บทที่ 54
โมไซยาห์ 4
คำนำ
ผู้คนตื้นตันใจกับคำสอนของกษัตริย์เบ็นจามิน ด้วยเหตุนี้จึงกลับใจและรับการปลดบาปของพวกเขา พวกเขา “เปี่ยมด้วยปีติ” และมี “ความสงบในมโนธรรม” (โมไซยาห์ 4:3) กษัตริย์เบ็นจามินสอนพวกเขาต่อไปโดยช่วยให้พวกเขาเข้าใจสิ่งที่ต้องทำเพื่อ “การปลดบาป [ของพวกเขา] จะมีอยู่เสมอ” (โมไซยาห์ 4:12) ในการทำเช่นนั้นเขาเปรียบเทียบคนเหล่านั้นกับขอทาน ต้องพึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความรอด เขาเตือนคนเหล่านั้นถึงอันตรายของการละเลยไม่ระวังความนึกคิด คำพูด และการกระทำของพวกเขา
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
โมไซยาห์ 4:1–8
ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินได้รับการปลดบาปของพวกเขาและเปี่ยมด้วยปีติและความสงบสุข
ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้
-
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราได้รับการให้อภัยบาปของเรา
อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานฮาโรลด์ บี. ลี
“ถ้าเวลามาถึงเมื่อท่านได้ทำทั้งหมดที่ทำได้เพื่อกลับใจจากบาปของท่าน ไม่ว่าท่านเป็นใคร ไม่ว่าท่านอยู่ที่ใด และได้ทำการแก้ไขและชดเชยจนสุดความสามารถของท่านแล้ว ถ้าสิ่งนั้นจะส่งผลต่อสถานภาพของท่านในศาสนจักรและท่านได้ไปพบเจ้าหน้าที่ซึ่งเหมาะสม เมื่อนั้นท่านย่อมต้องได้รับคำตอบยืนยันว่าพระเจ้าทรงยอมรับท่านหรือไม่ ในขณะที่ท่านพิจารณาจิตวิญญาณของท่าน หากท่านแสวงหาและพบความสงบในมโนธรรม นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าพระเจ้าทรงยอมรับการกลับใจของท่านแล้ว” (“Stand Ye in Holy Places,” Ensign, July 1973, 122)
เตือนนักเรียนว่ากษัตริย์เบ็นจามินแบ่งปันถ้อยคำของเทพเกี่ยวกับวิธีได้รับการปลดบาป ท่านอาจเตือนพวกเขาเป็นพิเศษให้นึกถึงถ้อยคำของเทพว่ามนุษย์ปุถุชนเป็นศัตรูต่อพระผู้เป็นเจ้าและผลที่รอคอยคนเหล่านั้นซึ่งตายโดยไม่กลับใจจากบาปของพวกเขา (ดู โมไซยาห์ 3:19, 23–27)
ขอให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 4:1–2 ในใจโดยมองหาวลีบ่งบอกว่าผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินตอบสนองอย่างไรต่อถ้อยคำของเทพ ให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันวลีที่พวกเขาพบ ถ้านักเรียนต้องการให้ช่วยทำความเข้าใจวลี “สภาพทางเนื้อหนัง” ให้อธิบายว่าคำว่า ทางเนื้อหนัง ตรงข้ามกับ ทางวิญญาณ หมายถึงความอยากทางกายไม่ใช่ความปรารถนาทางวิญญาณที่จะเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้น ท่านอาจขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 41:11 แล้วอธิบายวลี “สภาพทางเนื้อหนัง” ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวลี “น้อยกว่าผงธุลีของแผ่นดินโลก” ให้เชื้อเชิญพวกเขาอ่าน ฮีลามัน 12:4–8 จากนั้นให้พวกเขาอธิบายด้วยคำพูดของตนเองว่าคนที่ไม่ยอมทำตามคำแนะนำของพระเจ้าอาจจะเรียกได้ว่าน้อยกว่าผงธุลีของแผ่นดินโลก พวกเขาพึงเข้าใจว่าพระบิดาบนสวรรค์ไม่ทรงถือว่าบุตรธิดาของพระองค์น้อยกว่าผงธุลีของแผ่นดินโลก
ชี้ให้เห็นว่าเมื่อผู้คนยอมรับความบาปของตน พวกเขากลับใจโดยแสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 4:3 ขอให้ชั้นเรียนเอาใจใส่ว่าผู้คนรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขาได้รับการให้อภัยบาปแล้ว
-
ตามที่กล่าวไว้ใน โมไซยาห์ 4:3 ความรู้สึกใดเกิดแก่คนที่ได้รับการให้อภัยจากพระเจ้า
-
ผู้คนได้รับการปลดบาปเนื่องด้วย “ศรัทธายิ่งที่พวกเขามีในพระเยซูคริสต์” การกระทำใดยืนยันศรัทธาของพวกเขา (ดู โมไซยาห์ 4:1–2)
-
อธิบายด้วยคำพูดของท่านว่าเราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจาก โมไซยาห์ 4:1–3 เกี่ยวกับการได้รับการปลดบาปของเรา (คำตอบหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และกลับใจอย่างจริงใจ เราได้รับการปลดบาปของเรา ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้ทำเครื่องหมายคำและวลีสำคัญๆ ใน โมไซยาห์ 4:1–3 ที่เน้นหลักธรรมดังกล่าว)
อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง โดยสรุปสิ่งที่เราต้องทำเพื่อได้รับการปลดบาป
“เมื่อเราสารภาพบาปอย่างซื่อสัตย์ แก้ไขเท่าที่เราทำได้กับคนที่เราทำให้เขาขุ่นเคือง และละทิ้งบาปของเราโดยรักษาพระบัญญัติ เราอยู่ในขั้นตอนที่จะได้รับการให้อภัย วันเวลาจะทำให้ความเจ็บปวดรวดร้าวของเราบรรเทาลง เอา “ความผิดไปจากใจเรา’ (แอลมา 24:10) และทำให้เกิด ‘ความสงบในมโนธรรม’ (โมไซยาห์ 4:3)
“สำหรับผู้ที่กลับใจอย่างแท้จริง แต่ดูเหมือนจะยังรู้สึกไม่สบายใจ ขอให้รักษาพระบัญญัติต่อไป ข้าพเจ้าสัญญากับท่านว่าท่านจะสบายใจขึ้นตามจังหวะเวลาของพระเจ้า การเยียวยาต้องใช้เวลาเช่นกัน” (ดู “กลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, หน้า 52)
เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการกลับใจเมื่อสนทนา โมไซยาห์ 4:1–3 ขอให้พวกเขาเขียนด้วยว่าพวกเขาจะใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ได้อย่างไรขณะแสวงหาการปลดบาปของพวกเขา
อธิบายว่าหลังจากเห็นท่าทีกลับใจของผู้คน กษัตริย์เบ็นจามินเตือนพวกเขาให้นึกถึงการพึ่งพาพระเจ้า ขอให้นักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมไซยาห์ 4:4–8 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินต้องการให้ผู้คนเข้าใจหลังจากพวกเขาได้รับการปลดบาปแล้ว
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ อะไรคือ “เงื่อนไขใดซึ่งตามนั้น [เรา] จะได้รับการช่วยให้รอดได้”
หลังจากนักเรียนตอบคำถามนี้แล้ว เชื้อเชิญพวกเขาให้ทบทวน โมไซยาห์ 4:4–8 ในใจโดยมองหาวลีที่พูดถึงคนเหล่านั้นผู้ได้รับความรอด ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายวลีเหล่านี้ พิจารณาคำถามต่อไปนี้
-
ท่านคิดว่า “ขยันหมั่นเพียรในการรักษาพระบัญญัติ [ของพระเจ้า]” หมายความว่าอย่างไร
-
การกระทำใดบ้างที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้น “มอบความไว้วางใจของเขา [หรือเธอ] ในพระเจ้า”
-
ท่านเคยเห็น “พระคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้า” และ “พระเดชานุภาพอันหาที่เปรียบมิได้” ของพระองค์ในด้านใดบ้าง
ชี้ให้เห็นว่าการกลับใจและการเชื่อฟังเรียกร้องให้ทำมากและพยายามมากในส่วนของเรา อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเราจะทำมากเพียงใด เราจะรับการให้อภัยบาปและของประทานแห่งความรอดไม่ได้เลยหากปราศจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์
โมไซยาห์ 4: 9–30
กษัตริย์เบ็นจามินสอนวิธีทำให้การปลดบาปมีอยู่เสมอ
เขียนบนกระดานว่า ทำให้การปลดบาปมีอยู่เสมอ แจ้งนักเรียนว่าหลังจากผู้คนได้รับการปลดบาป กษัตริย์เบ็นจามินสอนพวกเขาให้รู้วิธีรักษาหรือทำให้สภาพที่บริสุทธิ์สะอาดนั้นมีอยู่เสมอ
-
เหตุใดสิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราแต่ละคนต้องรู้
เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า โมไซยาห์ 4:9–11 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้การปลดบาปของเรามีอยู่เสมอ หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ ท่านอาจจะเขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน คำตอบอาจได้แก่ เราต้องจดจำความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า อ่อนน้อมถ่อมตน สวดอ้อนวอนทุกวัน และยึดมั่นในศรัทธา
ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจลึกซึ้งขึ้นและประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาอ่าน
-
