คลังค้นคว้า
บทที่ 67: โมไซยาห์ 27


บทที่ 67

โมไซยาห์ 27

คำนำ

แอลมาผู้บุตรและพวกบุตรของกษัตริย์โมไซยาห์กบฏต่อต้านบิดาและพระเจ้าอีกทั้งพยายามทำลายศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้า ความพยายามของพวกเขายุติลงเมื่อเทพองค์หนึ่งที่พระเจ้าทรงส่งมาตอบคำสวดอ้อนวอนของคนชอบธรรมได้เรียกพวกเขาสู่การกลับใจ สืบเนื่องจากประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์ครั้งนี้ พวกเขาจึงเกิดใหม่ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พวกเขาเดินทางไปทั่วแผ่นดินแห่งเซรา-เฮ็มลาเพื่อสั่งสอนพระกิตติคุณและชดเชยความเสียหายที่พวกเขาก่อไว้

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมไซยาห์ 27:1–22

เทพเรียกแอลมาผู้บุตรและพวกบุตรของโมไซยาห์สู่การกลับใจ

เพื่อให้บริบทสำหรับบทนี้ จงสรุป โมไซยาห์ 27:1–7 โดยอธิบายว่าผู้ไม่เชื่อจำนวนมากในเซราเฮ็มลาเริ่มข่มเหงคนที่เป็นของศาสนจักร หลังจากกษัตริย์โมไซยาห์ออกประกาศห้ามกระทำเช่นนั้น คนส่วนใหญ่เชื่อฟังและความสงบสุขกลับคืนมา อย่างไรก็ดี บางคนยังคงพยายามทำลายศาสนจักร ห้าคนในนั้นคือแอลมาบุตรของแอลมาและบุตรของกษัตริย์โมไซยาห์ได้แก่แอมัน แอรัน ออมเนอร์ และฮิมไน เรามักเรียกแอลมาบุตรของแอลมาว่าแอลมาผู้บุตร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 27:8–10 ขอให้ชั้นเรียนระบุคำหรือวลีที่พูดถึงแอลมาผู้บุตรและพวกบุตรของโมไซยาห์

  • คำพูดส่วนใดเกี่ยวกับแอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์โดดเด่นที่สุดสำหรับท่าน เพราะเหตุใด (เขียนคำและวลีบนกระดานตามที่นักเรียนระบุ เว้นช่องว่างบนกระดานไว้ทำรายการที่สองในบทเรียนช่วงหลัง)

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ในใจ

  • ถ้าท่านมีชีวิตอยู่ในเซราเฮ็มลาเวลานี้ ท่านคิดว่าท่านจะตอบสนองอย่างไรต่อการกระทำของแอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์

ภาพ
Conversion of Alma the Younger

ให้ดูภาพการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของแอลมาผู้บุตร (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 77) ขอให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 27:11–13 ในใจซึ่งเป็นเรื่องราวบรรยายภาพวาดภาพนี้ จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 27:14 ขอให้ชั้นเรียนมองหาเหตุผลที่เทพมาหาแอลมากับพวกบุตรของโมไซยาห์

  • ข้อนี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถช่วยคนที่กำลังล้มลุกคลุกคลาน (นักเรียนพึงเข้าใจว่า พระเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนที่ซื่อสัตย์ของเราเพื่อผู้อื่น ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดานและเสนอแนะให้นักเรียนเขียนลงในพระคัมภีร์ติดกับ โมไซยาห์ 27:14 ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาเพิ่มการอ้างโยงกับ ยากอบ 5:16 ด้วย ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเราไม่เพียงสำหรับคนที่กำลังล้มลุกคลุกคลานทางวิญญาณเท่านั้นแต่สำหรับคนที่มีการท้าทายและความต้องการแบบอื่นด้วย)

  • คำสวดอ้อนวอนของคนบางคนเคยส่งผลให้ชีวิตท่านแตกต่างไปจากเดิมเมื่อใด

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าคำสวดอ้อนวอนของท่านส่งผลให้ชีวิตคนบางคนแตกต่างไปจากเดิม

