คลังค้นคว้า
บทที่ 119: 3 นีไฟ 8–10


บทที่ 119

3 นีไฟ 8–10

คำนำ

สามสิบสามปีหลังจากเห็นเครื่องหมายการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด ชาวนีไฟเริ่มมองหาเครื่องหมายที่แซมิวเอลชาวเลมันพยากรณ์ไว้เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด แม้ให้ครื่องหมายไว้มากมาย แต่ความสงสัยและการโต้เถียงก็เกิดขึ้นในบรรดาผู้คน ในปีถัดไปคำพยากรณ์ของแซมิวเอลเกิดสัมฤทธิผล หลังจากพายุร้าย แผ่นดินไหว และภัยพิบัติอื่นๆ ก่อให้เกิดความพินาศในวงกว้าง ความมืดปกคลุมแผ่นดินเป็นเวลาสามวัน ในความมืด คนที่รอดชีวิตจากความพินาศได้ยินสุรเสียงของพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงเชื้อเชิญพวกเขาให้กลับใจและกลับมาหาพระองค์ เมื่อความมืดกระจายตัว ความโศกเศร้าของผู้คนเปลี่ยนเป็นปีติและการสรรเสริญพระเยซูคริสต์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

3 นีไฟ 8:1–18

ความพินาศอันใหญ่หลวงเป็นสัญญาณบ่งบอกการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ โดยทำให้คำพยากรณ์ของแซมิวเอลชาวเลมันเกิดสัมฤทธิผล

เริ่มชั้นเรียนโดยถามดังนี้

  • ท่านรู้จักเครื่องหมายที่เกิดขึ้นแล้วบ้างหรือไม่อันแสดงให้เห็นว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดใกล้เข้ามาแล้ว (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าคำพยากรณ์มากมายเช่น การฟื้นฟูพระกิตติคุณ การมาของศาสดาพยากรณ์เอลียาห์ และการสั่งสอนพระกิตติคุณทั่วโลก ได้เกิดสัมฤทธิผลแล้วหรือกำลังเกิดสัมฤทธิผล)

  • ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านรู้แจ้งชัดว่านั่นเป็นเครื่องหมายบ่งบอกชัดเจนว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดกำลังใกล้เข้ามา

อธิบายว่าเราอยู่ในเวลาที่คล้ายกับเวลาก่อนพระเยซูคริสต์เสด็จเยือนชาวนีไฟ เฉกเช่นชาวนีไฟเฝ้าคอยเครื่องหมายที่แซมิวเอลชาวเลมันพยากรณ์ไว้ว่าจะเป็นสัญญาณการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ เราควรเฝ้าคอยเครื่องหมายการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดเช่นกัน

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 8:3–4 ในใจ โดยระบุความแตกต่างที่ชาวนีไฟบางคนรู้สึกเกี่ยวกับเครื่องหมาย ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ (ถึงแม้ผู้คนเฝ้าคอยเครื่องหมายด้วย “ความตั้งใจอย่างมาก” แต่ “ความสงสัยและการโต้เถียงอย่างรุนแรง” ก็ยังมีอยู่ในบรรดาพวกเขา)

  • สถานการณ์ดังบรรยายไว้ใน 3 นีไฟ 8:3–4 คล้ายกับสภาพในโลกปัจจุบันในด้านใดบ้าง

  • เราสามารถเสริมสร้างศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ได้อย่างไรแม้เมื่อคนมากมายรอบข้างเราแสดงความสงสัย

ถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยประสบกับพายุรุนแรง แผ่นดินไหว และวิบัติภัยอื่นๆ หรือไม่ ขณะที่นักเรียนตอบ ให้พวกเขาแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรในระหว่างและหลังจากประสบการณ์นั้น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 8:5–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ 34 หลังจากการประสูติของพระเยซูคริสต์ จากนั้นให้นักเรียนอ่าน 3 นีไฟ 8:8–18 ในใจโดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้อยู่อาศัยของเมืองต่างๆ ให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ เตือนความจำนักเรียนว่าแซมิวเอลชาวเลมันพยากรณ์เรื่องเหล่านี้ไว้แล้ว (ดู ฮีลามัน 14:20–27) เน้นว่า ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์จะเกิดสัมฤทธิผลทั้งหมด และ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงถือว่าคนชั่วร้ายต้องรับผิดชอบการกระทำของตน

3 นีไฟ 8:19–25

ความมืดปกคลุมแผ่นดินเป็นเวลาสามวัน

อธิบายว่าหลังจากพายุและแผ่นดินไหวยุติลง ความมืดปกคลุมแผ่นดินเป็นเวลาสามวัน ปิดไฟในห้องสักครู่ จากนั้นถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยอยู่ในสถานที่มืดสนิทหรือไม่ อย่างเช่น ถ้ำหรือห้องที่ไม่มีหน้าต่าง

  • ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่ออยู่ในสถานที่นั้น

ชี้ให้เห็นว่าความมืดที่ปกคลุมแผ่นดินเป็นเวลาสามวันแตกต่างอย่างไรจากความมืดที่เกิดขึ้นเมื่อเราปิดไฟหรือไปในที่ซึ่งไม่มีหน้าต่าง ขอให้นักเรียนอ่าน 3 นีไฟ 8:19–23 ในใจโดยมองหาวลีบรรยายความมืดที่ชาวนีไฟประสบ (คำตอบอาจได้แก่ “ความมืดหนาทึบ” “ไอแห่งความืด” “หมอกแห่งความมืด” และ “ไม่มีความสว่าง”)

ขอให้นักเรียนอ่าน 3 นีไฟ 8:23–25 ในใจ โดยมองหาผลของความมืดต่อชาวนีไฟผู้รอดชีวิตจากความพินาศ ให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

3 นีไฟ 9:1–14

ในความมืด พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญคนที่รอดชีวิตจากความพินาศให้กลับใจและมาหาพระองค์

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 9:1–12 ในใจโดยมองหาคำตอบของคำถามเหล่านี้

เหตุใดจึงเกิดความพินาศครั้งนี้

ซาตานมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความพินาศครั้งนี้

เรื่องนี้สอนอะไรเกี่ยวกับซาตานและวิธีที่เขาปฏิบัติต่อคนที่ติดตามเขา

อ่านออกเสียง 3 นีไฟ 9:13–14 ให้ชั้นเรียนฟัง ขอให้นักเรียนดูตามโดยมองหาพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดถึงคนที่ได้รับการละเว้นจากความพินาศ ขอให้นักเรียนนึกภาพชาวนีไฟเหล่านั้นกำลังฟังสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอดในความมืดสนิท พวกเขาได้รับการ “ละเว้นเพราะ [พวกเขา] ชอบธรรมกว่า” คนที่ถูกทำลาย แต่พวกเขายังต้องกลับใจและเปลี่ยนแปลง (ดู 3 นีไฟ 9:13; 10:12)

  • ท่านคิดว่าชาวนีไฟรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินพระดำรัสเชื้อเชิญดังกล่าวจากพระผู้ช่วยให้รอด เพราะเหตุใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ซี. สก็อตต์ โกรว์แห่งสาวกเจ็ดสิบ

“พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้รักษาที่ยิ่งใหญ่ของจิตวิญญาณเรา …

“เมื่อเราทำบาป ซาตานบอกเราว่าเราแพ้ ตรงกันข้าม พระผู้ไถ่ทรงเสนอการชดใช้ให้ทุกคน ไม่ว่าเราจะเคยทำอะไรผิดมา แม้ให้ท่านและให้ข้าพเจ้า” (“ปาฏิหาริย์ของการชดใช้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, หน้า 137)

ยืนยันว่าพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 9:13—ให้มาหาพระองค์และรับการรักษา—ขยายมาถึงเราแต่ละคน เพื่อให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาเรา เราต้องยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญให้มาหาพระองค์ กลับใจจากบาปของเรา และเปลี่ยนใจเลื่อมใส ขอให้นักเรียนนึกถึงด้านต่างๆ ของชีวิตพวกเขาที่พวกเขาต้องการการรักษาของพระผู้ช่วยให้รอด จากนั้นให้พวกเขาตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

  • ท่านต้องทำอะไรท่านจึงจะได้รับการรักษาของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตท่าน

3 นีไฟ 9:15–22

พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศว่ากฎของโมเสสเกิดสัมฤทธิผลผ่านการพลีพระชนม์ชีพของพระองค์

อ่านออกเสียง 3 นีไฟ 9:19 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเยซูคริสต์ตรัสว่าพระองค์จะไม่ทรงยอมรับจากชาวนีไฟอีก ท่านอาจจำเป็นต้องเตือนความจำนักเรียนว่าเวลานี้ชาวนีไฟดำเนินชีวิตตามกฎของโมเสส ส่วนหนึ่งในกฎของโมเสสพระเจ้าทรงบัญชาผู้คนให้ถวายสัตวบูชาอันเป็นรูปแบบและภาพลักษณ์ของการพลีพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านการชดใช้ของพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 9:20 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสให้ชาวนีไฟถวายเป็นเครื่องพลีบูชาเวลานี้ ให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ท่านคิดว่าการถวายเครื่องพลีบูชาด้วย “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” หมายความว่าอย่างไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาพรใดกับคนที่มาหาพระองค์ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด

อธิบายว่าเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนวิธีหนึ่งที่เราจะถวาย “ใจที่ชอกช้ำ” และ “วิญญาณที่สำนึกผิด” อ่านคำกล่าวต่อไปนี้โดยขอให้นักเรียนฟังคำที่เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันใช้ช่วยให้เราเข้าใจวลีเหล่านี้

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“ท่านสามารถถวายพระเจ้าด้วยของถวายแห่งใจที่ชอกช้ำหรือกลับใจ และวิญญาณที่สำนึกผิดหรือเชื่อฟังของท่าน ในความเป็นจริง ของถวายนั้นคือตัวท่านเอง—คือสิ่งที่ท่านเป็นและสิ่งที่ท่านกำลังจะเป็น

“หากชีวิตท่านมีสิ่งใดที่ไม่บริสุทธิ์หรือไม่มีค่าควร เมื่อท่านขจัดมันออกไป นั่นคือของถวายแด่พระผู้ช่วยให้รอด หากชีวิตท่านขาดสิ่งใดที่เป็นนิสัยหรือคุณสมบัติที่ดี เมื่อท่านรับสิ่งนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในบุคลิกลักษณะของท่าน ท่านกำลังมอบของถวายแด่พระเจ้า” (“เมื่อท่านได้หันกลับแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, หน้า 14)

  • เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันใช้คำใดช่วยให้เราเข้าใจวลี “ใจที่ชอกช้ำ” (กลับใจ) ท่านคิดว่าการมีใจที่กลับใจหมายความว่าอย่างไร

  • เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันใช้คำใดช่วยให้เราเข้าใจวลี “วิญญาณที่ชอกช้ำ” (เชื่อฟัง) ท่านจะบอกลักษณะคนที่มีวิญญาณเชื่อฟังว่าอย่างไร

ขอให้นักเรียนอ่าน 3 นีไฟ 9:21–22 ในใจโดยมองหาคำอธิบายของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับวิธีที่เราควรมาหาพระองค์ ให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ ชูภาพเด็กเล็ก อาจจะเป็นบางคนจากครอบครัวท่าน

  • ท่านคิดว่าเด็กเล็กมาหาพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร นี่ช่วยให้ท่านเข้าใจวิธีที่เราควรมาหาพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

เขียนบนกระดานดังนี้

ถ้าเรามาหาพระคริสต์ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด พระองค์จะทรง …

ขอให้นักเรียนทบทวน 3 นีไฟ 9:13–15, 19–22 เพื่อหาวิธีเติมข้อความบนระดานให้ครบถ้วน เชื้อเชิญนักเรียนให้รายงานสิ่งที่พบ คำตอบอาจได้แก่พระองค์จะทรงรักษาเรา (ดู 3 นีไฟ 9:13) ประทานชีวิตนิรันดร์แก่เรา (ดู 3 นีไฟ 9:14) และทรงรับเรา (ดู 3 นีไฟ 9:22) หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เติมข้อความบนกระดาน: ถ้าเรามาหาพระคริสต์ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด พระองค์จะทรงรับเรา ทรงรักษาเรา และประทานชีวิตนิรันดร์แก่เรา

3 นีไฟ 10

พระเจ้าทรงเสนอจะรวมผู้คนของพระองค์ดังแม่ไก่รวมลูกเจี๊ยบ

สรุป 3 นีไฟ 10:1–3 โดยอธิบายว่าหลังจากได้ยินสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด ผู้คนประหลาดใจจนพวกเขาเงียบงันไปหลายชั่วโมง จากนั้นพระองค์ตรัสกับผู้คนอีก

ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 3 นีไฟ 10:4–6 ชี้ให้เห็นว่าในข้อเหล่านี้ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงเชื้อสายแห่งอิสราเอล ผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นเหมือนแม่ไก่คุ้มครองลูกเจี๊ยบจากอันตรายในด้านใด เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดไม่ทรงรวมและคุ้มครองเชื้อสายแห่งอิสราเอลทั้งหมด (พวกเขาไม่ยอมมาหาพระองค์)

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาอะไรกับคนที่จะกลับใจและกลับมาหาพระองค์ (พระองค์จะทรงรวมพวกเขาดังแม่ไก่รวมลูกเจี๊ยบ)

ขอให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามนี้ไว้บนกระดานหรืออ่านช้าๆ ให้นักเรียนจดตาม)

