บทที่ 121
3 นีไฟ 11:18–41
คำนำ
หลังจากชาวนีไฟออกมาสัมผัสรอยแผลในพระหัตถ์ พระบาท และพระปรัศว์ของพระผู้ช่วยให้รอดแล้ว พระเจ้าทรงมอบอำนาจให้นีไฟและคนอื่นๆ ให้บัพติศมาและปฏิบัติหน้าที่ฐานะปุโรหิตอื่นๆ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนผู้คนให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งด้วยและทรงสัญญาว่าคนที่ดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพระองค์จะได้อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นมรดก
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
3 นีไฟ 11:18–27
พระเยซูคริสต์ประทานอำนาจในการให้บัพติศมาแก่นีไฟและคนอื่นๆ
ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ใครให้บัพติศมาฉันได้บ้าง บัพติศมาทำอย่างไร
ถ้าท่านสอนนักเรียนหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นที่เพิ่งเข้าร่วมศาสนจักร ท่านอาจจะเริ่มบทเรียนนี้โดยขอให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์บางอย่างที่เคยมีขณะเรียนเกี่ยวกับศาสนจักร ถามว่าพวกเขาสงสัยเกี่ยวกับคำตอบของคำถามสองข้อบนกระดานหรือไม่เมื่อพวกเขาตัดสินใจรับบัพติศมา
ท่านอาจจะเริ่มบทเรียนนี้โดยเชื้อเชิญนักเรียนให้สมมติว่าเพื่อนคนหนึ่งของพวกเขาเพิ่งตัดสินใจเข้าร่วมศาสนจักรและถามคำถามสองข้อบนกระดาน ขอให้นักเรียนอธิบายว่าพวกเขาจะตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร หรือท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้แสดงบทบาทสมมติของการสนทนาระหว่างสมาชิกศาสนจักรกับเพื่อนของเขาโดยใช้คำถามเหล่านี้
เตือนความจำนักเรียนว่าในบทก่อนพวกเขาเรียนเรื่องการปรากฏของพระเยซูคริสต์ต่อชาวนีไฟกลุ่มหนึ่ง พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญพวกเขาให้รับรู้ด้วยตนเองถึงการฟื้นคืนพระชนม์และความเป็นพระเจ้าของพระองค์โดยสัมผัสรอยแผลในพระหัตถ์ พระบาท และพระปรัศว์ของพระองค์ อธิบายว่าทันทีหลังจากประสบการณ์นี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนหลักคำสอนของพระองค์แก่ผู้คน ซึ่งคือการเชื่อในพระองค์ รับบัพติศมา และรับพระวิญญาณบริสุทธิ์
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 11:18–22 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำตอบของคำถามว่า ใครให้บัพติศมาฉันได้บ้าง ให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบไว้บนกระดานใต้คำถามนี้ ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: บัพติศมาต้องประกอบโดยบุคคลที่ดำรงสิทธิอำนาจถูกต้อง (ถ้ายังไม่ได้เขียนแนวคิดนี้ไว้บนกระดาน ท่านอาจต้องการเพิ่มเข้าไปในรายการ)
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้มากยิ่งขึ้น ท่านอาจจะอธิบายพอสังเขปว่าบัพติศมาประกอบพิธีโดยผู้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน (ดู คพ. 20:46) หรือโดยผู้ได้รับการประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคแล้วเท่านั้น (ดู คพ. 20:38–39; 107:10–11) นอกจากนี้ บุคคลดังกล่าวยังต้องกระทำภายใต้การกำกับดูแลของผู้นำฐานะปุโรหิตที่ถือกุญแจอันจำเป็นต่อการมอบอำนาจให้ประกอบศาสนพิธีด้วย (อาทิ อธิการ ประธานสาขา หรือประธานคณะเผยแผ่)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าจึงทรงเรียกร้องให้ประกอบศาสนพิธีแห่งบัพติศมาโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ได้รับมอบอำนาจ
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 11:23–27 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำตอบของคำถามว่า บัพติศมาทำอย่างไร ให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดานใต้คำถามนี้
-
ทำอย่างไรในระหว่างบัพติศมาถ้ากล่าวถ้อยคำของศาสนพิธีไม่ถูกต้องหรือถ้าบุคคลที่กำลังรับบัพติศมาไม่ได้ถูกจุ่มลงไปในน้ำทั้งตัว (ต้องทำศาสนพิธีซ้ำ) เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากเรื่องนี้ (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: บัพติศมาต้องทำในวิธีที่พระเจ้าทรงกำหนด ท่านอาจต้องการเขียนข้อความนี้ไว้บนกระดาน)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดการประกอบบัพติศมาอย่างถูกต้องตามวิธีที่พระเจ้าทรงกำหนดจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความสำคัญของความจริงที่ท่านสนทนาไปแล้วใน 3 นีไฟ 11:18–27 ท่านอาจต้องการถามคำถามบางข้อต่อไปนี้
