บทที่ 18
1 นีไฟ 17
คำนำ
หลังจากเดินทางในแดนทุรกันดารแปดปี ครอบครัวของลีไฮมาถึงชายฝั่งทะเลที่พวกเขาเรียกว่าอุดมมั่งคั่ง หลังจากตั้งถิ่นฐานในอุดมมั่งคั่ง พระเจ้าทรงบัญชานีไฟให้ต่อเรือลำหนึ่ง เมื่อพี่ๆ รู้ว่าเขาพยายามทำอะไร พวกเขาเย้ยหยันท่าน จากนั้นก็บ่นว่า และไม่ยอมช่วย นีไฟสอนพี่ๆ ว่าถึงแม้พระเจ้าได้พยายามตรัสกับพวกเขาผ่านพระสุรเสียงสงบแผ่วเบาของพระวิญญาณ แต่ความชั่วช้าสามานย์ขัดขวางพวกเขาไม่ให้รู้สึกถึงพระวจนะของพระองค์ เขาตำหนิพี่ๆ เพราะความชั่วของคนเหล่านั้นและชักชวนพวกเขาให้กลับใจ
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
1 นีไฟ 17:1–51
การเดินทางของครอบครัวลีไฮไปอุดมมั่งคั่งที่ซึ่งนีไฟได้รับพระบัญชาให้ต่อเรือ
วาดแผนภาพต่อไปนี้บนกระดาน
ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าชีวิตพวกเขาในปัจจุบันยากหรือง่าย และเพราะเหตุใด (ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้สนทนาคำตอบกับคู่ หรือเชิญนักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันความคิดกับทุกคนในชั้น เตือนว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องแบ่งปันเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 17:1, 4, 6 ขณะที่อ่านให้ชั้นเรียนมองหาคำและวลีที่บ่งบอกว่าช่วงเวลาที่นีไฟกับครอบครัวอยู่ในแดนทุรกันดารยากหรือง่าย
-
นีไฟบรรยายว่าเวลาของพวกเขาในแดนทุรกันดารง่ายหรือยาก คำใดบ่งบอกว่ายาก
อธิบายว่านีไฟกับครอบครัวได้รับพรอย่างมากเช่นกันในช่วงนี้ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 17:2, 5, 12–13 อย่างรวดเร็วเพื่อระบุบางด้านที่นีไฟกับครอบครัวได้รับพรในระหว่างการเดินทาง ขอให้นักเรียนสองสามคนอธิบายสิ่งที่พวกเขาพบ
บอกนักเรียนว่านีไฟสอนหลักธรรมที่อธิบายว่าเหตุใดครอบครัวของเขาจึงได้รับพรในยามยากเช่นนี้ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 17:3 ในใจและระบุหลักธรรมที่เริ่มด้วยคำว่า หาก อธิบายพอสังเขปว่าบางครั้งพระคัมภีร์ระบุหลักธรรมในรูปของ “หาก-เมื่อนั้น” คำว่า หาก นำไปสู่การกระทำ และคำว่า เมื่อนั้น นำไปสู่ผล (บวกหรือลบ) ที่เราจะประสบเนื่องด้วยการกระทำนั้น
ถึงแม้ 1 นีไฟ 17:3 ไม่มีคำว่า เมื่อนั้น แต่ก็บ่งบอกการกระทำ ตามด้วยพรบางประการซึ่งจะเป็นผล ขอให้นักเรียนบอกองค์ประกอบ “หาก-เมื่อนั้น” ของหลักธรรมที่พวกเขาระบุ พวกเขาควรบอกบางอย่างทำนองนี้ หากเรารักษาพระบัญญัติ เมื่อนั้นพระเจ้าย่อมทำให้เราเข้มแข็งและจัดหาวิธีให้เราทำสำเร็จให้สิ่งซึ่งพระองค์ทรงบัญชา (ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน) เชื้อเชิญนักเรียนให้มองหาหลักฐานยืนยันหลักธรรมนี้ขณะพวกเขาศึกษาประสบการณ์ของนีไฟและขณะพวกเขาใคร่ครวญชีวิตตนเอง
แจกเอกสารที่มีคำถามต่อไปนี้ (หรือเขียนคำถามบนกระดานก่อนชั้นเรียน)
-
พระเจ้าทรงบัญชานีไฟให้ทำอะไร (1 นีไฟ 17:7–8) นีไฟตอบสนองอย่างไร (1 นีไฟ 17:9–11, 15–16) พี่ๆ ตอบสนองอย่างไร (1 นีไฟ 17:17–21)
-
