คลังค้นคว้า
บทที่ 48: เจคอบ 7


บทที่ 48

เจคอบ 7

คำนำ

เจคอบพึ่งพาพระเจ้าและประจักษ์พยานอันไม่สั่นคลอนของเขาเพื่อเอาชนะแนวคิดผิดๆ และการโต้เถียงของเชเร็ม ผู้ต่อต้านพระคริสต์ เขาดึงความเข้มแข็งเป็นพิเศษจากประสบการณ์ในอดีตที่ได้เสริมสร้างศรัทธาของเขาในพระเยซูคริสต์ นอกจากนี้ เขายังพึ่งพาการนำทางของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ความรู้ของเขาเกี่ยวกับพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ ตลอดจนประจักษ์พยานของเขาในพระเยซูคริสต์ เมื่อเชเร็มถามหาเครื่องหมายเพื่อพิสูจน์ถ้อยคำของเจคอบ เขาถูกลงทัณฑ์จากพระผู้เป็นเจ้า เจคอบทิ้งท้ายบันทึกของเขาโดยอธิบายว่าชาวนีไฟวางใจพระเจ้าอย่างไรเมื่อพวกเขาเสริมกำลังตนเองต่อต้านชาวเลมัน ก่อนเจคอบสิ้นชีวิต เขาฝากฝังแผ่นจารึกชุดเล็กไว้กับอีนัส บุตรชายของเขา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

เจคอบ 7:1–14

เจคอบพึ่งพาพระเจ้าเมื่อท่านเผชิญหน้ากับเชเร็ม ผู้ต่อต้านพระคริสต์

ก่อนเริ่มชั้นเรียน เขียนคำพูดต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โรเบิรต์ ดี. เฮลส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง (อ้างอิงจาก “ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, หน้า72) บนกระดาน

“การทดสอบอันหนักหน่วงอย่างหนึ่งของมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อความเชื่อของเราถูกตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์” (เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์)

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่มีคนถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อของพวกเขา เชื้อเชิญนักเรียนหลายคนให้เล่าว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อเรื่องนั้นเกิดขึ้น ท่านอาจต้องเล่าประสบการณ์สั้นๆ จากชีวิตท่านเช่นกัน

อธิบายว่า เจคอบ 7 เล่าประสบการณ์ของเจคอบกับเชเร็ม ผู้ต่อต้านพระคริสต์ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าผู้ต่อต้านพระคริสต์คือ “ผู้ใดหรือสิ่งใดที่ปลอมแปลงพระกิตติคุณอันแท้จริงหรือแผนแห่งความรอด โดยตั้งตนขึ้นต่อต้านพระคริสต์ไม่ว่าจะเป็นโดยเปิดเผยหรืออย่างลับๆ” [Bible Dictionary, “Antichrist”]) เชเร็มค้นหาเจคอบเพื่อท้าทายศรัทธาของเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน เจคอบ 7:1–5 ในใจ ขอให้พวกเขาระบุว่า (1) เชเร็มพยายามทำอะไรและ (2) วิธีที่เขาพยายามบรรลุเป้าหมายนั้น หลังจากนักเรียนอ่านเสร็จแล้ว ให้พวกเขาอธิบายสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับเชเร็ม ท่านอาจต้องการถามคำถามต่อไปนี้บางข้อเพื่อปรับปรุงการสนทนา

  • เชเร็มมีผลอย่างไรต่อผู้คน

  • ท่านเห็นอะไรใน เจคอบ 7:1–5 ที่เตือนใจท่านถึงเวลาที่คนอื่นตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ศรัทธาของท่าน (เมื่อท่านสนทนาถึงคำถามนี้ ท่านอาจต้องการช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่เจตนาตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาของเราโดยมีแรงจูงใจเช่นเดียวกับเชเร็ม ขณะที่บางคนเช่นเดียวกับเชเร็มพยายามทำลายศรัทธาโดยเสรี คนอื่นๆ อาจตั้งคำถามเกี่ยวกับศรัทธาของเราเพราะพวกเขาสนใจใคร่รู้หรือเพราะพวกเขาได้รับข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับความเชื่อของเรา)

  • เหตุใดบางครั้งจึงยากที่จะปกป้องศรัทธาของเราจากผู้คนเช่นเชเร็ม

ลอกข้อพระคัมภีร์อ้างอิงและคำพูดต่อไปนี้บนกระดาน (เพื่อประหยัดเวลา ท่านอาจลอกข้อความเหล่านี้บนกระดานก่อนชั้นเรียน ท่านอาจเตรียมข้อมูลเหล่านี้เป็นเอกสารแจก)

