บทเรียนการศึกษาที่บ้าน
ถ้อยคำของมอรมอน–โมไซยาห์ 6 (หน่วย 11)
คำนำ
บทนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจคำสอนของกษัตริย์เบ็นจามินที่ให้แก่บุตรชายและผู้คนของเขาสามปีก่อนเขาสิ้นชีวิต กษัตริย์เบ็นจามินสอนผู้คนของเขาให้รู้ว่าจะรับและทำให้การปลดบาปมีอยู่เสมอได้อย่างไรโดยใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
ถ้อยคำของมอรมอน
นีไฟกับมอรมอนแสดงความเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้า
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน 1 นีไฟ 9:2–3 เพื่อเตือนนักเรียนว่านีไฟได้รับบัญชาให้ทำแผ่นจารึกสองชุด ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าในข้อความนี้ วลี “แผ่นจารึกเหล่านี้” หมายถึงแผ่นจารึกเล็กของนีไฟ ซึ่งมีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนใหญ่ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 9:4 และให้ชั้นเรียนมองหาจุดประสงค์ของแผ่นจารึกใหญ่ (เรื่องราวการปกครองของกษัตริย์และสงครามของผู้คน)
เตือนนักเรียนว่าขณะมอรมอนกำลังย่อแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟ เขาค้นพบแผ่นจารึกเล็กท่ามกลางบันทึกเหล่านั้น เขาได้รับการดลใจโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้รวมสิ่งที่พบบนแผ่นจารึกเล็กไว้กับความย่อของเขา ถึงแม้จะไม่รู้เหตุผลในเรื่องนี้ (ดู ถ้อยคำของมอรมอน 1:7)
เชิญนักเรียนครึ่งห้องค้นคว้า 1 นีไฟ 9:5–6 เพื่อดูว่าเหตุใดนีไฟจึงได้รับบัญชาให้ทำแผ่นจารึกเล็ก ให้อีกครึ่งห้องค้นคว้า ถ้อยคำของมอรมอน 1:6–7 เพื่อดูว่าเหตุใดมอรมอนจึงตัดสินใจรวมแผ่นจารึกเล็กไว้กับความย่อของเขา หลังจากสมาชิกชั้นเรียนรายงานแล้ว ถามพวกเขาว่าข้อความเหล่านี้จากนีไฟและมอรมอนสอนอะไรพวกเขาเกี่ยวกับพระเจ้า (นักเรียนอาจจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาพึงแสดงความเข้าใจว่า พระเจ้าทรงรู้ทุกเรื่อง)
-
อะไรคือ “พระประสงค์อันสุขุม” ในอนาคตที่นีไฟและมอรมอนกล่าวถึง (พระเจ้าทรงทราบว่าในปี ค.ศ. 1828 แผ่นจารึกเล็กจะมาแทนที่ต้นฉบับพระคัมภีร์มอรมอน 116 หน้าที่หายไป ดูหน่วย 6 วัน 1 ในคู่มือศึกษาของนักเรียน)
-
ความเข้าใจของท่านว่าพระเจ้าทรงรู้ทุกเรื่องในอนาคตสามารถให้ศรัทธาท่านเพื่อเชื่อฟังการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณที่ท่านได้รับอย่างไร
ถ้าท่านรู้สึกว่าต้องใช้เวลากับบทเรียนส่วนนี้มากขึ้น ให้ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะเล่าประสบการณ์ได้หรือไม่เมื่อพวกเขารู้สึกถึงการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณให้ทำบางสิ่งบางอย่างและไม่รู้จุดประสงค์ของการกระตุ้นเตือนดังกล่าวจนเวลาล่วงเลยไปหลังจากนั้น
โมไซยาห์ –1
กษัตริย์เบ็นจามินเรียกผู้คนให้มารวมกัน
อธิบายว่าแผ่นจารึกเล็กของนีไฟครอบคลุมประวัติศาสตร์ของชาวนีไฟตั้งแต่การปฏิบัติศาสนกิจของลีไฮจนถึงเวลาที่กษัตริย์โมไซยาห์ทำให้ผู้คนของนีไฟและเซราเฮ็มลาเป็นหนึ่งเดียวกันและเมื่อเบ็นจามินบุตรของโมไซยาห์ปกครองอาณาจักรในความชอบธรรม กษัตริย์เบ็นจามินได้รับหน้าที่ดูแลบันทึกศักดิ์สิทธิ์ (ดู ออมไน 1:23, 25)
ใกล้วาระสุดท้ายของชีวิตกษัตริย์เบ็นจามิน เขาขอให้โมไซยาห์บุตรชายนำผู้คนมารวมกัน เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 1:10–11 และมองหาเหตุผลที่กษัตริย์เบ็นจามินต้องการพูดกับผู้คน (เขาต้องการประกาศว่าโมไซยาห์จะเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปและให้ชื่อหนึ่งแก่ผู้คน)
โมไซยาห์ 2–6
กษัตริย์เบ็นจามินสอนผู้คนของเขาเกี่ยวกับการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด
ให้นักเรียนดูภาพกษัตริย์เบ็นจามินปราศรัยต่อผู้คนของเขา (62298; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 74) อ่าน โมไซยาห์ 2:12–19 ให้ชั้นเรียนฟัง เชื้อเชิญนักเรียนให้ยกมือเมื่อพวกเขาพบวลีที่แสดงอุปนิสัยของกษัตริย์เบ็นจามิน เมื่อนักเรียนยกมือให้หยุดอ่านและขอให้พวกเขาอธิบายสิ่งที่พบและสิ่งนั้นเผยอุปนิสัยของกษัตริย์เบ็นจามินอย่างไร