กระตุ้นนักเรียนให้สวดอ้อนวอนเพื่อผู้อื่นต่อไป เป็นพยานว่าเรื่องราวของแอลมาผู้บุตรและพวกบุตรของโมไซยาห์เป็นหลักฐานยืนยันว่าพระเจ้าทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของเราเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น พระองค์จะไม่ทรงครอบงำสิทธิ์เสรีของคนที่เราสวดอ้อนวอนให้ แต่พระองค์จะทรงฟังคำสวดอ้อนวอนของเรา และจะทรงตอบในวิธีของพระองค์และเวลาของพระองค์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมายืนหน้าชั้นและอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 27:15–16 อธิบายว่านี่เป็นคำที่เทพพูดกับแอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์ เน้นว่าเทพพูด “ด้วยเสียงของฟ้าร้อง, ซึ่งทำให้แผ่นดินโลกที่พวกเขายืนอยู่สั่นสะเทือน” (โมไซยาห์ 27:11)

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เทพทำและพูด ท่านประทับใจสิ่งนี้เพราะเหตุใด

สรุป โมไซยาห์ 27:19–22 โดยอธิบายว่าหลังจากเทพแบ่งปันข่าวสาร แอลมาพูดไม่ได้ อ่อนเพลีย และถูกหามไปหาบิดาของเขาอย่างไม่อาจช่วยตนเองได้ (ดู โมไซยาห์ 27:19) เมื่อบิดาของแอลมาได้ยินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ท่าน “ชื่นชมยินดี, เพราะท่านรู้ว่านั่นคือเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 27:20) ท่านให้ผู้คนมารวมกัน “เพื่อจะเป็นพยานถึงสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำกับบุตรท่าน” (โมไซยาห์ 27:21) ท่านให้พวกปุโรหิตมารวมกันด้วย พวกเขาอดอาหารและสวดอ้อนวอนให้บุตรของท่านได้รับพละกำลังและพูดได้ (ดู โมไซยาห์ 27:22)

โมไซยาห์ 27:23–31

แอลมาผู้บุตรกลับใจและเกิดใหม่

กลับไปยังรายการที่พูดถึงแอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์ซึ่งท่านเขียนไว้บนกระดานก่อนหน้านี้ เขียนกำกับรายงานนั้นว่า ก่อน เขียนคำว่า หลัง บนกระดานอีกด้านหนึ่ง เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 27:23–24, 28–29 โดยมองหาคำและวลีที่แสดงให้เห็นว่าแอลมาเปลี่ยนไปอย่างไร เปิดโอกาสให้นักเรียนสองสามคนเขียนคำและวลีเหล่านี้บนกระดาน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน โมไซยาห์ 27:24 และ 28 แอลมาทำอะไรอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ พระเจ้าทรงทำอะไร ขณะที่เราพยายามเปลี่ยนและทำตามพระผู้ช่วยให้รอด เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าเราต้องทำอะไร เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าพระเจ้าจะทรงทำอะไรเพื่อเรา

  • การเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ของแอลมาอาจจะช่วยคนที่คิดว่าเขาไม่สามารถรับการให้อภัยได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 27:25–26 ขอให้ชั้นเรียนระบุหลักคำสอนที่พระเจ้าทรงสอนแอลมา (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาพึงเข้าใจว่า เราแต่ละคนต้องเกิดใหม่ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ท่านอาจต้องการเขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

อธิบายว่าการเกิดใหม่หมายถึงการให้พระวิญญาณของพระเจ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจคนๆ หนึ่งทั้งนี้เพื่อให้เขาไม่มีความปรารถนาจะทำความชั่วอีกแต่ปรารถนาจะแสวงหาเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า (ดู โมไซยาห์ 5:2)

