คลังค้นคว้า
บทที่ 11: 1 นีไฟ 7


บทที่ 11

1 นีไฟ 7

คำนำ

1 นีไฟ 7 รวมถึงแบบอย่างการอุทิศตนของนีไฟต่อพระผู้เป็นเจ้า นี-ไฟเชื่อฟังเมื่อพระเจ้าทรงบัญชาเขากับพี่ๆ ให้กลับไปขอให้อิชมาเอลกับครอบครัวมาสมทบกับพวกเขาในแดนทุรกันดารเพื่อพวกเขาจะได้แต่งงานและเลี้ยงดูบุตรธิดา แม้เมื่อเลมันกับเลมิวเอลกบฏต่อนีไฟและพยายามสังหารเขา แต่เขายังคงซื่อสัตย์และพยายามช่วยให้พี่ๆ ซื่อสัตย์เช่นกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 นีไฟ 7:1–5

พระเจ้าทรงบัญชานีไฟให้กลับไปหาอิชมาเอลกับครอบครัวของเขาที่เยรูซาเล็ม

ให้ดูภาพสามีภรรยากับลูกๆ ของพวกเขา (ท่านอาจต้องการใช้ภาพครอบครัวของท่านเอง)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 7:1–2

  • พระเจ้าทรงบัญชาบุตรชายของลีไฮให้ทำอะไร เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากพระบัญชานี้ (นักเรียนพึงเข้าใจว่า พระเจ้าทรงบัญชาเราให้แต่งงานและเลี้ยงดูบุตรธิดาให้พระองค์

เตือนนักเรียนว่าการเดินทางอย่างยากลำบากของนีไฟกับพี่ๆ ผ่านแดนทุรกันดารกลับไปเยรูซาเล็มจะใช้เวลาหลายวัน

  • เหตุใดการแต่งงานและครอบครัวจึงสำคัญมากพอที่นีไฟกับพี่ๆ จะเดินทางกลับไปเยรูซาเล็มเพื่อพบกับอิชมาเอลและครอบครัวของเขา

ก่อนดำเนินต่อ ท่านอาจต้องการแจกสำเนา “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ให้นักเรียนแต่ละคนหรือให้พวกเขาเปิดดูสำเนาถ้อยแถลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้จาก “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” เชื้อเชิญนักเรียนให้ตั้งใจฟังและระบุสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายประกาศเกี่ยวกับความสำคัญของการแต่งงาน

“เราฝ่ายประธานสูงสุด และสภาอัครสาวกสิบสองของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ขอประกาศด้วยความเคารพว่า การแต่งงานระหว่างชายและหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าและว่าครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระผู้สร้างเพื่อจุดหมายปลายทางนิรันดร์ของบุตรธิดาของพระองค์” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, หน้า 165)

เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากคำกล่าวนี้ พวกเขาพึงเข้าใจว่าครอบครัวเป็นศูนย์กลางในแผนของพระผู้สร้างเพื่อจุดหมายปลายทางนิรันดร์ของเรา เน้นว่านี่คือเหตุผลที่พระเจ้าทรงบัญชานีไฟกับพี่ๆ ให้ชวนครอบครัวของอิชมาเอลไปกับพวกเขา อธิบายด้วยว่าเหตุผลสำคัญที่สุดประการหนึ่งสำหรับการแต่งงานคือเพื่อนำบุตรธิดาเข้ามาในโลก

  • ท่านคิดว่าเลี้ยงดูบุตรธิดา “ให้พระเจ้า” หมายความว่าอย่างไร (1 นีไฟ 7:1)

หลังจากนักเรียนตอบคำถามนี้แล้ว กระตุ้นพวกเขาให้ฟังข้อคิดเพิ่มเติมขณะที่ท่านอ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว หากพวกเขามีสำเนาถ้อยแถลงของตนเอง ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายคำและวลีที่สำคัญต่อพวกเขา

