คลังค้นคว้า
บทที่ 66: โมไซยาห์ 26


บทที่ 66

โมไซยาห์ 26

คำนำ

ในช่วงการปกครองของโมไซยาห์ คนรุ่นใหม่จำนวนมาก—คนที่เป็นเด็กเล็กเมื่อครั้งกษัตริย์เบ็นจามินกล่าวคำปราศรัยครั้งสุดท้าย—ไม่เชื่อคำสอนของศาสนจักรและไม่ยอมร้องทูลพระเจ้า เยาวชนที่ไม่เชื่อเหล่านี้ชักจูงสมาชิกคนอื่นๆ ของศาสนจักรให้ทำบาปร้ายแรง ผู้ล่วงละเมิดจำนวนมากถูกนำไปอยู่ต่อหน้าแอลมาผู้นำของศาสนจักร ทีแรกแอลมาไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่ในที่สุดเขาทูลขอการนำทางจากพระเจ้าเกี่ยวกับวิธีตัดสินสมาชิกที่ไม่เชื่อฟัง พระเจ้าทรงเปิดเผยขั้นตอนที่แอลมาควรทำเพื่อให้สมาชิกของศาสนจักรรับผิดชอบบาปของตน แอลมาเรียนรู้เกี่ยวกับพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าและความเต็มพระทัยจะให้อภัยคนเหล่านั้นที่กลับใจ แอลมาทำตามคำแนะนำของพระเจ้าและนำระเบียบมาสู่ศาสนจักร

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมไซยาห์ 26:1–6

คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่เชื่อพระกิตติคุณและชักนำคนอื่นๆ ให้ทำบาป

ก่อนชั้นเรียนให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน

ท่านจะบรรยายประจักษ์พยานของท่านวันนี้ว่าอย่างไร

ท่านประสงค์ให้ประจักษ์พยานของท่านเติบโตในด้านใด

ขอให้นักเรียนตอบคำถามเหล่านี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา หลังจากให้เวลามากพอแล้ว อธิบายว่า โมไซยาห์ 26 บรรจุเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งผู้ไม่ทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อบำรุงเลี้ยงประจักษ์พยานของตน ด้วยเหตุนี้ศรัทธาของพวกเขาในพระผู้เป็นเจ้าจึงไม่พัฒนา และพวกเขาชักนำสมาชิกศาสนจักรจำนวนมากไปสู่บาปและความผิด เสนอแนะว่าขณะศึกษาเรื่องนี้ นักเรียนพึงพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวสอนอะไรเกี่ยวกับการพัฒนาและเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 26:1–3 จากนั้นให้ถามชั้นเรียนดังนี้

  • คนรุ่นใหม่จำนวนมากเลือกอะไร (พวกเขาเลือกไม่เชื่อประเพณีของบิดามารดา)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดความไม่เชื่อของผู้คนจึงบดบังความสามารถของพวกเขาในการ “เข้าใจพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 26:3)

อธิบายว่าการเชื่อ (หรือแม้มีความปรารถนาจะเชื่อ) นำไปสู่การกระทำอันเสริมสร้างประจักษ์พยานของเรา อีกนัยหนึ่งคือ เมื่อผู้คนเลือกไม่เชื่อ เท่ากับพวกเขาเลือกไม่ทำบางอย่างอันจะช่วยพวกเขาพัฒนาประจักษ์พยานที่เข้มแข็ง เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 26:3–4, 6 ในใจ ขอให้ครึ่งชั้นเรียนมองหาสิ่งที่คนรุ่นใหม่จะไม่ทำเนื่องด้วยความไม่เชื่อของพวกเขา ขอให้อีกครึ่งห้องมองหาผลจากความไม่เชื่อของพวกเขา

  • คนรุ่นใหม่ไม่ยอมทำอะไรเนื่องด้วยความไม่เชื่อของพวกเขา

  • อะไรเป็นผลจากความไม่เชื่อของพวกเขา

หลังจากนักเรียนสนทนาคำถามเหล่านี้แล้ว ให้เขียนบนกระดานดังนี้: เพื่อพัฒนาและรักษาประจักษ์พยานไว้ เราต้อง …

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้ชั้นเรียนฟังด้านต่างๆ เพื่อเติมประโยคบนกระดานให้สมบูรณ์

