คลังค้นคว้า
บทที่ 118: 3 นีไฟ 6–7


บทที่ 118

3 นีไฟ 6–7

คำนำ

หลังจากการปลดปล่อยพวกเขาอย่างน่าอัศจรรย์จากพวกโจรแกดิ-แอนทัน ชาวนีไฟมีสันติภาพประมาณสามปี แต่ความจองหอง การแบ่งชนชั้น และการข่มเหงเกิดขึ้นในหมู่คน ขณะที่บางคนยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า หลายคนกลับเข้าสู่การมั่วสุมลับ เพราะการมั่วสุมลับหัวหน้าผู้พิพากษาจึงถูกฆาตกรรมและฝ่ายปกครองชาวนีไฟถูกล้มล้าง ผู้คนแบ่งเป็นเผ่าและแต่งตั้งผู้นำของตน นีไฟปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้คนด้วยพลังอำนาจและสิทธิอำนาจมากมาย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

3 นีไฟ 6:1–18

หลังจากช่วงเวลาของความรุ่งเรือง ชาวนีไฟเริ่มจองหองและศาสนจักรแตกกลุ่ม

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียน ขอให้นักเรียนตอบและอธิบายคำตอบของพวกเขา

เป็นไปได้หรือไม่ที่คนบางคนจะ …

ร่ำรวยและอ่อนน้อมถ่อมตน

ยากจนและจองหอง

มีการศึกษาและอ่อนน้อมถ่อมตน

ไม่มีการศึกษาและจองหอง

กระตุ้นนักเรียนให้ตรึกตรองคำถามเหล่านี้ต่อไปขณะศึกษา 3 นีไฟ 6 สรุป 3 นีไฟ 6:1–9 โดยอธิบายว่าหลังจากชาวนีไฟและชาวเลมันปราบพวกโจรแกดิแอนทันแล้ว พวกเขาสถาปนาสันติภาพในแผ่นดินและเริ่มรุ่งเรือง แต่ไม่นาน สันติภาพและความรุ่งเรืองของพวกเขาก็ถูกคุกคาม

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 6:5, 10–12 ขอให้ชั้นเรียนดูว่าอะไรเริ่มคุกคามสันติภาพและความรุ่งเรืองของผู้คน

  • สิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นและคุกคามสันติตลอดจนความรุ่งเรืองของผู้คนคืออะไร

  • ท่านเคยเห็นการสั่งสมความร่ำรวยหรือการเล่าเรียนนำไปสู่ปัญหาคล้ายกันในโรงเรียน ชุมชน หรือประเทศของท่านหรือไม่ หากเคยเห็น เห็นในด้านใด

วาดเส้นแนวตั้งตรงกลางกระดานเพื่อแบ่งเป็นสองคอลัมน์ เขียนด้านบนสุดของคอลัมน์หนึ่งว่า จองหอง และบนสุดของอีกคอลัมน์หนึ่งว่า ถ่อมตน เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า 3 นีไฟ 6:13–14 โดยมองหาคำและวลีที่บอกว่าผู้คนตอบสนองอย่างไรเมื่อความร่ำรวยและการเล่าเรียนเริ่มแบ่งแยกพวกเขา (ท่านอาจต้องอธิบายว่า บริภาษ หรือ จ้วงจาบ หมายถึงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงหรือพูดล่วงเกินคนบางคน) เมื่อนักเรียนอ่านจบแล้ว ให้พวกเขาเขียนคำหรือวลีที่พบลงในคอลัมน์ที่เหมาะสมบนกระดาน

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรใน 3 นีไฟ 6:13 ที่ยืนยันว่าคนบางคนซึ่งถูกคนจองหองข่มเหงกำลังตอบสนองด้วยความจองหอง

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการตอบโต้ “การบริภาษด้วยการบริภาษ” (หรือการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์) จึงเป็นการแสดงความจองหอง

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับวิธีตอบสนองในช่วงนี้ของชาวเลมันที่เปลี่ยนใจเลื่อมใส

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรได้บ้างจาก 3 นีไฟ 6:13–14 (คำตอบของนักเรียนอาจหลากหลาย แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เราสามารถเลือกอ่อนน้อมถ่อมตนและซื่อสัตย์ได้โดยไม่คำนึงถึงสภาวการณ์ของเรา)