“เราประกาศว่าพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าที่ให้บุตรธิดาของพระองค์ขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลกยังมีผลบังคับ …

“… บิดามารดามีหน้าหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรักและความชอบธรรม จัดหาปัจจัยสนองความต้องการทางร่างกายและทางวิญญาณ สอนพวกเขาให้รักและรับใช้กัน ให้เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นพลเมืองดีเชื่อฟังกฎหมายบ้านเมืองไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ ณ ที่ใด สามีและภรรยา—บิดาและมารดา—จะมีความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าในการปฏิบัติภาระหน้าที่เหล่านี้” (ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” หน้า 165)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 7:3–5

  • เรื่องราวใน 1 นีไฟ 7:3–5 เป็นตัวอย่างของความจริงใน 1 นีไฟ 3:7 อย่างไร (ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าพระเจ้าทรงเตรียมทางให้นีไฟกับพี่ๆ เชื่อฟังพระบัญชาให้แต่งงานและมีบุตร)

  • เยาวชนจะเตรียมเดี๋ยวนี้ได้อย่างไรเพื่อให้พร้อมแต่งงานและ “เลี้ยงดู” บุตรธิดาในพระกิตติคุณ

1 นีไฟ 7:6–15

เผชิญกับการกบฏของเลมันกับเลมิวเอล นีไฟเป็นพยานถึงเดชานุภาพของพระเจ้าที่จะนำพวกเขาไปยังแผ่นดินแห่งคำสัญญา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งให้อ่านออกเสียง 1 นีไฟ 7:6–7

  • เหตุใดเลมัน เลมิวเอล และลูกๆ บางคนของอิชมาเอลจึงกบฏระหว่างกาเรดินทางในแดนทุรกันดาร

กระตุ้นนักเรียนให้นึกถึงสิ่งที่พวกเขาจะกล่าวกับเลมัน เลมิวเอล และบุตรธิดาที่กบฏของอิชมาเอลเพื่อชักชวนคนเหล่านั้นให้เดินทางต่อจนถึงแผ่นดินแห่งคำสัญญา จากนั้นขอให้นักเรียนอ่าน 1 นีไฟ 7:8–12 ในใจและระบุคำถามที่นีไฟถามเลมันกับเลมิวเอล

  • นีไฟแบ่งปันความจริงอะไรบ้างเมื่อเขาถามคำถามเหล่านี้ (เขาเตือนพี่ๆ ให้นึกถึงพรที่พวกเขาได้รับแล้วจากพระเจ้าและนึกถึงพระปรีชาสามารถของพระเจ้าที่จะประทานพรพวกเขาต่อไปตามศรัทธาของพวกเขา)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องจดจำความจริงเหล่านี้

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 7:13–15 และระบุผลที่จะเกิดขึ้นถ้าเลมัน เลมิวเอล และบุตรธิดาที่กบฏของอิชมาเอลกลับไปเยรูซาเล็ม

1 นีไฟ 7:16–22

พระเจ้าทรงปลดปล่อยนีไฟ

อธิบายว่าหลังจากนีไฟเตือนเลมันกับเลมิวเอลให้นึกถึงความพินาศที่จะเกิดแก่คนในเยรูซาเล็ม พวกเขาโกรธนีไฟ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 7:16 ขอให้ชั้นเรียนสมมติว่าอยู่ในสถานการณ์ของนีไฟ

  • ท่านจะรู้สึกอย่างไรถ้าอยู่ในสถานการณ์ของนีไฟ ท่านจะทำอย่างไร

ชี้ให้เห็นว่านีไฟตอบรับสถานการณ์โดยสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำสวดอ้อนวอนของนีไฟใน 1 นีไฟ 7:17–18

  • นีไฟสวดอ้อนวอนขออะไร ท่านพบว่าสิ่งสำคัญเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนของเขาคืออะไร

ขณะที่นักเรียนบอกคำตอบ พวกเขาพึงเห็นว่านีไฟขอให้ได้รับการปลดปล่อย “ตามศรัทธา [ของเขา]” ชี้ให้เห็นเช่นกันว่าเขาทูลขอการปลดปล่อยจากพี่ๆ เขาทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าเพิ่มพลังให้เขาสามารถแก้ไขปัญหาได้ อธิบายว่าการสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาหมายความว่าเราสวดอ้อนวอนด้วยความวางใจพระเจ้าและด้วยความเต็มใจจะกระทำ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“นีไฟเป็นแบบอย่างของคนที่รู้ เข้าใจ และวางใจในเดชานุภาพการทำให้บรรลุผลสำเร็จของพระผู้ช่วยให้รอด … โปรดสังเกตคำสวดอ้อนวอนของนีไฟในข้อ 17 ‘ข้าแต่พระเจ้า, ตามศรัทธาของข้าพระองค์อันมีอยู่ในพระองค์, ขอทรงปลดปล่อยข้าพระองค์ให้พ้นจากมือพี่ๆ ของข้าพระองค์ด้วยเถิด; แท้จริงแล้ว, แม้ ประทานกำลังให้ข้าพระองค์เพื่อข้าพระองค์จะทำให้สายรัด ที่ผูกข้าพระองค์ขาด’ (เน้นตัวเอน)

“… น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับข้าพเจ้าที่นีไฟไม่สวดอ้อนวอนขอ … ให้สภาวการณ์ของเขาเปลี่ยนไป แต่เขาสวดอ้อนวอนขอความเข้มแข็งเพื่อเปลี่ยนสภาวการณ์ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเขาสวดอ้อนวอนในลักษณะนี้เพราะเขารู้และเข้าใจ และเคยมีประสบการณ์ในเดชานุภาพการทำให้บรรลุผลสำเร็จแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด” (“In the Strength of the Lord” [Brigham Young University devotional address, Oct. 23, 2001], 4, speeches.byu.edu)

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนตามศรัทธาของเรา ชี้ให้เห็นว่าในสถานการณ์นี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของนีไฟเกือบจะทันที อย่างไรก็ดี คำสวดอ้อนวอนมักไม่ได้รับคำตอบเช่นนี้เสมอไป พระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนในเวลาของพระองค์ ในวิธีของพระองค์ และตามพระประสงค์ของพระองค์ เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นพยานถึงพลังของการสวดอ้อนวอนโดยขอให้พวกเขาตอบคำถามต่อไปนี้

  • ท่านสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาและได้รับความเข้มแข็งหรือความช่วยเหลือจากพระเจ้าทันทีหรือหลังจากนั้นระยะหนึ่งเมื่อใด (ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีกับหลักธรรมนี้)

บอกนักเรียนว่าหลังจากนีไฟได้รับการปลดปล่อยจากสายรัด พี่ๆ พยายามทำร้ายเขาอีกครั้ง เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 7:19–20

  • ใครโน้มน้าวเลมันกับเลมิวเอลให้เลิกพยายามสังหารนีไฟ

ชี้ให้เห็นว่าคำสวดอ้อนวอนของเรามักได้รับคำตอบและความจำเป็นของเรามักได้รับการตอบสนองผ่านการกระทำอันเปี่ยมด้วยศรัทธาของผู้อื่น ขณะนักเรียนในชั้นศึกษาข้อที่เหลือใน 1 นีไฟ 7 เชื้อเชิญพวกเขาให้สังเกตว่านีไฟตอบสนองพี่ๆ อย่างไรทั้งที่คนเหล่านั้นทำไม่ดีกับเขา ขอให้พวกเขาใคร่ครวญคำถามต่อไปนี้โดยไม่ต้องตอบออกเสียง

  • ท่านเคยตอบสนองอย่างไรเมื่อคนอื่นพยายามทำร้ายท่าน

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 7:21 ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำกล่าวของนีไฟเกี่ยวกับการให้อภัย

