คลังค้นคว้า
บทที่ 131: 3 นีไฟ 23


บทที่ 131

3 นีไฟ 23

คำนำ

หลังจากยกถ้อยคำของอิสยาห์ (ดู 3 นีไฟ 22) พระเยซูคริสต์ทรงบัญชาชาวนีไฟให้ค้นคว้าถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ท่านนี้ พระองค์ตรัสว่าถ้อยคำของอิสยาห์เป็นพรเพราะอิสยาห์ “พูดไว้ทุกเรื่องอย่างแน่นอนเกี่ยวกับผู้คนของเราซึ่งเป็นของเชื้อสายแห่งอิสราเอล” (3 นีไฟ 23:2) พระองค์ตรัสเช่นกันว่าถ้อยคำทั้งหมดของอิสยาห์ได้เกิดหรือจะเกิดสัมฤทธิผล จากนั้นพระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาชาวนีไฟให้ค้นคว้าถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ทุกท่านและแนะนำพวกเขาให้เพิ่มเนื้อหาลงในบันทึกของพวกเขา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

3 นีไฟ 23:1–5

พระเยซูคริสต์ทรงบัญชาผู้คนให้ค้นคว้าถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์

เขียนวลีต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พรจากการศึกษาพระคัมภีร์ของฉัน ขอให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์การศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนของพวกเขาที่บ้านและในเซมินารีปีนี้ เชิญพวกเขามาที่กระดานและเขียนคำหรือวลีสั้นๆ ซึ่งพูดถึงพรที่เข้ามาในชีวิตพวกเขาเนื่องด้วยการศึกษาพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนสองสามคนพูดสิ่งที่พวกเขาเขียนให้ละเอียดมากขึ้น จากนั้นชี้ให้ดูพรที่เขียนไว้บนกระดาน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงได้รับพรในด้านเหล่านี้เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์

ขอให้นักเรียนนึกถึงถ้อยคำที่พระเยซูคริสต์ทรงอ้างจากบทเรียนก่อนขณะทรงสอนชาวนีไฟ (ถ้อยคำของอิสยาห์) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 23:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าเราควรทำกับถ้อยคำของอิสยาห์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำและวลีที่โดดเด่นสำหรับพวกเขาในข้อเหล่านี้ เชื้อเชิญพวกเขาให้แบ่งปันสิ่งที่ค้นพบ

  • เหตุใดพระเจ้าทรงต้องการให้ผู้คนค้นคว้าถ้อยคำของอิสยาห์ (ดู 3 นีไฟ 23:2–3)

  • เหตุใดการรู้ว่าถ้อยคำทั้งหมดของอิสยาห์จะเกิดสัมฤทธิผลจึงเป็นพร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 23:4–5 ชี้ให้เห็นว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดตรัสให้ค้นคว้าถ้อยคำของอิสยาห์ พระองค์ตรัสให้ “ค้นหาศาสดาพยากรรณ์” เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาเราให้ค้นคว้าถ้อยคำของอิสยาห์และศาสดาพยากรณ์ท่านอื่นอย่างขยันหมั่นเพียร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 23:5 เราต้องทำอะไรจึงจะได้รับการช่วยให้รอด ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ช่วยเราทำตามพระบัญญัติเหล่านี้อย่างไร

  • การค้นคว้าถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์อย่างขยันหมั่นเพียรแตกต่างในด้านใดบ้างจากการเพียงแต่อ่านถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องค้นคว้าถ้อยคำของอิสยาห์และศาสดาพยากรณ์ท่านอื่นอย่างขยันหมั่นเพียร

  • วิธีศึกษาพระคัมภีร์วิธีใดช่วยท่านมากที่สุดและทำให้การค้นคว้าถ้อยคำของอิสยาห์ตลอดจนศาสดาพยากรณ์ท่านอื่นมีความหมายในชีวิตท่าน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เมอร์ริลล์ เจ. เบทแมนแห่งสาวกเจ็ดสิบ

