คลังค้นคว้า
การศึกษาที่บ้าน หน่วย 31


บทเรียนการศึกษาที่บ้าน

อีเธอร์ 13โมโรไน 7:19 (หน่วย 31)

การเตรียมเนื้อหาสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

สรุปบทเรียนประจำวันภาคการศึกษาที่บ้าน

ข้อสรุปต่อไปนี้ของหลักคำสอนและหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา อีเธอร์ 13โมโรไน 7:19 (หน่วย 31) ไม่ได้มีไว้ให้ท่านสอนเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมสองสามประการเหล่านี้เท่านั้น จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วัน 1 (อีเธอร์ 13–15)

ชาวเจเร็ดปฏิเสธศาสดาพยากรณ์อีเธอร์ พวกเขาดึงดันในความชั่วร้ายและสงครามจนทำลายกันเองในท้ายที่สุด จากเรื่องนี้นักเรียนเรียนรู้ว่าถ้าเราปฏิเสธพระดำรัสเตือนของพระเจ้าให้กลับใจ พระวิญญาณของพระองค์ย่อมถอนตัวและซาตานจะมีอำนาจเหนือใจเรา นักเรียนสามารถเห็นเช่นกันว่าความโกรธและการแก้แค้นชักนำเราให้เลือกสิ่งที่ทำร้ายตัวเราเองและผู้อื่น ในเรื่องราวของเขาเกี่ยวกับความพินาศของชาวเจเร็ดนั้น โมโรไนให้ความหวังแก่ผู้อ่านโดยประกาศว่าเยรูซาเล็มใหม่ หรือไซอันจะสร้างขึ้นในยุคสุดท้าย

วัน 2 (โมโรไน 1–5)

ขณะโมโรไนกำลังระหกระเหินเพื่อความปลอดภัยของชีวิตเขา เขาบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตและศาสนพิธีของพระกิตติคุณ เขาเขียนว่าการมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์และการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตทำโดยการวางมือโดยผู้มีสิทธิอำนาจ การที่โมโรไนเอาใจใส่ศีลระลึกเปิดโอกาสให้นักเรียนไตร่ตรองว่าเครื่องหมายของศีลระลึกสามารถช่วยให้พวกเขาระลึกถึงการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร โมโรไนเตือนสติพวกเขาว่าเมื่อพวกเขารักษาพันธสัญญาเกี่ยวกับศีลระลึกอย่างซื่อสัตย์ พวกเขาจะมีพระวิญญาณของพระเจ้าอยู่กับพวกเขาตลอดเวลา

วัน 3 (โมโรไน 6)

โมโรไนเน้นความสำคัญของบัพติศมา การผูกมิตรในศาสนจักร และการดำเนินการประชุมของศาสนจักรผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ นักเรียนเรียนรู้ว่าโดยผ่านบัพติศมาเราทำพันธสัญญาว่าจะรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวเราและรับใช้พระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ พวกเขาเรียนรู้เช่นกันเกี่ยวกับความรับผิดชอบที่พวกเขามีต่อการบำรุงเลี้ยงสมาชิกคนอื่นๆ ทางวิญญาณโดยประชุมกันบ่อยๆ เพื่ออดอาหารและสวดอ้อนวอนและรับส่วนศีลระลึกในความระลึกถึงพระเยซูคริสต์ นอกจากนี้ นักเรียนยังเรียนรู้ว่าบ่อยเท่าที่เรากลับใจและแสวงหาการให้อภัยด้วยเจตนาอันแท้จริง เราจะได้รับการให้อภัย

วัน 4 (โมโรไน 7:1–19)

โมโรไนบันทึกโอวาทของบิดาผู้สอนว่าเพื่อให้ได้รับพรสำหรับงานดีของเรา เราต้องทำงานเหล่านั้นด้วยเจตนาอันแท้จริง ในโอวาทนี้มอรมอนสอนเช่นกันว่าเราจะตัดสินอย่างชอบธรรมได้อย่างไร นักเรียนค้นพบว่าอะไรก็ตามที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าล้วนชักชวนให้เราทำดี ให้รักและรับใช้พระผู้เป็นเจ้า และอะไรก็ตามที่ชักชวนให้เราทำชั่วและต่อสู้กับพระผู้เป็นเจ้าล้วนมาจากมาร มอรมอนขอร้องผู้ฟังของเขาให้ค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียรโดยผ่านแสงสว่างของพระคริสต์ ซึ่งจะให้พลังความสามารถแก่พวกเขาในการแยกแยะระหว่างดีกับความชั่ว

