คลังค้นคว้า
บทที่ 128: 3 นีไฟ 19


บทที่ 128

3 นีไฟ 19

คำนำ

หลังจากพระผู้ช่วยให้รอดสิ้นสุดการเสด็จเยือนชาวนีไฟครั้งแรก ข่าวการเสด็จเยือนของพระองค์แพร่ไปในบรรดาผู้คนตลอดคืนนั้น (เหตุการณ์ที่บันทึกไว้ใน 3 นีไฟ 11–18 เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงหนึ่งวัน) ผู้คนทำงานทั้งคืน “อย่างหนักยิ่ง … เพื่อในวันพรุ่งพวกเขาจะได้อยู่ในสถานที่” ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงปรากฏอีกครั้ง (3 นีไฟ 19:3) ตอนเช้า สานุศิษย์สิบสองคนสอนผู้คนและสวดอ้อนวอนกับพวกเขา พระเยซูคริสต์ทรงปรากฏและทรงบัญชาผู้คนให้สวดอ้อนวอนขณะพระองค์ทรงสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาเพื่อพวกเขา เนื่องด้วยศรัทธาของสานุศิษย์สิบสองคน พระองค์จึงทรงทำให้พวกเขาบริสุทธิ์ พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนขอให้เหล่าสานุศิษย์และทุกคนที่เชื่อพระดำรัสของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์และพระบิดาของพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

3 นีไฟ 19:1–14

สานุศิษย์สิบสองคนปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้คนตามที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชา

เชื้อเชิญนักเรียนให้จินตนาการว่าพวกเขาจะทำอะไรหรือพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้ารู้ว่าพรุ่งนี้พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาที่พระวิหาร (หรือศูนย์สเตค หรือศูนย์ประจำเมือง หรือสถานที่บางแห่งที่นักเรียนต้องพยายายามพอสมควรเพื่อเดินทางไปที่นั่น)

  • ท่านจะไปที่นั่นอย่างไร

  • ท่านต้องการให้ใครไปกับท่าน

  • ท่านจะทำอะไรเพื่อเตรียมรับประสบการณ์นี้

เตือนความจำนักเรียนว่าเมื่อใกล้สิ้นสุดการเสด็จเยือนชาวนีไฟของพระผู้ช่วยให้รอดในวันแรก พระองค์ทรงกระตุ้นผู้คนให้กลับบ้านไปไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับคำสอนของพระองค์เพื่อเตรียมรับการเสด็จเยือนในวันรุ่งขึ้น (ดู 3 นีไฟ 17:3) ขอให้นักเรียนอ่าน 3 นีไฟ 19:1–3 ในใจโดยมองหาการตอบสนองของชาวนีไฟต่อคำสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอดที่ว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาในวันรุ่งขึ้น หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้สรุป 3 นีไฟ 19:4–8 โดยอธิบายว่าหลังจากฝูงชนมารวมกันในวันรุ่งขึ้น สานุศิษย์สิบสองคนแบ่งผู้คนออกเป็นสิบสองกลุ่มและเริ่มสอนพวกเขา หลังจากแนะนำฝูงชนให้คุกเข่าสวดอ้อนวอนแล้ว สานุศิษย์สิบสองคนจึงสวดอ้อนวอนด้วยและสอนความจริงเดียวกันกับที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนพวกเขาเมื่อวันก่อน จากนั้นเหล่าสานุศิษย์จึงคุกเข่าสวดอ้อนวอนอีกครั้ง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 19:8–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่เหล่าสานุศิษย์สวดอ้อนวอนขอ

  • เหล่าสานุศิษย์ปรารถนาอะไรมากที่สุด

  • สานุศิษย์สิบสองคนจะกำกับดูแลกิจจานุกิจของศาสนจักรในบรรดาชาวนีไฟหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จไปแล้ว ท่านคิดว่าเหตุใดพวกเขาจึงต้องมีพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการปฏิบัติศาสนกิจ

  • ในคำสวดอ้อนวอนที่ท่านกล่าว สิ่งที่ท่านปรารถนามากที่สุดคืออะไรบ้าง

  • ท่านสวดอ้อนวอนขอพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือไม่ เพราะเหตุใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 19:10–12 หลังจากอ่านจบแล้ว ให้อธิบายว่าการบัพติศมาครั้งที่สองนี้เป็นสภาวการณ์พิเศษ ถึงแม้ชาวนีไฟเคยรับบัพติศมาเพื่อการปลดบาปมาก่อนแล้วและมีค่าควรจะอยู่เบื้องพระพักตร์พระเยซูคริสต์ แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาพวกเขาให้รับบัพติศมาอีกครั้งเพราะพระองค์ทรงจัดตั้งศาสนจักรขึ้นใหม่

