คลังค้นคว้า
การศึกษาที่บ้านหน่วย 24


บทเรียนการศึกษาที่บ้าน

3 นีไฟ 1–11:17 (หน่วย 24)

การเตรียมเนื้อหาสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

สรุปบทเรียนประจำวันภาคการศึกษาที่บ้าน

ต่อไปนี้เป็นใจความสรุปหลักคำสอนและหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา 3 นีไฟ1–11:17 (หน่วย 24)ไม่ได้ตั้งใจจะให้สอนเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน บทที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมบางประการเหล่านี้ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะที่ท่านพิจารณาสิ่งที่นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้

วัน 1 (3 นีไฟ 1)

ขณะที่นักเรียนศึกษาเกี่ยวกับสัมฤทธิผลแห่งคำพยากรณ์ของแซมิวเอลชาวเลมันเกี่ยวกับการประสูติของพระเยซูคริสต์ พวกเขาเรียนรู้ว่าพระเจ้าจะทรงทำให้ถ้อยคำที่พระองค์ทรงให้ศาสดาพยากรณ์ของพระองค์กล่าวเกิดสัมฤทธิผลทั้งหมด จากแบบอย่างของคนที่ซื่อสัตย์แม้เมื่อผู้ไม่เชื่อวางแผนทำลายพวกเขา นักเรียนเรียนรู้ว่าเมื่อเราพบเจอคำเท็จของซาตาน เราสามารถเลือกเชื่อในพระเยซูคริสต์และยังคงซื่อสัตย์ การกบฏของเยาวชนชาวเลมันบางคนแสดงให้นักเรียนเห็นว่าถ้าเรายอมต่อการล่อลวง ตัวอย่างของเราสามารถส่งผลกระทบในแง่ลบต่อศรัทธาและความชอบธรรมของผู้อื่น

วัน 2 (3 นีไฟ 2–5)

ขณะศึกษาความชอบธรรมที่ลดน้อยลงของผู้คน นักเรียนสังเกตเห็นว่าถ้าเราลืมประสบการณ์ทางวิญญาณที่เคยได้รับ เราจะถูกการล่อลวงและการหลอกลวงของซาตานโจมตีได้ง่ายขึ้น เมื่อนักเรียนวิเคราะห์จดหมายหลอกลวงที่กิดดิแอนไฮเขียนถึงเลโค-นิอัส นักเรียนค้นพบว่าซาตานและผู้ติดตามเขามักใช้คำป้อยอ สัญญาเทียมเท็จ และคำขมขู่เพื่อชักนำผู้คนให้หลงผิด นักเรียนเรียนรู้จากชาวนีไฟและชาวเลมันผู้ปกป้องตนเองจากพวกโจรแก-ดิแอนทันได้สำเร็จว่าเมื่อเราเตรียมตัวทางวิญญาณและทางโลก พระเจ้าจะทรงเพิ่มพลังให้เราเอาชนะการท้าทาย ขณะที่นักเรียนอ่านเรื่องชาวนีไฟสรรเสริญพระเจ้าเพราะทรงปลดปล่อยพวกเขา พวกเขาเรียนรู้ว่าการสำนึกในพระคุณความดีและพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าในการปลดปล่อยเราจากความยุ่งยากช่วยให้เราถ่อมตนอยู่เสมอ การที่ชาวนีไฟพยายามสั่งสอนพระกิตติคุณและการประกาศหน้าที่ของมอรมอนแสดงให้เห็นว่าในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เรามีความรับผิดชอบในการสอนผู้อื่นให้รู้ทางสู่ชีวิตอันเป็นนิจ

วัน 3 (3 นีไฟ 6–10)

ขณะที่นักเรียนอ่านเกี่ยวกับชาวนีไฟและชาวเลมันลดตัวลงไปทำความชั่วร้ายอีกครั้ง พวกเขาค้นพบว่าเมื่อเราจองหอง เรายอมให้ซาตานมีอำนาจล่อลวงเรามากขึ้นและชักนำเราให้ทำบาปมากขึ้น แต่แบบอย่างที่ซื่อสัตย์ของคนบางคนแสดงให้เห็นว่าเราสามารถเลือกถ่อมตนและซื่อสัตย์ได้ไม่ว่าสภาวการณ์ของเราเป็นเช่นไร เมื่อฝ่ายปกครองชาวนีไฟถูกล้มล้าง คนที่ทำตามนีไฟแสดงให้เห็นว่าถ้าเราจะกลับใจและทำตามผู้รับใช้ของพระเจ้า เราจะมีอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตเรา หลังจากความพินาศร้ายแรงทุกคนทั่วแผ่นดินได้ยินสุรเสียงของพระเยซูคริสต์ประกาศในความมืดว่าถ้าเรามาหาพระองค์ด้วยใจชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด พระองค์จะทรงรักษาเราและประทานชีวิตนิรันดร์แก่เรา

วัน 4 (3 นีไฟ 11:1–17)