คำนำ

บทเรียนวันนี้เน้นเหตุผลและความจำเป็นที่เราแต่ละคนต้องเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร อีกทั้งกระตุ้นนักเรียนให้ตั้งใจแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่วและค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียรโดยผ่านแสงสว่างของพระคริสต์เพื่อจะตัดสินได้ดี

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

อีเธอร์ 14–15

โมโรไนบันทึกจุดสิ้นสุดของอารยธรรมชาวเจเร็ด

เขียน 2,000,000 ไว้บนกระดาน ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าสองล้านคนเทียบกับจำนวนคนเท่าใดที่อาศัยอยู่ในเมืองของพวกเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 15:1–2 ขณะที่ชั้นเรียนทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นกับชาวเจเร็ดสองล้านคน

ถามว่านักเรียนคนใดสามารถสรุปเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความพินาศของชาวเจเร็ดได้บ้าง ดังบันทึกไว้ใน อีเธอร์ 14–15 ถ้านักเรียนตอบไม่ได้ ให้พวกเขาทบทวนข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้: อีเธอร์ 14:5–10, 24; 15:1–6, 19, 22

ถาม: เราสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรได้บ้างจากความพินาศของชาวเจเร็ด

ความจริงสองข้อนี้เน้นในบทเรียนของนักเรียนระหว่างสัปดาห์: (1) ถ้าเราปฏิเสธพระดำรัสเตือนให้กลับใจ พระวิญญาณย่อมถอนตัวและซาตานจะมีอำนาจเหนือใจเรา (2) ความโกรธและการแก้แค้นชักนำผู้คนให้เลือกสิ่งที่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น

ถาม: บทเรียนเหล่านี้สามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ใดบ้างในชีวิตเยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงในปัจจุบัน

โมโรไน 1–3

โมโรไนเป็นพยานว่าเขาจะไม่ปฏิเสธพระคริสต์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 1:1–4 จากนั้นให้ถามชั้นเรียนดังนี้

  • เหตุใดชาวเลมันจึงอยากฆ่าโมโรไน

  • เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับศรัทธาและความกล้าหาญของโมโรไน เราจะพัฒนาประจักษ์พยานอันมั่นคงเช่นนั้นในพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร

โมโรไน 4–6

โมโรไนบันทึกคำสวดอ้อนวอนศีลระลึก คุณสมบัติสำหรับบัพติศมา และเหตุผลสำหรับการประชุมของศาสนจักร

เขียนวลีต่อไปนี้บนกระดาน: เหตุใดฉันจึงควรไปโบสถ์วันอาทิตย์ เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า โมโรไน 4–6 และเตรียมคำตอบหนึ่งถึงสองนาทีสำหรับคำถามนี้โดยเขียนข้อความสั้นๆ ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา กระตุ้นให้นักเรียนรวมองค์ประกอบต่อไปนี้อย่างน้อยสองส่วนไว้ในคำตอบของพวกเขาด้วย (ท่านอาจต้องการเขียนไว้บนกระดานหรือเตรียมเป็นเอกสารแจก)

  1. ข้อความพระคัมภีร์จาก โมโรไน 4–6 ซึ่งอธิบายเหตุผลสำหรับการประชุมกันที่โบสถ์

  2. หลักคำสอนหรือหลักธรรมหนึ่งซึ่งอธิบายว่าเหตุใดเราจึงควรเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร

  3. ประสบการณ์ส่วนตัวที่แสดงให้เห็นว่าเหตุใดเราจึงควรเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร

  4. ประจักษ์พยานส่วนตัวยืนยันความสำคัญของการเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร

เมื่อนักเรียนมีเวลาเตรียมความคิดมากพอแล้ว ให้เชิญสองสามคนแบ่งปันข้อคิดกับชั้นเรียน

หลังจากนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้แล้ว ให้เพิ่มประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่พวกเขาระบุและความสำคัญของการประชุมกันเป็นประจำในการประชุมของศาสนจักร

โมโรไน 7:1–19

มอรมอนสอนวิธีตัดสินระหว่างความดีกับความชั่ว

ก่อนชั้นเรียน ให้เติมน้ำในถ้วยแก้วใบหนึ่งและอีกใบหนึ่งเติมน้ำผสมน้ำส้มสายชู (หรือเกลือ) ถ้วยแก้วทั้งสองดูเหมือนกัน บอกนักเรียนว่าท่านมีถ้วยแก้วใส่น้ำสองใบที่ดูเหมือนกัน แต่น้ำถ้วยหนึ่งมีรสเปรี้ยว (หรือเค็ม) ขอให้อาสาสมัครคนหนึ่งตัดสินว่าถ้วยใดมีน้ำดีและถ้วยใดมีน้ำเปรี้ยว (หรือเค็ม) (พวกเขาอาจตัดสินด้วยการชิมหรือดมกลิ่น)

ถาม: เราจะบอกได้อย่างไรว่าสิ่งนั้นชั่วโดยไม่ต้องลองทำจริงๆ

อธิบายว่าในบันทึกของโมโรไนเขาได้รวมโอวาทจากมอรมอนบิดาของเขาไว้ด้วย ซึ่งให้ข้อคิดแก่คำถามนี้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 7:11–13, 15–16 ขอให้ชั้นเรียนเลือกอย่างน้อยหนึ่งวลีที่โดดเด่นสำหรับพวกเขาซึ่งอธิบายว่าเราจะแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่วได้อย่างไร ให้โอกาสนักเรียนสองสามคนแบ่งปันวลีที่เลือก

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 7:19 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่มอรมอนพูดว่าเราควรทำเพื่อจะรู้ความดีจากความชั่ว

ถาม: มอรมอนแนะนำให้เราทำอะไรเพื่อเราจะแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่วได้

นักเรียนควรจะสามารถระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ขณะที่เราค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียรโดยผ่านแสงสว่างของพระคริสต์ เราจะแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่วได้

ถามนักเรียนดังนี้

  • จากการศึกษาสัปดาห์นี้ ท่านเข้าใจว่าแสงสว่างของพระคริสต์คืออะไร

  • แสงสว่างของพระคริสต์ช่วยท่านแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่วเมื่อใด

ให้เวลานักเรียนหนึ่งถึงสองนาทีเขียนรายการโปรดทางโทรทัศน์ เพลง กลุ่มนักร้อง ไซต์อินเทอร์เน็ต โปรแกรมซอฟแวร์ วีดิโอเกม หรือสมบัติส่วนตัวของพวกเขา เชื้อเชิญพวกเขาให้ใช้ โมโรไน 7:16–19 ตัดสินว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยให้พวกเขาใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นหรือออกห่างจากพระองค์

เตือนนักเรียนให้นึกถึงคำเชื้อเชิญที่ได้รับในการศึกษาสัปดาห์นี้ให้ขจัดสิ่งไม่ดีเหล่านั้นออกจากชีวิตพวกเขาและ “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง” (โมโรไน 7:19) ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อเดินตามแสงสว่างของพระคริสต์และสามารถแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่ว

หน่วยต่อไป (โมโรไน 7:20–10:34)

เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาคำถามต่อไปนี้ขณะพวกเขาศึกษาหน่วยต่อไป: จิตกุศลคืออะไร คนเราจะมีจิตกุศลได้อย่างไร เหตุใดเด็กเล็กหรือทารกจึงไม่ควรรับบัพติศมา มอรมอนและโมโรไนดำรงความซื่อสัตย์ได้อย่างไรแม้ในยามที่พวกเขาถูกแวดล้อมด้วยความชั่วร้าย คำพูดสุดท้ายของโมโรไนคืออะไร เหตุใดคำพูดเหล่านั้นจึงสำคัญ