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 19:13–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพรที่เหล่าสานุศิษย์ได้รับตอบแทนความปรารถนาอันชอบธรรมของพวกเขา เพื่อช่วยให้นักเรียนปรารถนาอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์มากขึ้นในชีวิตพวกเขา ให้ทำกิจกรรมต่อไปนี้

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ ขอให้แต่ละคู่เขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับสิ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำสำหรับคนที่ดำเนินชีวิตอย่างมีค่าควร ต่อจากนั้น ให้นักเรียนเปรียบเทียบสิ่งที่เขียนกับคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง (ก่อนชั้นเรียน ให้ถ่ายเอกสารคำกล่าวนี้หรือเขียนไว้บนกระดาน) ให้นักเรียนเพิ่มแนวคิดใหม่ๆ ที่พวกเขาพบขณะอ่านข้อความนี้เข้าไปในรายการที่เขียนไว้)

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

“พระวิญญาณบริสุทธิ์ … เป็นที่มาของประจักษ์พยานของเราถึงพระบิดาและพระบุตร …

“เราต้องการพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อนตลอดเวลาเพื่อช่วยให้เราเลือกได้ดีขึ้นในการตัดสินใจที่อยู่ตรงหน้าเราทุกวัน … การเป็นเพื่อนกับพระวิญญาณจะทำให้พวกเขา [เยาวชนของเรา] มีพลังต่อต้านความชั่วร้าย กลับใจเมื่อจำเป็น และกลับมาสู่ทางคับแคบและแคบ … เราทุกคนต้องการพลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ … การมีของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวเลือกอย่างฉลาด—การเลือกที่จะช่วยให้พวกเขากับครอบครัวกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ เพื่ออยู่กับพระองค์ตลอดนิรันดร” (ดู “พันธสัญญาแห่งบัพติศมา: อยู่ในอาณาจักรและเป็นของอาณาจักร,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, หน้า 9)

  • พรที่ท่านเขียนไว้จะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนของศาสนจักรในด้านใด

เชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวนพรที่พวกเขาเขียนไว้และพิจารณาสิ่งเราต้องทำเพื่อให้มีคุณสมบัติคู่ควรรับพรเหล่านี้ ขอให้พวกเขาอ่าน 3 นีไฟ 19:9, 13 ในใจโดยมองหาหลักธรรมเกี่ยวกับการได้รับอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ให้นักเรียนจดหลักธรรมที่พวกเขาระบุ ขอให้สองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียน (นักเรียนอาจแบ่งปันบางอย่างเช่น: ความปรารถนาอันชอบธรรมและคำสวดอ้อนวอนของเราสามารถทำให้เรามีคุณสมบัติคู่ควรเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์)

  • ความปรารถนาอันชอบธรรมและคำสวดอ้อนวอนของท่านเคยช่วยให้ท่านรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณเมื่อใด

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน เชื้อเชิญนักเรียนให้จดข้อความส่วนนี้แล้วเติมให้ครบถ้วนด้วยคำพูดของพวกเขาเอง

ฉันจะแสดงให้พระบิดาบนสวรรค์เห็นว่าฉันปรารถนาความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์โดย …

3 นีไฟ 19:15–36

พระผู้ช่วยให้รอดทรงปรากฏและทรงสวดอ้อนวอนให้ผู้คนได้รับการทำให้บริสุทธิ์ผ่านศรัทธาของพวกเขา

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 19:15–16 ชี้ให้เห็นว่าขณะที่ผู้คนกำลังคุกเข่า พวกเขาเห็นพระเยซูคริสต์ทรงกล่าวคำสวดอ้อนวอนแตกต่างกันสามครั้งให้สานุศิษย์ของพระองค์และฝูงชน (อธิบายว่าในช่วงท้ายบทเรียน นักเรียนจะศึกษาคำสวดอ้อนวอนครั้งที่สามของพระผู้ช่วยให้รอด)

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงและคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียน (หรือเตรียมเป็นเอกสารแจกให้นักเรียนแต่ละคน)

3 นีไฟ 19:17–18, 24–26, 30

3 นีไฟ 19:19–23

3 นีไฟ 19:27–29

ท่านสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนจากข้อความนี้

ท่านจะประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้ในข้อเหล่านี้กับการสวดอ้อนวอนส่วนตัวของท่านอย่างไร

