คลังค้นคว้า
บทที่ 55: โมไซยาห์ 5–6


บทที่ 55

โมไซยาห์ 5–6

คำนำ

โมไซยาห์ 5 เป็นการสรุปคำปราศรัยของกษัตริย์เบ็นจามินต่อผู้คนของเขา บันทึกซึ่งเริ่มต้นใน โมไซยาห์ 2 เนื่องด้วยศรัทธาของพวกเขาในถ้อยคำของกษัตริย์เบ็นจามิน ผู้คนจึงประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ พวกเขาเข้าสู่พันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าและและรับเอาพระนามของพระเยซูคริสต์ ดังบันทึกไว้ใน โมไซยาห์ 6 กษัตริย์เบ็นจามินยกอาณาจักรให้โมไซยาห์บุตรชายของเขาซึ่งปกครองตามแบบอย่างที่บิดาวางไว้

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมไซยาห์ 5:1–4

ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินพูดถึงการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งที่พวกเขาประสบผ่านพระวิญญาณ

ก่อนชั้นเรียนให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน

ท่านเคยรู้สึกหรือไม่ว่าท่านต้องเปลี่ยนทางวิญญาณ

ท่านทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

ถ้าท่านเคยประสบการเปลี่ยนแปลง ท่านรักษาการเปลี่ยนแปลงนั้นไว้จนถึงวันนี้หรือไม่

ขอให้นักเรียนตอบคำถามเหล่านี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา จากนั้นให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“เนื้อแท้ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นพื้นฐานและถาวรในธรรมชาติวิสัยของเราซึ่งเกิดขึ้นได้จากการที่เราวางใจใน ‘ความดีงาม, และพระเมตตา, และพระคุณของพระเมสสิยาห์ผู้บริสุทธิ์’ (2 นีไฟ 2:8) ขณะที่เราเลือกทำตามพระอาจารย์ เราเลือกรับการเปลี่ยนแปลง—บังเกิดใหม่ทางวิญญาณ” (ดู “ท่านทั้งหลายต้องบังเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, หน้า 25)

ท่านอาจจะแนะนำนักเรียนให้เขียนคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ โมไซยาห์ 5:2 หรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา: “ขณะที่เราเลือกทำตามพระอาจารย์ เราเลือกรับการเปลี่ยนแปลง” (เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์)

  • เราเลือกรับการเปลี่ยนแปลงในด้านใดเมื่อเราเลือกทำตามพระเยซูคริสต์

ให้นักเรียนทบทวน โมไซยาห์ 2–4 สองสามนาที ท่านอาจเสนอแนะให้พวกเขาอ่านสรุปบท ถามพวกเขาว่าพวกเขาจำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับเนื้อหาของบทเหล่านี้ จากนั้นเชื้อเชิญพวกเขาให้อ่าน โมไซยาห์ 5:1 ในใจ

  • กษัตริย์เบ็นจามินปรารถนาจะรู้อะไรจากผู้คนของเขา

ขอให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 5:2–5 ในใจโดยมองหาคำตอบของผู้คนสำหรับคำถามของกษัตริย์เบ็นจามิน ก่อนนักเรียนอ่าน ท่านอาจต้องการอธิบายว่าใน ข้อ 2 คำว่า ใจ หมายถึงธรรมชาติวิสัยของบุคคล—ความปรารถนาและภาวะจิตใจของบุคคล หลังจากอ่านจบแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยพวกเขาวิเคราะห์ข้อดังกล่าว

  • ผู้คนพูดอะไรเกี่ยวกับใจของพวกเขา

  • อะไรก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ในใจของพวกเขา (พวกเขาเชื่อคำสอนของกษัตริย์เบ็นจามินเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการชดใช้ พระวิญญาณทรงเปลี่ยนแปลงใจของพวกเขา)

