คลังค้นคว้า
บทที่ 93: แอลมา 36


บทที่ 93

แอลมา 36

คำนำ

หลังจากงานเผยแผ่ในบรรดาชาวโซรัม แอลมาให้คำแนะนำบุตรแต่ละคน คำแนะนำที่เขาให้ฮีลามันบุตรชายอยู่ใน แอลมา 36 และ 37 แอลมาเป็นพยานต่อฮีลามันว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงปลดปล่อยคนที่มอบความไว้วางใจในพระองค์ เพื่อยกตัวอย่างเรื่องนี้ แอลมาจึงเล่าประสบการณ์ของตนเองเมื่อหลายปีก่อนเมื่อเขาได้รับการปลดปล่อยจากความเจ็บปวดของบาปผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ นอกจากนี้ เขายังเล่าเรื่องการพยายามนำผู้อื่นมาสู่พระคริสต์และประสบปีติของการกลับใจด้วยตัวของพวกเขาเอง

หมายเหตุ: บทที่ 94 จะให้โอกาสนักเรียนสามคนได้สอน หากท่านไม่ได้ทำมาแล้ว ท่านอาจต้องการเลือกนักเรียนสามคนตอนนี้และแจกสำเนาส่วนที่กำหนดไว้ของบทที่ 94 ให้พวกเขาเตรียม กระตุ้นพวกเขาให้ศึกษาเนื้อหาบทเรียนร่วมกับการสวดอ้อนวอนและแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อจะรู้วิธีปรับบทเรียนตามความต้องการของเพื่อนร่วมชั้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 36:1–5

แอลมาสอนฮีลามันเกี่ยวกับเดชานุภาพการปลดปล่อยของพระผู้เป็นเจ้า

ขอให้นักเรียนนึกถึงด้านบวกที่ประจักษ์พยานหรือคำสอนบางอย่างของบิดามารดามีอิทธิพลต่อพวกเขา เชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนแบ่งปันความคิดกับชั้นเรียน

อธิบายว่า บทที่ 36–42 ในหนังสือของแอลมา มีคำแนะนำจากแอลมาถึงบุตรชายของเขา บทที่ 36–37 พูดกับฮีลามัน บทที่ 38 พูดกับชิบลัน และ บทที่ 39–42 พูดกับโคริแอนทอน

กระตุ้นนักเรียนให้นึกภาพตนเองว่าเป็นฮีลามันขณะฟังประจักษ์พยานของบิดาใน แอลมา 36:1–5 ให้นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้ในใจโดยมองหาสิ่งที่พวกเขาประทับใจเกี่ยวกับประจักษ์พยานของแอลมา

  • ในข้อเหล่านี้ ท่านประทับใจอะไรมากที่สุด เพราะเหตุใด

แอลมา 36:6–22

แอลมาพูดถึงการกบฏของเขาและอธิบายว่าเขาได้รับการให้อภัยอย่างไร

อธิบายว่าตามประจักษ์พยานที่เพิ่มขึ้นในเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อปลดปล่อยคนที่มอบความไว้วางใจในพระองค์ แอลมาแบ่งปันประสบการณ์ของการได้รับการปลดปล่อยจากความเจ็บปวดของบาป ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 36:6–9 อย่างรวดเร็ว และสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นกับแอลมาขณะที่เขาและพวกบุตรของโมไซยาห์ตระเวณไปทำลายศาสนจักร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 36:10 ขอให้ชั้นเรียนระบุว่าแอลมาทนทุกข์เพราะบาปของเขานานเท่าใด อธิบายว่าใน แอลมา 36:11–17 เราได้รับเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่แอลมาประสบในช่วงสามวันสามคืนของความทุกข์ละเอียดมากกว่าที่เราได้รับในเรื่องราวครั้งอื่นเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเขา (ดู โมไซยาห์ 27 และ แอลมา 38) มอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นคู่ เชื้อเชิญแต่ละคู่ให้ศึกษา แอลมา 36:11–17 โดยมองหาคำพูดแสดงความกลัวหรือความเจ็บปวดของแอลมา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาค้นพบ ให้นักเรียนรายงานคำและวลีที่พวกเขาพบ (ท่านอาจต้องการให้เขียนบนกระดาน) ท่านอาจต้องการถามคำถามต่อไปนี้เพื่อให้นักเรียนเข้าใจได้ลึกซึ้งถึงคำและวลีที่พวกเขารายงาน

