คลังค้นคว้า
บทที่ 158: โมโรไน 9


บทที่ 158

โมโรไน 9

คำนำ

ในสาส์นฉบับสุดท้ายที่บันทึกถึงโมโรไนบุตรชาย มอรมอนโศกเศร้าเพราะสภาพชั่วร้ายของชาวนีไฟ เขาเตือนมอรมอนให้ทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อช่วยให้ชาวนีไฟกลับใจ มอรมอนเล่าเรื่องความทุกขเวทนาของคนที่ถูกสาปแช่งเพราะความชั่วร้ายของพวกเขาด้วย ทั้งที่ผู้คนอยู่ในสภาพเสื่อมทราม แต่เขายังกระตุ้นโมโรไนให้ซื่อสัตย์ในพระเยซูคริสต์และมีความหวังในสัญญาแห่งชีวิตนิรันดร์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมโรไน 9:1–20

มอรมอนคร่ำครวญกับความชั่วร้ายของชาวนีไฟและชาวเลมัน

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาเคยพยายามช่วยคนบางคนเพียงเพื่อให้คนเหล่านั้นปฏิเสธความพยายามของพวกเขาหรือไม่

  • บางคนตอบสนองอย่างไรเมื่อคนที่พวกเขากำลังพยายามช่วยปฏิเสธเจตนาดีของพวกเขาครั้งแล้วครั้งเล่า

อธิบายให้ชั้นเรียนฟังว่า โมโรไน 9 เป็นจดหมายที่ศาสดาพยากรณ์มอรมอนเขียนถึงโมโรไนบุตรชาย เชื้อเชิญพวกเขาให้ดูว่ามอรมอนให้กำลังใจบุตรชายอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 9:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำที่มอรมอนใช้พูดถึงสถานการณ์ของชาวนีไฟ หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องอธิบายว่าคำว่า น่าโศกเศร้า หมายถึงสิ่งที่ทำให้เจ็บปวด ทุกข์ใจ หรือเสียใจมาก

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: โมโรไน 9:2–5; โมโรไน 9:7–10; โมโรไน 9:16–19 แบ่งนักเรียนออกเป็นสามกลุ่ม มอบหมายให้แต่ละกลุ่มอ่านข้อพระคัมภีร์หนึ่งช่วงที่เขียนไว้บนกระดาน โดยมองหาเรื่องน่าโศกเศร้าที่มอรมอนพูดถึง เชิญนักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มรายงานสิ่งที่พบ (ถ้านักเรียนที่ได้รับมอบหมายให้อ่าน โมโรไน 9:2–5 ไม่พูดถึงความโกรธ ท่านอาจต้องพูดถึงบทบาทของความโกรธในเหตุการณ์เลวร้ายที่มอรมอนพูดถึง)

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมโรไน 9:11–15, 20 ขอให้นักเรียนมองหาเหตุผลที่สถานการณ์ของผู้คนทำให้มอรมอนโศกเศร้า ถามคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยนักเรียนวิเคราะห์ข้อเหล่านี้

  • ท่านคิดว่า “ปราศจากอารยธรรม” (โมโรไน 9:11) หมายความว่าอย่างไร (กระทำอย่างไร้อารยธรรม—ปราศจากความละเอียดประณีตหรือการหักห้ามใจ ไม่เคารพผู้อื่น ไม่นำพากฎที่ปกครองสังคม)

  • ท่านคิดว่า “ปราศจากหลักธรรม” (โมโรไน 9:20) หมายความว่าอย่างไร (ดำเนินชีวิตโดยปราศจากมาตรฐาน ปราศจากการให้เกียรติและไม่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า)

  • ท่านคิดว่า “มีใจเกินกว่าจะรู้สึก” (โมโรไน 9:20) หมายความว่าอย่างไร (มีใจแข็งกระด้างต่อพระวิญญาณของพระเจ้าและแสงสว่างของพระคริสต์ และไม่แยกแยะระหว่างถูกผิด)

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรในโลกทุกวันนี้ที่ยืนยันว่าคนบางคนปราศจากอารยธรรม ปราศจากหลักธรรม และมีใจเกินกว่าจะรู้สึก

ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่ามอรมอนกล่าวว่าผู้คนของเขาตกอยู่ในสภาพของความชั่วร้ายนี้ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี (ดู โมโรไน 9:12)