กษัตริย์เบ็นจามินสอนว่าเราต้อง “เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 4:9) เขาพูดถึงการลิ้มรสความรักของพระผู้เป็นเจ้าด้วยและจดจำ “ความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า” ไว้เสมอ (โมไซยาห์ 4:11) ประสบการณ์ใดเคยช่วยให้ท่านตระหนักว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่จริง ทรงเปี่ยมด้วยเดชานุภาพ และพระองค์ทรงรักท่าน
-
การจดจำเดชานุภาพ พระคุณความดี และความรักของพระผู้เป็นเจ้ามีอิทธิพลอย่างไรต่อความเต็มใจเชื่อฟังพระองค์
อ่านออกเสียง โมไซยาห์ 4:12 ให้นักเรียนฟัง ขอให้พวกเขาระบุพรอันเกิดแก่คนเหล่านั้นผู้ทำสิ่งที่สอนไว้ในโมไซยาห์ 4:5–11
อธิบายว่า โมไซยาห์ 4:13–16 มีคำอธิบายของกษัตริย์เบ็นจามินเกี่ยวกับคนที่ทำให้การปลดบาปของตนมีอยู่เสมอ แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม ขอให้กลุ่มที่หนึ่งค้นคว้า โมไซยาห์ 4:13 กลุ่มที่สองค้นคว้าโมไซยาห์ 4:14–15 และกลุ่มที่สามค้นคว้า โมไซยาห์ 4:16 ให้นักเรียนต่างคนต่างอ่านข้อที่มอบหมาย จากนั้นระบุเจตคติและคุณสมบัติที่กษัตริย์เบ็นจามินบรรยายไว้ในคนที่พยายามทำให้การปลดบาปของพวกเขามีอยู่เสมอ
หลังจากให้เวลามากพอแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ ขณะพวกเขาทำเช่นนั้นให้เน้นความจริงที่ว่า หากเรานอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าและพยายามพัฒนาคุณลักษณะเฉกเช่นพระคริสต์ เราสามารถทำให้การปลดบาปของเรามีอยู่เสมอ ช่วยให้นักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้โดยถามคำถามต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือทั้งสองข้อขณะกล่าวถึงเจตคติหรือคุณสมบัติแต่ละอย่าง
-
ท่านคิดว่าเหตุใดเจตคติ (หรือคุณสมบัติ) นี้จึงช่วยให้การปลดบาปของเรามีอยู่เสมอ
-
ท่านเคยเห็นแบบอย่างของเจตคติ (หรือคุณสมบัติ) นี้เมื่อใด
กษัตริย์เบ็นจามินใช้อุปมานิทัศน์อันทรงพลังยิ่งที่สามารถช่วยให้นักเรียนเห็นคุณค่าของพรที่พวกเขาได้รับจากพระเจ้าและผลักดันพวกเขาให้พัฒนาคุณลักษณะที่พวกเขาศึกษาใน โมไซยาห์ 4:13–16 ขอให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 4:16–23 ในใจ
-
ตามที่กษัตริย์เบ็นจามินกล่าว เราทุกคนเป็นขอทานอย่างไร
-
ความเข้าใจดังกล่าวสามารถช่วยให้เราเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นอย่างไร
-
สำหรับคนที่ไม่สามารถให้ขอทาน หรือสำหรับคนที่มีให้เล็กน้อย กษัตริย์เบ็นจามินให้คำแนะนำอะไรใน โมไซยาห์ 4:24–26
-
ในศาสนจักรทุกวันนี้ การถวายเงินบริจาคอดอาหารช่วยเราทำตามคำแนะนำใน โมไซยาห์ 4:26 อย่างไร เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมในการบริจาคอดอาหารอย่างไร (คำตอบอาจได้แก่ พวกเขาสามารถอดอาหาร บางคนอาจจะบริจาคเงินอดอาหาร และผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนในบางภูมิภาคของโลกรวบรวมเงินบริจาคอดอาหารจากสมาชิกวอร์ดหรือสาขา)
ชี้ให้เห็นว่าเนื่องด้วยสิ่งดีทั้งหมดที่ขอให้เราทำ บางครั้งการหาสมดุลในชีวิตจึงเป็นเรื่องท้าทาย ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 4:27
-
ท่านคิดว่าทำสิ่งทั้งหมดด้วย “ปัญญาและระเบียบ” หมายความว่าอย่างไร
-
คำแนะนำนี้ช่วยท่านได้อย่างไร
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 4:29–30 ชี้ให้เห็นว่า โมไซยาห์ 4:30 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนเพื่อพวกเขาจะสามารถหาพบได้โดยง่าย
-
อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างความนึกคิด คำพูด และการกระทำของเรา เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อระวังตัวเรา เราจะช่วยกันในด้านใดได้บ้าง
ท่านอาจจะให้เวลานักเรียนเขียนสองสามนาทีในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าหลักธรรมใน โมไซยาห์ 4:9–30 สามารถช่วยพวกเขาได้อย่างไรขณะพยายามทำให้การปลดบาปของพวกเขามีอยู่เสมอ เป็นพยานถึงความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อพวกเขาแต่ละคนและความปรารถนาของพระองค์ที่จะให้พวกเขากลับใจและทำให้การปลดบาปของพวกเขามีอยู่เสมอ