คลังค้นคว้า
บทที่ 52: โมไซยาห์ 2


บทที่ 52

โมไซยาห์ 2

คำนำ

เมื่อกษัตริย์เบ็นจามินใกล้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เขาปรารถนาจะกล่าวโอวาทเป็นครั้งสุดท้ายกับผู้คนของเขา โอวาทของเขาดังบันทึกใน โมไซยาห์ 2–5 เป็นหัวข้อของบทเรียนนี้และบทที่ 53–55 เมื่อเริ่มกล่าวโอวาท เขาเล่าเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจของเขาในบรรดาผู้คนทั้งหลาย โดยเน้นว่าเรารับใช้พระผู้เป็นเจ้าเมื่อเรารับใช้ผู้อื่น เขาเป็นพยานเช่นกันถึงสภาพอันเป็นสุขของคนที่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หมายเหตุ: ใจความสรุปต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์ถ้าท่านเลือกให้คำอธิบายพอสังเขปเกี่ยวกับคำปราศรัยของกษัตริย์เบ็นจามินขณะเริ่มบทเรียนนี้

จนถึงบั้นปลายชีวิต กษัตริย์เบ็นจามินกล่าวปราศรัยกับผู้คนในอาณาจักรของเขาใกล้พระวิหารในเซรา-เฮ็มลา เขาเล่าเรื่องราวการรับใช้ผู้คนของเขาและมโนธรรมอันใสสะอาดของเขาต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า และเขาเสนอโมไซยาห์บุตรชายเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ของผู้คน ในคำปราศรัยครั้งสุดท้ายนี้ ซึ่งพบใน โมไซยาห์ 2–5 กษัตริย์เบ็นจามินแบ่งปันข่าวสารหลายเรื่อง รวมถึงความสำคัญของการรับใช้ผู้อื่น การเป็นหนี้นิรันดร์ของเราต่อพระบิดาบนสวรรค์ การปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยและการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ความจำเป็นของการทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชน การเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความรอด การแบ่งข้าวของเพื่อบรรเทาทุกข์คนยากจน การรักษาการปลดบาปให้คงอยู่ การเป็นบุตรและธิดาของพระคริสต์ผ่านศรัทธาและงานดีสม่ำเสมอ ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือ โมไซยาห์ 3 มีข่าวสารเรื่องหนึ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินได้รับจากเทพ

โมไซยาห์ 2:1–9

ครอบครัวมารวมกันและเตรียมรับถ้อยคำของกษัตริย์เบ็นจามิน

เขียนคำถามต่อไปนี้เรียงไปตามแนวขวางของกระดาน: ใคร ที่ไหน อะไร เหตุใด

ขอให้นักเรียนค้นคว้า โมไซยาห์ 2:1–6 ในใจ โดยมองหารายละเอียดที่จะตอบคำถามบนกระดาน หลังจากอ่านแล้วให้เชิญนักเรียนหลายๆ คนบันทึกรายละเอียดไว้บนกระดานให้มากเท่าที่จะมากได้ใต้คำถามแต่ละข้อ (ท่านอาจต้องอธิบายว่าผู้คนเตรียมรับถ้อยคำของกษัตริย์เบ็นจามินโดยถวายเครื่องบูชาตามกฎของโมเสส ในการถวายบูชาเหล่านี้ผู้คนแสดงความกตัญญูต่อพระผู้เป็นเจ้าและอุทิศตนต่อพระองค์)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 2:9 ในใจโดยมองหาคำและวลีซึ่งบ่งบอกสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินต้องการให้ผู้คนเหล่านั้นทำขณะฟังถ้อยคำของเขา

  • จากคำและวลีที่ท่านพบ ท่านคิดว่ากษัตริย์เบ็นจามินรู้สึกอย่างไรกับข่าวสารของเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ในส่วนสุดท้ายของ โมไซยาห์ 2:9 กษัตริย์เบ็นจามินเชื่อว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าผู้คนเปิดหูและเปิดใจรับฟังข่าวสารของเขา