อธิบายว่าเหมือนกันมากกับศาสดาพยากรณ์อีเธอร์ของประชาชาติชาวเจเร็ด มอรมอนเป็นพยานว่าความโกรธและความชั่วร้ายครอบงำผู้คนของเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 9:4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและฟังสิ่งที่มอรมอนกลัวเกี่ยวกับชาวนีไฟ (เขากลัวว่า “พระวิญญาณของพระเจ้าทรงละความเพียรกับพวกเขาแล้ว”)

  • มอรมอนกล่าวว่าเขา “ทำงานหนักกับ [ผู้คนของเขา] อยู่ตลอดเวลา” เหตุใดมอรมอน หรือผู้นำศาสนจักรในปัจจุบัน จึงยังคงทำงานหนักในบรรดาผู้คนที่โกรธหรือทำใจแข็งกระด้างต่อพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เราต้องทำงานหนักอย่างขยันหมั่นเพียรในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า ถึงแม้คนที่เรารับใช้ไม่ตอบสนองในทางบวก อธิบายว่านี่เป็นความจริงแม้เมื่อคนที่เรารับใช้ทำบาปร้ายแรง เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 9:6 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาเหตุผลที่เราต้องทำงานหนักอย่างขยันหมั่นเพียรในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า แม้คนที่เรารับใช้ไม่ตอบสนองในทางบวก หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้นำเสนอสถานการณ์ต่อไปนี้ (หรือสร้างสถานการณ์ของท่านเอง) เพื่อช่วยพวกเขาพิจารณาว่าจะประยุกต์ใช้ความจริงนี้ในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร เชิญนักเรียนหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นอธิบายว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้ความจริงบนกระดานในแต่ละสถานการณ์ที่ท่านนำเสนอได้อย่างไร

  1. ในฐานะประธานชั้นเรียนเยาวชนหญิง ท่านต้องรับผิดชอบเยาวชนหญิงอีกห้าคนในวอร์ดของท่าน เยาวชนหญิงคนหนึ่งไม่มาการประชุมหรือกิจกรรมของศาสนจักรนานกว่าหนึ่งปี หลังจากท่านชวนเธอมานานสามเดือน เธอก็ยังไม่มาร่วมการประชุมหรือกิจกรรม

  2. ในฐานะผู้สอนประจำบ้าน ท่านทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อดูแลแต่ละครอบครัวที่ท่านได้รับมอบหมาย แต่สองสามเดือนที่ผ่านมาครอบครัวหนึ่งไม่รับโทรศัพท์ของท่านหรือไม่ยอมเปิดประตูเมื่อท่านแวะไปหา

  3. ท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ชวนเพื่อนที่ดีคนหนึ่งมาพบกับผู้สอนศาสนา เขาไม่สนใจคำชวนของท่าน แต่ท่านยังคงรู้สึกว่าต้องชวนเขาอีกครั้ง

แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดผู้กระตุ้นเราให้มุมานะทำงานหนักต่อไปในบรรดาบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ขอให้นักเรียนฟังสิ่งที่จูงใจพวกเขาให้ทำงานหนักอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“นี่คือพันธสัญญาที่เราทำกับพระผู้เป็นเจ้าว่าจะรักษาพระบัญญัติทั้งหมดและรับใช้เฉกเช่นพระองค์จะทรงรับใช้ถ้าพระองค์ประทับที่นี่ การดำเนินชีวิตตามมาตรฐานนั้นให้ดีที่สุดจะสร้างความเข้มแข็งที่เราจะต้องมีเพื่ออดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

“ผู้อบรมฐานะปุโรหิตที่ยอดเยี่ยมได้แสดงให้ข้าพเจ้าเห็นวิธีสร้างความเข้มแข็งดังกล่าว นั่นคือสร้างนิสัยของการเอาชนะความอ่อนล้าและความกลัวที่อาจทำให้ท่านคิดจะเลิก ครูพี่เลี้ยงที่ยอดเยี่ยมของพระเจ้าแสดงให้ข้าพเจ้าเห็นว่าพลังยืนหยัดทางวิญญาณมาจากการทำงานผ่านจุดที่คนอื่นหยุดพักไปนานแล้ว …