  • ท่านคิดว่าวลี (หรือคำ) นั้นหมายความว่าอย่างไร อะไรทำให้แอลมารู้สึกอย่างนั้น

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจคำว่า ถูกทรมาน ปวดร้าว และ ความทรมาน มากขึ้น ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ถูกทรมาน หมายถึง ‘ทรมานแบบเจ็บปวดรุนแรง สมัยก่อนเครื่องทรมาน (rack) คือเครื่องมือลักษณะเป็นซี่ๆ มีไว้รัดข้อมือและข้อเท้าของเหยื่อ อันจะทำให้เจ็บปวดทรมานมาก

“คราด (harrow) คือเหล็กเป็นซี่ๆ ที่มีฟันแหลม เมื่อลากไปบนดินจะทำให้ดินร่วน พระคัมภีร์พูดบ่อยๆ ว่าจิตวิญญาณและจิตใจ “ปวดร้าว” (ถูกคราด) ด้วยความรู้สึกผิด

ความทรมาน หมายถึง ‘บิด’ วิธีทรมานที่เจ็บปวดมากจนแม้ผู้บริสุทธิ์ยังต้องรับสารภาพ” (ดู “รอยสัมผัสของพระอาจารย์,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, หน้า 31)

  • ประสบการณ์ของแอลมาสามารถสอนอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับผลของบาป (ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้: บาปนำไปสู่ความเจ็บปวด ความทุกข์เวทนา และความเสียใจอย่างมาก)

  • ดูเหมือนแอลมาประสบความเจ็บปวดและความเสียใจทันทีหลังจากทำบาปหรือไม่ ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องตระหนักว่าเราจะไม่รู้สึกถึงผลของบาปทันที

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์ซึ่งพวกเขารู้สึกเจ็บปวดหรือเสียใจเพราะบาปของพวกเขา จากนั้นให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานแพคเกอร์

“อย่างน้อยเราทุกคนคงเคยลิ้มรสความเจ็บปวดจากมโนธรรม อันเนื่องมาจากความผิดของเรามาแล้ว …

“หากท่านแบกรับความรู้สึกหดหู่ของความรู้สึกผิดหรือความผิดหวัง ความล้มเหลวหรือความอับอาย มีวิธีรักษา” (“รอยสัมผัสของพระอาจารย์,” หน้า 30)

ชี้ให้เห็นว่าแม้แอลมากำลังรู้สึกเจ็บปวดแสนสาหัสและเสียใจในปาปของตน แต่เขายังจำการเยียวยาความเจ็บปวดของเขาได้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 36:17, เขาจำอะไรได้

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 36:18 เชื้อเชิญชั้นเรียนให้มองหาสิ่งที่แอลมาทำเพื่อปฏิบัติตามคำสอนของบิดา เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อเหล่านี้ดีขึ้น ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“แอลมาซาบซึ้งในคำสอนของบิดา แต่สำคัญเป็นพิเศษคือคำพยากรณ์ที่เขาจำได้เป็นคำพยากรณ์เกี่ยวกับ ‘การเสด็จมาของพระเยซูคริสต์องค์หนึ่ง, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, เพื่อทรงชดใช้บาปของโลก’ (แอลมา 36:17) นั่นเป็นชื่อและนั่นเป็นข่าวสารที่ทุกคนต้องได้ยิน … ไม่ว่าเรากล่าวคำสวดอ้อนวอนอะไร ไม่ว่าเราต้องการอะไร ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับคำวิงวอนนี้: ‘ข้าแต่พระเยซู พระบุตรแห่งพระผู้เป็นเจ้า โปรดเมตตาข้าพระองค์เถิด’ พระองค์ทรงพร้อมจะประทานพระเมตตานั้น พระองค์ทรงจ่ายด้วยพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อประทานพระชนม์ชีพนั้น” (However Long and Hard the Road [1985], 85)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องไม่เพียงเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์เท่านั้นแต่ทูลขอพรแห่งการชดใช้ของพระองค์ด้วย

กระตุ้นนักเรียนให้พิจารณาในใจว่าพวกเขาเคยสวดอ้อนวอนเพื่อรับพรจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ รวมทั้งพรของการให้อภัย หรือไม่

เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า แอลมา 36:19–22 ในใจโดยมองหาคำและวลีที่บอกว่าความรู้สึกของแอลมาเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากเขาสวดอ้อนวอนขอความเมตตา

  • ท่านพบคำหรือวลีใดบ้างที่บอกว่าความรู้สึกของแอลมาเปลี่ยนไปอย่างไร

ถามคำถามต่อไปนี้เกี่ยวกับแต่ละคำและแต่ละวลีที่นักเรียนพบ

  • วลี (หรือคำ) นั้นสอนอะไรท่านเกี่ยวกับพลังแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด (ขณะที่นักเรียนตอบ จงช่วยให้พวกเขาเห็นว่าไม่เพียงนำเอาความเจ็บปวดของแอลมาออกไปเท่านั้น แต่ทำให้เขาเปี่ยมปีติด้วย)

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หากเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ พระองค์ย่อมจะทรง …

  • จากประสบการณ์ของแอลมา เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าทรงทำเพื่อเราเมื่อเรากลับใจจริงๆ (นักเรียนอาจแบ่งปันหลักธรรมต่างกัน แต่พวกเขาพึงแสดงให้เห็นว่า หากเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ พระองค์ย่อมจะทรงปลดปล่อยเราจากความเจ็บปวดของบาปและทำให้เราเปี่ยมปีติ ท่านอาจต้องการเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน

  • เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ทั้งนี้เพื่อเราจะได้รับการปลดปล่อยจากความรู้สึกเจ็บปวดหรือความรู้สึกสำนึกผิดอันเกิดจากบาปของเรา

อ่านออกเสียงสถานการณ์ต่อไปนี้ และขอให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไร

เพื่อนคนหนึ่งที่อ่านพระคัมภีร์มอรมอนมาตลอดแสดงความกังวลเกี่ยวกับถ้อยคำของแอลมาใน แอลมา 36:19 เพื่อนของท่านถามว่า “ถ้าฉันจำบาปของตนเองได้และยังรู้สึกเสียใจเพราะบาป หมายความว่าฉันยังไม่ได้รับการให้อภัยอย่างนั้นหรือ”

ขอให้นักเรียนอธิบายว่าประสบการณ์ของแอลมาสัมพันธ์กับสถานการณ์นี้อย่างไร หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“ซาตานจะพยายามทำให้เราเชื่อว่าบาปของเราไม่ได้รับการให้อภัยเพราะเรา สามารถจำบาปเหล่านั้นได้ ซาตานเป็นนักพูดคำเท็จ เขาพยายามบดบังวิสัยทัศน์ของเราและนำเราไปจากหนทางแห่งการกลับใจและการให้อภัย พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ทรงสัญญาว่า เรา จะจำบาปของเราไม่ได้ การจำจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดเช่นเดิมอีก แต่ถ้าเรามั่นคงและซื่อสัตย์ ความทรงจำเกี่ยวกับบาปของเราจะน้อยลงไปเรื่อยๆ สิ่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จำเป็นของการรักษาและการทำให้บริสุทธิ์ แอลมาเป็นพยานว่าหลังจากที่เขาวิงวอนขอความเมตตาจากพระเยซู เขาจะยังคงจำบาปของเขาได้ แต่ความทรงจำเกี่ยวกับบาปของเขาจะไม่ทำให้เขาทุกข์ทรมานอีกต่อไป เพราะเขารู้ว่าเขาได้รับการให้อภัยแล้ว (ดู แอลมา 36:17–19)

“ความรับผิดชอบของเราคือหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะนำความทรงจำเกี่ยวกับบาปเดิมของเรากลับคืนมา เมื่อเรายังมี ‘ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด’ (3 นีไฟ 12:19) เราจะวางใจว่าพระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรง ‘จำ [บาปของเรา] อีก” (ดู “จุดกลับที่ปลอดภัย, เลียโฮนา, พ.ค. 2007, หน้า 126)

  • จากคำกล่าวของประธานอุคท์ดอร์ฟ ท่านจะอธิบายความหมายของประโยคที่ว่า “ไม่ปวดร้าวด้วยความทรงจำถึงบาป [ของเรา] อีก” (แอลมา 36:19) อย่างไร