เน้นว่าการเปลี่ยนแปลงในใจเป็นมากกว่าการเพียงแต่เปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อเราประสบกับการเปลี่ยนแปลงในใจเรากลายเป็นคนใหม่ เปลี่ยนแปลงผ่านอำนาจการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ครอบคลุมมากกว่าการหลีกเลี่ยง เอาชนะ สะอาดหมดจดจากบาปและอิทธิพลชั่วร้ายในชีวิตเรา พระกิตติคุณยังรวมถึงการทำความดี การเป็นคนดี และการทำตนให้ดีขึ้นด้วย … การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งนี้ไม่ได้เป็นผลอันเกิดจากการทำงานหนักขึ้นหรือพัฒนาความมีวินัยของตนเองได้ดีขึ้น แต่เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในความปรารถนาของเรา แรงจูงใจของเราและธรรมชาติของเราในเวลาต่อมาซึ่งบังเกิดขึ้นได้โดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์พระเจ้า จุดประสงค์ทางวิญญาณของเราคือการเอาชนะทั้งบาปและความปรารถนาที่จะทำบาป ทั้งมลทินและความทุกข์ใจจากบาป” (“มือสะอาดและใจบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, หน้า 104–105)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงต้องการการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่วลี “เพราะพระวิญญาณของพระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์” ใน โมไซยาห์ 5:2 ท่านอาจต้องนิยามคำว่า มหิทธิฤทธิ์ ซึ่งหมายถึงมีอำนาจทั้งปวง

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจาก โมไซยาห์ 5:2–4 เกี่ยวกับวิธีที่เราจะประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในชีวิตเรา

ขณะที่นักเรียนสนทนาคำถามนี้ พวกเขาพึงเข้าใจว่า เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และได้รับพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เราจะประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ

อธิบายว่าการประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งเดียว แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“การเป็นเหมือนพระคริสต์เป็นการแสวงหาชั่วชีวิตและมักเกี่ยวข้องกับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปจนแทบมองไม่ออก …

“… การกลับใจที่แท้จริงเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในใจไม่เฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเท่านั้น … การกลับใจส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงอันน่าตื่นเต้นเร้าใจหรือเห็นเด่นชัด แต่เป็นการก้าวสู่ความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทีละก้าวอย่างมั่นคงและสม่ำเสมอ” (“A Mighty Change of Heart,” Ensign, Oct. 1989, 5)

เพื่อช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้และประเมินความก้าวหน้าของตนในการประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ ขอให้พวกเขาตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียน เตรียมเอกสารคำถามไว้แจก หรืออ่านคำถามช้าๆ เพื่อนักเรียนจะเขียนลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาได้)

  • นิสัยใจคอของท่านเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อท่านทำตามพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่านต้องทำอะไรเพื่อพระเจ้าจะยังคงช่วยให้ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงนี้

เปิดโอกาสให้นักเรียนหนึ่งหรือสองคนได้แบ่งปันคำตอบของคำถามเหล่านี้ พวกเขาพึงเข้าใจว่าไม่ควรรู้สึกว่าต้องแบ่งปันประสบการณ์หรือความคิดที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป

โมไซยาห์ 5:5–15

ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินเข้าสู่พันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าและได้รับชื่อใหม่

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 5:5 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินเต็มใจทำเพราะใจพวกเขาเปลี่ยนแปลงแล้ว

  • ผู้คนเต็มใจทำอะไรตอนนี้ที่แสดงว่าใจพวกเขาเปลี่ยนแปลงแล้วผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

เพื่อช่วยนักเรียนเพิ่มพูนความเข้าใจเรื่องพันธสัญญา ให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีศึกษาเรื่องนี้ด้วยตนเอง ท่านอาจจะเสนอแนะให้พวกเขาศึกษาเรื่องนี้ในคู่มือพระคัมภีร์หรือ แน่วแน่ต่อศรัทธา หรือให้พวกเขามองหาข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับเรื่องนั้นในดรรชนีของพระคัมภีร์มอรมอนหรือพระคัมภีร์รวมสามเล่ม หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ให้นักเรียนแบ่งเป็นคู่ๆ และอธิบายพันธสัญญาให้กันฟังด้วยคำพูดของตนเอง

