คลังค้นคว้า
บทที่ 63: โมไซยาห์ 21–22


บทที่ 63

โมไซยาห์ 21–22

คำนำ

หลังจากล้มเหลวสามครั้งเพื่อปลดปล่อยตนเองจากความเป็นทาสชาวเลมัน ในที่สุดผู้คนของลิมไฮก็หันไปพึ่งพระเจ้าเพื่อให้ทรงปลดปล่อยพวกเขา ต่อจากนั้นแอมันกับพี่น้องของเขามาถึงแผ่นดินแห่งลีไฮ-นีไฟ หลังจากทำพันธสัญญาว่าจะรับใช้พระเจ้า ผู้คนของลิมไฮจึงหนีจากความเป็นทาสชาวเลมัน และแอมันนำพวกเขาไปเซราเฮ็มลา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมไซยาห์ 21:1–22

หลังจากผู้คนของลิมไฮกบฏต่อชาวเลมันและพ่ายแพ้สามครั้ง พวกเขาถ่อมตนต่อพระพักตร์พระเจ้าและเริ่มรุ่งเรือง

เขียนบนกระดานว่า การเป็นเชลย และ การปลดปล่อย

  • ภาพใดเข้ามาในความคิดท่านเมื่อท่านนึกถึงคำเหล่านี้

  • ท่านคิดว่าอารมณ์ใดเกี่ยวเนื่องกับคำเหล่านี้

  • คำเหล่านี้ต้องเกี่ยวอะไรกับแผนแห่งความรอด

อธิบายว่า โมไซยาห์ 21–24 บรรจุเรื่องราวของคนสองกลุ่มที่ตกเป็นเชลยของกองทัพชาวเลมันและในที่สุดก็ได้รับการปลดปล่อยโดยพระเจ้า ใน โมไซยาห์ 21–22 เราอ่านเรื่องของลิมไฮกับผู้คนของเขาที่เป็นเชลยเนื่องด้วยความชั่วช้าสามานย์ของพวกเขา การเป็นเชลยทางกายสะท้อนถึงการเป็นเชลยทางวิญญาณที่พวกเขาประสบเพราะบาป บทเรียนต่อไปจะครอบคลุมเรื่องราวของคนกลุ่มที่สองใน โมไซ-ยาห์ 23–24 ซึ่งพูดถึงคนของแอลมาผู้ประสบกับการเป็นเชลยและความทุกข์หลังจากรับบัพติศมา ทั้งสองเรื่องสอนความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระเจ้าในการปลดปล่อยเราจากบาปและความทุกข์ กระตุ้นนักเรียนให้นึกถึงเดชานุภาพของพระเจ้าในการปลดปล่อยเราจากบาปเมื่อพวกเขาศึกษาการเป็นเชลยและการปลดปล่อยผู้คนใน โมไซยาห์ 21–22

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 21:2–6 ในใจ ขอให้พวกเขาระบุคำและวลีที่บอกว่าลิมไฮกับผู้คนของเขากำลังประสบอะไรและพวกเขารู้สึกอย่างไร เพื่อเน้นความยากลำบากที่ผู้คนของลิมไฮต้องเผชิญ ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อความ “ไม่มีทางใดที่พวกเขาจะปลดปล่อยตนเอง” ใน โมไซยาห์ 21:5

  • รายละเอียดอะไรบ้างใน โมไซยาห์ 21:6 บอกว่าผู้คนยังไม่ถ่อมตนและไม่หันไปพึ่งพระเจ้า

  • ผู้คนของลิมไฮเสนอทางออกอะไรเพื่อบรรเทาทุกข์ของพวกเขา

สรุป โมไซยาห์ 21:7–12 โดยบอกนักเรียนว่าผู้คนของลิมไฮไปรบสามครั้งเพื่อปลดปล่อยตนเองจากชาวเลมัน แต่พวกเขาพ่ายแพ้และทนทุกข์กับความสูญเสียมากมายทุกครั้ง

  • ผู้คนตอบสนองอย่างไรบ้างหลังจากการพยายามปลดปล่อยตนเองครั้งที่สามแต่ไม่สำเร็จ

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมไซยาห์ 21:13–16 เพื่อเรียนรู้ว่าผู้คนตอบสนองอย่างไร ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้บางข้อหรือทั้งหมด

  • ผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างไรหลังจากพ่ายแพ้ครั้งที่สาม

  • ตามที่กล่าวไว้ใน โมไซยาห์ 21:15 เหตุใดพระเจ้าทรงเชื่องช้าที่จะฟังคำสวดอ้อนวอนของพวกเขา

  • ใน โมไซยาห์ 11:23–25 อบินาไดบอกผู้คนว่าพวกเขาต้องทำอะไรต่อพระพักตร์พระเจ้าพระองค์จึงจะทรงฟังคำสวดอ้อนวอนขอการปลดปล่อยของพวกเขา

  • ถึงแม้ผู้คนไม่ได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นเชลยทันที แต่พระเจ้าประทานพรพวกเขาอย่างไรเมื่อพวกเขาเริ่มกลับใจ (ขณะนักเรียนตอบ ท่านอาจกระตุ้นพวกเขาให้ทำเครื่องหมายวลี “รุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ” ใน โมไซยาห์ 21:16)

  • ข้อนี้สอนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าจะทรงทำเมื่อผู้คนถ่อมตน เริ่มกลับใจ และร้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์

สรุป โมไซยาห์ 21:16–22 โดยอธิบายว่าในช่วงเวลาที่เหลือเมื่อผู้คนของลิมไฮอยู่ในความเป็นทาส พระเจ้าทรงทำให้พวกเขารุ่งเรืองเพื่อพวกเขาจะไม่หิว “ไม่มีการก่อกวนระหว่างชาวเลมันกับผู้คนของลิมไฮอีกต่อไป” ด้วย (โมไซยาห์ 21:22)

เชื้อเชิญนักเรียนให้บอกหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้จากเรื่องราวของผู้คนของลิมไฮ แม้นักเรียนจะบอกหลักธรรมต่างกัน แต่พวกเขาพึงเข้าใจว่า เมื่อเราถ่อมตน เรียกหาพระเจ้า และกลับใจจากบาปของเรา พระองค์จะทรงฟังคำสวดอ้อนวอนของเราและผ่อนปรนภาระบาปของเราในเวลาของพระองค์ (ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน และเชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนลงในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ โมไซยาห์ 21:15–16 หรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา)

  • ท่านคิดว่าเราจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการต้องรอพระเจ้าให้ทรงปลดปล่อยเราจากภาระแห่งบาป

เพื่อช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ให้เวลาพวกเขาไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้สักครู่และเขียนคำตอบในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามไว้บนกระดาน)

  • ท่านกำลังทำอะไรเพื่อแสวงหาเดชานุภาพแห่งการปลดปล่อยของพระเจ้าจากบาปของท่าน

  • ท่านเคย “รุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ” ในด้านใดเมื่อท่านแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้า

โมไซยาห์ 21:23–22:16

ลิมไฮ แอมัน และกิเดียนร่วมมือกันช่วยให้ผู้คนหนีรอดจากความเป็นทาสและกลับไปเซราเฮ็มลา

หมายเหตุ: ท่านอาจต้องการเตือนนักเรียนว่า โมไซยาห์ 7 และ 8 มีเรื่องราวของแอมันกับพี่น้องของเขาตามหากษัตริย์ลิมไฮกับผู้คนของเขา 14 บทถัดไปคือ โมไซยาห์ 9–22 เล่าประวัติผู้คนของลิมไฮ โดยเริ่มประมาณ 80 ปีก่อนแอมันพบพวกเขา ประวัติดังกล่าวจบลงด้วยการเล่าทบทวนบางเหตุการณ์ที่บทก่อนๆ พูดถึง ด้วยเหตุนี้เนื้อหาส่วนใหญ่ของ โมไซยาห์ 21:23–30 จึงอยู่ในบทเรียนเกี่ยวกับ โมไซยาห์ 7–8 และ โมไซยาห์ 18 เพื่อช่วยให้นักเรียนจำเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ใน โมไซยาห์ 21:23–30 อาจจะช่วยได้ถ้าท่านทบทวนคำอธิบายพอสังเขปของการเดินทางใน โมไซยาห์ 7–24 ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้