1. เจคอบ 7:5

ก. เป็นพยานถึงพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์

2. เจคอบ 7:8

ข. ปล่อยให้ผลอยู่ในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า

3. เจคอบ 7:10–11

ค. พึ่งพาการนำทางและความเข้มแข็งจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

4. เจคอบ 7:12

ง. ระลึกถึงประสบการณ์ในอดีตที่เสริมสร้างศรัทธาของตน

5. เจคอบ 7:13–14

จ. แบ่งปันประจักษ์พยานที่เขาได้รับผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์

อธิบายว่าข้อพระคัมภีร์ในรายการนี้อธิบายคำตอบของเจคอบเมื่อเชเร็มท้าทายความเชื่อของเขา ข้อความทางขวามือแทนคำตอบของเจคอบ แต่เรียงสลับที่และต้องจับคู่ให้ตรงกับข้อพระคัมภีร์ที่ความหมายตรงกัน เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก เจคอบ 7:5–14 ขณะอ่าน ให้พวกเขาหยุดหลังจบข้อความพระคัมภีร์แต่ละชุดที่เขียนไว้บนกระดาน ขอให้นักเรียนจับคู่แต่ละข้อความกับคำพูดที่ตรงกัน ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนออกมาที่กระดานและลากเส้นจากข้อความพระคัมภีร์อ้างอิงไปยังคำพูดที่ตรงกัน (คำตอบ: 1-ง; 2-ค; 3-ก; 4-จ; 5-ข)

เมื่อนักเรียนทำกิจกรรมจับคู่เสร็จแล้ว ถามว่า

  • ท่านเห็นหลักธรรมใดที่สอนไว้ในข้อพระคัมภีร์ที่เราเพิ่งอ่าน

ถ้าไม่มีใครแสดงความคิดเห็น ขอให้แน่ใจว่านักเรียนเข้าใจว่า เมื่อเราพึ่งพาพระเจ้า เราสามารถเอาชนะการท้าทายที่มีต่อศรัทธาของเรา (ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน)

อธิบายว่าถ้อยคำที่เจคอบตอบเชเร็มเป็นแบบอย่างให้เราทำตามเมื่อเราให้คำตอบแก่ผู้ที่ตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ศรัทธาของเรา

คำถามที่ต่อเนื่องอยู่ด้านล่างเรียบเรียงมาเพื่อช่วยให้นักเรียนคิดลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่เจคอบทำในการพึ่งพาพระเจ้า การตอบคำถามเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนสาธิตและเป็นพยานว่าการกระทำที่คล้ายกันช่วยพวกเขาอย่างไรเมื่อผู้อื่นท้าทายศรัทธาของพวกเขา สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้วิธีตอบโต้การท้าทายศรัทธาในอนาคตของพวกเขาได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน เนื่องจากคำถามด้านล่างน่าจะมีมากกว่าเวลาที่ท่านจะใช้ในชั้นเรียน เลือกเฉพาะสองสามคำถามเพื่อใช้ในการสนทนาของท่าน เมื่อท่านทำดังนี้ ขอให้แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ และระลึกถึงประสบการณ์ที่นักเรียนแบ่งปันในตอนเริ่มต้นชั้นเรียน ท่านอาจถามนักเรียนว่ามีการกระทำใดของเจคอบที่ทำให้พวกเขาอยากสนทนาถึงเรื่องนี้มากขึ้น

  • เกิดอะไรขึ้นกับเจคอบในอดีตที่ทำให้ศรัทธาของเขาไม่เรรวน (ดู เจคอบ 7:5)

  • มีประสบการณ์ใดบ้างที่เสริมสร้างศรัทธาของท่าน (ท่านอาจให้เวลานักเรียนไตร่ตรองคำถามนี้ก่อนขอให้พวกเขาตอบ ทำให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องเล่าประสบการณ์ที่เป็นเรื่องส่วนตัวเกินไป) การจดจำประสบการณ์เหล่านี้สามารถช่วยท่านได้อย่างไรเมื่อมีบางคนตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ศรัทธาของท่าน

  • พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยท่านตอบคำถามหรือคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับศรัทธาของท่านเมื่อใด (ดู เจคอบ 7:8)

  • นิสัยของการศึกษาพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายเป็นประจำทุกวันช่วยท่านอย่างไรเมื่อผู้อื่นตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ศรัทธาของท่าน (ดู เจคอบ 7:10–11)

