

ชี้ให้เห็นว่าการเปรียบเทียบของพระผู้ช่วยให้รอดมุ่งเน้นวัตถุที่อยู่ในดวงตา วัตถุเช่นนั้นจะส่งผลต่อการมองเห็นของบุคคลนั้น

  • ความผิดของเราสามารถส่งผลต่อวิธีที่เรามองผู้อื่นอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาว่าการตัดสินผู้อื่นเป็นเรื่องสมควรทำหรือไม่ ให้เวลาไตร่ตรองคำถามนี้สักครู่ จากนั้นให้อธิบายว่าในการแปล มัทธิว 7:1 ด้วยการดลใจ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้ความกระจ่างในเรื่องคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการตัดสินผู้อื่น ตามที่โจเซฟ สมิธกล่าว พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “อย่าตัดสินอย่างไม่ชอบธรรม, เพื่อเจ้าจะไม่ถูกตัดสิน; แต่จงตัดสินด้วยการตัดสินที่ชอบธรรม” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 7:1 [ใน มัทธิว 7:1, เชิงอรรถ ]) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำอธิบายต่อไปนี้ใน แน่วแน่ต่อศรัทธา:

“บางครั้งผู้คนรู้สึกว่าไม่ถูกต้องที่จะตัดสินผู้อื่นไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม แม้จะเป็นความจริงที่ว่าท่านไม่ควรลงความเห็นหรือตัดสินผู้อื่นอย่างไม่ชอบธรรม แต่ท่านจะต้องตัดสินแนวความคิด สถานการณ์ และผู้คนตลอดชีวิตท่าน พระเจ้าประทานพระบัญญัติมากมายที่ท่านจะรักษาโดยไม่ตัดสินเลยไม่ได้” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], หน้า 23-24)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนความสำคัญของการตัดสินอย่างชอบธรรม ให้พวกเขาอ่าน 3 นีไฟ 14:6 ในใจ ขอให้พวกเขาระบุการตัดสินบางอย่างที่พระองค์ทรงแนะนำให้เราทำ ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

  • การให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แก่สุนัขหรือโยนไข่มุกให้สุกรหมายความว่าอย่างไร (การบอกเล่าเรื่องศักดิ์สิทธิ์กับคนที่จะไม่เห็นคุณค่าหรือไม่ให้เกียรติความศักดิ์สิทธิ์ของเรื่องนั้น)

  • คำแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 14:6 เรียกร้องให้เราทำการตัดสินผู้อื่นอย่างไร

หลังจากนักเรียนตอบ ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์เกี่ยวกับสถานการณ์อื่นๆ ซึ่งเราต้องตัดสินอย่างชอบธรรม

“เราทุกคนทำการตัดสินในการเลือกเพื่อน ในการเลือกว่าเราจะใช้เวลาและเงินทองของเราอย่างไร และแน่นอน ในการเลือกคู่นิรันดร์ …

“… การตัดสินอย่างชอบธรรมจะได้รับการนำทางโดยพระวิญญาณของพระเจ้า ไม่ใช่โดยความโกรธ ความแค้น ความอิจฉา หรือประโยชน์ส่วนตน” (“‘Judge Not’ and Judging,” 9)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องตัดสินอย่างชอบธรรมในด้านต่างๆ เช่น การเลือกเพื่อน การตัดสินใจว่าจะใช้เวลาและเงินทองของเราอย่างไร และการเลือกคู่นิรันดร์

  • มีสถานการณ์ใดอีกบ้างที่เราต้องตัดสินผู้อื่น (นักเรียนอาจกล่าวถึงการเลือกระหว่างนายจ้างที่มีศักยภาพหรือตัดสินใจว่าจะยอมรับคำชวนไปออกเดทหรือไม่)

3 นีไฟ 14:7–11

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเรื่องการแสวงหาพรจากพระบิดาบนสวรรค์

ขอให้นักเรียนอ่าน 3 นีไฟ 14:7–11 ในใจ โดยมองหาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับความเต็มพระทัยของพระบิดาบนสวรรค์ในการตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา อธิบายว่าถ้าบิดาทางโลกผู้มีเมตตาและรักเราแต่ไม่ดีพร้อมจะให้ขนมปังและปลาแก่บุตรของเขาแทนที่จะให้ก้อนหินและงู พระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงดีพร้อม มีเมตตา และทรงรักเราจะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากบุตรธิดาของพระองค์แน่นอน