“… ข้าพเจ้าสัญญากับท่านว่าถ้าท่านทำสุดความสามารถ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเพิ่มพลังและปัญญาให้ท่าน” (“การเตรียมในฐานะปุโรหิต: ‘ผมต้องการความช่วยเหลือของคุณ,’” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 75–76)

  • ประธานอายริงก์สอนว่าอะไรจูงใจท่านให้ทำงานหนักอย่างขยันหมั่นเพียรในการรับใช้พระเจ้า ไม่ว่าผู้อื่นจะรับความพยายามของท่านอย่างไร

อ่านเรื่องต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เมอร์วีน บี. อาร์โนลด์แห่งสาวกเจ็ดสิบเกี่ยวกับผู้นำฐานะปุโรหิตคนหนึ่งที่ทำงานหนักอย่างขยันหมั่นเพียรกับเยาวชนชายคนหนึ่งทั้งที่ถูกปฏิเสธหลายครั้ง เชื้อเชิญนักเรียนให้ฟังว่าสุดท้ายแล้วเยาวชนชายคนนี้เห็นอะไรในผู้นำฐานะปุโรหิตของเขา

“ในฐานะที่เป็นสมาชิกฝ่ายประธานสาขาในฟอร์ตาเลซา บราซิล บราเดอร์มาร์คีส์และผู้นำฐานะปุโรหิตคนอื่นพัฒนาแผนเพื่อนำผู้คนที่แข็งขันน้อยในสาขาของเขากลับคืนมา หนึ่งในคนที่แข็งขันน้อยคือเด็กหนุ่มที่มีชื่อว่าเฟอร์นานโด อะรัวโจ เมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าพูดคุยกับเฟอร์นานโดและเขาเล่าประสบการณ์ให้ข้าพเจ้าฟังดังนี้

“‘ผมมีส่วนร่วมในการแข่งขันกระดานโต้คลื่นตอนเช้าวันอาทิตย์และเลิกไปการประชุมศาสนจักร เช้าวันอาทิตย์วันหนึ่งบราเดอร์มาร์คีส์มาเคาะประตูและถามคุณแม่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกว่าท่านขอพูดกับผมได้ไหม เมื่อคุณแม่บอกท่านว่าผมนอนหลับท่านก็ขออนุญาตปลุกผม ท่านพูดกับผมว่า “เฟอร์นานโด เธอไปโบสถ์สายแล้วนะ!” ท่านไม่ฟังข้อแก้ตัวใดๆ ของผมแต่พาผมไปโบสถ์’

“‘วันอาทิตย์ถัดไปก็เกิดขึ้นเหมือนเดิม ดังนั้นในวันอาทิตย์ที่สามผมจึงตัดสินใจออกจากบ้านเช้าขึ้นเพื่อหนีท่าน เมื่อผมเปิดประตูผมเห็นท่านนั่งอยู่บนรถ อ่านพระคัมภีร์ เมื่อท่านเห็นผมท่านพูดว่า “ดีจริง! เธอตื่นแต่เช้า วันนี้เราจะไปหาเด็กหนุ่มคนอื่น!” ผมแย้งว่าผมมีอิสรภาพในการเลือกของผม แต่ท่านพูดว่า “เราจะพูดถึงเรื่องนั้นทีหลัง”’

“‘หลังจากแปดอาทิตย์ผมไม่สามารถหนีท่านได้ ผมตัดสินใจไปนอนที่บ้านเพื่อน ผมอยู่ที่ชายหาดเข้าวันรุ่งขึ้นเมื่อผมเห็นผู้ชายสวมสูทและผูกไทเดินตรงมาหาผม เมื่อผมเห็นว่าเป็นบราเดอร์มาร์คีส์ ผมวิ่งลงไปในน้ำ ทันใดนั้นผมรู้สึกว่ามีมือมาวางบนไหล่ผม บราเดอร์มาร์คีส์ยืนในน้ำสูงระดับอก ท่านจูงมือผมแล้วบอกว่า “เธอสายแล้ว! ไปเถอะ” เมื่อผมแย้งว่าผมไม่มีเสื้อผ้าจะใส่ ท่านตอบว่า “เสื้อผ้าอยู่ในรถ”’