เป็นพยานว่าถ้าเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ พระองค์จะทรงปลดปล่อยเราจากความเจ็บปวดของบาปและทำให้เราเปี่ยมปีติ กระตุ้นนักเรียนให้คิดว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของแอลมาอย่างไร หากเวลาเอื้ออำนวยให้ชั้นเรียนร้องเพลง “หาสันติได้ที่ใด?” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 54)

แอลมา 36:23–30

แอลมาอธิบายสาเหตุที่เขาทำงานโดยไม่หยุดเพื่อนำผู้อื่นมาสู่การกลับใจ

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเหตุใดแอลมาจึงทำงานเพื่อนำผู้อื่นมาสู่การกลับใจ ท่านอาจใช้กิจกรรมต่อไปนี้ (หากไม่สามารถหาขนมมาให้ชั้นเรียนได้ ท่านอาจบรรยายกิจกรรมแทน)

ให้ดูขนม (เช่น คุกกี้หรือขนมหวานหนึ่งชิ้น) และถามว่าใครในห้องเรียนชอบขนมแบบนี้บ้าง กัดหนึ่งคำและแสดงให้เห็นว่าอร่อยเพียงใด บอกชั้นเรียนว่าขนมอร่อยมากจนท่านอยากแบ่งให้ทุกคนในชั้น ให้ดูขนมแบบเดิมอีกหลายๆ ชิ้น และถามว่าใครอยากชิมบ้าง แบ่งขนมให้ทุกคนที่อยากชิม

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 36:23–24 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่ากิจกรรมชิมขนมเกี่ยวข้องอย่างไรกับประสบการณ์ของแอลมาหลังจากการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเขา

  • การกระทำของแอลมาคล้ายกับกิจกรรมชิมขนมอย่างไร แอลมาต้องการให้ผู้อื่นลิ้มรสอะไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 36:25–26 ขอให้ชั้นเรียนระบุว่าการที่แอลมาพยายามสอนพระกิตติคุณมีอิทธิพลต่อเขาและคนอื่นๆ อย่างไร

  • การสอนของแอลมามีอิทธิพลต่อเขาและคนอื่นๆ อย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากข้อเหล่านี้ (นักเรียนอาจจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาพึงแสดงให้เห็นว่า เราสามารถได้รับปีติเหลือล้นเมื่อเราพยายามนำผู้อื่นมาหาพระคริสต์)

สรุป แอลมา 36:27–30 โดยอธิบายว่าแอลมาเป็นพยานต่อฮีลามันอีกครั้งว่าพระเจ้าจะทรงปลดปล่อยคนที่มอบความไว้วางใจในพระองค์ เป็นพยานถึงปีติที่เราจะได้รับเมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และเมื่อเรากระตุ้นผู้อื่นให้ทำเช่นเดียวกัน เพื่อช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก แอลมา 36 ให้พวกเขาทำกิจกรรมหนึ่งที่อยู่ด้านล่าง (ท่านอาจต้องการเขียนกิจกรรมเหล่านี้ไว้บนกระดาน)

  1. พิจารณาว่าท่านเคยรู้สึกหรือไม่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงปลดปล่อยท่านจากบาปและทำให้ท่านเปี่ยมด้วยปีติ อธิบายในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ว่าท่านจะทำอะไรเพื่อจะได้รับพรเหล่านี้

  2. นึกถึงคนบางคน (เช่น เพื่อน พี่น้อง หรือสมาชิกวอร์ด) ที่อาจจะได้ประโยชน์จากประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด เขียนจดหมายถึงบุคคลนี้และรวมประจักษ์พยานของท่านไว้ด้วยว่าพระเยซูคริสต์ทรงสามารถปลดปล่อยเราจากความเจ็บปวดของบาปและทำให้เปี่ยมด้วยปีติอย่างไร

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 36:12 “จิตวิญญาณพ่อ … ถูกทรมานด้วยบาปทั้งหมดของพ่อ”

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าความทุกข์เวทนาบางระดับสำหรับบาปของเราเป็นแง่มุมสำคัญของการกลับใจ

“ความยุติธรรมเรียกร้องให้ผู้ล่วงละเมิด ที่ไม่กลับใจต้องทนทุกข์เพราะบาปของเขา [ดู คพ. 19:16–19] …