  • ท่านคิดว่าเปิดหูและใจเรารับฟังคนที่ได้รับเรียกให้สอนหมายความว่าอย่างไร

กระตุ้นนักเรียนให้จดจำคำเชื้อเชิญของกษัตริย์เบ็นจามินขณะพวกเขาศึกษาข่าวสารของเขาและขณะฟังถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย

โมไซยาห์ 2:10–28

กษัตริย์เบ็นจามินสอนเรื่องความสำคัญของการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า การรับใช้กัน และการเป็นหนี้นิรันดร์ของเราต่อพระผู้เป็นเจ้า

ให้นักเรียนดูภาพกษัตริย์เบ็นจามินปราศรัยกับผู้คนของเขา (62298; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 74) เตือนนักเรียนว่ากษัตริย์เบ็นจามินเรียกผู้คนมารวมกันเพื่อประกาศว่าโมไซยาห์บุตรชายจะเป็นกษัตริย์แทนเขาและตั้ง “ชื่อ [หนึ่งแก่พวกเขา], เพื่อโดยการนี้พวกเขาจะได้เด่นเหนือผู้คนทั้งปวงซึ่งพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าทรงนำออกจากแผ่นดินแห่งเยรูซาเล็ม” (ดู โมไซยาห์ 1:9–12)

อ่านออกเสียง โมไซยาห์ 2:10–15 ให้ชั้นเรียนฟัง ขอให้นักเรียนระบุข้อความที่แสดงให้เห็นว่ากษัตริย์เบ็นจามินสนใจเรื่องการรับใช้ผู้คน ไม่สนใจสถานะของตนเองหรือการกล่าวขวัญถึงเขา เชื้อเชิญนักเรียนให้ยกมือขึ้นเมื่อได้ยินข้อความใดข้อความหนึ่งเหล่านี้ เมื่อพวกเขายกมือ ให้หยุดอ่านและขอให้พวกเขาอธิบายสิ่งที่ระบุและบอกว่าข้อความนั้นเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับกษัตริย์เบ็นจามิน

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ให้แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

“อย่ากังวลเกินเหตุกับสถานะ … สำคัญที่ต้องมีคนเห็นคุณค่า แต่จุดที่เรามุ่งเน้นควรอยู่ที่ความชอบธรรม ไม่ใช่การกล่าวขวัญ อยู่ที่การรับใช้ ไม่ใช่สถานะ” (“To the Woman of the Church,” Ensign, Nov. 1992, 96)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 2:16–17 ในใจและระบุสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินต้องการให้ผู้คนของเขาเรียนรู้ ช่วยให้พวกเขาเห็นว่า เมื่อเรารับใช้ผู้อื่น เท่ากับเรารับใช้พระผู้เป็นเจ้า เขียนข้อความนี้บนกระดาน ชี้ให้เห็นว่า โมไซยาห์ 2:17 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อความนี้ให้ชัดเจนเพื่อพวกเขาจะสามารถหาเจอได้โดยง่าย

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงเวลาที่พวกเขารับใช้ผู้อื่น

  • เมื่อท่านรับใช้ผู้อื่น ท่านกำลังรับใช้พระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

  • ผู้อื่นเป็นพรแก่ชีวิตท่านผ่านการรับใช้เมื่อใด เมื่อพวกเขารับใช้ท่าน เท่ากับพวกเขารับใช้พระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนให้ผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมไซยาห์ 2:18–24, 34

  • เหตุใดกษัตริย์เบ็นจามินจึงเรียกตนเองและผู้คนของเขาว่าเป็น “ผู้รับใช้ที่ไม่สมค่า” (ท่านอาจต้องอธิบายว่าผู้คนทำกำไรเมื่อพวกเขาได้รับมากกว่าให้ เราเป็นผู้รับใช้ที่ไม่สมค่าต่อพระบิดาบนสวรรค์เพราะคุณค่าของพรที่พระองค์ประทานแก่เรามักจะมากยิ่งกว่าคุณค่าของการรับใช้ที่พระองค์ได้รับจากเราเสมอ)