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสามคน (ถ้าชั้นเรียนเล็ก ท่านอาจต้องแบ่งกลุ่มเล็กลง) มอบหมายให้นักเรียนคนหนึ่งในแต่ละกลุ่มอ่านข้อพระคัมภีร์ที่เขียนไว้บนกระดาน แจ้งนักเรียนว่าพวกเขาทุกคนควรพร้อมตอบคำถามบนกระดานในกลุ่มของตน)

หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันคำตอบของคำถามกับสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่ม จงพร้อมตอบคำถามถ้านักเรียนถามว่าเหตุใดเหล่าสานุศิษย์จึงสวดอ้อนวอนพระผู้ช่วยให้รอด (ดู 3 นีไฟ 19:18) ชี้ให้เห็นในสถานการณ์พิเศษนี้ เหล่าสานุศิษย์สวดอ้อนวอนพระเยซูคริสต์เพราะพระองค์ทรงอยู่กับพวกเขาด้วยพระองค์เองในฐานะตัวแทนของพระบิดา (ดู 3 นีไฟ 19:22)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 19:31–34 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและพิจารณาว่าเหตุใดคำสวดอ้อนวอนของพระผู้ช่วยให้รอดจึงมีผลต่อผู้คนอย่างลึกซึ้ง เชิญนักเรียนสองสามคนรายงานสิ่งที่พบ แม้นักเรียนจะเรียนรู้ความจริงมากมายจากกันขณะพวกเขาแบ่งปัน แต่กิจกรรมต่อไปนี้จะเน้นหลักธรรมสองประการที่อาจค้นพบในการศึกษาของพวกเขา

เขียนบนกระดาน: เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ …

ขอให้นักเรียนทบทวน 3 นีไฟ 19:28 ในใจ โดยมองหาวิธีเติมข้อความที่เขียนไว้บนกระดานให้ครบถ้วน (เชื้อเชิญนักเรียนจดคำตอบของพวกเขา ต่อไปนี้เป็นด้านหนึ่งที่นักเรียนจะเติมข้อความให้ครบถ้วน: เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ พระองค์จะทรงทำให้เราบริสุทธิ์)

  • ทำให้บริสุทธิ์หมายความว่าอย่างไร การใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ช่วยให้เราสะอาดอย่างไร

  • เหล่าสานุศิษย์ใช้ศรัทธาระหว่างเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ใน 3 นีไฟ 19 ในด้านใด

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระวิญญาณทรงทำให้เราบริสุทธิ์ เตือนความจำพวกเขาว่าเหล่าสานุศิษย์ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์และ “เปี่ยมไป … ด้วยไฟ” (3 นีไฟ 19:13) อธิบายว่าวลี “เปี่ยมไป …ด้วยไฟ” เป็นสัญลักษณ์ หมายถึงพรของการชำระให้สะอาดผ่านอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์

ขอให้นักเรียนอ่านทวน 3 นีไฟ 19:23, 29 ในใจโดยมองหาพรอีกประการหนึ่งที่มาถึงผู้มีพระวิญญาณของพระเจ้าอยู่กับพวกเขา (หลังจากนักเรียนอ่านแล้ว ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายวลี “เพื่อเราจะเป็นหนึ่ง” ในทั้งสองข้อ)

  • พระเยซูคริสต์และพระบิดาทรงเป็นหนึ่งอย่างไร (พระองค์เป็นองค์สัตภาวะแยกจากกันที่จับต้องได้ แต่ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันในจุดประสงค์และหลักคำสอน พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์ในการทำให้แผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์บังเกิดผล)

  • การเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรมีความหมายสำหรับเราอย่างไร

  • เราเรียนรู้อะไรจาก 3 นีไฟ 19:23, 29 เกี่ยวกับวิธีที่เราจะสามารถเป็นหนึ่งเดียวกันกับทั้งสองพระองค์ (โดยผ่านศรัทธา เราจะได้รับการทำให้บริสุทธิ์และเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสต์ได้เช่นเดียวกับพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าเราจะเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาและพระบุตรได้อย่างไร

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“พระเยซูทรงบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์กับพระบิดาโดยทรงยอมให้เนื้อหนังและวิญญาณเป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดา การปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ชัดเจนเสมอเพราะไม่มีความคิดและความปรารถนาที่ไม่สอดคล้องกับพระบิดา พระเยซูตรัสถึงพระบิดาว่า ‘เราทำตามชอบพระทัยพระองค์เสมอ’ (ยอห์น 8:29) …