-
ท่านมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านรับบัพติศมา การรู้ว่าท่านรับบัพติศมาโดยผู้ดำรงสิทธิอำนาจที่ถูกต้องและตามวิธีที่พระเจ้าทรงกำหนดมีความหมายต่อท่านอย่างไร
-
ท่านได้เป็นพยานการบัพติศมาเมื่อเร็วๆ นี้หรือไม่ ท่านมีความรู้สึกอย่างไร
ถ้านักเรียนคนใดดำรงตำแหน่งปุโรหิตในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน ให้ถามว่า
-
การรู้ว่าท่านมีสิทธิอำนาจให้บัพติศมามีอิทธิพลต่อท่านอย่างไร (ท่านอาจต้องการรู้ว่านักเรียนคนใดในชั้นมีโอกาสให้บัพติศมาคนอื่นบ้าง ถ้ามี ให้เชิญพวกเขาแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรและเรียนรู้อะไรระหว่างประสบการณ์นั้น)
ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกของท่านเองเกี่ยวกับศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์แห่งบัพติศมา
3 นีไฟ 11:28–30
พระเยซูคริสต์ทรงเตือนว่าความขัดแย้งเป็นของมาร
เขียนบนกระดานว่า ความขัดแย้ง
-
ความขัดแย้งคืออะไร (การทะเลาะกัน ไม่ลงรอยกัน หรือการโต้เถียง)
เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนพอสังเขปในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับสถานการณ์หรือกิจกรรมบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง หลังจากให้เวลานักเรียนเขียนมากพอแล้ว ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 11:28–30 เชื้อเชิญชั้นเรียนให้ดูตามและระบุว่าชาวนีไฟบางคนขัดแย้งกันเรื่องอะไร
-
เห็นชัดว่าชาวนีไฟบางคนโต้เถียงกันเรื่องอะไร (ศาสนพิธีบัพติศมา [ดู 3 นีไฟ 11:22 ด้วย] และหลักคำสอนของพระคริสต์)
-
ตามที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 11:29 วิญญาณของความขัดแย้งมาจากที่ใด (เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: วิญญาณของความขัดแย้งไม่เป็นของพระผู้เป็นเจ้า แต่เป็นของมาร ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายความจริงข้อนี้ใน 3 นีไฟ 11:29)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเมื่อสนทนาเรื่องพระกิตติคุณกับผู้อื่น เหตุใดการโต้แย้งจึงเป็นการสอนพระกิตติคุณผิดวิธี (นักเรียนอาจให้คำตอบหลากหลาย แต่พวกเขาพึงเข้าใจว่าเมื่อเราขัดแย้งหรือโต้แย้งกับผู้อื่นเกี่ยวกับพระกิตติคุณ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะไม่ทรงอยู่ช่วยเราสอนหรือเป็นพยานถึงความจริงในใจคนที่เรากำลังสอน)
เพื่อเน้นผลลัพธ์สำคัญของความขัดแย้ง ให้เขียนข้อความต่อไปนี้ของประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดไว้บนกระดาน ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้เขียนไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ 3 นีไฟ 11:29 (ข้อความนี้อยู่ใน “สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการให้ลูกชายรู้ก่อนเป็นผู้สอนศาสนา,” เลียโฮนา, ก.ค. 1996, หน้า 51)
-
ท่านเคยรู้สึกว่าพระวิญญาณของพระเจ้าจากไปเพราะความขัดแย้งเมื่อใด ท่านทราบได้อย่างไรว่าพระวิญญาณจากไปแล้ว
ชี้ให้เห็นพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับความขัดแย้งใน 3 นีไฟ 11:30: “นี่เป็นหลักคำสอนของเรา, ว่าเรื่องเช่นนั้นจะหมดไป”
-
เราจะทำให้ความขัดแย้งและการโต้เถียง “หมดไป” ได้อย่างไร (คำตอบอาจได้แก่: เราสามารถพยายามเป็นผู้สร้างสันติได้ [ดู 3 นีไฟ 12:9] เราสามารถสวดอ้อนวอนขอปัญญาและความอดทนเพื่อเอาชนะความขัดแย้ง เราสามารถพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ซึ่งเราอาจจะถูกล่อลวงให้ขัดแย้งกับผู้อื่น)
-
ท่านเคยรู้สึกได้รับพรเพราะท่านพยายามหลีกเลี่ยงหรือเอาชนะความขัดแย้งเมื่อใด
-
การระลึกถึงคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 11:29–30 จะช่วยท่านได้อย่างไรเมื่อท่านพบตนเองอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นหรืออาจจะเป็นความขัดแย้ง
ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อท่านรู้สึกได้รับพรเพราะท่านพยายามหลีกเลี่ยงหรือเอาชนะความขัดแย้ง เพื่อกระตุ้นนักเรียนให้ประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้จาก 3 นีไฟ 11:28–30 ให้พวกเขากลับไปดูรายชื่อสถานการณ์หรือกิจกรรมที่พวกเขามักจะประสบกับความขัดแย้ง เชื้อเชิญพวกเขาให้ตั้งเป้าหมายและจดไว้ว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงหรือเอาชนะความขัดแย้งในสถานการณ์หรือกิจกรรมหนึ่งที่พวกเขาเขียนไว้อย่างไร
3 นีไฟ 11:31–41
พระเยซูคริสต์ทรงประกาศหลักคำสอนของพระองค์
เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมศึกษา 3 นีไฟ 11:31–41 ให้เขียนบนกระดานดังนี้
เชื้อเชิญนักเรียนให้บอกเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งเกี่ยวกับบางสิ่งที่พวกเขาเพิ่งทำเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งส่งผลบวกและอธิบายว่าผลนั้นคืออะไร ท่านอาจขอให้พวกเขาบอกบางสิ่งที่พวกเขาทำหรือเห็นซึ่งส่งผลลบด้วย (เตือนนักเรียนให้ระวังการแบ่งปันเรื่องที่อาจไม่เหมาะสมหรือเป็นส่วนตัวมากเกินไป)
อ่านออกเสียง 3 นีไฟ 11:31 ให้ชั้นเรียนฟัง อธิบายว่าส่วนที่เหลือของ 3 นีไฟ 11 เป็นการประกาศหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ต่อผู้คนของนีไฟ บทนี้สาธยายผลของการยอมรับหรือปฏิเสธหลักคำสอนของพระองค์ด้วย
เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: 3 นีไฟ 11:32–34; 3 นีไฟ 11:35–36; 3 นีไฟ 11:37–38; 3 นีไฟ 11:39–40 แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ มอบหมายให้แต่ละคู่ศึกษาหนึ่งช่วง ขอให้พวกเขาระบุการกระทำและผลที่พระเยซูคริสต์ทรงสอน (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเปรียบเทียบคำสอนเหล่านี้กับหลักแห่งความเชื่อข้อสี่)
หลังจากนักเรียนมีเวลาศึกษามากพอแล้ว ขอให้พวกเขาสองสามคนรายงานการกระทำและผลลัพธ์ที่พวกเขาพบในข้อที่ได้รับมอบหมาย เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนคำตอบไว้บนกระดานใต้ การกระทำ หรือ ผลลัพธ์ ขณะที่นักเรียนรายงานแต่ละข้อ ให้ถามคำถามด้านล่างที่สอดคล้องกัน
ถามคู่ที่ได้รับมอบหมายให้อ่าน 3 นีไฟ 11:32–34 ว่า
-
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้เราเชื่อในพระเยซูคริสต์และพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร (พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานถึงพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์) พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานต่อท่านเมื่อใดถึงการดำรงอยู่จริงและความรักของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์
ถามคู่ที่ได้รับมอบหมายให้อ่าน 3 นีไฟ 11:35–36 ว่า
-
จากที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ การเลือกเชื่อในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เชื้อเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในชีวิตเราอย่างไร
ถามคู่ที่ได้รับมอบหมายให้อ่าน 3 นีไฟ 11:37–38 ว่า
-
ท่านพบอะไรที่คล้ายคลึงกันระหว่าง 3 นีไฟ 11:37 กับ 3 นีไฟ 11:38
-
อะไรคือคุณลักษณะที่ดีของเด็กเล็ก ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้อง “เป็นเหมือนเด็กเล็กๆ”
ถามคู่ที่ได้รับมอบหมายให้อ่าน 3 นีไฟ 11:39–40 ว่า
-
คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้เน้นความสำคัญของการเลือกเชื่อฟังหรือไม่เชื่อฟังหลักคำสอนของพระองค์อย่างไร
ขอให้นักเรียนสรุปการกระทำสำคัญๆ ที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่าเราต้องทำเพื่อเข้าอาณาจักรแห่งสวรรค์ นักเรียนอาจจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรกล่าวความจริงต่อไปนี้: เพื่อเข้าอาณาจักรแห่งสวรรค์ เราต้องกลับใจ เชื่อในพระเยซูคริสต์ รับบัพติศมา และรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจต้องการสรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความจริงดังกล่าว กระตุ้นนักเรียนให้ดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์เพื่อพวกเขาจะสามารถได้รับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นมรดก ท่านอาจต้องการเตือนพวกเขาให้ทำตามเป้าหมายว่าจะหลีกเลี่ยงและเอาชนะความขัดแย้ง