“‘วันนั้นเมื่อผมเดินขึ้นจากทะเล ผมสัมผัสถึงความรักและความห่วงใยที่บราเดอร์มาร์คีส์มีต่อผม … บราเดอร์มาร์คีย์ไม่เพียงแค่ขับรถพาผมไปโบสถ์—โควรัมทำให้แน่ชัดด้วยว่าผมจะยังคงเข้มแข็งต่อไป พวกเขาวางแผนกิจกรรมที่ทำให้ผมรู้สึกว่าตนเองนั้นจำเป็นและเป็นที่ต้องการ ผมได้รับการเรียก และสมาชิกโควรัมเริ่มกลายเป็นเพื่อนของผม”’ (“เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่พี่น้องชายของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 58–59)

อธิบายว่าในฐานะสมาชิกศาสนจักร เราทุกคนมีงานสำคัญต้องทำในชีวิตนี้ แบบอย่างของมอรมอน โมโรไน และบราเดอร์มาร์คีย์สามารถให้กำลังใจเราในการทำงานเหล่านั้นเมื่อเราท้อแท้หรือรู้สึกตัวว่าตนเองถูกปฏิเสธจากคนที่เราต้องรับใช้

โมโรไน 9:21–26

มอรมอนกระตุ้นโมโรไนให้ซื่อสัตย์

เชื้อเชิญนักเรียนให้บอกเหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ในชุมชนหรือประเทศของพวกเขาหรือในโลกที่อาจเป็นเหตุให้ผู้คนรู้สึกท้อแท้

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมโรไน 9:21–22, 25–26 ในใจ ขอให้พวกเขามองหาคำแนะนำที่มอรมอนให้โมโรไนเกี่ยวกับสิ่งที่เขาควรทำในสภาวการณ์ที่ทำให้เขาท้อใจ เพื่อช่วยนักเรียนวิเคราะห์ข้อเหล่านี้ ให้ถามดังนี้

  • ในข้อเหล่านี้ คำและวลีใดบ่งบอกว่ามอรมอนรู้สึกอย่างไรต่อโมโรไนบุตรชายของเขา

  • มอรมอนแนะนำให้อะไร “สถิตอยู่ในจิตใจ [ของโมโรไน] ตลอดกาล” (โมโรไน 9:25) การระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์จะช่วยเราอย่างไรในยามที่เราท้อแท้หรือเมื่อความชั่วร้ายห้อมล้อมเรา

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีตอบสนองความยุ่งยากและความชั่วร้ายที่ห้อมล้อมเรา (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่ควรแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราซื่อสัตย์ในพระเยซูคริสต์ พระองค์จะทรงยกเราขึ้นแม้เมื่อความยุ่งยากและความชั่วร้ายห้อมล้อมเรา ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดานและเสนอแนะให้นักเรียนเขียนลงในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ประสบการณ์ใดบ้างในชีวิตท่านหรือในชีวิตคนใกล้ชิดท่านที่แสดงให้เห็นว่าหลักธรรมนี้เป็นความจริง

กระตุ้นนักเรียนให้ไตร่ตรองวิธีที่พวกเขาจะสามารถซื่อสัตย์มากขึ้นและนึกถึงพระเยซูคริสต์มากขึ้น แม้ในยามที่พวกเขาท้อแท้หรือห้อมล้อมด้วยความชั่วร้าย เป็นพยานถึงพลังที่ท่านได้รับเมื่อท่านซื่อสัตย์ในพระเยซูคริสต์

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมโรไน 9:18–20 “มีใจเกินกว่าจะรู้สึก”

มอรมอนอธิบายให้โมโรไนบุตรชายฟังว่าผู้คนของพวกเขา “ปราศจากหลักธรรม, และมีใจเกินกว่าจะรู้สึก” (โมโรไน 9:20) เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าหากเราไม่ตอบรับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์และไม่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าจะนำเราไปสู่สภาพนี้ได้

“การที่เรารู้สึกว่าสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ในหลายๆ ด้าน แต่ไม่กระทำเมื่อความรู้สึกของเรากระตุ้นเราให้ทำดี เราทำให้ความสามารถที่จะรู้สึกเช่นนั้นหมดไป ความละเอียดอ่อนที่พระเยซูทรงมีต่อความต้องการของคนรอบข้างพระองค์ทำให้พระองค์ทรงตอบสนองด้วยการกระทำได้