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจาก 3 นีไฟ 14:7–11 (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลากหลาย หลักธรรมประการหนึ่งที่ท่านอาจต้องการเน้นคือ พระบิดาบนสวรรค์ประทานพรเราเมื่อเราสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ท่านต้องรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์จะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของท่าน

  • ท่านเคยรู้สึกถึงความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อท่านผ่านวิธีที่พระองค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของท่านเมื่อใด (ท่านอาจต้องการให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามนี้สักครู่ก่อนตอบ ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ของท่านด้วย)

3 นีไฟ 14:12–27

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนความสำคัญของการทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 14:12 ในใจ และขอให้พวกเขาพิจารณาว่าคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อนี้สามารถช่วยให้พวกเขาเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นได้อย่างไร

  • การเชื่อฟังคำแนะนำใน 3 นีไฟ 14:12 สามารถช่วยให้เราเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นได้อย่างไร

บอกนักเรียนว่าขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนต่อไป พระองค์ทรงใช้การเปรียบเทียบที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยให้เราเข้าใจความสำคัญของการทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์

เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมศึกษาการเปรียบเทียบของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 14 ให้ดำเนินกิจกรรมต่อไปนี้

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละ 2–4 คน แจกกระดาษให้กลุ่มละหนึ่งแผ่น เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน และมอบหมายให้กลุ่มละหนึ่งช่วง: 3 นีไฟ 14:13–14; 3 นีไฟ 14:15–20; 3 นีไฟ 14:24–27 (หากท่านมีชั้นเรียนขนาดใหญ่ ให้มอบหมายช่วงพระคัมภีร์มากกว่าหนึ่งกลุ่ม) ขอให้นักเรียนอ่านข้อที่ได้รับมอบหมายและวาดภาพประกอบการเปรียบเทียบที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้ ให้พวกเขาเขียนสิ่งที่เรียนรู้จากการเปรียบเทียบด้วย

หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ให้นักเรียนแสดงรูปของตนให้ชั้นเรียนดูและอธิบายสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ขณะที่นักเรียนนำเสนอสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ให้ถามคำถามเช่น

  • การเชื่อฟังคำสอนของพระเยซูคริสต์เหมือนการเดินบนทางแคบอย่างไร การไม่ยอมรับคำสอนของพระเยซูคริสต์เหมือนการเดินบนทางกว้างอย่างไร (ดู 3 นีไฟ 14:13–14) คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดต่างจากคำสอนของโลกในด้านใดบ้าง

  • เหตุใดสุนัขป่าจึงสวมเครื่องนุ่งห่มของแกะ (ดู 3 นีไฟ 14:15) การเปรียบเทียบนี้บอกอะไรเราเกี่ยวกับความปรารถนาและการกระทำของศาสดาพยากรณ์ปลอม

  • ถ้าต้นไม้ใน 3 นีไฟ 14:16–20 หมายถึงคน ผลน่าจะหมายถึงอะไร (คำตอบอาจได้แก่ความนึกคิด คำพูด การกระทำ และอิทธิพลของคนๆ นั้นต่อผู้อื่น)

  • เมื่อเราได้ยินพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอดและทำตาม เราเปรียบเสมือนคนที่สร้างบ้านบนศิลาอย่างไร (ดู 3 นีไฟ 14:24–25) ถ้าเราเลือกไม่ทำตามพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอด เราเปรียบเสมือนคนที่สร้างบ้านบนทรายอย่างไร (ดู 3 นีไฟ 14:26–27)

    หลังจากนักเรียนนำเสนอและสนทนาแล้ว ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 14:21–23

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจาก 3 นีไฟ 14:21 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้ [เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน]: เราต้องทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อจะเข้าในอาณาจักรแห่งสวรรค์)

  • ความจริงนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับคำอธิบายเรื่องทางกว้างและแคบ ต้นไม้ดีและเลว คนฉลาดและคนโง่

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองสักครู่และประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก 3 นีไฟ 14 เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ว่าพวกเขาจะปรับปรุงความพยายามในการทำตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 14 อย่างไร หากเวลาเอื้ออำนวยให้เชิญนักเรียนสองสามคนสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และแบ่งปันว่าพวกเขาจะทำอะไรเพราะสิ่งที่เรียนรู้ ท่านอาจจะสรุปโดยเป็นพยานถึงพรที่ท่านได้รับเมื่อท่านทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์

พิมพ์