พระเจ้าทรงช่วยโมเสสบรรลุผลสำเร็จในงานที่เขาได้รับบัญชาให้ทำอย่างไร (1 นีไฟ 17:23–29)
-
พี่ๆ ของนีไฟเหมือนลูกหลานของอิสราเอลอย่างไร (1 นีไฟ 17:30, 42)
-
พระเจ้าทรงบัญชาอะไรที่อาจจะยากสำหรับฉัน
-
ฉันจะตอบสนองเช่นเดียวกับนีไฟและโมเสสได้อย่างไร ฉันจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดแบบพี่ๆ ของนีไฟและลูกหลานอิสราเอลได้อย่างไร
แนะนำคำถามโดยอธิบายว่าคำถามเหล่านั้นจะช่วยให้นักเรียนเห็นว่านีไฟยังคงดำเนินชีวิตตามหลักธรรมใน 1 นีไฟ 17:3 หลังจากมาถึงอุดมมั่งคั่ง คำถามจะช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้หลักธรรมกับตนเองด้วย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 17:7–8 ขอให้นักเรียนที่เหลือระบุสิ่งที่นีไฟได้รับบัญชาให้ทำ ให้นักเรียนบันทึกคำตอบใต้คำถามข้อ 1 ในเอกสารแจกหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา
-
พระบัญชานี้อาจจะยากสำหรับนีไฟในด้านใด
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 17:9–11 และนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่าน 1 นีไฟ 17:15–16 ก่อนอ่าน ขอให้ชั้นเรียนฟังการตอบสนองของนีไฟต่อพระบัญชาให้ต่อเรือ
-
ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับการตอบสนองของนีไฟ
ให้นักเรียนเขียนสรุปการตอบสนองของนีไฟใต้คำถามข้อ 1 ในเอกสารแจกหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา
ขอให้นักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 นีไฟ 17:17–21 ให้ชั้นเรียนมองหาคำและวลีที่เผยเจตคติของเลมันกับเลมิวเอล ให้นักเรียนเขียนสรุปการตอบสนองของเลมันกับเลมิวเอลต่อพระบัญชาให้ต่อเรือ เชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนแบ่งปันข้อสรุปกับชั้นเรียน
อธิบายว่านีไฟตอบสนองคำบ่นว่าของพี่ๆ โดยเตือนพวกเขาว่าพระเจ้าทรงช่วยโมเสสให้ทำงานยากสำเร็จมาแล้วในการปลดปล่อยลูกหลานอิสราเอลจากการเป็นทาส นีไฟเปรียบเทียบความใจแข็งกระด้างของพี่ๆ กับความใจแข็งกระด้างของลูกหลานอิสราเอล เชื้อเชิญนักเรียนให้ศึกษาข้อความพระคัมภีร์และบันทึกคำตอบของคำถามข้อ 2 และ 3 ท่านอาจจะให้พวกเขาทำเป็นส่วนตัวหรือกับคู่ก็ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักเรียน
หลังจากนักเรียนตอบคำถามข้อ 2 และ 3 เสร็จแล้ว ให้ถามว่า
-
พระเจ้าทรงช่วยให้โมเสสบรรลุผลสำเร็จในภารกิจที่เขาได้รับบัญชาให้ทำอย่างไร
-
ท่านคิดว่าแบบอย่างของโมเสสได้ช่วยนีไฟอย่างไร
-
พี่ๆ ของนีไฟเหมือนลูกหลานอิสราเอลในด้านใด
ชี้ให้เห็นว่าเมื่อพระเจ้าประทานภารกิจหรือพระบัญญัติที่ท้าทายแก่เรา เราเลือกได้ว่าจะตอบสนองเช่นเดียวกับนีไฟ หรือเราจะตอบสนองเช่นเดียวกับเลมันและเลมิวเอล อธิบายว่าถึงแม้พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงขอให้เราทำภารกิจอย่างเช่นต่อเรือหรือแยกทะเลแดงให้สำเร็จ แต่พระองค์ประทานพระบัญญัติและทรงขอให้เราทำสิ่งที่บางคนพบว่ายาก ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงบัญชาเราให้รักษาความนึกคิดให้บริสุทธิ์และรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงคาดหวังให้เราทำการเรียกในศาสนจักรจนเกิดสัมฤทธิผล (เช่นประธานโควรัมหรือประธานชั้นเรียน) และรับใช้ผู้อื่น พระองค์ทรงคาดหวังให้เรารักษาพันธสัญญาและแข็งขันในศาสนจักรด้วยเช่นกันแม้ต้องประสบความท้าทายต่างๆ ให้เวลานักเรียนบันทึกคำตอบของคำถามข้อ 4 และ 5 กระตุ้นพวกเขาให้ตอบคำถามข้อ 4 โดยเขียนบางอย่างที่พระเจ้าทรงบัญชาที่อาจจะยากสำหรับพวกเขา
หลังจากให้เวลาเขียนมากพอแล้ว ให้อ่านออกเสียงคำพูดแสดงศรัทธาของนีไฟใน 1 นีไฟ 17:50 จากนั้นขอให้นักเรียนอ่าน 1 นีไฟ 17:51ในใจ และพิจารณาว่าจะประยุกต์ใช้ในชีวิตพวกเขาอย่างไร กระตุ้นพวกเขาให้เติมชื่อพวกเขาต่อจากคำว่า ข้าพเจ้า และแทนที่วลี ต่อเรือ ด้วยงานหรือพระบัญญัติที่พวกเขาพบว่ายาก ท่านอาจเชิญนักเรียนที่รู้สึกว่าทำงานนั้นได้ด้วยความสบายใจให้อ่านออกเสียง 1 นีไฟ 17:51 พร้อมกับแทนที่ด้วยสิ่งที่เขาทำ อ้างอิงหลักธรรมที่เขียนไว้บนกระดานอีกครั้ง
-
นีไฟเคยมีประสบการณ์อะไรมาแล้วกับหลักธรรมนี้ที่ให้ความเชื่อมั่นแก่เขาว่าพระเจ้าจะทรงช่วยให้เขาทำตามพระบัญญัติทุกข้อได้
-
ท่านเคยประสบอะไรบ้างที่ให้ความเชื่อมั่นแก่ท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยให้ท่านบรรลุผลสำเร็จในสิ่งใดก็ตามที่พระองค์ทรงขอให้ท่านทำ
แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าเมื่อเรารักษาพระบัญญัติ พระเจ้าจะทรงทำให้เราเข้มแข็งและทรงเตรียมทางให้เราบรรลุผลสำเร็จในสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชา
1 นีไฟ 17:45–55
นีไฟตำหนิเลมันกับเลมิวเอลเพราะความชั่วร้ายของพวกเขา
ให้ดูรูปนีไฟทำให้พี่ๆ ที่กบฏยอมศิโรราบ (62044; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพ 70) เชื้อเชิญนักเรียนให้สรุปว่าเกิดอะไรขึ้นในรูป ถ้านักเรียนไม่รู้คำตอบ เชื้อเชิญพวกเขาให้หาคำตอบใน 1 นีไฟ 17:48, 53–54
-
ตามที่กล่าวไว้ใน 1 นีไฟ 17:53 เหตุใดพระเจ้าทรงทำให้พี่ๆ ของนีไฟสะดุ้ง (คำว่า สะดุ้ง ในบริบทนี้หมายถึง “ทำให้ตัวสั่น”)
อธิบายว่าอาการสะดุ้งที่พระเจ้าทำให้เกิดแก่เลมันและเลมิวเอลเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ วิธีที่พระเจ้าทรงสื่อสารกับพวกเขา เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 17:45 และระบุสองสามวิธีที่พระเจ้าทรงสื่อสารกับเลมันและเลมิวเอลในอดีต
-
พระเจ้าทรงเคยสื่อสารกับเลมันและเลมิวเอลด้วยวิธีใดบ้าง วิธีใดดูเหมือนจะเป็นวิธีที่พระเจ้าทรงใช้มากที่สุดเพื่อพยายามสื่อสารกับเรา
ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อความต่อไปนี้ใน 1 นีไฟ 17:45: “ท่านพูดกับพี่ด้วยเสียงสงบแผ่วเบา” ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสด้วยสุรเสียงที่ท่าน รู้สึก มากกว่าที่ท่าน ได้ยิน สุรเสียงดังกล่าวเรียกว่า ‘เสียงสงบแผ่วเบา’ [คพ. 85:6] และขณะที่เราพูดถึง ‘ฟัง’ สุรเสียงกระซิบของพระวิญญาณ ส่วนใหญ่เรามักพรรณนาการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณโดยพูดว่า ‘ฉันมี ความรู้สึก …’” (“Personal Revelation: The Gift, the Test, and the Promise,” Ensign, Nov. 1994, 60)
ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนความจริงต่อไปนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาติดกับ 1 นีไฟ 17:45: พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสด้วยสุรเสียงสงบแผ่วเบาที่เรารู้สึกมากกว่าได้ยิน (เพื่อเน้นหลักธรรมนี้ท่านอาจต้องการให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3)
-
ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าสุรเสียงสงบแผ่วเบาของพระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับท่าน
-
ท่านทำอะไรที่ช่วยให้ท่านรู้สึกและแยกแยะสุรเสียงสงบแผ่วเบาของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้
หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการกระตุ้นพวกเขาให้ทำเครื่องหมายวลีต่อไปนี้ใน 1 นีไฟ 17:45: “แต่ใจพี่เกินกว่าจะรู้สึก, พี่จึงสัมผัสพระวจนะของพระองค์ไม่ได้.” ให้นักเรียนอ่านประโยคแรกของ 1 นีไฟ 17:45 และระบุว่าเหตุใดเลมันกับเลมิวเอลจึงมี “ใจเกินกว่าจะรู้สึก” เชื้อเชิญพวกเขาให้รายงานสิ่งที่พบ
-
เหตุใดความ “ว่องไวในการทำความชั่วช้าสามานย์” จึงทำให้เลมันกับเลมิวเอลมี “ใจเกินกว่าจะรู้สึก”
-
บาปของเราอาจส่งผลอย่างไรต่อการที่เราจะสามารถรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์
หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ผู้รับใช้เป็นสมาชิกแห่งฝ่ายประธานสูงสุด
“การสื่อสารส่วนใหญ่ในสมัยของเรามักจะใช้โทรศัพท์มือถือ แต่บางครั้งเราก็พบจุดบอดที่รับสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่ได้ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เมื่อผู้ใช้โทรศัพท์อยู่ในอุโมงค์หรือหุบเขา หรือเมื่อมีการรบกวนอื่นๆ
“การสื่อสารจากสวรรค์ก็เช่นกัน … เรามักปล่อยตัวเข้าไปในจุดบอดทางวิญญาณ—สถานที่หรือสถานการณ์ที่ปิดกั้นข่าวสารจากสวรรค์ จุดบอดเหล่านี้อาจได้แก่ ความโกรธ สื่อลามาก การล่วงละเมิด ความเห็นแก่ตัว และสถานกาณ์อื่นที่ทำให้พระวิญญาณทรงขุ่นเคือง” (“ท่านได้ข่าวสารถูกต้องหรือไม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, หน้า 83)
เพื่อสรุป ให้เชื้อเชิญนักเรียนพิจารณาข่าวสารที่พระเจ้าทรงพยายามสื่อกับพวกเขาเมื่อไม่นานมานี้ กระตุ้นพวกเขาให้ไตร่ตรองว่ามี “จุดบอดทางวิญญาณ” ใดหรือไม่ที่อาจขัดขวางพวกเขาไม่ให้ได้รับการสื่อสารเช่นนั้น (ท่านอาจต้องการให้นักเรียนเขียนสิ่งนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา) เป็นพยานว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสด้วยสุรเสียงสงบแผ่วเบาที่เรารู้สึกมากกว่าได้ยิน เป็นพยานเช่นกันว่าเราสามารถประสบการสื่อสารนี้ได้เมื่อเราพยายามมีค่าควรรับการกระตุ้นเตือนที่นุ่มนวลเหล่านี้