  • ท่านแบ่งปันประจักษ์พยานกับบางคนที่ตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ศรัทธาของท่านเมื่อใด (ดู เจคอบ 7:12) ผลคืออะไร

  • เมื่อเชเร็มเรียกร้องเครื่องหมาย เหตุใดจึงเป็นการฉลาดสำหรับเจคอบที่จะปล่อยให้ผลอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า แทนที่จะพยายามพิสูจน์ความจริงของประจักษ์พยานด้วยตนเอง (ดู เจคอบ 7:14) การรู้ว่าไม่จำเป็นที่ท่านต้องพิสูจน์ความจริงของประจักษ์พยานกับผู้ที่ท้าทายศรัทธาของท่านช่วยท่านได้อย่างไร

เจคอบ 7:15–27

หลังจากเชเร็มเป็นใบ้ เขาสารภาพบาป เป็นพยานถึงความจริง จากนั้นก็สิ้นชีวิต โดยนำฝูงชนชาวนีไฟหันกลับไปหาพระเจ้า

อ่านคำพูดต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

“ตลอดหลายปีเราเรียนรู้ว่าการท้าทายศรัทธาของเราไม่ใช่เรื่องใหม่ และก็ไม่น่าจะสูญสิ้นไปในเร็วๆ นี้ แต่ สานุศิษย์ที่แท้จริงของพระคริสต์มองเห็นโอกาสท่ามกลางการต่อต้าน …

“… นับเป็นเรื่องดีที่พระเจ้าทรงรู้ใจผู้ที่กล่าวร้ายเราและวิธีที่เราจะโต้ตอบคนเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เมื่อสานุศิษย์ที่แท้จริงแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณ พวกท่านได้รับการดลใจที่เหมาะพอดีกับทุกสิ่งที่ท่านเผชิญ และในทุกสิ่งที่เผชิญ สานุศิษย์ที่แท้จริงโต้ตอบในวิธีที่อัญเชิญพระวิญญาณของพระเจ้า” (“ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์” 90; ตัวเอนตามต้นฉบับ)

  • ท่านคิดว่าการ “มองเห็นโอกาสท่ามกลางการต่อต้าน” หมายความว่าอย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบคำถามนี้ ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าผลดีเกิดขึ้นได้เมื่อเราตอบโต้การท้าทายศรัทธาของเราในวิธีที่อัญเชิญพระวิญญาณของพระเจ้า)

แบ่งนักเรียนเป็นคู่ๆ ให้แต่ละคู่อ่าน เจคอบ 7:15–23 มองหาสิ่งดีๆ ที่เป็นผลจากการเผชิญหน้าของเจ-คอบกับเชเร็ม หลังจากนักเรียนอ่านจบ เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนให้อธิบายถึงสิ่งที่พวกเขาพบ ท่านอาจใช้คำถามต่อไปนี้บางข้อเพื่อช่วยให้นักเรียนวิเคราะห์ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้

  • หลักฐานใดที่ท่านเห็นว่าเจคอบหวังว่าการเผชิญหน้ากับเชเร็มจะช่วยผู้อื่น (ดู เจคอบ 7:22 ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าเจคอบสวดอ้อนวอนเพื่อฝูงชนชาวนีไฟผู้เป็นพยานถึงคำสารภาพและความตายของเชเร็ม)

  • จาก เจคอบ 7:23 ท้ายที่สุดแล้วการเผชิญหน้าของเจคอบกับเชเร็มมีผลต่อฝูงชนอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากผลของการที่เจคอบเผชิญหน้ากับเชเร็ม (นักเรียนอาจตอบคำถามนี้ได้หลากหลายรูปแบบ บางคนอาจแนะนำถึงหลักธรรมดังต่อไปนี้)

  • ศาสดาพยากรณ์ทุกคนเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์

  • เมื่อเราตอบคำถามหรือคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับศรัทธาของเราในวิธีที่อัญเชิญพระวิญญาณ เราสามารถช่วยผู้อื่นให้หันไปหาพระเจ้า

  • ศาสดาพยากรณ์ช่วยให้เราจดจำและเอาชนะการหลอกลวงของซาตาน

  • ผู้ที่กบฎต่อต้านพระผู้เป็นเจ้าและสั่งสอนอย่างขันแข็งเพื่อต่อต้านความจริงจะเผชิญผลลัพธ์อันร้ายแรงจากพระเจ้า

  • การค้นคว้าพระคัมภีร์จะช่วยเราหลีกเลี่ยงการถูกล่อลวง

เมื่อนักเรียนระบุหลักธรรมดังที่เขียนไว้ด้านบน ท่านอาจถามคำถามต่อเนื่องเพื่อช่วยให้พวกเขาประยุกต์ใช้หลักธรรมในชีวิต

  • การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมนี้ช่วยท่านได้อย่างไร

  • การรู้หลักธรรมนี้ช่วยให้ท่านช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไร

  • ท่านจะพยายามประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ในชีวิตท่านอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

  • ท่านจะเริ่มทำสิ่งใด (หรือจะทำต่อไป) เพื่อช่วยให้ท่านพร้อมทุกเมื่อหากมีใครบางคนท้าทายศรัทธาของท่าน

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าเราสามารถเอาชนะการท้าทายศรัทธาได้สำเร็จเมื่อเราทำตามแบบอย่างของเจคอบในการพึ่งพาพระเจ้า

ทบทวนเจคอบ

ใช้เวลาเล็กน้อยเพื่อช่วยนักเรียนทบทวนหนังสือเจคอบ ขอให้พวกเขานึกถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้ ทั้งในเซมินารีและในการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัว หากจำเป็น เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านเจคอบทั้งเจ็ดบทอย่างละเอียดเพื่อช่วยให้พวกเขาจดจำ ขอให้พวกเขาเตรียมตัวเล่าบางสิ่งเกี่ยวกับเจคอบหรืองานเขียนของเจคอบที่พวกเขาประทับใจ ท่านอาจเตือนพวกเขาว่าเจคอบเกิดในแดนทุรกันดารในแผ่นดินอุดมมั่งคั่ง (ใกล้ทะเลแดง) และเขาสิ้นชีวิตในแผ่นดินของนีไฟ เขาได้รับพรจากลีไฮเช่นกัน (ดู 2 นีไฟ 2:1–4) และเขาเห็นพระผู้ช่วยให้รอด (ดู 2 นีไฟ 11:3) นีไฟ พี่ชายของเขารวมบางส่วนจากโอวาทของเขาไว้บนแผ่นจารึกเล็ก (ดู 2 นีไฟ 6–10) หลังจากให้เวลามากพอ เชื้อเชิญนักเรียนหลายคนให้แบ่งปันความคิดและความรู้สึก ท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าแบบอย่างและคำสอนของเจคอบเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

เจคอบ 7:5 “และเขาหวังไว้ว่าจะทำให้ข้าพเจ้าหวั่นไหวจากศรัทธา”

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดให้คำแนะนำที่สามารถช่วยให้เรารู้ว่าจะต้องทำอะไรเมื่อมีคำถาม ข้อกังวล หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เราหวั่นไหวจากศรัทธา

“แล้วข้อสงสัยกับคำถามเรื่องหลักธรรมเล่า” ท่านค้นพบว่าพระกิตติคุณเป็นความจริงได้อย่างไร เราสงสัยเกี่ยวกับศาสนจักรหรือหลักคำสอนได้หรือไม่ เพื่อนหนุ่มสาวที่รักของข้าพเจ้า เราเป็นผู้คนที่ชอบถามคำถาม เพราะเรารู้ว่าการถามนำไปสู่ความจริง นี่คือวิธีที่ศาสนจักรเริ่มต้น—จากเด็กหนุ่มผู้มีคำถาม อันที่จริง ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าคนคนหนึ่งจะค้นพบความจริงได้อย่างไรโดยไม่ถามคำถาม ในพระคัมภีร์ท่านแทบจะไม่พบการเปิดเผยที่ไม่ได้มาจากการตอบคำถาม เมื่อใดก็ตามที่เกิดคำถามและโจเซฟ สมิธไม่แน่ใจในคำตอบ ท่านทูลถามพระเจ้า และผลที่ได้คือการเปิดเผยอันน่าอัศจรรย์ในหลักคำสอนและพันธสัญญา บ่อยครั้งความรู้ที่โจเซฟได้รับขยายกว้างออกไปเกินกว่าคำถามที่ท่านถาม นั่นเป็นเพราะว่าพระเจ้าไม่เพียงตอบคำถามของเราได้เท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ พระองค์ประทานคำตอบแก่คำถามที่เราควรถามได้ด้วย ขอให้เราฟังคำตอบเหล่านั้น

“งานเผยแผ่ของศาสนจักรสร้างอยู่บนพื้นฐานของผู้สนใจที่ซื่อสัตย์ผู้ถามคำถามด้วยความจริงใจ การถามเป็นจุดกำเนิดของประจักษ์พยาน การถามเป็นจุดกำเนิดของประจักษ์พยาน บางคนอาจรู้สึกอายหรือรู้สึกไม่คู่ควรเพราะกำลังค้นหาคำถามเกี่ยวกับพระกิตติคุณ แต่พวกเขาไม่จำเป็นต้องรู้สึกเช่นนั้น การถามคำถามมิได้ส่อถึงความอ่อนแอ แต่เป็นเครื่องแสดงออกถึงการเติบโต

“พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้เราแสวงหาคำตอบให้แก่คำถามของเรา (ดู ยากอบ 1:5–6) และถามเฉพาะในสิ่งที่เราแสวงหา “ด้วยใจจริง, ด้วยเจตนาแท้จริง, โดยมีศรัทธาในพระคริสต์” (โมโรไน 10:4) เมื่อเราทำเช่นนั้น ความจริงของทุกสิ่งจะแสดงแก่เราได้โดย “โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์” (โมโรไน 10:5)

“อย่ากลัว จงถามคำถาม จงสนใจใคร่รู้ แต่อย่าคลางแคลงใจ! จงยึดมั่นอยู่เสมอในศรัทธาและความสว่างที่ท่านได้รับมา เพราะเราเห็นไม่ชัดในความเป็นมรรตัย ไม่ใช่ทุกอย่างจะเข้าใจได้ในตอนนี้ อันที่จริง ข้าพเจ้าน่าจะคิดว่าหากเราเข้าใจทุกเรื่องได้ในตอนนี้ ก็แสดงว่าสิ่งนั้นเสกสรรปั้นแต่งขึ้นจากความคิดมนุษย์ทั้งสิ้น พึงระลึกว่าพระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้

“‘เพราะความคิดของเราไม่ใช่ความคิดของเจ้า และทางของพวกเจ้าก็ไม่ใช่ทางของเรา …

“‘เพราะฟ้าสวรรค์สูงกว่าแผ่นดินโลกอย่างไร ทางของเราก็สูงกว่าทางของพวกเจ้า และความคิดของเราก็สูงกว่าความคิดของเจ้าอย่างนั้น’ (อิสยาห์ 55:8–9)

“แม้กระนั้น ท่านรู้ว่าจุดประสงค์หนึ่งของความเป็นมรรตัยคือการเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ของท่านมากขึ้น ในความคิดของท่าน และในการกระทำของท่าน ให้มองจากมุมมองนี้ว่า การค้นหาคำตอบให้แก่คำถามของท่านสามารถนำท่านเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า เสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านแทนที่จะสั่นคลอนประจักษ์พยาน เป็นความจริงที่ว่า ‘ศรัทธาไม่ใช่ … ความรู้อันสมบูรณ์’ (แอลมา 32:21) แต่เมื่อท่านใช้ศรัทธาของท่าน ประยุกต์ใช้หลักธรรมพระกิตติคุณทุกวันกับทุกสภาวการณ์ ท่านจะชิมรสผลของพระกิตติคุณอันน่าชื่นใจ และโดยผลนี้ท่านจะรู้จักความจริงของพระกิตติคุณ (ดู มัทธิว 7:16–20; ยอห์น 7:17; แอลมา 32:41–43)” (ดู “เงาสะท้อนในน้ำ” [ไฟร์ไซด์ระบบการศึกษาของศาสนจักรสำหรับคนหนุ่มสาว, 1 พ.ย. 2009])

เพื่อช่วยให้นักเรียนตอบคำถามหรือคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับศรัทธา ท่านอาจแนะนำให้พวกเขาศึกษาแหล่งช่วยต่อไปนี้

  • ดู โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 89–92

    ในคำปราศัยการประชุมใหญ่สามัญ เอ็ลเดอร์เฮลส์สอนเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์หรือการข่มเหงด้วยความกล้าหาญ อดกลั้น และจิตกุศล

  • แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ (2004)

    หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยหัวข้อพระกิตติคุณเรียงตามลำดับตัวอักษรและบทวิจารณ์ ฝ่ายประธานสูงสุดเขียนว่าจุดประสงค์หนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือช่วยสมาชิกของศาสนจักร “ตอบคำถามเกี่ยวกับศาสนจักร” (แน่วแน่ต่อศรัทธา, 1)

  • www.lds.org/study/topics

    เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของศาสนจักรมีหัวข้อพระกิตติคุณเรียงตามลำดับตัวอักษรและบทวิจารณ์ พร้อมกับลิงก์ไปที่เนื้อหาเพื่อการศึกษาและคำปราศรัย บทความ ตลอดจนคำพูดของผู้นำศาสนจักร

พิมพ์