คลังค้นคว้า
บทที่ 133: 3 นีไฟ 27


บทที่ 133

3 นีไฟ 27

คำนำ

ไม่นานหลังจากการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอดในบรรดาชาวนีไฟ สานุศิษย์ชาวนีไฟสิบสองคนที่เพิ่งได้รับเรียกมาพบกันในการสวดอ้อนวอนและการอดอาหารอย่างสุดกำลัง พระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อพวกเขาและทรงตอบคำถามของพวกเขาเกี่ยวกับชื่อที่พวกเขาควรเรียกศาสนจักร พระองค์ทรงสอนพวกเขาเกี่ยวกับพระกิตติคุณและทรงบัญชาพวกเขาให้เป็นเหมือนพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

3 นีไฟ 27:1–12

พระเยซูคริสต์ทรงสอนสานุศิษย์สิบสองคนว่าศาสนจักรของพระองค์ควรมีพระนามของพระองค์

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสามหรือสี่คน ถ้าชั้นเรียนเล็ก ให้นักเรียนแต่ละคนทำงานด้วยตนเอง ขอให้แต่ละกลุ่ม (หรือแต่ละคน) สมมติว่าพวกเขากำลังจะตั้งชมรมใหม่หรือทีมกีฬาทีมใหม่ ขอให้แต่ละคนตัดสินใจว่าพวกเขาจะตั้งชมรมหรือทีมกีฬาแบบใด เช่น ชมรมวิทยาศาสตร์หรือทีมฟุตบอล จากนั้นให้พวกเขาเลือกชื่อให้องค์กรของตน ให้แต่ละกลุ่มเขียนชื่อลงในแผ่นกระดาษ แล้วเก็บรวบรวมแผ่นกระดาษ (กิจกรรมนี้ควรกระชับ ไม่ควรใช้เวลามากเกินไปหรือดึงความสนใจออกจากหลักคำสอนและหลักธรรมใน 3 นีไฟ 27)

อ่านออกเสียงชื่อในกระดาษแต่ละแผ่น หลังจากอ่านแต่ละชื่อแล้ว ขอให้ชั้นเรียนทายตามชื่อว่าเป็นชมรมหรือทีมอะไร

  • ชื่อสามารถสื่ออะไรได้บ้างเกี่ยวกับองค์กรหรือคนในองค์กรนั้น

อธิบายว่าไม่นานหลังจากการเสด็จเยือนชาวนีไฟ สานุศิษย์สิบสองคนของพระเยซูคริสต์ร่วมกันอดอาหารและสวดอ้อนวอน (ดู 3 นีไฟ 27:1) เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 3 นีไฟ 27:2–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำถามของสานุศิษย์และคำตอบของพระผู้ช่วยให้รอด

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าควรเรียกศาสนจักรของพระองค์ว่าอย่างไร

  • พระองค์ประทานเหตุผลอะไรบ้างสำหรับการตั้งชื่อศาสนจักรตามพระนามของพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า 3 นีไฟ 27:8–12 ในใจโดยมองหาคำอธิบายของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับศาสนจักรที่แท้จริงของพระองค์ ขณะที่พวกเขาศึกษา ให้เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน

ศาสนจักรที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ต้อง …

หลังจากนักเรียนมีเวลาค้นคว้าข้อเหล่านี้มากพอแล้ว ให้ถามว่าพวกเขาจะเติมประโยคบนกระดานว่าอย่างไรโดยใช้สิ่งที่อ่าน (นักเรียนควรจะระบุความจริงต่อไปนี้ได้: ศาสนจักรที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์จะต้องมีชื่อเรียกตามพระนามของพระองค์และสร้างอยู่บนพระกิตติคุณของพระองค์)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอดต้องมีพระนามของพระองค์

  • ท่านคิดว่าศาสนจักร “สร้างบนกิตติคุณ [ของพระองค์]” หมายความว่าอะไร (3 นีไฟ 27:10) ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ศาสนจักรต้องสร้างบนกิตติคุณของพระองค์ไม่ใช่บนงานของมนุษย์