  • คำหรือวลีใดใน โมไซยาห์ 5:5 แสดงให้เห็นความจริงใจของผู้คนในความปรารถนาจะทำและรักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า (คำตอบอาจได้แก่ “ทำตามพระประสงค์ของพระองค์” “ในทุกเรื่อง” และ “ตลอดวันเวลาที่เหลืออยู่ของเรา”)

  • คำหรือวลีใดใน โมไซยาห์ 5:5 เตือนท่านให้นึกถึงสัญญาที่ท่านต่อทุกครั้งเมื่อรับส่วนศีลระลึก

  • ท่านคิดว่าการทำและรักษาพันธสัญญาช่วยให้ท่านยังคงอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงในใจที่ท่านกำลังประสบอยู่อย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 1:11 ในใจ ขอให้พวกเขามองหาเหตุผลประการหนึ่งที่กษัตริย์เบ็น-จามินรวมผู้คนเข้าด้วยกัน (เพื่อให้ชื่อหนึ่งแก่พวกเขา) อธิบายว่า โมไซยาห์ 5:7–15 บันทึกคำอธิบายของกษัตริย์เบ็นจามินเกี่ยวกับชื่อที่เขาสัญญาจะให้แก่ผู้คนของเขา ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีอ่านโมไซยาห์ 5:7–14 อย่างรวดเร็วโดยมองหาคำว่า ชื่อ และ เรียก ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำเหล่านี้ทุกครั้งที่ปรากฏ

เชิญนักเรียนสองสามคนบอกว่าเหตุใดบิดามารดาจึงตั้งชื่อให้พวกเขา ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะขอให้พวกเขาเล่าว่าคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจตั้งชื่อพวกเขาอย่างไร หรือท่านอาจถามว่าชื่อพวกเขามีความหมายเฉพาะเจาะจงหรือไม่ จากนั้นถามชั้นเรียนว่า

  • อะไรคือนัยสำคัญของชื่อ (สรุปคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน คำตอบอาจได้แก่ ชื่อเป็นวิธีรู้จักเรา เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ของเรา เป็นวิธีแยกแยะเราจากคนอื่นๆ มักจะมาพร้อมชื่อเสียงและความคาดหวังแพราะมีครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 5:7–8 ขอให้ชั้นเรียนมองหาชื่อที่กษัตริย์เบ็นจามินให้ผู้คนของเขา อีกทั้งมองหาคำและวลีที่บ่งบอกความสำคัญของชื่อนั้น ท่านอาจต้องการกระตุ้นพวกเขาให้ทำเครื่องหมายคำและวลีเหล่านี้

  • กษัตริย์เบ็นจามินให้ชื่อผู้คนของเขาว่าอะไร

  • ท่านสังเกตเห็นคำและวลีใดบ้าง คำและวลีเหล่านั้นสอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระนามของพระคริสต์

  • เรารับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับเราเมื่อใด (นักเรียนพึงเข้าใจว่า เรารับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับเราเมื่อเราทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์

ขณะที่นักเรียนสนทนาข้อเหล่านี้ พวกเขาอาจต้องการให้ช่วยทำความเข้าใจหลักคำสอนที่ว่าเราสามารถกลับเป็น “ลูกๆ ของพระคริสต์” ได้ (โมไซยาห์ 5:7) ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าบิดาให้ชีวิตลูก เราเป็นลูกทางวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์ เราเป็นลูกของบิดาทางโลกเช่นกัน บิดามารดาให้โอกาสเราได้อยู่บนแผ่นดินโลกในร่างกายของเรา ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอ้าง โมไซยาห์ 5:7 โดยสอนว่าพระเยซูคริสต์ ทรง “เป็นพระบิดาของเรา” เพราะพระองค์ทรง “มอบชีวิต ชีวิตนิรันดร์ให้เราผ่านการชดใช้ซึ่งพระองค์ทรงทำเพื่อเรา” ประธานสมิธอธิบายว่า “เรากลายเป็นลูก บุตรและธิดาของพระเยซูคริสต์ ผ่านพันธสัญาแห่งการเชื่อฟังพระองค์” (Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 1:29)