“… ผู้ล่วงละเมิดที่ กลับใจ เล่า พวกเขาได้รับโทษหรือไม่ พวกเขาต้องทนทุกข์หรือไม่ …

“… บุคคลที่กลับใจไม่ต้องทนทุกข์ ‘แม้ดัง’ พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์เพราะบาปนั้น คนบาปที่กำลังกลับใจจะประสบความทุกข์บ้าง แต่เนื่องด้วยการกลับใจของพวกเขา และเนื่องด้วยการชดใช้ พวกเขาจะไม่ประสบความทรมานนิรันดร์อัน ‘แสนสาหัส’ ทั้งหมดที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์เพราะบาปนั้น

“ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ผู้ให้คำสอนครอบคุลมมากเกี่ยวกับการกลับใจและการให้อภัย กล่าวว่าการทนทุกข์ส่วนตัว ‘เป็นส่วนสำคัญมากของการกลับใจ คนเราไม่เริ่มกลับใจจนกว่าเขาทนทุกข์สาหัสเพราะบาปของเขา’ (Teachings of Spencer W. Kimball, p. 88)

“‘หากบุคคลหนึ่งไม่ได้ทนทุกข์แสดงว่าเขาไม่ได้กลับใจ … เขาต้องประสบการเปลี่ยนแปลงในตัวเขาด้วยวิธีที่เขาทนทุกข์และเมื่อนั้นการให้อภัยจึงจะเกิดขึ้นได้’ (Teachings of Spencer W. Kimball, p. 99) …

“ประสบการณ์ทั้งหมดของเรายืนยันข้อเท็จจริงที่ว่าเราต้องอดทนต่อการทนทุกข์ของตัวเราในกระบวนการกลับใจ—และสำหรับการล่วงละเมิดร้ายแรงที่การทนทุกข์จะสาหัสและยาวนาน ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราทุกคนที่ซื่อสัตย์ต่อตนเองจริงๆ จะยอมรับความจริงของหลักธรรมนี้ เรารู้สึกเช่นนั้นในชีวิตเราเอง และเราเห็นเช่นนั้นในชีวิตผู้อื่น

“เราควรสังเกตเช่นกันว่าการทนทุกข์เพราะบาปของตัวเราเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับส่วนรวม บ่อยครั้งเฉพาะคนบาปและพระเจ้ากับผู้รับใช้ของพระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ตรงข้ามกับบทลงโทษตามกฎหมายของมนุษย์ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไป การทนทุกข์อันนำไปสู่ความเมตตาภายใต้กฎของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างมาก” (“Sins, Crimes, and Atonement” [address to CES religious educators, Feb. 7, 1992], 4–6, si.lds.org)

แอลมา 36 โวหารย้อนคำ

โวหารย้อนคำ (บางครั้งเรียกว่าการเล่นคำสลับที่) เป็นกรรมวิธีในประพันธ์ที่ใช้ในบทกวีภาษาซิมิทิคและภาษากรีกโบราณเช่นเดียวกับวรรณกรรมของวัฒนธรรมอื่น ในโวหารย้อนคำ คำหรือแนวคิดจะจัดเรียงตามลำดับแน่นอนแล้วกล่าวซ้ำตามลำดับย้อนกลับ การกล่าวซ้ำแบบนี้เน้นแนวคิดและคำสำคัญๆ แนวคิดหลักของผู้เขียนมักอยู่กลางโวหารย้อนกลับ ในแผนภูมิด้านล่างจะเห็นว่าข่าวสารหลักของโวหารย้อนคำใน แอลมา 36 จะเน้นเวลาในชีวิตของแอลมาเมื่อเขาหันไปขอการบรรเทาทุกข์จากพระเยซูคริสต์

ก. ข้อ 1

 ข. ข้อ 2

  ค. ข้อ 3

   ง. ข้อ 4–5

    จ. ข้อ 6

     ฉ. ข้อ 10

      ช. ข้อ 14

       ซ. ข้อ 16

        ฌ. ข้อ 17

        ฌ. ข้อ 18

       ซ. ข้อ 19–21

      ช. ข้อ 22

     ฉ. ข้อ 23

    จ. ข้อ 24

   ง. ข้อ 26

  ค. ข้อ 27

 ข. ข้อ 28–29

ก. ข้อ 30

พิมพ์