เมื่อนักเรียนศึกษาการประกาศแนะนำพระเยซูคริสต์ของพระบิดา พวกเขาค้นพบว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์มักตรัสกับเราผ่านความรู้สึกของเรา อีกทั้งเรียนรู้ด้วยว่าเมื่อเราเรียนรู้วิธีฟังสุรเสียงของพระเจ้าผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะสามารถเข้าใจการสื่อสารที่พระองค์ประทานแก่เรา จากเรื่องราวการเริ่มปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอดในบรรดาชาวนีไฟ นักเรียนเรียนรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญเราทุกคนให้รับประจักษ์พยานส่วนตัวว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเราและว่าเมื่อเราได้รับประจักษ์พยานนั้น เรามีความรับผิดชอบในการกล่าวคำพยานถึงพระองค์

คำนำ

กิจกรรมสำหรับ 3 นีไฟ 1–7 ในบทนี้เน้นหลักคำสอนและหลักธรรมบางประการที่สามารถช่วยให้นักเรียนเข้าใจมากขึ้นว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร กิจกรรมการสอนสำหรับ 3 นีไฟ 8–10 จะเตรียมนักเรียนให้พร้อมใคร่ครวญประจักษ์พยานของตนในพระผู้ช่วยให้รอดขณะเรียนเรื่องการปรากฏของพระองค์ต่อผู้สืบตระกูลของลีไฮใน 3 นีไฟ 11

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

3 นีไฟ 1–7

เครื่องหมายและการอันน่าพิศวงประกาศการประสูติของพระเยซูคริสต์ ผู้คนหมุนเวียนระหว่างความชอบธรรมกับความชั่วร้ายจนฝ่ายปกครองล้ม

วาดเส้นลักษณะนี้ไว้บนกระดาน

เส้นหยัก

ถามว่า: จากการศึกษาของท่านในสัปดาห์ที่ผ่านมา เส้นนี้จะแทนชาวนีไฟใน 3 นีไฟ 1–7ได้อย่างไร (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวนหัวบทสำหรับ 3 นีไฟ 1–7 เพื่อเตือนความจำพวกเขาว่าชาวนีไฟแกว่งไปมาระหว่างความชอบธรรมกับความชั่วร้ายอย่างไรตั้งแต่ ค.ศ. 1 ถึง ค.ศ. 33)

เพื่อช่วยให้นักเรียนตรึกตรองสิ่งที่ 3 นีไฟ 1–7 สอนเราเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์อย่างแท้จริง ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานมาเรียน จี. รอมนีย์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด (หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้แจกสำเนาแก่นักเรียนคนละฉบับ และขอให้พวกเขาขีดเส้นใต้วลีหรือคำที่พวกเขารู้สึกว่าพูดถึงบุคคลที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสได้ดีที่สุด)

“การเปลี่ยนใจเลื่อมใสคือการเปลี่ยนแปลงทางวิญญาณและศีลธรรม เปลี่ยนใจเลื่อมใส ไม่เพียงบอกเป็นนัยว่าใจเรายอมรับพระเยซูและคำสอนของพระองค์เท่านั้น แต่ผลักดันให้เกิดศรัทธาในพระองค์และพระกิตติคุณของพระองค์เช่นกัน … ในคนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสโดยสิ้นเชิงจริงๆ ความปรารถนาจะทำสิ่งตรงข้ามกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้ตายไปแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงถูกแทนที่ด้วยความรักของพระผู้เป็นเจ้า พร้อมด้วยความตั้งใจแน่วแน่และหนักแน่นว่าจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์” (ในรายงานการประชุมใหญ่, การประชุมใหญ่ภาคกัวเตมาลา 1977, 8)

ถามว่า: ท่านรู้สึกว่าวลีหรือคำใดพูดถึงผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสได้ดีที่สุด

วาดแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บนกระดาน หรือเตรียมเป็นเอกสารแจกนักเรียน

ความเชื่อและการกระทำที่นำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใส

ความเชื่อและการกระทำที่บั่นทอนการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

3 นีไฟ 1:15–23, 27–30

3 นีไฟ 2:1–3; 3:1–10

3 นีไฟ 4:7–12, 30–33

3 นีไฟ 6:13–18; 7:1–5

3 นีไฟ 7:15–22

มอบหมายข้อพระคัมภีร์จากแผนภูมิให้นักเรียนคนละหนึ่งช่วง ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนค้นคว้าข้อที่มอบหมายเพื่อหาความเชื่อและการกระทำที่นำไปสู่หรือบั่นทอนการเปลี่ยนใจเลื่อมใส หลักธรรมมากมายที่นักเรียนจะหาได้อยู่ในสรุปบทเรียนประจำวันภาคการศึกษาที่บ้านสำหรับวัน 1–3 ตอนเริ่มบทเรียนนี้ ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน หรือกระตุ้นพวกเขาให้เขียนไว้ในเอกสารแจกของตน ช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้หลักธรรมที่พบโดยถามคำถามทำนองนี้เกี่ยวกับความจริงหนึ่งหรือสองประการที่นักเรียนระบุ

  • ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักดำเนินชีวิตตามความจริงนั้นหรือประสบกับหลักธรรมนั้นอย่างไร

  • จากความจริงที่ท่านค้นพบ ท่านจะให้คำแนะนำอะไรเพื่อช่วยให้คนบางคนเปลี่ยนใจเลื่อมใสและมั่นคงทางวิญญาณมากขึ้น

3 นีไฟ 8–11:17

ความพินาศอันใหญ่หลวงและความมืดเป็นสัญญาณบ่งบอกการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ หลังจากการฟื้นคืนพระชนม์พระองค์เสด็จเยือนผู้สืบตระกูลของลีไฮ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งสรุปเหตุการณ์ใน 3 นีไฟ 8 แบ่งปันความรู้สึกหรือความประทับใจที่เขามีขณะศึกษาบทนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน 3 นีไฟ 8:20–23 เชื้อเชิญชั้นเรียนให้อธิบายว่าเหตุใดเครื่องหมายที่ข้อเหล่านี้พูดถึงจึงเป็นเครื่องหมายที่เหมาะจะบ่งบอกการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ เพื่อเน้นความมืดที่ชาวนีไฟประสบ ท่านอาจต้องการใช้กิจกรรมต่อไปนี้

แจกไฟฉายให้นักเรียนคนละกระบอก และปิดไฟในห้อง (ถ้าท่านมีไฟฉายไม่พอ นักเรียนอาจต้องใช้ด้วยกัน) ให้นักเรียนเปิดไฟฉาย และเชิญสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 3 นีไฟ 9:13–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาความจริงที่ผู้คนเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ขณะประสบกับความมืดหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เปิดไฟในห้องและสรุปความจริงที่นักเรียนระบุไว้บนกระดาน เน้นหลักธรรมต่อไปนี้: พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแสงสว่างและชีวิตของโลก ถ้าเรามาหาพระเยซูคริสต์ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด พระองค์จะทรงรับเรา ทรงรักษาเรา และประทานชีวิตนิรันดร์แก่เรา

สรุป 3 นีไฟ 11:1–7 โดยอธิบายว่าคนที่รอดชีวิตจากความพินาศมารวมกันที่พระวิหารในอุดมมั่งคั่ง

ให้ดูภาพพระเยซูทรงสอนในซีกโลกตะวันตก (62380; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 82) หรือพระเยซูทรงรักษาชาวนีไฟ (หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 83) เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกภาพ 3 นีไฟ 11:8–17 ขณะที่ท่านอ่านให้พวกเขาฟัง หยุดเป็นครั้งคราวในการอ่าน และเชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรขณะนึกภาพประสบการณ์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ “ทีละคน” ที่ชาวนีไฟมีกับพระผู้ช่วยให้รอดดังบรรยายไว้ใน 3 นีไฟ 11:15

หลังจากอ่าน 3 นีไฟ 11:8–17 ถามนักเรียนด้วยคำถามต่อไปนี้ เชื้อเชิญพวกเขาให้ใช้เวลาไตร่ตรองคำถามในใจสักสองสามนาทีก่อนตอบ (จงแน่ใจว่าได้ให้เวลานักเรียนตอบคำถามเหล่านี้มากพอที่พวกเขาจะไม่รู้สึกว่าต้องเร่งรีบขณะไตร่ตรองและแบ่งปันความรู้สึกและประจักษ์พยานของพวกเขา)

  • ถ้าท่านอยู่ในบรรดาชาวนีไฟและมีโอกาสสัมผัสรอยแผลของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอยากจะทูลอะไรต่อพระองค์

  • เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงแนะนำพระองค์เองต่อชาวนีไฟ ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่พระองค์ทรงดึงความสนใจมาที่ “ถ้วยอันขมขื่น” (3 นีไฟ 11:11)

  • อะไรคือ “ถ้วยอันขมขื่น” ที่พระเยซูคริสต์ตรัสถึง (ดู คพ. 19:16–19)

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและแสงสว่างที่เข้ามาในชีวิตท่านเมื่อท่านติดตามพระองค์ (ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้จำความรู้สึกที่พวกเขาประสบระหว่างบทเรียนนี้และจดไว้ในบันทึกส่วนตัวที่บ้าน)

หน่วยต่อไป (3 นีไฟ 11:18–16:20)

เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาคำถามต่อไปนี้ขณะศึกษาหน่วยต่อไป: ฉันถือว่าคนใดคนหนึ่งเป็นศัตรูของฉันหรือไม่ หากมี ฉันปฏิบัติต่อคนนั้นอย่างไร พระผู้เป็นเจ้าทรงรู้สึกว่าคุณธรรมใดสำคัญในชีวิตฉัน การตัดสินผู้อื่นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือไม่ นักเรียนจะพบคำตอบของคำถามเหล่านี้เมื่อพวกเขาศึกษาพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดในหน่วย 25