เชื้อเชิญนักเรียนให้เติมประโยคต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ “การเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์สำคัญต่อฉันเพราะ …”

3 นีไฟ 27:13–22

พระเยซูคริสต์ทรงให้นิยามกิตติคุณของพระองค์และทรงสอนสิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะยืนโดยไม่มีมลทินต่อพระพักตร์พระองค์และพระบิดาของพระองค์

ขอให้นักเรียนตรึกตรองว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อถูกจับได้ว่าทำความผิดบางอย่าง (อย่าขอให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้) จากนั้นขอให้พวกเขาจินตนาการว่าจะเป็นอย่างไรถ้ายืนรับการพิพากษาต่อพระพักตร์พระเจ้า กระตุ้นพวกเขาให้ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • ท่านจะรู้สึกอย่างไรต่อพระพักตร์พระเจ้าถ้าท่านรู้สึกผิดเพราะทำบาป

อธิบายว่าคำว่า กิตติคุณ หมายถึง “ข่าวดี” เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 3 นีไฟ 27:13–16 ขอให้ชั้นเรียนมองหาข่าวดีในข้อเหล่านี้ ขอให้พวกเขาพิจารณาเช่นกันว่าข่าวดีนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับวันที่พวกเขาจะยืนรับการพิพากษาต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นพยานว่าพระองค์เสด็จมาในโลกเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระบิดา ตามที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 27:14 พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งพระเยซูคริสต์มาทำอะไรในโลก

  • จาก 3 นีไฟ 27:13–14 อะไรคือรากฐานของพระกิตติคุณ (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: รากฐานของพระกิตติคุณคือพระเยซูคริสต์ทรงทำตามพระประสงค์ของพระบิดาโดยทำให้การชดใช้บรรลุผลสำเร็จ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนความจริงนี้ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ 3 นีไฟ 27:13–14)

  • เนื่องจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำตามพระประสงค์ของพระบิดา จะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษยชาติทั้งปวง (เราจะถูกยกขึ้นต่อพระพักตร์พระองค์เพื่อรับการพิพากษาตามงานของเรา)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า 3 นีไฟ 27:16 ในใจ โดยมองหางานที่เราต้องทำเพื่อจะได้รับพรทุกประการของการชดใช้และเตรียมรับการพิพากษา ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ พรใดจะมาถึงคนที่กลับใจ รับบัพติศมา และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนความจริงต่อไปนี้: ถ้าเรากลับใจ รับบัพติศมา และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เราจะปราศจากมลทินเมื่อเรายืนรับการพิพากษาต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 27:17–19 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่กลับใจหรือไม่อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

  • จากสิ่งที่ท่านอ่าน เหตุใดบุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์จึงต้องการการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  • มีข่าวดีอะไรสำหรับเราขณะที่เรานึกถึงการยืนรับการพิพากษาต่อพระพักตร์พระเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“‘ข่าวดี’ [คือ] ว่าเรา [สามารถ] หนีพ้นความตายและนรกได้ เรา [สามารถ] เอาชนะความผิดพลาดและบาปได้ มีความหวัง มีความช่วยเหลือ แก้ไขส่วนที่แก้ไขไม่ได้ ศัตรูถูกพิชิตแล้ว ข่าวดี [คือ] ว่าสักวันหนึ่งอุโมงค์ ของทุกคน [จะ] ว่างเปล่า จิตวิญญาณ ของทุกคน [สามารถ] บริสุทธิ์ได้อีกครั้ง ลูก ทุกคน ของพระผู้เป็นเจ้า [สามารถ] กลับไปหาพระบิดาผู้ประทานชีวิตแก่พวกเขาได้อีกครั้ง” (“Missionary Work and the Atonement,” Ensign, Mar. 2001, 8, 10)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 27:20–21 ขอให้ชั้นเรียนมองหาพระดำรัสที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญเรา

  • อะไรคือพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้

เพื่อช่วยนักเรียนตรึกตรองความพยายามของพวกเขาในการยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญนี้ให้พวกเขาตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนหรืออ่านช้าๆ ให้นักเรียนจดตาม)

  • เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงต้องการให้ท่านกลับใจและมาหาพระองค์

  • ท่านกำลังยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 27:20–21 ด้วยวิธีใด

  • วันนี้ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมยืนโดยไม่มีมลทินต่อพระพักตร์พระเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:40–42 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาข้อคิดเพิ่มเติมว่าเหตุใดพระกิตติคุณจึงเป็นข่าวดี (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียน คพ. 76:40–42 ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ 3 นีไฟ 27:13)

ช่วงแรกในบทเรียน ท่านขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรต่อพระพักตร์พระเจ้าถ้าพวกเขาทำบาป ณ จุดนี้ในบทเรียน เชื้อเชิญพวกเขาให้ไตร่ตรองว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรต่อพระพักตร์พระผู้ช่วยให้รอดถ้ารู้ว่าพระองค์ทรงทำให้พวกเขาสะอาดอีกครั้งผ่านการชดใช้ของพระองค์และโดยการเชื่อฟังหลักธรรม พระบัญญัติ และศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณ

  • ถ้าท่านพูดกับพระผู้ช่วยให้รอดในเวลานั้นได้ ท่านจะพูดอะไร

  • จากสิ่งที่ท่านศึกษาวันนี้ ท่านจะอธิบายข่าวดีในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กับเพื่อนว่าอย่างไร

3 นีไฟ 27: 23–33

พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนเหล่าสานุศิษย์ให้เป็นแม้ดังพระองค์

สรุป 3 นีไฟ 27:23–26 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดประทานคำแนะนำให้สานุศิษย์สิบสองคนของพระองค์และทรงสอนพวกเขาเกี่ยวกับความรับผิดชอบของพวกเขา เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 27:27 ในใจโดยมองหาพระบัญญัติที่พระองค์ประทานแก่เหล่าสานุศิษย์เพื่อให้พวกเขาทำบทบาทของตนในฐานะผู้พิพากษาของผู้คน

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ผู้พิพากษาของผู้คนต้องเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด

ขอให้นักเรียนทบทวน 3 นีไฟ 27:21

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้สานุศิษย์ทำอะไร

  • อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของพระผู้ช่วยให้รอดกับการเป็นเหมือนพระองค์

ขณะที่นักเรียนสนทนาคำถามนี้ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: พระเจ้าทรงคาดหวังให้สานุศิษย์ทำงานของพระองค์และเป็นเหมือนพระองค์

  • มีวิธีใดบ้างที่เราจะเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด เราสามารถทำงานอะไรได้บ้างขณะทำตามแบบอย่างของพระองค์

  • ท่านได้รับพรในด้านใดบ้างเมื่อท่านพยายามทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด

สรุปชั้นเรียนโดยเป็นพยานถึงพรที่มาถึงเมี่อเราพยายามเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

3 นีไฟ 27:8 ชื่อของศาสนจักร

ฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า

“การใช้ชื่อที่ได้รับการเปิดเผย ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (คพ. 115:4) นับวันจะสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อความรับผิดชอบของเราในการประกาศพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดทั่วโลก ด้วยเหตุนี้เราจึงขอร้องว่าเมื่อเราพูดถึงศาสนจักรขอให้เราใช้ชื่อเต็มทุกครั้งที่ทำได้” (จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด 23 ก.พ. 2001)

ประธานฮาโรลด์ บี. ลีสอนดังนี้

“เมื่อพระองค์ [พระเจ้า] ทรงเปิดเผยชื่อที่จะใช้เรียกศาสนจักร พระองค์ทรงใช้คำบางคำที่น่าสนใจ พระองค์ตรัสว่า ‘เพราะจะเรียกศาสนจักรของเราในวันเวลาสุดท้ายดังนี้, แม้ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย.’ (คพ. 115:4)