ท่านอาจต้องการอธิบายเช่นกันว่าถึงแม้การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจดูเหมือนจะเกิดกับแอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์อย่างรวดเร็ว แต่พวกเราส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนทีละน้อยผ่านการชดใช้ นี่เป็นกระบวนการไม่ใช่เหตุการณ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนนี้ดีขึ้น ให้เชิญคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“เราต้องระวังขณะที่เราพยายามเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเราจะไม่ท้อแท้และสิ้นหวัง การเป็นเหมือนพระคริสต์เป็นการแสวงหาชั่วชีวิตและมักเกี่ยวข้องกับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปจนแทบมองไม่ออก พระคัมภีร์บันทึกเรื่องราวอันน่าทึ่งของคนที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกะทันหัน อาทิ แอลมาผู้บุตร เปาโลบนถนนไปดามัสกัส อีนัสสวดอ้อนวอนจนถึงกลางคืน และกษัตริย์ลาโมไน ตัวอย่างอันน่าพิศวงเช่นนั้นของพลังอำนาจในการเปลี่ยนแม้กระทั่งคนที่จมปลักอยู่ในบาปให้ความเชื่อมั่นว่าการชดใช้ไปถึงได้แม้กับคนสิ้นหวังที่สุด

“แต่เราต้องระวังขณะสนทนาตัวอย่างอันน่าทึ่งเหล่านี้ แม้จะเป็นเรื่องจริงและเปี่ยมด้วยพลัง แต่เป็นข้อยกเว้นมากกว่ากฎ สำหรับเปาโลทุกคน สำหรับอีนัสทุกคน และสำหรับกษัตริย์ลาโมไนทุกคน มีหลายร้อยหลายพันคนที่พบว่ากระบวนการกลับใจละเอียดอ่อนกว่านั้นมาก มองออกยากกว่านั้นมาก พวกเขาขยับเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นวันแล้ววันเล่า ตระหนักทีละนิดว่าพวกเขากำลังสร้างชีวิตเหมือนพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาดำเนินชีวิตอย่างเงียบๆ ในเรื่องความดีงาม การรับใช้ และความมุ่งมั่น” (“A Mighty Change of Heart,” Ensign, Oct. 1989, 5)

หลังจากนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากคำกล่าวนี้แล้ว จงเชื้อเชิญพวกเขาให้ใช้เวลาสักสองสามนาทีตอบคำถามหนึ่งข้อต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียน เตรียมคำถามเป็นเอกสารแจก หรืออ่านคำถามช้าๆ เพื่อให้นักเรียนเขียนลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ท่านเปลี่ยนแปลงอย่างไรผ่านการชดใช้เมื่อท่านกลับใจและทำตามพระผู้ช่วยให้รอดจนสุดความสามารถ

  • อะไรคือสิ่งหนึ่งที่ท่านทำได้เพื่อมาหาพระเจ้าอย่างสมบูรณ์มากขึ้นทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทรงเปลี่ยนท่านได้ผ่านการชดใช้

เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนไว้หรือเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นในเราได้เมื่อเรากลับใจและใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ (เตือนนักเรียนว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องแบ่งปันเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป พวกเขาพึงเข้าใจว่าไม่ควรพูดถึงบาปในอดีตของตน)

โมไซยาห์ 27:32–37

แอลมาผู้บุตรและพวกบุตรของโมไซยาห์เดินทางไปทั่วแผ่นดินเพื่อพยายามชดเชยความเสียหายที่ทำไว้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ศาสนจักร

อธิบายว่าการกลับใจที่แท้จริงคือการเปลี่ยนแปลงในใจ ไม่เพียงตั้งใจเลิกทำสิ่งผิดเท่านั้น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 27:32–37 ขอให้ชั้นเรียนระบุสิ่งที่แอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์ทำซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากการเลิกทำสิ่งผิดเท่านั้น

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรบ้างที่ยืนยันว่าแอลมากับพวกบุตรของโมไซยาห์เปลี่ยนแปลงจริงๆ

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากแบบอย่างของพวกเขา

คำตอบของนักเรียนอาจได้แก่

แม้แต่คนที่กบฏต่อพระเจ้าและคำสอนของพระองค์ก็ยังสามารถได้รับการให้อภัย

เพื่อกลับใจอย่างแท้จริง คนนั้นต้องทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแก้ไขความเสียหายที่ทำไว้ (ท่านอาจจะอธิบายว่าบางครั้งเราใช้คำว่า การชดเชย เพื่อหมายถึงการชดใช้ความเสียหายที่ทำไว้และแก้ไขการเลือกที่ไม่ฉลาดของเรา)

โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราสามารถเปลี่ยนไปสู่สถานะของความชอบธรรมได้