“โดยแท้แล้ว เราจะไม่เป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์จนกว่าเราจะทำให้พระประสงค์ของพระองค์เป็นความปรารถนาสูงสุดของเรา การยอมเช่นนั้นใช่ว่าจะทำได้ในวันเดียว แต่โดยพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าจะทรงสอนเราถ้าเรายอมจนกว่าจะถึงเวลาที่กล่าวได้ว่าพระองค์อยู่ในเราดังที่พระบิดาทรงอยู่ในพระองค์” (“เพื่อเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, หน้า 88, 89)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 19:35–36 ในใจและไตร่ตรองพลังแห่งการสวดอ้อนวอนของพวกเขาเอง สัญญากับนักเรียนว่าเราสามารถมีประสบการณ์ทางวิญญาณมากขึ้นได้เช่นกันและเติบโตจนเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาและพระบุตรถ้าเราเพิ่มพูนศรัทธาและสวดอ้อนวอนอย่างจริงจังเพื่อขอความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณ

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

3 นีไฟ 19:10–13 รับบัพติศมาใหม่

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายว่าเหตุใดชาวนีไฟจึงต้องรับบัพติศมาอีกครั้ง

“ไม่มีอะไรแปลกในข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อพระเจ้าเสด็จมาหาชาวนีไฟ นีไฟได้รับบัพติศมาและด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงต้องทำเช่นเดียวกันแม้จะเคยรับบัพติศมาแล้วก็ตาม

“ศาสนจักรในบรรดาชาวนีไฟก่อนการเสด็จมาของพระคริสต์ไม่อยู่ในความสมบูรณ์และอยู่ใต้กฎของโมเสส พระผู้ช่วยให้รอดทรงฟื้นฟูความสมบูรณ์และทรงมอบศาสนพิธีและพรทั้งหมดของพระกิตติคุณให้พวกเขา ฉะนั้นจึงเป็นองค์กรใหม่ และโดยผ่านบัพติศมาพวกเขาจะสามารถเข้าในองค์กรนี้ได้

“เรามีสภาพคล้ายกันในสมัยการประทานนี้ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีได้รับบัพติศมาตามบัญชาของเทพยอห์นผู้ถวายบัพติศมา อีกหลายคนได้รับบัพติศมาก่อนการจัดตั้งศาสนจักร อย่างไรก็ดี ในวันจัดตั้งศาสนจักร ทุกคนที่รับบัพติศมาก่อนหน้านี้ได้รับบัพติศมาอีกครั้ง ไม่ใช่เพื่อการปลดบาป แต่เพื่อเข้าในศาสนจักร ในแต่ละกรณีมีเหตุผลเดียวกัน” (Answers to Gospel Questions, comp. Joseph Fielding Smith Jr., 5 vols. [1957–66], 3:205–6)

3 นีไฟ 19:18, 22 “พวกท่านสวดอ้อนวอนต่อพระเยซู”

จากพระคัมภีร์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย เรารู้ว่าเราต้องนมัสการพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและสวดอ้อนวอนพระองค์เท่านั้น เราไม่ควรสวดอ้อนวอนพระเยซูคริสต์ ตัวอย่างเช่น พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนชาวนีไฟว่า “เจ้าต้องสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาเสมอในนามของเรา” (3 นีไฟ 18:19) อย่างไรก็ดี ไม่นานหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเรื่องนี้ สานุศิษย์ชาวนีไฟสวดอ้อนวอนถึงพระองค์โดยตรง (ดู 3 นีไฟ 19:18) พระองค์ตรัสว่า พวกเขาทำเช่นนั้นเพราะพระองค์ทรงอยู่กับพวกเขา (ดู 3 นีไฟ 19:22) เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่านี่เป็นข้อยกเว้น—สถานการณ์นี้เกิดขึ้นครั้งเดียว

“มีเหตุผลพิเศษว่าทำไมจึงทำเช่นนั้นในกรณีนี้และทำเพียงครั้งเดียว พระเยซูทรงสอนพวกเขาแล้วให้สวดอ้อนวอนในพระนามของพระองค์ถึงพระบิดา ซึ่งพวกเขาทำครั้งแรก … พระเยซูทรงอยู่ต่อหน้าพวกเขาอันเป็นสัญลักษณ์ของพระบิดา พวกเขาเห็นพระองค์ประหนึ่งเห็นพระบิดา พวกเขาสวดอ้อนวอนพระองค์ประหนึ่งสวดอ้อนวอนถึงพระบิดา นั่นเป็นสถานการณ์พิเศษและเกิดขึ้นครั้งเดียว” (The Promised Messiah [1978], 560, 561)