เตือนนักเรียนว่าผู้คนของลิมไฮยอมรับว่าความทุกข์ของพวกเขาเกิดขึ้นเพราะพวกเขาปฏิเสธการเชื้อเชิญจากพระเจ้าให้กลับใจ (ดู โมไซยาห์ 12:1–2; 20:21) เนื่องด้วยผู้คนของลิมไฮยอมรับบาปของตน พวกเขาจึงเริ่มกระบวนการกลับใจและการเปลี่ยนใจเลื่อมใส แบ่งปันนิยามต่อไปนี้ของการกลับใจ

“[การกลับใจ] จำเป็นต่อความสุขของท่านในชีวิตนี้และตลอดนิรันดร การกลับใจเป็นมากกว่าการยอมรับผิด การกลับใจคือการเปลี่ยนความคิดและจิตใจ … รวมถึงการหันจากบาปและหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าเพื่อการให้อภัย ความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะปฏิบัติตามพระบัญญัติจะผลักดันให้เกิดการกลับใจ” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], หน้า 3)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 21:32–35 ในใจ ให้พวกเขาระบุคำและวลีที่บ่งบอกว่าลิมไฮกับผู้คนของเขากลับใจและหันใจมาหาพระเจ้าแล้ว ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายคำและวลีเหล่านี้ เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ (คำตอบของพวกเขาควรรวมด้วยว่าลิมไฮกับคนมากมายของเขาได้เข้าสู่พันธสัญญาว่าจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ พวกเขาปรารถนาจะรับบัพติศมา และพวกเขาเต็มใจรับใช้พระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดใจของพวกเขา)

กิจกรรมต่อไปนี้จะช่วยให้นักเรียนเห็นว่าพระเจ้าทรงช่วยให้ผู้คนของลิมไฮหนีรอดจากการเป็นทาสเมื่อพวกเขาให้เกียรติพันธสัญญาว่าจะรับใช้พระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เขียนคำถามและพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้บนกระดานก่อนชั้นเรียน

การมาถึงของแอมันกับพี่น้องของเขาเป็นการตอบคำสวดอ้อนวอนของผู้คนของลิมไฮอย่างไร (ดู โมไซยาห์ 7:14–15, 18–20; 21:14–15, 22–24)

นอกจากจะแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าผ่านการสวดอ้อนวอนแล้ว ด้วยการนำจากกิเดียน ผู้คนของลิมไฮทำอะไรจึงได้รับการปลดปล่อย (ดู โมไซยาห์ 21:36; 22:1–10)

รายละเอียดใดในข้อเหล่านี้บ่งบอกว่าพระเจ้าทรงช่วยให้ผู้คนของลิมไฮหนีรอดอย่างปลอดภัย (ดู โมไซยาห์ 22:11–16; 25:15–16)

แบ่งนักเรียนออกเป็นสามกลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มเตรียมคำตอบของคำถามข้อใดข้อหนึ่งบนกระดานโดยศึกษาข้อพระคัมภีร์ที่ให้มา หลังจากทำไปแล้วสองสามนาที ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มรายงานคำตอบที่พวกเขาเตรียมไว้ นี่จะเป็นจังหวะเหมาะให้นักเรียนได้เติมคำว่า “ผู้คนของลิมไฮหนีรอด” ลงในแผนภาพคำอธิบายพอสังเขปของการเดินทางใน โมไซยาห์ 7–24 (ดูแผนภาพที่สมบูรณ์ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้) ท่านอาจต้องการให้นักเรียนดูที่คั่นพระคัมภีร์มอรมอนเพื่อระบุสิ่งที่จะเกิดแก่ผู้คนของลิมไฮในท้ายที่สุด (ดู โมไซยาห์ 22:13–14)

การเดินทางในโมไซยาห์ 7–24

ชี้ให้เห็นว่าแม้เราอาจไม่ต้องแสวงหาการปลดปล่อยจากความเป็นทาสทางกายเช่นผู้คนของลิมไฮ แต่เราทุกคนต้องการการปลดปล่อยจากบาป

  • ท่านเรียนรู้อะไรจาก โมไซยาห์ 21–22 ที่จะให้กำลังใจใครก็ตามผู้จำเป็นต้องประสบเดชานุภาพของพระเจ้าในการปลดปล่อยเราจากบาป

สรุปโดยแสดงประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระเจ้าในการปลดปล่อยเราจากบาป เน้นว่าเมื่อเราถ่อมตน เรียกหาพระเจ้า และกลับใจจากบาป พระองค์จะทรงฟังคำสวดอ้อนวอนของเราและผ่อนปรนภาระบาปของเราในเวลาของพระองค์

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมไซยาห์ 21:15, 29–30 ความทุกขเวทนาอันเกิดจากบาปสามารถสนองจุดประสงค์ประการหนึ่ง

เมื่อเราทำบาปและไม่ยอมกลับใจ เช่นเดียวกับผู้คนของกษัตริย์ลิมไฮ เรานำความเจ็บปวดมาให้ตัวเราเพิ่มขึ้น—บางครั้งทางกายและมักจะทางวิญญาณเสมอ เอ็ลเดอร์เคนท์ เอฟ. ริชาร์ดส์แห่งสาวกเจ็ดสิบอธิบายว่าความเจ็บปวดเป็นส่วนจำเป็นของการเยียวยาและการเติบโตทางวิญญาณของเราได้อย่างไร

“ความเจ็บปวดเป็นเกณฑ์วัดกระบวนการเยียวยา และมักสอนเราเรื่องความอดทน …

“เอ็ลเดอร์ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์เขียนว่า ‘ไม่มีความเจ็บปวดใดที่เราทนทุกข์ การทดลองใดที่เราประสบจะสูญเปล่า ทั้งหมดล้วนเอื้อต่อการได้ความรู้ ต่อการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ เช่น ความอดทน ศรัทธา ความทรหด และความอ่อนน้อมถ่อมตน … โดยผ่านโทมนัสและความทุกขเวทนา ความตรากตรำและความยากลำบาก เราจะได้ความรู้ซึ่งเรามาที่นี่เพื่อได้รับ’

“ทำนองเดียวกัน เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์กล่าวว่า

“ความเจ็บปวดทำให้ท่านเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนซึ่งจะช่วยให้ท่านไตร่ตรอง ข้าพเจ้าขอบคุณสำหรับประสบการณ์ที่ต้องอดทน …

“‘ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าความเจ็บปวดทางร่างกายและการเยียวยาร่างกาย … คล้ายคลึงย่างยิ่งกับความเจ็บปวดทางวิญญาณและการเยียวยาจิตวิญญาณในกระบวนการกลับใจ’” (ดู “การชดใช้ครอบคลุมความเจ็บปวดทั้งปวง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 18)

โมไซยาห์ 21:15–16 เจตคติของท่านในช่วงเกิดทุกข์

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเรื่องเจตคติที่เราควรพยายามหลีกเลี่ยงและเจตคติที่เราควรพยายามพัฒนาในช่วงเกิดทุกข์

“พระเจ้าจะทรงบรรเทาทุกข์ด้วยเดชานุภาพสวรรค์เมื่อท่านแสวงหาการปลดปล่อยด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์

“อย่าพูดว่า ‘ไม่มีใครเข้าใจฉัน ฉันแยกไม่ออก หรือไม่ได้ความช่วยเหลือที่ต้องการ’ ความเห็นเหล่านี้เป็นการทำลายตัวเอง ไม่มีใครสามารถช่วยท่านได้หากปราศจากศรัทธาและความพยายามในส่วนของท่าน การเติบโตของตัวท่านเรียกร้องเช่นนั้น อย่ามองหาชีวิตที่เป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากความไม่สะดวกสบาย ความเจ็บปวด แรงกดดัน การท้าทาย หรือความโศกเศร้า เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่พระบิดาผู้ทรงเปี่ยมด้วยรักทรงใช้กระตุ้นการเติบโตและความเข้าใจของท่าน ดังพระคัมภีร์ประกาศยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่า ท่านจะได้รับความช่วยเหลือเมื่อท่านใช้ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ … ศรัทธาในพระคริสต์หมายความว่าเราวางใจพระองค์ เราวางใจคำสอนของพระองค์ สิ่งนั้นนำไปสู่ความหวัง และความหวังก่อให้เกิดจิตกุศล ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์—ความรู้สึกสงบเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกถึงความห่วงใยของพระองค์ ความรักของพระองค์ และความสามารถของพระองค์ในการเยียวยาหรือผ่อนปรนภาระของเราด้วยเดชานุภาพการเยียวยาของพระองค์” (“To Be Healed,Ensign, May 1994, 8)