“ประจักษ์ยานเรียกร้องการบำรุงเลี้ยงโดยการสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธา การหิวโหยพระคำของพระผู้เป็นเจ้าในพระคัมภีร์ และการเชื่อฟังความจริงที่เราได้รับ มีอันตรายเมื่อเราละเลยการสวดอ้อนวอน มีอันตรายต่อประจักษ์พยานของเราเมื่อเราเพียงแต่ศึกษาและอ่านพระคัมภีร์แบบขอไปที สิ่งเหล่านั้นเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อประจักษ์พยานของเรา …

“การดื่มด่ำพระคำของพระผู้เป็นเจ้า การสวดอ้อนวอนด้วยความจริงใจ และการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า ต้องนำมาประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำเพื่อให้ประจักษ์พยานของท่านเจริญงอกงาม” (“ประจักษ์พยานที่มีชีวิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, หน้า 162)

  • ประธานอายริงก์ระบุว่าการปฏิบัติใดจะช่วยเราบำรุงเลี้ยงประจักษ์พยานของเรา (ขณะที่นักเรียนระบุการปฏิบัติเหล่านี้ ให้แทรกเข้าไปในประโยคบนกระดาน: เพื่อพัฒนาและรักษาประจักษ์พยานไว้ เราต้องดื่มด่ำพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า สวดอ้อนวอนด้วยศรัทธา และเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า)

  • การปฏิบัติเหล่านี้มีผลต่อประจักษ์พยานของท่านอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 26:5–6 ในใจโดยดูว่าเยาวชนที่ไม่เชื่อมีอิทธิพลต่อสมาชิกบางคนของศาสนจักรอย่างไร

  • พิจารณาคำกล่าวต่อไปนี้: “สมควรที่คนซึ่งอยู่ในศาสนจักร, ซึ่งกระทำบาป, จะถูกศาสนจักรตักเตือน” (โมไซยาห์ 26:6) ท่านคิดว่าข้อความนี้หมายความว่าอย่างไร (สมาชิกศาสนจักรที่ทำบาปจำเป็นต้องได้รับการตัดสินและรับผิดชอบ)

โมไซยาห์ 26:7–14

แอลมาทูลขอการนำทางจากพระเจ้าเกี่ยวกับวิธีตัดสินคนที่ทำบาป

ให้นักเรียนนึกภาพว่าการเป็นอธิการของวอร์ดที่มีสมาชิกทำบาปร้ายแรงและไม่กลับใจเป็นอย่างไร ขอให้นักเรียนไตร่ตรองในใจว่าพวกเขาจะทำอะไรในสถานการณ์นี้ พวกเขาจะทำหน้าที่รับผิดชอบให้เกิดสัมฤทธิผลอย่างไรเพื่อให้สมาชิกรับผิดชอบบาปของตนและช่วยให้พวกเขากลับใจ อธิบายว่าแอลมาผู้นำของศาสนจักรประสบการท้าทายคล้ายกัน

สรุป โมไซยาห์ 26:7–12 โดยอธิบายว่าคนที่ทำบาปถูกนำมาอยู่ต่อหน้าแอลมา ไม่เคยเกิดเรื่องเช่นนี้มาก่อนในศาสนจักร และแอลมาไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เขาตัดสินใจส่งผู้ล่วงละเมิดไปให้กษัตริย์โมไซยาห์ตัดสิน กษัตริย์โมไซยาห์ส่งคืนมาให้แอลมาผู้ดำรงสิทธิอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าให้ตัดสินสมาชิกศาสนจักรที่ทำบาป

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 26:13–14 ขอให้ชั้นเรียนดูว่าแอลมารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความรับผิดชอบของเขาในการตัดสินคนที่ทำบาป

  • เมื่อแอลมารู้สึกทุกข์ใจกับหน้าที่ในการตัดสินผู้ล่วงละเมิด เขาทำอะไร

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่าอธิการและประธานสาขาแสวงหาและได้รับการนำทางจากพระเจ้าเมื่อกำลังช่วยคนที่ทำบาป

โมไซยาห์ 26:15–32

พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อแอลมาว่าจะให้สมาชิกของศาสนจักรรับผิดชอบบาปของตนอย่างไรและอธิบายเงื่อนไขของการกลับใจ

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของ โมไซยาห์ 26:15–32 ชี้ให้เห็นว่าข้อเหล่านี้มีคำตอบของพระเจ้าต่อคำถามของแอลมาในเรื่องที่เขาควรทำเกี่ยวกับผู้ล่วงละเมิด ขณะนักเรียนศึกษาคำตอบของพระเจ้า จงกระตุ้นพวกเขาให้มองหาหลักธรรมและหลักคำสอนที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจบทบาทของผู้พิพากษาฐานะปุโรหิตดีขึ้น เช่นอธิการและประธานสาขา (และสำหรับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคือประธานสเตค ประธานท้องถิ่น และประธานคณะเผยแผ่) ขอให้พวกเขามองหาหลักธรรมและหลักคำสอนเกี่ยวกับการแสวงหาการให้อภัยด้วย