ให้นักเรียนดูคอลัมน์บนกระดานที่เขียนคำตอบเกี่ยวกับความอ่อนน้อมถ่อมตน ถามคำถามต่อไปนี้

  • เราสามารถดำเนินการอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ตัวเรายังคงอ่อนน้อมถ่อมตนและซื่อสัตย์ในทุกสภาวการณ์ (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดานในคอลัมน์ ถ่อมตน)

  • นึกถึงคนที่ท่านรู้สึกว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของการเลือกอ่อนน้อมถ่อมตนและซื่อสัตย์ โดยไม่คำนึงถึงสภาวการณ์ของตนเอง บุคคลผู้นี้เป็นแบบอย่างของความถ่อมตนอย่างไร

อธิบายว่าเพราะชาวนีไฟส่วนใหญ่ไม่กลับใจจากความจองหอง สถานการณ์ของพวกเขาจึงยิ่งเลวร้าย เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 3 นีไฟ 6:15–18 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองว่าความจองหองของผู้คนยอมให้ซาตานมีอิทธิพลต่อพวกเขาอย่างไร

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความจองหองกับอำนาจของซาตานเพื่อล่อลวงเรา (ขณะที่นักเรียนตอบ จงช่วยพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้: เมื่อเราจองหอง เรายอมให้ซาตานมีอำนาจล่อลวงเรามากขึ้นและชักนำเราให้ทำบาปมากขึ้น ท่านอาจต้องการกระตุ้นพวกเขาให้เขียนหลักธรรมนี้ไว้ในพระคัมภีร์หรือในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 6:15–18 คำและวลีใดพูดถึงการเปลี่ยนแปลงอันชั่วร้ายของใจที่คนเหล่านี้ประสบเพราะความจองหอง (พวกเขา “ถูกปล่อย … ให้ถลำไป …สู่ที่ใดก็ตามที่ [ซาตาน] ปรารถนาจะพาไป, และให้ทำความชั่วช้าสามานย์ใดๆ ก็ตามที่เขาปรารถนาจะให้ทำ” พวกเขาอยู่ใน “สภาพของความชั่วร้ายอันน่าพรั่นพรึง” และ “กบฏต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างจงใจ”)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดความจองหองจึงส่งผลถึงระดับที่ซาตานสามารถมีอิทธิพลต่อเราได้

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

นอกจากคำตอบที่นักเรียนให้แล้ว ท่านอาจเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้นักเรียนฟังสิ่งที่ประธานอายริงก์เตือนว่าเป็นอันตรายอย่างหนึ่งของความจองหอง

“ความจองหองส่งเสียงดังในตัวเราซึ่งทำให้ไม่ค่อยได้ยินสุรเสียงเบาๆ ของพระวิญญาณ และไม่นานในความหลงระเริงของเรา เราไม่ฟังสุรเสียงนั้นอีกเลย เราสรุปอย่างรวดเร็วว่าเราไม่ต้องการสุรเสียงดังกล่าว” (“การสวดอ้อนวอน,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, หน้า 19)

  • เหตุใดการไม่ฟังสุรเสียงของพระวิญญาณอีกเลยจึงเป็นอันตราย (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเมื่อเราเพิกเฉยต่อสุรเสียงกระซิบของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราย่อมหวั่นไหวง่ายขึ้นต่อการล่อลวงของมาร)

ให้นักเรียนดูคำตอบของความอ่อนน้อมถ่อมคนที่เขียนไว้บนกระดานอีกครั้ง เชื้อเชิญพวกเขาให้เลือกหนึ่งคำตอบที่รู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวพวกเขามากที่สุด ให้เวลาเขียนสองสามนาทีว่าพวกเขาจะเริ่มประยุกต์ใช้ข้อเสนอแนะนั้นทันทีที่โรงเรียนหรือที่บ้านได้อย่างไร