“คำว่า the (ในภาษาอังกฤษ) เป็นคำสำคัญ ไม่เพียง Church of Jesus Christ of Latter-day Saints เพราะการพูดว่า ‘The Church’ แยกแยะให้เห็นว่านี่เป็นศาสนจักรที่แท้จริงเพียงแห่งเดียวบนพื้นพิภพ พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าศาสนจักรมอรมอน พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าศาสนจักรแอลดีเอส แต่พระดำรัสนั้นชัดเจน หนักแน่น และไม่คลุมเครือว่า ‘แม้ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย’” (“The Way to Eternal Life,Ensign, Nov. 1971, 13)

3 นีไฟ 27:13–21 พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายข่าวสารหลักของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ดังนี้

“หลักธรรมพื้นฐานของศาสนาเราคือประจักษ์พยานของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ ทรงถูกฝัง ทรงคืนพระชนม์อีกครั้งในวันที่สาม และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ เรื่องอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเราล้วนเป็นเพียงส่วนประกอบของเรื่องดังกล่าว” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 52)

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า

“คำว่า กิตติคุณ หมายถึง ‘ข่าวประเสริฐ’ ข่าวประเสริฐคือพระเจ้าพระเยซูคริสต์และข่าวสารของพระองค์เรื่องความรอด [ดู Bible Dictionary, Gospels, 682–683] พระเยซูทรงถือว่าพระกิตติคุณเป็นทั้งพันธกิจและการปฏิบัติศาสนกิจในความเป็นมรรตัยของพระองค์เท่าเทียมกัน ในพระดำรัสเกี่ยวกับ พระพันธกิจ ของพระองค์ พระเยซูตรัสว่า

“‘นี่คือกิตติคุณที่เราให้แก่เจ้า—ว่าเรามาในโลกเพื่อทำตามน้ำพระทัยของพระบิดาของเรา, เพราะพระบิดาของเราทรงส่งเรามา

“‘และพระบิดาของเราทรงส่งเรามาเพื่อเราจะได้ถูกยกขึ้นบนกางเขน’ [3 นีไฟ 27:13–14]

“เรารู้จักพระพันธกิจในความเป็นมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอดว่าคือ การชดใช้

การปฏิบัติศาสนกิจ แห่งมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอดได้แก่สิ่งอื่นทุกสิ่งที่ทรงสอน ทรงแสดงความรัก ความเอาพระทัยใส่ในศาสนพิธีต่างๆ รูปแบบของการสวดอ้อนวอน พระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ และอีกมาก พระองค์ดำเนินพระชนม์ชีพเป็นแบบอย่างแก่เรา ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าเป็นพระกิตติคุณเท่าเทียมกันด้วยดังพระดำรัสเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ว่า ‘นี่คือกิตติคุณของเรา’ พระองค์ตรัส ‘… เพราะงานที่เจ้าเห็นเราทำมาแล้วเจ้าจงทำด้วย’ [3 นีไฟ 27:21] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศรัทธา กลับใจ บัพติศมาโดยน้ำ โดยไฟและโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ การรวบรวมผู้ที่ได้รับเลือกและการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ทั้งหมดนี้จึงเป็นส่วนของพระกิตติคุณ” (ดู “ผู้สอนศาสนาอาวุโสและพระกิตติคุณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 100)

3 นีไฟ 27:27 การเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน สอนว่า

“คนยิ่งใหญ่ที่สุด ได้รับพรมากที่สุด และมีปีติมากที่สุดคือคนที่ชีวิตเขาใกล้เคียงแบบฉบับของพระคริสต์มากที่สุด เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับความมั่งคั่งทางโลก อำนาจ หรือเกียรติยศชื่อเสียง บททดสอบแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวของความยิ่งใหญ่ ความผาสุก ความปีติยินดีคือชีวิตเขาใกล้เคียงความเป็นเหมือนพระอาจารย์พระเยซูคริสต์มากเพียงใด พระองค์ทรงเป็นทางที่ถูกต้อง ความจริงอันสมบูรณ์ และชีวิตที่พรั่งพร้อม” (“Jesus Christ—Gifts and Expectations” [BYU devotional address, Dec. 10, 1974], 1, speeches.byu.edu)