  • ท่านได้รับพรอะไรบ้างซึ่งท่านรู้สึกเป็นหนี้พระผู้เป็นเจ้า

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องตระหนักว่าเราเป็น “หนี้นิรันดร์” ต่อพระผู้เป็นเจ้า (คำตอบอาจได้แก่เมื่อเราตระหนักว่าเราเป็นหนี้พระผู้เป็นเจ้า ความกตัญญูของเราเพิ่มขึ้น เราปรารถนาจะรักษาพระบัญญัติ และเราต้องการรับใช้ผู้อื่นมากขึ้น)

อธิบายว่าใน โมไซยาห์ 2:34 คำว่า ถวาย หมายถึงให้หรือมอบ เชื้อเชิญนักเรียนให้ใคร่ครวญว่าพวกเขาจะ “ถวายทุกสิ่งที่ [พวกเขา] มีอยู่และเป็นอยู่แด่ [พระบิดาบนสวรรค์]” อย่างไร เป็นพยานว่าเมื่อเรารักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและพยายามรับใช้อย่างจริงใจ พระองค์จะประทานพรแก่เรา

โมไซยาห์ 2:29–41

กษัตริย์เบ็นจามินแนะนำผู้คนของเขาให้เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า

เขียนบนกระดานว่า จงระวัง ขอให้นักเรียนเล่าถึงเวลาที่พวกเขาเห็นป้ายที่ใช้คำนี้หรือถ่ายทอดแนวคิดนี้ ชี้ให้เห็นว่าคำเตือนดังกล่าวสามารถคุ้มครองเราหรือช่วยให้เรารอดชีวิต

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 2:32–33, 36–38 ในใจโดยมองหาสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินบอกผู้คนให้ระวัง ท่านอาจต้องอธิบายว่าใน โมไซยาห์ 2:33 คำว่า วิบัติ หมายถึงโทมนัสและความเศร้าหมอง

  • กษัตริย์เบ็นจามินเตือนผู้คนเรื่องอะไรบ้าง

  • เราจะทราบได้อย่างไรว่าเรากำลังเริ่มทำตามวิญญาณร้าย เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องตระหนักเรื่องนี้แต่เนิ่นๆ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน โมไซยาห์ 2:38 เกิดผลลัพธ์อะไรบ้างกับคนที่ตายในบาปของพวกเขา

ท่านอาจต้องการเน้นคำสอนใน โมไซยาห์ 2:36 ที่ว่าแต่ละบุคคลสามารถถอนตัวจากพระวิญญาณของพระเจ้าได้โดยผ่านความประพฤติของเขา เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของการรับรู้ว่าเมื่อใดเราอาจจะกำลังถอนตัวจากพระวิญญาณ

“เราควรพยายามมองให้ออกว่าเมื่อใดที่เรา ‘ถอนตัว [เรา] ไปจากพระวิญญาณของพระเจ้า, จนพระองค์ไม่มีที่อยู่ใน [เรา] เพื่อทรงนำ [เรา] ไปในวิถีแห่งปัญญาเพื่อ [เรา] จะได้รับพร, ความรุ่งเรือง, และการปกปักรักษา’ (โมไซยาห์ 2:36) …

“… ถ้าบางสิ่งที่เราคิด เห็น ได้ยิน หรือทำนำเราออกห่างจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราควรหยุดคิด หยุดมอง หยุดฟัง หรือหยุดทำสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าสิ่งที่ให้ความบันเทิงทำให้เราเหินห่างจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ แน่นอนว่าความบันเทิงประเภทนั้นไม่เหมาะกับเรา เพราะพระวิญญาณทนไม่ได้กับเรื่องต่ำช้า หยาบคาย หรือไม่สุภาพ จึงเห็นได้ชัดว่าเรื่องเช่นนั้นไม่เหมาะกับเรา เพราะเราเหินห่างจากพระวิญญาณของพระเจ้าเมื่อเราเข้าร่วมกิจกรรมที่เรารู้ว่าควรหลีกเลี่ยง เรื่องเช่นนั้นจึงไม่เหมาะกับเรา” (“เพื่อเราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 35)

  • เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าวว่าอะไรจะทำให้เราออกห่างจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • เราจะรู้ได้อย่างไรเมื่อเราออกห่างจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

เขียนคำว่า จดจำ และ พิจารณา บนกระดานถัดจากคำว่า จงระวัง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 2:40–41 ขอให้ชั้นเรียนระบุสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินต้องการให้ผู้คนของเขาพิจารณาและสิ่งที่เขาต้องการให้คนเหล่านั้นจดจำ เมื่อนักเรียนตอบท่านอาจจะเน้นคำสอนของกษัตริย์เบ็นจามินโดยเขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเรารักษาพระบัญญัติ เราจะได้รับพรฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณ

  • ท่านเคยเห็นหรือเคยประสบความสุขอันเกิดจากการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าเมื่อใด

เป็นพยานถึงความจริงของเรื่องที่นักเรียนสนทนาวันนี้ สรุปโดยกระตุ้นนักเรียนให้ตั้งเป้าหมายเจาะจงว่าจะเชื่อฟังมากขึ้นในด้านที่ยากสำหรับพวกเขาและพยายามปรับปรุงด้านหนึ่งที่บอกไว้ในความก้าวหน้าส่วนบุคคล (สำหรับเยาวชนหญิง) หรือหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้า (สำหรับเยาวชนชาย)

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—โมไซยาห์ 2:17

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 2:17, มัทธิว 22:36–40 และ มัทธิว 25:40 ข้อความในมัทธิวช่วยอรรถาธิบายหลักคำสอน ไขความเข้าใจ และขยายความหมายของโมไซยาห์ 2:17 ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำห่วงโซ่พระคัมภีร์โดยเขียน มัทธิว 22:36–40 ใกล้กับ โมไซยาห์ 2:17, มัทธิว 25:40 ใกล้กับ มัทธิว 22:36–40 และ โมไซยาห์ 2:17 ใกล้กับ มัทธิว 25:40

ขอให้นักเรียนสองสามคนเล่าถึงเวลาที่พวกเขารู้สึกว่าพวกเขากำลังรับใช้พระผู้เป็นเจ้าโดยรับใช้ผู้อื่น

เชื้อเชิญนักเรียนให้รับใช้คนบางคนก่อนมาชั้นเรียนเซมินารีครั้งต่อไป เสนอแนะให้พวกเขาเตรียมแบ่งปันประสบการณ์ที่มีกับงานมอบหมายนี้ (แต่พวกเขาพึงเข้าใจว่าพวกเขาต้องไม่รู้สึกว่าจะต้องแบ่งปันประจักษ์พยานที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)

ท่านอาจท้าทายนักเรียนให้ท่องจำ โมไซยาห์ 2:17 ก่อนพบกันครั้งต่อไปในชั้นเรียนด้วย

เป็นพยานว่าเมื่อเรารับใช้ผู้อื่นอย่างจริงใจ เท่ากับเรารับใช้พระเจ้า

หมายเหตุ: เนื่องด้วยลักษณะและความยาวของบทนี้ ท่านอาจต้องการใช้กิจกรรมนี้ในวันอื่นเมื่อท่านมีเวลาเพิ่ม

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมโรไน 2:33, 38–39 “โทษอันเป็นนิจ” “เพลิงที่ไม่รู้ดับ” และ “การทนทุกข์ทรมานอันไม่มีวันสิ้นสุด”

ในคำเตือนเรื่องผลของการกบฏต่อพระผู้เป็นเจ้า กษัตริย์เบ็นจามินใช้วลี “โทษอันเป็นนิจ” (โมไซยาห์ 2:33) “เพลิงที่ไม่รู้ดับ” (โมไซยาห์ 2:38) และ “การทนทุกข์ทรมานอันไม่มีวันสิ้นสุด” (โมไซยาห์ 2:39) เพื่อให้เข้าใจคำเหล่านี้ดีขึ้น ให้ดูพระวจนะของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:6–12