ท่านอาจต้องการถามนักเรียนว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการรับใช้ใน โมไซยาห์ 2:17 (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนความเข้าใจว่า เมื่อเรารับใช้ผู้อื่น เท่ากับเรารับใช้พระผู้เป็นเจ้า) ท่านอาจต้องการให้ชั้นเรียนท่องข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ โมไซยาห์ 2:17 จากความทรงจำ ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันว่าเมื่อเร็วๆ นี้พวกเขารับใช้พระผู้เป็นเจ้าโดยรับใช้ผู้อื่นอย่างไร
เขียนข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้บนกระดานหรือในแผ่นกระดาษ ไม่ต้องเขียนคำตอบในวงเล็บ มอบหมายให้นักเรียนแต่ละคนทบทวนข้อพระคัมภีร์หนึ่งข้อ เตือนพวกเขาว่าโอวาทของกษัตริย์เบ็นจามินมุ่งเน้นสาระสำคัญที่ว่า “ความรอดจะมาถึงลูกหลานมนุษย์ได้, นอกจากในและโดยผ่านพระนามของพระคริสต์, พระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์” (โมไซยาห์ 3:17) ข้อพระคัมภีร์แต่ละข้อสอนบางอย่างเกี่ยวกับสาระสำคัญดังกล่าว
-
โมไซยาห์ 2:20–25, 34 (เมื่อเรายอมรับว่าเราเป็นหนี้พระผู้เป็นเจ้า เรามีความกตัญญูมากขึ้น)
-
โมไซยาห์ 3:7–11, 17–18 (พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อเราจะรอดจากบาป ถ้าเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ผ่านการกลับใจ เราสามารถได้รับการช่วยให้รอดจากบาปของเรา)
-
โมไซยาห์ 3:12–16, 19–21 (ถ้าเรายอมต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เราสามารถเอาชนะความเป็นมนุษย์ปุถุชนและกลับเป็นวิสุทธิชนได้โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์)
-
โมไซยาห์ 4:5–8, 19–21, 26 (ถ้าเรานอบน้อมต่อพระผู้เป็นเจ้าและพยายามพัฒนาคุณลักษณะเฉกเช่นพระคริสต์ เราสามารถทำให้การปลดบาปของเรามีอยู่เสมอ)
หลังจากให้เวลานักเรียนมากพอแล้ว ให้พวกเขารายงานสิ่งที่เรียนรู้ต่อชั้นเรียนหรือในกลุ่มเล็ก จากนั้นขอให้นักเรียนหลายๆ คนเลือกหลักธรรมมาหนึ่งข้อและอธิบายว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้หลักธรรมนั้นในชีวิตพวกเขาอย่างไร
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 4:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยหาว่าผู้คนตอบสนองต่อถ้อยคำของกษัตริย์เบ็นจามินอย่างไร จากนั้นเชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 5:1–2, 5–8 ขอให้ชั้นเรียนดูว่าเรารับพระนามของพระเจ้าไว้กับเราอย่างไร นักเรียนพึงเข้าใจหลักธรรมนี้: เรารับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับเราเมื่อเราทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ ท่านอาจต้องการเตือนนักเรียนว่าเหตุผลประการหนึ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินรวมผู้คนเข้าด้วยกันคือเพื่อสอนพวกเขาเรื่องการทำพันธสัญญา เขาอุทิศถวายโมไซยาห์บุตรชายให้เป็นกษัตริย์ปกครองผู้คนเช่นกัน (ดู โมไซยาห์ 6:3)
เพื่อสรุป ถามนักเรียนว่ามีใครต้องการแบ่งปันหรือไม่ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการรับพระนามของพระเยซูคริสต์เมื่อครั้งรับบัพติศมา ขอให้พวกเขาไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้
-
ตัวท่านสามารถประยุกต์ใช้หลักธรรมจากคำปราศรัยของกษัตริย์เบ็นจามินได้อย่างไร
-
การรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับเราหมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจเป็นพยานเช่นกันถึงปีติอันเกิดจากการเชื่อฟังพระเยซูคริสต์และพึ่งพาการชดใช้ของพระองค์
หน่วยต่อไป (โมไซยาห์ 7–17)
ถามนักเรียนว่า ท่านจะสนับสนุนพระเยซูคริสต์หรือไม่แม้การทำเช่นนั้นหมายความท่านจะถูกประหาร บอกนักเรียนว่าสัปดาห์หน้าพวกเขาจะศึกษาคำสอนของศาสดาพยากรณ์อบินาได กระตุ้นพวกเขาให้มองหาข่าวสารที่อบินาไดเต็มใจให้ชาวนีไฟทั้งที่รู้ว่าเขาจะถูกประหาร