3 นีไฟ 6:19–7:14

การมั่วสุมลับทำลายฝ่ายปกครองชาวนีไฟและผู้คนแบ่งแยกเป็นเผ่าต่างๆ

ลอกเส้นเวลาต่อไปนี้ไว้บนกระดาน

เส้นเวลา

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสี่กลุ่ม และมอบหมายข้อพระคัมภีร์บนกระดานให้กลุ่มละหนึ่งช่วง ขอให้นักเรียนอ่านช่วงพระคัมภีร์ที่ได้รับมอบหมายในใจโดยมองหาเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวนีไฟ หลังจากนักเรียนมีเวลาอ่านมากพอแล้ว เชิญนักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มเขียนเหตุการณ์สำคัญจากข้อที่ได้รับมอบหมายไว้ใต้หัวข้อที่สอดคล้องกันในเส้นเวลา (นักเรียนคนอื่นในแต่ละกลุ่มอาจช่วยได้) เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ให้อธิบายว่าเหตุการณ์เหล่านั้นแสดงให้เห็นว่าการมั่วสุมลับนำไปสู่การล่มสลายของฝ่ายปกครองชาวนีไฟและการแบ่งแยกผู้คนเป็นเผ่าๆ อย่างไร

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 3 นีไฟ 6:27–30 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุชื่อผู้ก่อตั้งและจุดประสงค์ของการมั่วสุมลับ เมื่อนักเรียนระบุชื่อผู้ก่อตั้งการมั่วสุมลับ (มาร) แล้ว ให้ถามว่า

  • คำและวลีใดพูดถึงจุดประสงค์ของการมั่วสุมลับ (คำตอบอาจได้แก่ “รวมกันต่อสู้ความชอบธรรมทั้งปวง” “ทำลาย” ผู้คนของพระเจ้า “ต่อต้านกฎและสิทธิของประเทศตน” และ “แผ่นดินจะไม่มีเสรีภาพอีกต่อไป”)

  • คนที่กระทำฆาตกรรมศาสดาพยากรณ์หนีการลงโทษอย่างไร (เพื่อนและครอบครัวของพวกเขาผู้เป็นสมาชิกของการมั่วสุมลับร่วมมือกันช่วยปกปิดการกระทำของพวกเขาเป็นความลับและหลีกเลี่ยงผลจากการกระทำของตน)

  • สมมติว่าท่านมีเพื่อนบางคนต้องการหลีกเลี่ยงผลจากการกระทำของตน ท่านจะช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและมาตรฐานพระกิตติคุณได้อย่างไร

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 3 นีไฟ 7:1–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองผลกระทบจากการมั่วสุมลับเหล่านี้ในบรรดาชาวนีไฟ อธิบายว่า มารชักจูงผู้คนเข้าสู่การมั่วสุมลับเพื่อพยายามทำลายความชอบธรรมและเพิ่มพูนความชั่วช้าสามานย์ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าวิธีและเหตุจูงใจของการมั่วสุมลับมักจะแยบยลและสืบค้นไม่ง่าย กระตุ้นพวกเขาให้หลีกเลี่ยงการคบหากับกลุ่มคนหรือบุคคลใดก็ตามที่คล้ายกับการมั่วสุมลับ

3 นีไฟ 7:15–26

ในช่วงเวลาที่มีน้อยคนซื่อสัตย์ นีไฟยังคงปฏิบัติศาสนกิจต่อไป และมีบางคนเปลี่ยนใจเลื่อมใส

  • ท่านคิดว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรถ้าท่านมีชีวิตอยู่ท่ามกลางชาวนีไฟหลังจากฝ่ายปกครองของพวกเขาถูกล้มล้าง เพราะเหตุใด

  • ท่านคิดว่าท่านจะหันไปขอการนำและคำแนะนำจากที่ใด

ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่าน 3 นีไฟ 7:15–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงอาจจะต้องการทำตามนีไฟภายใต้สภาวการณ์เหล่านี้ ท่านอาจขอให้นักเรียนหยุดครู่หนึ่งหลังจากอ่านหนึ่งหรือสองข้อเพื่อท่านจะขอให้นักเรียนอธิบายได้ว่าเหตุใดคนเหล่านั้นจึงน่าจะได้รับการดลใจให้ทำตามนีไฟ

  • อะไรคือข่าวสารที่นีไฟให้แก่ผู้คน ณ เวลานี้ (ดู 3 นีไฟ 7:16)