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 26:17–28 ในใจโดยสังเกตแต่ละครั้งที่พระเจ้าทรงใช้คำว่า ของเรา หรือ เรา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำเหล่านี้ทุกครั้งที่ปรากฏ จากนั้นให้ถามชั้นเรียนดังนี้

  • ใน โมไซยาห์ 26:17–28 คำว่า เรา และ ของเรา บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับฐานะของพระเจ้าในขั้นตอนการกลับใจ (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันวลีหรือข้อเฉพาะที่สนับสนุนคำตอบของพวกเขา)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจาก โมไซยาห์ 26:20–21 เกี่ยวกับบทบาทของผู้รับใช้ของพระเจ้าในขั้นตอนการกลับใจ (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า ผู้นำฐานะปุโรหิตเป็นตัวแทนของพระเจ้า และ ในกรณีของบาปร้ายแรง อธิการและประธานสาขาสามารถช่วยให้เรากลับใจและได้รับการให้อภัย)

  • อธิการหรือประธานสาขาสามารถช่วยคนที่ต่อสู้กับบาปและการล่อลวงด้วยวิธีใดบ้าง

อธิบายว่าพระเจ้าทรงสอนแอลมาเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้แสวงหาการให้อภัยต้องทำเพื่อกลับใจ เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า โมไซยาห์ 26:29–32 กับคู่และระบุหลักธรรมที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพระเจ้าทรงเรียกร้องให้เราทำอะไรเมื่อเรากลับใจ

หลังจากนักเรียนมีเวลาศึกษาข้อเหล่านี้แล้ว เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนให้เขียนหลักธรรมที่พวกเขาค้นพบบนกระดานโดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง คำตอบของพวกเขาอาจได้แก่

การสารภาพบาปนำไปสู่การให้อภัย

พระเจ้าจะทรงให้อภัยคนที่กลับใจด้วยน้ำใสใจจริงของพวกเขา

เราต้องให้อภัยผู้อื่นจึงจะได้รับการให้อภัยจากพระเจ้า

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมเหล่านี้ดีขึ้น ให้ถามคำถามต่อไปนี้บางข้อหรือทั้งหมด

  • ใน โมไซยาห์ 26:29 อะไรคือความหมายของวลี “สารภาพบาปของเขาต่อหน้าเจ้าและเรา” (ท่านอาจต้องชี้ให้เห็นว่าในข้อนี้คำว่า เขา หมายถึงแอลมา)

  • เมื่อมีคนทำบาปร้ายแรง ท่านคิดว่าเหตุใดบุคคลนั้นต้องสารภาพต่อพระเจ้าและต่อผู้นำศาสนจักรที่เหมาะสม (การล่วงละเมิดร้ายแรง เช่นการละเมิดกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ อาจทำให้สมาชิกภาพของบุคคลนั้นในศาสนจักรเป็นอันตราย ด้วยเหตุนี้ในกรณีดังกล่าวเขาจำเป็นต้องสารภาพบาปทั้งต่อพระเจ้าและตัวแทนของพระองค์ในศาสนจักร อธิการและประธานสาขาถือกุญแจฐานะปุโรหิตเพื่อช่วยให้คนทำบาปแสวงหาการให้อภัย แม้พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงสามารถให้อภัยบาปได้ แต่ผู้นำฐานะปุโรหิตมีบทบาทสนับสนุนช่วยเหลือผู้คนให้ได้รับการให้อภัยดังกล่าว พวกเขารักษาความลับของการสารภาพทั้งหมดและช่วยคนสารภาพตลอดกระบวนการกลับใจ)

  • ท่านคิดว่าการกลับใจ “ด้วยน้ำใสใจจริงของเขา” มีความหมายอย่างไรสำหรับคนบางคน (โมไซยาห์ 26:29)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าทรงเรียกร้องเราให้อภัยผู้อื่น การกลับใจและการให้อภัยผู้อื่นเชื่อมโยงกันอย่างไร (ดู 3 นีไฟ 13:14–15; คพ. 64:8–11)

  • วลีใดในข้อเหล่านี้อาจจะให้ความกล้าหรือความสบายใจแก่คนที่ปรารถนาจะกลับใจแต่รู้สึกว่าเขาไม่สามารถรับการให้อภัยได้