  • การให้อภัยอย่างหมดใจหมายความว่าอะไร (ถ้านักเรียนไม่แน่ใจ อธิบายว่าคำว่า อย่างหมดใจ หมายถึงอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา)

  • นีไฟกระตุ้นพี่ๆ ให้ทำอะไร เหตุใดคำแนะนำนี้จึงสำคัญ

เป็นพยานว่า การแสวงหาการให้อภัยและการให้อภัยผู้อื่นทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวและความสงบสุข เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงสถานการณ์ในครอบครัวที่เรียกร้องการให้อภัย

  • เหตุใดการให้อภัยจึงสำคัญอย่างยิ่งในครอบครัวของเรา

  • นึกถึงเวลาที่ท่านให้อภัยสมาชิกครอบครัวหรือเมื่อสมาชิกครอบครัวให้อภัยท่าน การทำเช่นนั้นส่งผลต่อสัมพันธภาพของท่านและวิญญาณในบ้านท่านอย่างไร

สรุปโดยเตือนนักเรียนว่าพระเจ้าทรงบัญชานีไฟกับพี่ๆ ให้แต่งงานและมีครอบครัว และพระเจ้าทรงเรียกร้องแบบเดียวกันในปัจจุบัน เป็นพยานเช่นกันว่าพระเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเราและประทานความเข้มแข็งแก่เราเพื่อเอาชนะความยากลำบากตามศรัทธาที่เรามีต่อพระองค์ เชื้อเชิญพวกเขาให้พิจารณาว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้หลักธรรมหนึ่งในบทเรียนวันนี้อย่างไรเพื่อช่วยครอบครัวของพวกเขา

การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

หมายเหตุ: การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์มีอยู่ตลอดคู่มือเล่มนี้ การทบทวนมีหลากหลายวิธีให้ท่านใช้ช่วยนักเรียนทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์เป็นประจำ

ความยาวของบทเรียนนี้อาจมีเวลาให้ทำกิจกรรมการทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจดำเนินกิจกรรมตอนต้นบทเรียน ช่วงพักระหว่างหัวข้อบทเรียน หรือตอนท้ายบทเรียน แต่ต้องกระชับเพื่อจะมีเวลาสำหรับบทเรียน ดูกิจกรรมการทบทวนอื่นๆ ได้จากภาคผนวก

เมื่อนักเรียนสามารถหาข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ได้อย่างง่ายดาย เข้าใจความหมาย เนื้อหา และการประยุกต์ใช้ พวกเขาย่อมมั่นใจมากขึ้นในการศึกษาส่วนตัว ความสามารถในการประยุกต์ใช้หลักธรรมพระกิตติคุณ และในโอกาสที่พวกเขาจะสอนจากพระคัมภีร์ พิจารณาคำประกาศต่อไปนี้จากประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ “เราหวังว่าจะไม่มีนักเรียนคนใดของท่านออกจากห้องเรียนด้วยความรู้สึกกลัวหรือขัดเขินหรือละอายใจที่ไม่สามารถพบความช่วยเหลือที่ตนต้องการได้เพราะไม่รู้พระคัมภีร์ดีพอจะหาข้อความที่ถูกต้อง” (“Eternal Investments” [ปราศรัยกับนักการศึกษาศาสนาซีอีเอส 10 ก.พ. 1989], 2, si.lds.org)

เพื่อช่วยให้นักเรียนคุ้นเคยกับการหาข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ให้พวกเขาดูผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ในที่คั่นหนังสือ หาข้อผู้เชี่ยวชาญห้าข้อแรกในพระคัมภีร์ และอ่าน ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ให้เด่นชัดเพื่อพวกเขาจะสามารถหาข้อความเหล่านั้นได้โดยง่าย