ให้นักเรียนดูคำบนกระดานที่บอกนัยสำคัญของชื่อ

  • คำบนกระดานสามารถช่วยให้เราเข้าใจนัยสำคัญของการรับเอาพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับเราได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 5:9–13 ในใจ โดยมองหาคำแนะนำเพิ่มเติมจากกษัตริย์เบ็นจามินเกี่ยวกับการรับเอาพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับเรา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้ประหนึ่งกษัตริย์เบ็นจามินกำลังพูดกับพวกเขาเป็นการส่วนตัว แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ และขอให้พวกเขาสนทนาคำถามต่อไปนี้โดยใช้สิ่งที่พวกเขาอ่าน (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานหรือเตรียมเป็นเอกสารแจก)

  • ลองนึกถึงนัยสำคัญของการรับเอาพระนามของพระคริสต์ไว้กับเรา ท่านคิดว่าการจารึกพระนามของพระคริสต์ไว้ในใจท่านหมายความว่าอย่างไร พรใดมาถึงคนที่จารึกพระนามของพระคริสต์ไว้ในใจพวกเขา

  • นึกถึงคนที่ท่านรู้จักผู้ให้เกียรติพระนามของพระคริสต์ คนเหล่านี้ทำอะไรเพื่อแสดงความคารวะและความรักที่พวกเขามีต่อพระนามของพระคริสต์

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 5:15 เชื้อเชิญชั้นเรียนให้มองหาการกระทำที่บอกว่าคนเหล่านั้นรักษาพันธสัญญาของพวกเขา

  • เราจะถามอะไรตัวเราเองบ้างเพื่อประเมินว่าเรารับพระนามของพระคริสต์ไว้กับเราดีเพียงใด

แบ่งปันความรู้สึกของท่านว่าการรับเอาพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับท่านหมายความว่าอย่างไร เป็นพยานถึงความสำคัญของสิ่งนี้ในชีวิตท่าน

โมไซยาห์ 6:1–7

โมไซยาห์เริ่มปกครองเป็นกษัตริย์

ขอให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 6:1–3 ในใจ โดยระบุสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินทำก่อนให้ฝูงชนแยกย้ายกันไป

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องบันทึกชื่อของทุกคนที่เข้าสู่พันธสัญญา เหตุใดกษัตริย์เบ็นจามินจึงกำหนดปุโรหิตในบรรดาผู้คน

อธิบายว่าหลังจากพูดกับผู้คนแล้ว กษัตริย์เบ็นจามินมอบอาณาจักรให้โมไซยาห์บุตรชายของเขา สามปีต่อมา กษัตริย์เบ็นจามินสิ้นชีวิต เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 6:6–7 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำและวลีที่แสดงว่าโมไซยาห์ทำตามแบบอย่างของบิดาและช่วยให้ผู้คนของเขายังคงประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมไซยาห์ 5:15 แน่วแน่และไม่หวั่นไหว

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “แน่วแน่และไม่หวั่นไหว” หมายความว่าอย่างไร

“คำว่า ‘แน่วแน่’ ใช้เพื่อบอกเป็นนัยว่ายึดอยู่กับที่ มั่นคงและหนักแน่น ไม่สั่นคลอน และเด็ดเดี่ยว (Oxford English Dictionary Online, 2nd ed. [1989], “Steadfast”) คำว่า ‘ไม่หวั่นไหว’ ใช้บอกว่าคนหรือสิ่งนั้นไม่ผันแปร คงมั่น และไม่ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งหมายถึงคุณสมบัติของการไม่ยอมจำนน ไม่สามารถมีอะไรมาทำให้เบนออกจากจุดประสงค์ของตนได้ (Oxford English Dictionary Online,Immovable”) ฉะนั้น คนที่แน่วแน่และไม่หวั่นไหวจึงมั่นคง หนักแน่น เด็ดเดี่ยว คงมั่น และไม่มีอะไรมาทำให้เบนออกจากจุดประสงค์หรือพันธกิจพื้นฐานได้” (“Steadfast and Immovable, Always Abounding in Good Works,New Era, Jan. 2008, 2)