โมไซยาห์ 26:33–39

แอลมาเชื่อฟังคำแนะนำของพระเจ้าโดยตัดสินคนที่ทำบาปและนำระเบียบมาสู่ศาสนจักร

อธิบายว่า โมไซยาห์ 26:33–37 บรรยายวิธีที่แอลมาทำตามคำแนะนำของพระเจ้า ตัดสินสมาชิกศาสนจักรที่ทำบาป และนำระเบียบมาสู่ศาสนจักร เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 26:34–37 ในใจโดยมองหาผลจากการที่แอลมาพยายามทำตามคำแนะนำของพระเจ้า แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าเมื่อเรากลับใจและดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม เราสามารถมีสันติในใจเราและรุ่งเรืองทางวิญญาณ

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมไซยาห์ 26:29–30 องค์ประกอบจำเป็นห้าอย่างของการกลับใจ

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับองค์ประกอบจำเป็นของการกลับใจดังนี้

“สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [ให้] แนวทางที่ดีเยี่ยมสู่การให้อภัยผ่านการกลับใจ ซึ่งได้ช่วยให้หลายคนพบทางกลับ ท่าน [ระบุ] องค์ประกอบจำเป็นห้าประการของการกลับใจ

เสียใจเพราะบาป จงศึกษาและไตร่ตรองเพื่อพิจารณาว่าพระเจ้าทรงนิยามการล่วงละเมิดของท่านร้ายแรงเพียงใด นั่นจะเยียวยาความเสียใจและความสำนึกผิด อีกทั้งทำให้เกิดความปรารถนาที่จริงใจในการเปลี่ยนและเต็มใจยอมรับข้อเรียกร้องทั้งหมดสำหรับการให้อภัย …

การละทิ้งบาป นี่เป็นความตั้งใจเด็ดเดี่ยวถาวรว่าจะไม่ทำการล่วงละเมิดซ้ำอีก เราจะไม่ประสบความขมขื่นที่ติดมากับบาปนั้นอีกเมื่อรักษาคำมั่นดังกล่าว …

การสารภาพบาป ท่านต้องสารภาพบาปของท่านต่อพระเจ้าเสมอ ถ้าเป็นการล่วงละเมิดร้ายแรง เช่น การผิดศีลธรรม ท่านต้องสารภาพต่ออธิการหรือประธานสเตค โปรดเข้าใจว่าการสารภาพไม่ใช่การกลับใจ ขั้นตอนนี้จำเป็นแต่ไม่เพียงพอ การสารภาพบางส่วนโดยกล่าวถึงความผิดที่น้อยกว่าจะไม่ช่วยท่านแก้ไขการล่วงละเมิดร้ายแรงที่ยังไม่เปิดเผย ส่วนที่ขาดไม่ได้ของการให้อภัยคือการเต็มใจเปิดเผย ทั้งหมด ที่ท่านทำต่อพระเจ้าและหากจำเป็นต่อผู้พิพากษาฐานะปุโรหิตของพระองค์ …

การชดเชยบาป ท่านต้องคืนทั้งหมดที่ท่านขโมยมา ทำให้เสียหาย หรือทำให้มัวหมองมากเท่าที่อยู่ในวิสัยจะทำได้ การเต็มใจชดเชยเป็นหลักฐานอันเป็นรูปธรรมเพื่อยืนยันต่อพระเจ้าว่าท่านตั้งใจจะทำทั้งหมดที่ทำได้เพื่อกลับใจ

“การเชื่อฟังพระบัญญัติทั้งหมด การเชื่อฟังโดยครบถ้วนนำพลังอันสมบูรณ์ของพระกิตติคุณเข้ามาในชีวิตท่านพร้อมด้วยพลังมุ่งมั่นละทิ้งบาปนั้นๆ รวมถึงสิ่งที่ตอนแรกท่านอาจไม่คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกลับใจด้วย อาทิ การเข้าร่วมการประชุม จ่ายส่วนสิบ รับใช้ และให้อภัยผู้อื่น …

“ข้าพเจ้าจะเพิ่มขั้นตอนที่หก: การสำนึกคุณของพระผู้ช่วยให้รอด ในขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมดของการกลับใจ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับท่านคือมีความเชื่อมั่นว่าการให้อภัยเกิดขึ้นเพราะพระผู้ไถ่ ท่านจำเป็นต้องรู้ว่าท่านจะได้รับการให้อภัยตามเงื่อนไขของพระองค์เท่านั้น” (“Finding Forgiveness,Ensign, May 1995, 76)

พิมพ์