  • ท่านเคยรู้สึกถึงพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้รับการบำรุงเลี้ยงและความคุ้มครองจากพระองค์เมื่อใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 10:9–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับผู้คน ท่านอาจต้องการสรุปโดยเป็นพยานว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเมตตาทุกคนที่มาหาพระองค์ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด ท่านอาจต้องการอธิบายเช่นกันว่าในบทเรียนต่อไป นักเรียนจะสนทนาเรื่องพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนผู้คนและพระองค์ทรงปฏิบัติต่อพวกเขาแต่ละคนอย่างไร

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

3 นีไฟ 9:2 “มารหัวเราะ, และเหล่าเทพของเขาชื่นชมยินดี”

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับปฏิกิริยาของปฏิปักษ์เมื่อเราทำบาป

“‘อาดัมตกเพื่อมนุษย์จะเป็นอยู่; และมนุษย์เป็นอยู่, เพื่อพวกเขาจะมีปีติ’ [2 นีไฟ 2:25]

“บางครั้งเราลืมไปว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาให้เราทุกคนมีปีตินี้ มีเพียงการยินยอมต่อการล่อลวงและบาปเท่านั้นที่จะกั้นเราจากความสุขนั้นได้ และสิ่งที่ซาตานต้องการให้เราทำก็คือยินยอม

“ครั้งหนึ่งข้าพเจ้ามีโอกาสเดินทางติดตามประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ไปประเทศหนึ่งที่ห่างไกล เราไปชมสถานที่ต่างๆ ในบริเวณนั้นรวมถึงอุโมงค์ใต้ดินซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพผู้เสียชีวิตจากการถูกข่มเหงโดยพวกคลั่งศาสนาคริสต์ ขณะที่เราขึ้นมาจากบันไดที่มืดและแคบของสถานที่นั้น ประธานคิมบัลล์สอนบทเรียนที่ไม่อาจลืมได้แก่ข้าพเจ้า ท่านดึงชายเสื้อโค้ทของข้าพเจ้าและพูดว่า ‘ผมกังวลใจตลอดที่ปรปักษ์ใช้พระนามของพระผู้ช่วยให้รอดของเรา’ จากนั้นท่านพูดว่า ‘โรเบิร์ต ปฏิปักษ์จะไม่มีวันมีความสุขจนกว่าคุณกับผมทำบาป’

“ขณะที่ข้าพเจ้าครุ่นคิดถึงคำพูดนี้และศึกษาพระคัมภีร์ ข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจความหมายของสิ่งที่ประธานคิมบัลล์พูด … บาปของเราที่ทำให้มารหัวเราะ ความเศร้าโศกของเราจะทำให้เขามีปีติจอมปลอม

“ถึงแม้มารจะหัวเราะ แต่อำนาจของเขามีจำกัด บางท่านอาจนึกถึงคำโบราณที่ว่า ‘มารทำให้ฉันต้องทำ’ วันนี้ข้าพเจ้าอยากอธิบายด้วยคำพูดที่ชัดเจนว่าปฏิปักษ์ไม่สามารถบังคับให้เราทำอะไรได้ เขารออยู่ที่ประตูของเราดังที่พระคัมภีร์อธิบาย และเขาติดตามเราทุกวัน ทุกครั้งที่เราออกจากบ้าน ทุกครั้งที่เราตัดสินใจ เราเลือกที่จะเดินไปสู่ทิศทางของเขาหรือสู่ทิศทางของพระผู้ช่วยให้รอดของเรา แต่ปฏิปักษ์จะจากไปถ้าเราบอกให้เขาจากไป เขาจะมีอิทธิพลเหนือเราไม่ได้จนกว่าเราจะยอมให้เขาทำเช่นนั้น และเขารู้ดี มีเพียงเวลาเดียวที่เขาสามารถมีอิทธิพลต่อความคิดและร่างกายของเรา—วิญญาณที่แท้จริงของเรา—นั่นคือเมื่อเรา ยินยอม ให้เขาทำเช่นนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเราต้องไม่ยินยอมต่อการล่อลวงของเขา” (“กระทำด้วยตนเอง: ของประทานและพรแห่งสิทธิ์เสรี,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 6–7)

3 นีไฟ 9:19–20 “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด”

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงความหมายของการถวายใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดแด่พระเจ้า ดังนี้

“การพลีบูชาที่แท้จริงไม่ใช่การเอาสัตว์ไปวางไว้บนแท่นบูชา แต่คือความเต็มใจที่จะนำเอาลักษณะนิสัยที่เลวทรามเหมือนสัตว์วางไว้บนแท่นแล้วเผามันเสีย! การทำเช่นนั้นคือ ‘เครื่องถวายบูชาแด่พระเจ้า … อันเป็นใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด’ (คพ. 59:8)” (ดู “ปฏิเสธตนจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่าง,” เลียโฮนา, ส.ค. 1995, 59)