บทที่ 9
1 นีไฟ 5
คำนำ
ขณะที่ซาไรยาห์ภรรยาของลีไฮรอบุตรชายกลับจากเยรูซาเล็ม เธอเกรงว่าพวกเขาตายเสียแล้วขณะพยายามไปเอาแผ่นจารึกทองเหลือง เมื่อพวกเขากลับมาอย่างปลอดภัยพร้อมแผ่นจารึก เธอได้รับพยานแรงกล้าขึ้นว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงนำทางและปกปักรักษาครอบครัวเธอ ลีไฮค้นคว้าแผ่นจารึกทองเหลืองและพบว่ามีค่ายิ่งต่อครอบครัวของเขา ขณะอ่านแผ่นจารึกเขาเปี่ยมด้วยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ และเขาพยากรณ์ว่าพระคัมภีร์ในแผ่นจารึกจะได้รับการปกปักรักษาไว้ให้ลูกหลานของเขา
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
1 นีไฟ 5:1–9
บุตรชายของลีไฮกลับมาหาครอบครัวในแดนทุรกันดารอย่างปลอดภัย
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 5:1–3 ขอให้ชั้นเรียนหาสาเหตุที่ซาไรยาห์บ่น
-
ซาไรยาห์บ่นอะไรบ้าง (คำตอบอาจได้แก่ ลีไฮเป็นคนช่างเห็นนิมิต เขานำครอบครัวออกมาจากแผ่นดินมรดกของพวกเขา และเขาทำการตัดสินใจที่อาจส่งผลให้สูญเสียบุตรชายและส่งผลให้พวกเขาถึงแก่ความตายในแดนทุรกันดาร)
ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาอาจจะเคยบ่นเกี่ยวกับสถานการณ์หนึ่งทั้งที่ไม่มีข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับสถานการณ์นั้น
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 5:4–6 ขอให้ชั้นเรียนเอาใจใส่ท่าทีที่ลีไฮตอบสนองการพร่ำบ่นของซาไรยาห์
-
ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับวิธีที่ลีไฮตอบสนองการพร่ำบ่นของซาไรยาห์ (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าลีไฮตอบสนองด้วยประจักษ์พยานและความเชื่อมั่นในพระเจ้าไม่ใช่ด้วยความกลัวหรือความสงสัย เขาไม่ตอบสนองด้วยความโกรธหรือฉุนเฉียว)
-
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการตอบสนองที่ลีไฮมีต่อซาไรยาห์
ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 5:7–9
-
ซาไรยาห์ได้รับอะไรจากประสบการณ์ครั้งนี้
1 นีไฟ 5:10–22
ลีไฮค้นคว้าแผ่นจารึกทองเหลือง
ขอให้นักเรียนใคร่ครวญว่ามีอะไรบ้างไหมที่พวกเขาคิดจะสละชีวิตเพื่อให้ได้มาหรือเก็บรักษาไว้
เชิญนักเรียนคนหนึ่งสรุป 1 นีไฟ 3–4 และเล่าเรื่องการเสียสละของครอบครัวลีไฮเพื่อให้ได้แผ่นจารึกทองเหลือง (นีไฟกับพี่ๆ เสี่ยงชีวิต เสียสละทรัพย์สินเงินทอง และเดินทางไกล)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องเสียสละเช่นนั้น
อธิบายว่าหลังจากครอบครัวถวายเครื่องพลีบูชาและน้อมขอบพระทัยพระเจ้า ลีไฮเริ่มอ่านเนื้อหาของแผ่นจารึกทันที เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 5:11–16 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่ลีไฮค้นพบบนแผ่นจารึกทองเหลือง ท่านอาจต้องการเขียนคำตอบสั้นๆ บนกระดาน
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 5:10 ในใจ ขอให้พวกเขามองหาคำที่บ่งบอกการอ่านพระคัมภีร์ของลีไฮ (เขา “ค้นคว้า”) เชื้อเชิญนักเรียนให้จับคู่สนทนาคำถามต่อไปนี้
-
อะไรคือความแตกต่างระหว่างการค้นคว้าพระคัมภีร์กับการอ่านอย่างเดียว (ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้เล่าถึงเวลาที่พวกเขาค้นคว้าพระคัมภีร์)
อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“เมื่อกล่าวว่า ‘ศึกษา’ ข้าพเจ้าหมายความถึงสิ่งที่มากกว่าการอ่าน เป็นสิ่งที่ดีหากจะอ่านพระคัมภีร์โดยกำหนดเวลาไว้เพื่อได้รู้ถึงข่าวสารจากพระคัมภีร์นั้นโดยรวม แต่สำหรับการเปลี่ยนใจเลื่อมใส ท่านควรสนใจเวลาที่ใช้ไปกับพระคัมภีร์นั้นมากกว่าปริมาณที่อ่านได้ในเวลาเดียวกัน บางครั้งข้าพเจ้ามองเห็นภาพว่าท่านกำลังอ่านพระคัมภีร์สองสามข้อ แล้วหยุดไตร่ตรอง อ่านข้อเดิมอีกครั้งอย่างครุ่นคิด และขณะที่ท่านคิดถึงความหมายนั้นอยู่ สวดอ้อนวอนเพื่อความเข้าใจด้วย โดยถามข้อสงสัยที่มีอยู่ในใจ รอคอยความประทับใจทางวิญญาณให้เกิดขึ้นจริงๆ และบันทึกความประทับใจและความเข้าใจอันลึกซึ้งนั้นไว้เพื่อจะทบทวนและเรียนรู้ได้มากขึ้นภายหลัง โดยการศึกษาแบบนี้ท่านอาจอ่านพระคัมภีร์ได้ไม่กี่บทไม่กี่ข้อในเวลาครึ่งชั่วโมง แต่ท่านกำลังทำให้พระคำของพระผู้เป็นเจ้ามีที่อยู่ในใจ และขณะนั้นพระองค์กำลังตรัสกับท่าน จงนึกถึงคำบรรยายของแอลมาเกี่ยวกับความรู้สึกลักษณะนี้ ‘มันเริ่มทำให้จิตวิญญาณข้าพเจ้าขยาย; แท้จริงแล้ว, มันเริ่มให้ความสว่างแก่ความเข้าใจของข้าพเจ้า, แท้จริงแล้ว, มันเริ่มมีรสเลิศสำหรับข้าพเจ้า’ [แอลมา 32:28]” (“เมื่อท่านได้หันกลับแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, หน้า 13)