  • ผู้นำศาสนจักรทุกวันนี้เป็นเหมือนนีไฟอย่างไร

  • ท่านเคยเห็นผู้นำศาสนจักร “ปฏิบัติด้วยพลังอำนาจและสิทธิอำนาจมากมาย” เมื่อใด (3 นีไฟ 7:17)

ขอให้นักเรียนอ่าน 3 นีไฟ 7:21–26 ในใจและระบุว่าคนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสได้รับพรเพราะทำตามนีไฟและกลับใจจากบาปของพวกเขาอย่างไร เชิญนักเรียนหลายๆ คนอธิบายสิ่งที่พวกเขาพบ

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากตัวอย่างของคนที่กลับใจและทำตามนีไฟ

นักเรียนอาจแบ่งปันความจริงหลากหลาย แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าเรากลับใจและทำตามผู้รับใช้ของพระเจ้า เราจะได้รับอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • เหตุใดการกลับใจจึงจำเป็นทั้งนี้เพื่อให้เรามีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับเรา

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการทำตามผู้รับใช้ของพระเจ้าจึงช่วยให้เราได้รับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ง่ายขึ้น

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“ข้าพเจ้าสรุปว่าการนำทางด้านวิญญาณส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับการทำตนให้สอดคล้องกับประธานศาสนจักร ฝ่ายประธานสูงสุด และโควรัมอัครสาวกสิบสอง—คือทุกคนได้รับการสนับสนุนในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย … ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเราจะคาดหวังที่จะทำตนให้สอดคล้องกับพระวิญญาณของพระเจ้าอย่างเต็มที่ได้อย่างไรหากเราไม่ทำตนให้สอดคล้องกับประธานศาสนจักรและท่านอื่นๆ ที่เป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย” (ดู “ได้รับเรียกและเลือก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, หน้า 64)

  • ท่านเคยรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เพราะท่านได้เลือกเชื่อฟังผู้รับใช้ของพระเจ้าเมื่อใด

กระตุ้นนักเรียนให้จดความประทับใจที่พวกเขาได้รับเกี่ยวกับสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อประยุกต์ใช้ความจริงที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้ เน้นว่าแม้เมื่อคนอื่นเลือกดำเนินชีวิตขัดกับพระบัญญัติของพระเจ้า เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในบรรดาชาวนีไฟ แต่เราสามารถเลือกทำตามพระผู้เป็นเจ้าและผู้รับใช้ที่พระองค์ทรงเลือกด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

3 นีไฟ 6:10–18 ผลของความจองหอง

ใน 3 นีไฟ 6:10–18 เราอ่านว่าความจองหองสามารถทำให้เกิดการแบ่งแยกในบรรดาผู้คนได้ ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่าแนวโน้มในการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นแสดงให้เห็นชัดว่าเราจองหอง ท่านเตือนเช่นกันว่าความจองหองส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่นอย่างไร

“คนจองหองทำให้ทุกคนเป็นปฏิปักษ์ของพวกเขาโดยใช้สติปัญญา ความคิดเห็น งาน ความมั่งคั่ง และพรสวรรค์ของตน หรือเครื่องวัดทางโลกอื่นๆ ต่อต้านผู้อื่น ในถ้อยคำของซี. เอส. ลูอิส ‘คนจองหองไม่ได้รับความพอใจจากการมีบางสิ่ง แต่จากการมีมากกว่าคนข้างเคียง … การเปรียบเทียบนี่เองที่ทำให้ท่านจองหอง นั่นคือ ความพอใจจากการอยู่เหนือผู้อื่น ทันทีที่องค์ประกอบของการชิงดีชิงเด่นหมดไป ความจองหองก็หมดตาม” (Mere Christianity, New York: Macmillan, 1952, pp. 109–10.) …

“ความจองหองส่งผลลบต่อความสัมพันธ์ทั้งหมดของเรา—ความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าและผู้รับใช้ของพระองค์ ระหว่างสามีภรรยา บิดามารดากับบุตรธิดา ลูกจ้างกับนายจ้าง ครูกับนักเรียน และมนุษยชาติทั้งปวง ระดับความจองหองของเราเป็นตัวกำหนดว่าเราปฏิบัติต่อพระผู้เป็นเจ้าและพี่น้องชายหญิงของเราอย่างไร” (“Beware of Pride,Ensign, May 1989, 4, 6)