“ที่ปลายอีกด้านหนึ่งของสเปกตรัมทางวิญญาณคือบุคคลอย่างเช่นพี่ชายที่ทำผิดของนีไฟ นีไฟบันทึกความรู้สึกที่พวกเขาเฉื่อยชามากขึ้นเรื่อยๆ ต่อเรื่องทางวิญญาณว่า ‘[พระผู้เป็นเจ้า] พูดกับพี่ด้วยเสียงสงบแผ่วเบา, แต่ใจพี่เกินกว่าจะรู้สึก, พี่จึงสัมผัสพระวจนะของพระองค์ไม่ได้’ (1 นีไฟ 17:45)

“เมื่อเราถูกหุ้มด้วยความผิดพลาด เสาอากาศทางวิญญาณของเราอับสัญญาณและเราลื่นไถลออกไปไกลเกินเอื้อมของมนุษย์ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้กับอารยธรรมทั้งหลายทั้งปวง เมื่อมอรมอนคร่ำครวญกับโมโรไนบุตรชาย ท่านพูดถึงความเสื่อมของสังคมชาวนีไฟ อาการต่างๆ รวมถึงความชั่วร้ายที่ลึกซึ้งจนมอรมอนบรรยายว่าผู้คนของเขา ‘มีใจเกินกว่าจะรู้สึก’ (โมโรไน 9:20) อัครสาวกเปาโลโศกเศร้าเสียใจกับกามตัณหาที่ทำลายสมาชิกศาสนจักรในเอเฟซัสเพราะพวกเขาได้ทำให้ความรู้สึกเฉื่อยชาเพิ่มมากขึ้นขณะทำให้ตนเองอิ่มเอมใจจนพวกเขา ‘ไม่มีความรู้สึกละอาย’ (เอเฟซัส 4:19) สังคมที่อิ่มตัวทางเพศไม่สามารถรู้สึกได้เลยถึงความต้องการของสมาชิกที่กำลังทุกข์ยากเพราะแทนที่จะพัฒนาความรักที่มองออกนอกตัว มนุษย์กลับมองเข้าหาตัวอย่างเห็นแก่ได้ การวางเฉยต่อการกระตุ้นเตือนของเสียงสงบแผ่วเบาของพระผู้เป็นเจ้าจะหมายความด้วยว่าเรามีหูแต่ไม่สามารถได้ยิน ไม่เพียงการกระตุ้นเตือนของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่คำวิงวอนของมนุษย์ก็เช่นกัน” (A Time to Choose [1972], 59–60)

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเตือนเราเรื่องแนวโน้มอีกอย่างหนึ่งที่นับวันจะชักนำให้สูญเสียพระวิญญาณ

“โลกส่งเสียงหนวกหูมากขึ้น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และความประพฤติหละหลวม รุ่มร่ามสกปรก และยุ่งเหยิงมากขึ้น เพลงอึกทึกครึกโครมที่มีเนื้อร้องหยาบคายดังลั่นผ่านเครื่องขยายเสียงขณะที่ดวงไฟส่องแสงวูบวาบระยิบระยับหลากสีบ่งบอกว่าคนที่อยู่รายรอบพัวพันกับยาเสพติด ความผันแปรของสิ่งเหล่านี้กำลังเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและมีอิทธิพลต่อเยาวชนของเรา …

“ความโน้มเอียงไปทางเสียงดังมากขึ้น ตื่นเต้นมากขึ้น ขัดแย้งมากขึ้น ยับยั้งชั่งใจน้อยลง มีศักดิ์ศรีน้อยลง เป็นพิธีรีตองน้อยลงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่มีโทษ หรือไร้พิษภัย

“คำสั่งแรกของผู้บังคับบัญชาเพื่อเริ่มการบุกโจมตีทางทหารคือ ส่งสัญญาณรบกวนช่องทางการสื่อสารของคนที่เขาหมายจะเอาชนะ

“ความไม่คารวะตรงกับจุดประสงค์ของปฏิปักษ์โดยขัดขวางช่องทางที่ละเอียดอ่อนของการเปิดเผยทั้งในความคิดและวิญญาณ” (“Reverence Invites Revelation,Ensign, Nov. 1991, 22)

พิมพ์