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

1 นีไฟ 7:2 อิชมาเอลมาจากเอฟราอิม

บางครั้งเรียกพระคัมภีร์มอรมอนว่า “ไม้ของโยเซฟ” (เอเสเคียล 37:19) หรือ “ไม้ของเอฟราอิม” (คพ. 27:5) ลีไฮเป็นผู้สืบตระกูลของมนัสเสห์ (ดู แอลมา 10:3) และอิชมาเอลเป็นผู้สืบตระกูลของเอฟราอิม (ดู เอรัสตัส สโนว์, Deseret News, Aug. 18, 1882) คำพยากรณ์ของยาโคบ (ดู ปฐมกาล 48:16; 49:22) เกิดสัมฤทธิผลเมื่ออิชมาเอล (หรือเอฟราอิม) มาถึงทวีปอเมริกาพร้อมลีไฮ (จากมนัสเสห์)

1 นีไฟ 7:3–5 ความสำคัญของการแต่งงาน

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เน้นความสำคัญของการแต่งงานในพระวิหาร

“เฉกเช่นบัพติศมาเป็นพระบัญญัติของพระเจ้า การแต่งงานในพระวิหารก็เช่นกัน บัพติศมาจำเป็นต่อการรับเข้าสู่ศาสนจักรฉันใด การแต่งงานในพระวิหารก็จำเป็นต่อความสูงส่งของเราในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าฉันนั้น นี่คือจุดหมายส่วนหนึ่งของเรา เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสุดท้ายได้หากปราศจากการแต่งงานในพระวิหาร

“อย่าพอใจกับสิ่งใดอื่น

“ท่านคงจะไม่ยอมรับวิธีบัพติศมาแบบชาวโลก ใช่หรือไม่

“พระผู้เป็นเจ้าทรงมีวิธีบัพติศมา—โดยการจุ่มลงไปในน้ำทั้งตัวโดยผู้ดำรงสิทธิอำนาจ

“แล้วท่านจะยอมรับการแต่งงานแบบชาวโลกหรือ

“พระองค์ทรงมีวิธีแต่งงานเช่นกัน นั่นคือการแต่งงานในพระวิหาร” (Teachings of Howard W. Hunter, ed. Clyde J. Williams [1997], 131–32; ดู คพ. 131:1–4 ด้วย)

1 นีไฟ 7:15 “หากพี่จะกลับไปเยรูซาเล็มพี่ก็จะตายด้วย”

นีไฟเตือนพี่ๆ และสมาชิกในครอบครัวของอิชมาเอลว่าพวกเขาจะตายแน่นอนถ้ากลับไปเยรูซาเล็ม ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่านีไฟพูดถูก หลายปีหลังจากลีไฮกับครอบครัวของอิชมาเอลออกจากเยรูซาเล็ม ชาวบาบิโลนล้อมเมืองนั้น ตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล การโอบล้อมประมาณ 18 เดือนทำให้ผู้คนของเยรูซาเล็มไม่มีอาหาร เมือง “แตก” และกองทัพของกษัตริย์เศเดคียาห์กระจัดกระจาย (ดู 2 พงศ์กษัตริย์ 25:1–7) จากนั้นชาวบาบิโลนจึงทำลายพระวิหารและพาคนจำนวนมากไปเป็นเชลยที่บาบิโลน ถ้าเลมัน เลมิวเอล และคนอื่นๆ กลับไปเยรูซาเล็มพวกเขาจะตกเป็นเชลยหรือไม่ก็ตายแน่นอน (ดู 2 นีไฟ 1:4) แต่เพราะพวกเขาเลือกติดตามลีไฮและนีไฟ พวกเขาจึงมีความสุขกับผลไม้และน้ำผึ้งในแผ่นดินอุดมมั่งคั่งแทน (ดู 1 นีไฟ 17:3–6) และได้รับแผ่นดินแห่งมรดก (ดู 2 นีไฟ 1:5) นอกจากนี้ พระเจ้ายังทรงเมตตาลูกหลานยุคสุดท้ายของเลมันกับเลมิวเอลโดยประทานพรพวกเขาด้วยพระกิตติคุณ (ดู 2 นีไฟ 4:7–9)

พิมพ์