“มีพรที่ได้มาแน่นอนเมื่อคนๆ หนึ่งค้นคว้าพระคัมภีร์ เมื่อคนๆ หนึ่งศึกษาพระวจนะของพระเจ้าและเชื่อฟัง เขาย่อมใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นและปรารถนาจะดำเนินชีวิตให้ชอบธรรมมากขึ้น พลังต่อต้านการล่อลวงเพิ่มพูน และความอ่อนแอทางวิญญาณปราชัย บาดแผลทางวิญญาณได้รับการเยียวยา” (“Coming unto Christ by Searching the Scriptures,” Ensign, Nov. 1992, 28)

  • นอกจากพระคัมภีร์แล้ว เราจะพบถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ได้จากที่ใดบ้าง

ขอให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

  • ท่านสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างเพื่อศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์อย่างขยันหมั่นเพียรมากขึ้น

เชิญนักเรียนสองสามคนเป็นพยานถึงพรที่มาจากการค้นคว้าถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์

3 นีไฟ 23:6–14

พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำสานุศิษย์ของพระองค์ให้เพิ่มเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งเข้าไปในบันทึกพระคัมภีร์ของพวกเขา

ขอให้นักเรียนสองสามคนบอกชื่อเรื่องโปรดของพวกเขาในพระคัมภีร์มอรมอน เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน จากนั้นให้ลบคำตอบหนึ่ง ขอให้นักเรียนจินตนาการว่ามอรมอนหรือนีไฟหรือผู้จัดบันทึกอีกคนหนึ่งเพิกเฉยไม่รวมเรื่องนั้นไว้ด้วย

  • บทเรียนสำคัญใดจะขาดหายไปจากพระคัมภีร์มอรมอนถ้าเรื่องนี้ไม่รวมอยู่ในนั้น

อธิบายว่าเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนชาวนีไฟ พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าผู้จดบันทึกของพวกเขาเพิกเฉยไม่รวมเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นตามสัมฤทธิผลของคำพยากรณ์ ขอให้นักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 3 นีไฟ 23:6–13 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่ชาวนีไฟไม่ได้บันทึกไว้

  • ชาวนีไฟมีบันทึกเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของแซมิวเอลอยู่แล้ว (ดู ฮีลามัน 14:25) ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่พวกเขาต้องบันทึกเกี่ยวกับสัมฤทธิผลของคำพยากรณ์นั้น

ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้เราไม่ได้รับบัญชาให้จดบันทึกพระคัมภีร์สำหรับศาสนจักร แต่เราได้รับคำแนะนำให้จดบันทึกส่วนตัว

  • คำแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 23:6–13 สามารถประยุกต์ใช้กับความพยายามจดบันทึกส่วนตัวของเราอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถจดบันทึกส่วนตัวได้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงประสบการณ์ต่อไปนี้ที่แบ่งปันโดยประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“ข้าพเจ้ากลับจากทำงานมอบหมายของศาสนจักรหลังจากค่ำแล้ว พ่อตาซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับเราทำให้ข้าพเจ้าแปลกใจขณะข้าพเจ้าเดินตรงไปที่ประตูหน้าบ้านของตนเอง ท่านกำลังแบกท่อไว้บนบ่า เดินเร็วมาก และสวมชุดทำงาน ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านกำลังเดินท่อเพื่อปั๊มน้ำจากลำธารขึ้นมายังที่ของเรา

“ท่านยิ้มให้ พูดอย่างนุ่มนวล แล้วก็รีบเดินผ่านข้าพเจ้าเข้าไปในความมืดเพื่อทำงานต่อ ข้าพเจ้าเดินอีกไม่กี่ก้าวก็ถึงบ้าน พลางใคร่ครวญสิ่งที่ท่านกำลังทำเพื่อเรา และทันทีที่เดินไปถึงประตู ข้าพเจ้าได้ยินเสียงในใจ—ไม่ใช่เสียงของข้าพเจ้าเอง—ว่า ‘เราไม่ได้ให้ประสบการณ์เหล่านี้เพื่อตัวเจ้า จงจดไว้’