ให้เวลานักเรียนใคร่ครวญการศึกษาพระคัมภีร์ของตน ขอให้พวกเขาเขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนเกี่ยวกับวิธีค้นคว้าพระคัมภีร์อย่างมีความหมาย หลังจากเขียนเสร็จแล้ว เชื้อเชิญพวกเขาให้คิดหาวิธีปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์ของตน ขอให้พวกเขาเลือกหนึ่งวิธีเพื่อปรับปรุงการค้นคว้าพระคัมภีร์ของพวกเขา กระตุ้นพวกเขาให้เขียนเป้าหมายนี้ไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนบอกเป้าหมายกับบางคน (ตัวอย่างเช่น บอกท่าน บิดามารดา หรือนักเรียนอีกคนหนึ่ง) ผู้จะเตือนพวกเขาให้นึกถึงเป้าหมายนั้นและกระตุ้นพวกเขาให้ทำจนสำเร็จ
อธิบายว่าพระเจ้าประทานพรลีไฮสำหรับการค้นคว้าพระคัมภีร์ เพื่อช่วยให้นักเรียนค้นพบพรเหล่านี้ เชื้อเชิญพวกเขาให้อ่าน 1 นีไฟ 5:16–20 ในใจ
-
การค้นคว้าแผ่นจารึกทองเหลืองมีอิทธิพลต่อลีไฮอย่างไร
เน้นว่าเมื่อลีไฮค้นคว้าพระคัมภีร์ เขาเปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์และได้รับการเปิดเผย “เกี่ยวกับพงศ์พันธุ์ของท่าน” (ลูกหลานของท่าน) รับรองกับนักเรียนว่า เมื่อเราค้นคว้าพระคัมภีร์ เราสามารถเปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์และได้รับการเปิดเผย ทำนองเดียวกัน เมื่อเราเสียสละเวลาและพลังงานเพื่อค้นคว้าพระคัมภีร์เช่นเดียวกับลีไฮ เราจะได้รับพลังเพื่อรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า
-
ท่านได้รับพรในด้านใดบ้างจากการค้นคว้าพระคัมภีร์
-
ท่านรู้สึกถึงพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะศึกษาพระคัมภีร์เมื่อใด
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ซึ่งเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นพยานถึงพรของการค้นคว้าพระคัมภีร์
“เมื่อเราต้องการพูดกับพระผู้เป็นเจ้า เราสวดอ้อนวอน และเมื่อเราต้องการให้พระองค์ตรัสกับเรา เราค้นคว้าพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เพราะพระคำของพระองค์ตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ จากนั้นพระองค์จะทรงสอนเราขณะที่เราฟังการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์
“หากท่านไม่ได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ตรัสกับท่านในระยะนี้ ให้กลับไปเริ่มอ่านและฟังพระคัมภีร์ พระคัมภีร์คือเส้นชีวิตทางวิญญาณของเรา” “พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์: อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าอันไปสู่ความรอดของเรา” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, หน้า 32)
อ่านออกเสียง 1 นีไฟ 5:21–22 โดยขอให้นักเรียนดูพระคัมภีร์ตาม ขณะที่ท่านอ่านให้เน้นถ้อยคำเหล่านี้ “เป็นปรีชาญาณในพระเจ้าที่เราจะนำบันทึกไปด้วย, ขณะเราเดินทางในแดนทุรกันดาร”
-
เหตุใดเราควรนำพระคัมภีร์ติดตัวไปด้วยในการเดินทางของเรา
-
เราสามารถนำพระคัมภีร์ไปด้วยได้อย่างไร
ชี้ให้เห็นว่าลีไฮกับครอบครัวได้แผ่นจารึกทองเหลืองผ่านการเสียสละอย่างมาก หากไม่มีพระคัมภีร์ลีไฮกับครอบครัวคงไม่ประสบผลสำเร็จในการเดินทาง กระตุ้นนักเรียนให้เก็บพระคัมภีร์ไว้กับตัวขณะเดินทางผ่านความเป็นมรรตัย
เชื้อเชิญนักเรียนให้ใคร่ครวญการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัว ท่านอาจเชิญนักเรียนคนหนึ่งที่อ่านพระคัมภีร์เป็นประจำให้กำลังใจและประจักษ์พยานกับเพื่อนวัยเดียวกัน กระตุ้นนักเรียนให้สร้างนิสัยของการใช้เวลาค้นคว้าพระคัมภีร์ทุกวัน
หมายเหตุ: ความยาวของบทเรียนนี้อาจมีเวลาให้ทำกิจกรรมผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์จากบทก่อน