สรุปโดยเป็นพยานว่าเรื่องราวของแอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์เป็นตัวอย่างของพลังอำนาจแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เพื่อเปลี่ยนเรา เป็นพยานถึงความปรารถนาของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะให้อภัยทุกคนที่ใช้ศรัทธาในพระองค์เช่นเดียวกับคนหนุ่มเหล่านี้และพยายามทำตามพระองค์

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมไซยาห์ 27:25 เกิดใหม่

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงกระบวนการเกิดใหม่ดังนี้

“เราเริ่มกระบวนการบังเกิดใหม่ผ่านการใช้ศรัทธาในพระคริสต์ กลับใจจากบาปของเรา และรับบัพติศมาโดยการจุ่มลงไปในน้ำทั้งตัวเพื่อการปลดบาปโดยผู้ที่มีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต

“… หลังจากที่เราออกมาจากน้ำแห่งบัพติศมา จิตวิญญาณของเราต้องจุ่มและแช่ต่อไปในความจริงและความสว่างแห่งพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอด การจุ่มเพียงครั้งคราวและผิวเผินในหลักคำสอนของพระคริสต์และการมีส่วนร่วมบางส่วนในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์ไม่สามารถสร้างการแปรสภาพทางวิญญาณที่ช่วยให้เราดำเนินตามชีวิตใหม่ ในทางกลับกัน ความภักดีต่อพันธสัญญา การผูกมัดตนอย่างต่อเนื่อง และถวายจิตวิญญาณทั้งหมดของเราแด่พระผู้เป็นเจ้าคือข้อเรียกร้องหากเราจะได้รับพรแห่งนิรันดร …

“การจุ่มจนมิดและแช่ไว้ในพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการบังเกิดใหม่” (ดู “ท่านทั้งหลายต้องบังเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 26–27)

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเช่นกัน อธิบายว่า

“เราเกิดใหม่เมื่อเราตายอันเกี่ยวเนื่องกับความไม่ชอบธรรมและเมื่อเรามีชีวิตอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของพระวิญญาณ แต่นั่นไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด นั่น … เป็นกระบวนการ การเกิดใหม่เป็นเรื่องค่อยเป็นค่อยไป ยกเว้นในบางสถานการณ์ที่น่าอัศจรรย์มากจนต้องบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ เท่าที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกทั่วไปของศาสนจักร เรา เกิดใหม่ทีละขั้น และเราเกิดใหม่เพื่อรับความสว่างเพิ่มเติม ความรู้เพิ่มเติม และความปรารถนาเพิ่มเติมในเรื่องความชอบธรรมขณะที่เรารักษาพระบัญญัติ …

“ในฐานะสมาชิกของศาสนจักร ถ้าเราวางผังเส้นทางสู่ชีวิตนิรันดร์ ถ้าเราเริ่มกระบวนการเกิดใหม่ทางวิญญาณ และกำลังไปในทิศทางที่ถูกต้อง ถ้าเราวางผังเส้นทางของการชำระจิตวิญญาณเราให้บริสุทธิ์ และไปในทิศทางนั้นทีละน้อย ถ้าเราวางผังเส้นทางของการเป็นคนดีพร้อม และกำลังทำให้จิตวิญญาณของเราดีพร้อมทีละขั้นทีละตอนโดยเอาชนะโลก เมื่อนั้นย่อมรับประกันได้แน่นอน—ไม่มีข้อกังขาในเรื่องนี้—ว่าเราจะได้รับชีวิตนิรันดร์ ถึงแม้มีการเกิดใหม่ทางวิญญาณอยู่ข้างหน้าเรา ความดีพร้อมอยู่ข้างหน้าเรา การชำระให้บริสุทธิ์เต็มระดับอยู่ข้างหน้าเรา แต่ถ้าเราวางผังเส้นทางและไปตามนั้นจนสุดความสามารถในชีวิตนี้ จากนั้นเมื่อเราออกจากชีวิตเราจะยังคงอยู่ในเส้นทางเดิมแน่นอน” (“Jesus Christ and Him Crucified,Brigham Young University 1976 Speeches, Sept. 5, 1976, 5–6, speeches.byu.edu)

พิมพ์