“ข้าพเจ้าเข้าไปในบ้าน ยังไม่เข้านอนแม้จะรู้สึกเหนื่อย ข้าพเจ้าหยิบกระดาษออกมาและเริ่มเขียน ขณะทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจข่าวสารที่ได้ยินในจิตใจ ข้าพเจ้าควรจะบันทึกให้ลูกๆ ได้อ่านในวันข้างหน้าว่าข้าพเจ้าเห็นพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าประทานพรครอบครัวเราอย่างไร พ่อตาไม่จำเป็นต้องทำอย่างที่ท่านกำลังทำเพื่อเรา ท่านจะให้คนอื่นทำหรือไม่ต้องทำเลยก็ได้ แต่ท่านกำลังรับใช้เรา ซึ่งเป็นครอบครัวของท่าน อย่างที่สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ผู้ได้ทำพันธสัญญาไว้แล้วพึงทำ ข้าพเจ้าทราบว่านี่เป็นความจริง ข้าพเจ้าจึงจดไว้เพื่อให้ลูกๆ มีความทรงจำนี้ ซึ่งสักวันหนึ่งพวกเขาจำเป็นต้องใช้

“ข้าพเจ้าจดวันละสามสี่บรรทัดทุกวันเป็นเวลาหลายปี ไม่ขาดแม้แต่วันเดียว ไม่ว่าจะเหนื่อยเพียงไรหรือจะต้องเริ่มงานเช้าตรู่แค่ไหนในวันรุ่งขึ้น ก่อนลงมือเขียนข้าพเจ้าจะไตร่ตรองคำถามที่ว่า ‘วันนี้ข้าพเจ้าเห็นพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเอื้อมมาสัมผัสเราหรือลูกๆ ของเราหรือครอบครัวเราหรือไม่’” (“โอ้จงจำ จงจำไว้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, หน้า 84–)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เสริมสร้างเราทางวิญญาณ

  • เราจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการทำตามแบบอย่างของประธานอายริงก์ บันทึกของเราจะช่วยผู้อื่นได้อย่างไร

อธิบายว่าประธานอายริงก์พูดถึงพรที่ท่านได้รับเพราะจดบันทึกทุกวันเกี่ยวกับพรที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ครอบครัวท่าน ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ (ท่านอาจจะแบ่งปันคำกล่าวนี้ไปแล้วในบทที่ 117 นักเรียนอาจได้ประโยชน์จากการฟังอีกครั้ง)

“ขณะทำเช่นนี้ บางอย่างเริ่มเกิดขึ้น เมื่อข้าพเจ้านึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวัน ข้าพเจ้าจะเห็นชัดเจนถึงสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำเพื่อเราแต่ละคน ซึ่งข้าพเจ้าไม่ได้นึกถึงในช่วงที่มีงานยุ่งระหว่างวัน ขณะที่เกิดขึ้นและเกิดขึ้นบ่อยๆ ข้าพเจ้าตระหนักว่าการพยายามนึกถึงเรื่องที่ผ่านมาช่วยให้พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงต่อข้าพเจ้าถึงสิ่งที่พระองค์ทรงทำ

“ไม่ใช่แค่ความซาบซึ้งเท่านั้นที่เริ่มเติบโตในใจข้าพเจ้า ประจักษ์พยานก็เติบโต ข้าพเจ้าแน่ใจมากขึ้นว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินและทรงตอบคำสวดอ้อนวอน ข้าพเจ้าสำนึกในพระกรุณาธิคุณมากขึ้นสำหรับการทำให้ใจอ่อนโยนและการขัดเกลาซึ่งเกิดเนื่องจากการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้ามั่นใจมากขึ้นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทำให้เรานึกเรื่องราวทุกอย่างออกแม้เรื่องราวที่เราไม่สังเกตหรือไม่ใส่ใจเมื่อเกิดขึ้น” (“โอ้จงจำ จงจำไว้,” หน้า 84)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากเรื่องราวใน 3 นีไฟ 23 และจากประสบการณ์ของประธานอายริงก์ (นักเรียนอาจตอบคำถามนี้ต่างกันไปหลายด้าน คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนความจริงต่อไปนี้: เมื่อเราบันทึกประสบการณ์ทางวิญญาณ เราจะได้รับพรเป็นส่วนตัวและในครอบครัวเรา)

นักเรียนบางคนอาจรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นกับพวกเขาที่มีค่ามากพอจะบันทึกไว้ เพื่อช่วยพวกเขาท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์จอห์น เอช. โกรเบิร์กแห่งสาวกเจ็ดสิบ

“บางคนพูดว่า ‘ผมไม่มีอะไรจะบันทึก ไม่มีเรื่องทางวิญญาณเกิดขึ้นกับผม’ ข้าพเจ้ากล่าวว่า ‘จงเริ่ม และเรื่องทางวิญญาณจะเกิดขึ้น เรื่องทางวิญญาณเกิดขึ้นตลอดเวลาแต่เราจะไวมากขึ้นต่อเรื่องเหล่านี้เมื่อเราเขียน’” (“Writing Your Personal and Family History,” Ensign, May 1980, 48)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ถามตนเองว่าพวกเขาเพิกเฉยไม่เขียนประสบการณ์ที่เสริมสร้างพวกเขาทางวิญญาณหรือไม่ กระตุ้นพวกเขาให้เขียนประสบการณ์เหล่านี้และยังคงบันทึกประสบการณ์ตลอดชีวิตของพวกเขา ท่านอาจเสนอแนะให้พวกเขาทำตามแบบอย่างของประธานอายริงก์โดยเขียนบางอย่างทุกวัน

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

การเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาโดยใช้พระคัมภีร์จะช่วยนักเรียนได้ตลอดชีวิต แจกกระดาษแผ่นเล็กๆ ให้นักเรียนคนละแผ่น เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนคำถามที่มีหรือการท้าทายที่ประสบ อธิบายว่าท่านจะรวบรวมกระดาษและเขียนบางอย่างให้ชั้นเรียนอ่าน แนะนำนักเรียนว่าไม่ต้องเขียนชื่อลงในกระดาษ และเตือนพวกเขาว่าไม่ต้องลงรายละเอียดที่เป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่เหมาะจะสนทนาในชั้นเรียน (หลังจากรวบรวมกระดาษแล้ว ท่านอาจต้องการทบทวนสิ่งที่ส่งมาพอสังเขปเพื่อให้แน่ใจว่าเหมาะสมและไม่เป็นส่วนตัวมากเกินไป) อ่านคำถามหรือการท้าทายข้อหนึ่งให้ชั้นเรียนฟังและดูว่านักเรียนสามารถใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ช่วยตอบคำถามหรือการท้าทายได้หรือไม่

อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาเราให้สอนสิ่งที่พระองค์ทรงสอนเราแก่ผู้อื่น (ดู 3 นีไฟ 23:14) เพื่อช่วยเตรียมนักเรียนให้พร้อมรักษาพระบัญญัติข้อนี้ กระตุ้นพวกเขาให้ฝึกทักษะการสอน เช่น การอธิบายหลักคำสอนหรือหลักธรรม แบ่งปันประสบการณ์ และเป็นพยานขณะพวกเขาใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์แก้ไขปัญหา ท่านอาจต้องการเก็บคำถามหรือการท้าทายอื่นที่นักเรียนส่งมาและสนทนาในทำนองเดียวกันในวันที่พวกเขามีเวลาเหลือ

หมายเหตุ: ความยาวของบทนี้อาจมีเวลาให้ทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อนี้ ท่านอาจดำเนินกิจกรรมตอนเริ่มบทเรียน ขณะพักระหว่างบทเรียนแต่ละช่วง หรือตอนจบบทเรียน ทำกิจกรรมให้กระชับเพื่อให้มีเวลาสำหรับบทเรียน ดูกิจกรรมทบทวนอื่นๆ ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้