บทที่ 136
4 นีไฟ
คำนำ
หลังจากการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์ในบรรดาผู้สืบตระกูลของลีไฮ ผู้คนประยุกต์ใช้คำสอนของพระองค์และมีความเป็นหนึ่งเดียว ความรุ่งเรือง และความสุขนานกว่า 100 ปี พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวในฐานะ “ลูกของพระคริสต์” และไม่เรียกตนเองว่าชาวนีไฟหรือชาวเลมันอีกต่อไป (4 นีไฟ 1:17) แต่ในที่สุดพวกเขากลับจองหองและชั่วร้ายมากขึ้น พวกเขาแบ่งแยกเป็นชาวนีไฟและชาวเลมันอีกครั้ง ราว 300 ปีหลังจากการเสด็จเยือนของพระผู้ช่วยให้รอด ผู้คนเกือบทั้งหมดกลายเป็นคนชั่วร้าย
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
4 นีไฟ 1:1–18
ทุกคนเปลี่ยนใจเลื่อมใสและมีความสงบสุข
ก่อนชั้นเรียน เตรียมกระดาษเปล่าให้นักเรียนคนละสองแผ่น—หากเป็นไปได้ ให้แผ่นหนึ่งเป็นสีขาวและอีกแผ่นเป็นสีอื่น (ครึ่งแผ่นก็พอ) วางกระดาษสีขาวไว้บนโต๊ะหรือเก้าอี้ของนักเรียนก่อนพวกเขามาถึง เก็บกระดาษสีไว้ใช้ในบทเรียนช่วงหลัง เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: อะไรทำให้คุณมีความสุขอย่างแท้จริง? เมื่อนักเรียนมาถึง เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนคำตอบของคำถามนี้บนกระดาน
เริ่มชั้นเรียนโดยสนทนาคำตอบที่พวกเขาเขียนไว้บนกระดาน ถามนักเรียนดังนี้
-
อะไรคือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขชั่วคราวกับสิ่งที่นำไปสู่ความสุขอันยั่งยืน (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการเน้นว่าความสุขที่แท้จริงไม่สามารถพบได้ในสิ่งทางโลกเช่น ชื่อเสียงเกียรติคุณ ความร่ำรวย และวัตถุสิ่งของ)
อธิบายว่า 4 นีไฟ เป็นบันทึกของผู้สืบตระกูลของลีไฮหลายรุ่นผู้มีชีวิตหลังจากการเสด็จเยือนของพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 4 นีไฟ 1:16 ในใจโดยดูว่ามอรมอนพูดถึงคนที่มีชีวิตอยู่หลังจากการเสด็จเยือนของพระผู้ช่วยให้รอดประมาณ 100 ปีว่าอย่างไร ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายที่ข้อความว่า “แน่แท้แล้วไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้” ขอให้นักเรียนเขียน ไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้ ไว้บนสุดของแผ่นกระดาษที่ท่านเตรียมไว้ให้ จากนั้นให้พวกเขาวาดวงกลมวงใหญ่ตรงกลางกระดาษ
ขอให้นักเรียนอ่าน 4 นีไฟ 1:1–2 โดยดูว่าผู้คนทำอะไรที่ทำให้ความสุขนี้เกิดขึ้น เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนสิ่งที่พบไว้ในวงกลม (คำตอบควรได้แก่ ผู้คนกลับใจ รับบัพติศมา ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และ “ผู้คนทั้งหมดได้รับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระเจ้า”)
-
ได้รับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสหมายความว่าอย่างไร
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสลึกซึ้งกว่าการเพียงแค่มีประจักษ์พยานหรือการเป็นสมาชิกของศาสนจักร เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ให้เตรียมสำเนาคำกล่าวนี้แจกนักเรียน กระตุ้นพวกเขาให้ระบุคำและวลีที่ให้คำจำกัดความของการเปลี่ยนใจเลื่อมใส
“ความสุขของท่านเวลานี้และตลอดกาลขึ้นอยู่กับระดับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสและการเปลี่ยนแปลงที่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสนำมาสู่ชีวิตท่าน แล้วท่านจะเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างแท้จริงได้อย่างไร ประธาน [มาเรียน จี.] รอมนีย์บอกขั้นตอนที่ท่านต้องทำตามดังนี้
“‘การเป็นสมาชิกในศาสนจักรและการเปลี่ยนใจเลื่อมใสไม่จำเป็นต้องมีความหมายเหมือนกัน การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและการมีประจักษ์พยานไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ประจักษ์พยานเกิดขึ้นเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานพยานยืนยันความจริงแก่ผู้แสวงหาอย่างจริงจัง ประจักษ์พยานที่แท้จริงให้พลังแก่ศรัทธา กล่าวคือ ประจักษ์พยานก่อให้เกิดการกลับใจและการเชื่อฟังพระบัญญัติ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นผลหรือรางวัลสำหรับการกลับใจและการเชื่อฟัง’ [ใน Conference Report, Guatemala Area Conference 1977, 8–9]
“กล่าวง่ายๆ คือ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริงเป็นผลของ ศรัทธา การกลับใจ และ การเชื่อฟังอยู่เสมอ …
“การเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริงให้ผลของความสุขอันยั่งยืนที่สามารถมีได้แม้เมื่อโลกอยู่ในความยุ่งเหยิงและคนส่วนใหญ่ไม่มีความสุขเลย” (ดู “การเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างสมบูรณ์นำมาซึ่งความสุข,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, 30, 31)
-
ท่านได้ยินคำและวลีใดที่ให้คำจำกัดความของการเปลี่ยนใจเลื่อมใส
-
ท่านคิดว่าจะเป็นอย่างไรถ้าทุกคนรอบตัวท่านเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้า
เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: 4 นีไฟ 1:2–3, 5, 7, 10–13, 15–18 เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจากข้อเหล่านี้ ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำและวลีบอกสิ่งที่ผู้คนประสบเพราะทุกคนเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้า เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำและวลีเหล่านี้ไว้รอบวงกลมในกระดาษของพวกเขา (คำตอบอาจได้แก่ ไม่มีความขัดแย้งหรือการโต้เถียง พวกเขาปฏิบัติต่อกันอย่างเที่ยงธรรม พวกเขามีสิ่งของทั้งหมดเพื่อใช้ร่วมกัน มีการกระทำปาฏิหาริย์มากมายในพระนามของพระเยซูคริสต์ พระเจ้าทรงทำให้ผู้คนรุ่งเรือง พวกเขาสร้างเมืองที่ถูกทำลายขึ้นมาใหม่ พวกเขาแต่งงานและสร้างครอบครัว พวกเขาขยายเผ่าพันธุ์และแข็งแกร่ง ความรักของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ในใจพวกเขา พวกเขามีความสุขและเป็นหนึ่งเดียวกัน)
ขอให้นักเรียนระบุหลักธรรมหนึ่งเกี่ยวกับความสุขที่พวกเขาเรียนรู้จากครึ่งแรกของ 4 นีไฟ 1 ถึงแม้นักเรียนจะระบุหลักธรรมหลายข้อ แต่พึงแสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้คนทำงานด้วยกันเพื่อให้เปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้า พวกเขาย่อมเป็นหนึ่งเดียวกันและมีความสุขมากขึ้น ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน
-
ท่านคิดว่าพรใดจะเกิดแก่ชั้นเรียนของเราถ้าเราทุกคนดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับคนเหล่านี้ ท่านคิดว่าพรใดจะเกิดแก่ครอบครัวท่าน ท่านคิดว่าพรใดจะเกิดแก่วอร์ดหรือสาขาของท่าน
เชื้อเชิญนักเรียนให้เล่าเกี่ยวกับเวลาที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกันในความชอบธรรม เช่น ครอบครัวของพวกเขา โควรัมหรือชั้นเรียน หรือกลุ่มเพื่อน ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์เช่นกัน
-
การที่ท่านพยายามเป็นคนชอบธรรมสามารถส่งผลต่อความสุขและความผาสุกของคนรอบข้างท่านอย่างไร (นักเรียนพึงเข้าใจว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสและการกระทำอันชอบธรรมของเราไม่เพียงเอื้อประโยชน์ต่อความสุขของเราเองเท่านั้นแต่จะเอื้อประโยชน์ต่อความสุขและความผาสุกของผู้อื่นด้วย เมื่อสมาชิกในครอบครัว โควรัม ชั้นเรียน หรือกลุ่มอื่นเป็นหนึ่งเดียวกันในความชอบธรรม พวกเขาจะมีความสุขได้มากกว่าการที่จะประสบด้วยตนเอง)
-
บาปของบุคคลหนึ่งสามารถส่งผลต่อคนอื่นๆ ในกลุ่มคนที่กำลังพยายามเป็นคนชอบธรรมได้อย่างไร
กระตุ้นนักเรียนให้เพิ่มพลังการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้าของตนเองและช่วยให้คนรอบข้างทำเช่นเดียวกัน เพื่อช่วยนักเรียนกับเรื่องท้าทายนี้ ขอให้พวกเขาทบทวนคำและวลีที่เขียนไว้ในกระดาษ เชื้อเชิญพวกเขาให้เลือกหนึ่งหรือสองวลีที่พูดถึงการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ ที่พวกเขาต้องการประสบ ให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ว่าพวกเขาจะพยายามดำเนินชีวิตในด้านเหล่านี้อย่างไร เป็นพยานถึงความสุขอันเกิดจากการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริงและการเป็นหนึ่งเดียวกันในความชอบธรรม
4 นีไฟ 1:19–49
ชาวนีไฟชั่วร้ายมากขึ้นจนเหลือคนชอบธรรมเพียงไม่กี่คน
-
ท่านคิดว่าอะไรจะทำลายสังคมได้เหมือนสังคมที่บรรยายไว้ใน 4 นีไฟ 1:1–18
ให้นักเรียนอ่าน 4 นีไฟ 1:20, 23–24 ในใจโดยดูว่าอะไรคุกคามความเป็นหนึ่งเดียวกันและความสุขของผู้คน ท่านอาจแนะนำให้พวกเขาทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ หลังจากพวกเขารายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้เขียนคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดไว้บนกระดาน (คำกล่าวนี้อยู่ใน “ใจเราผูกพันเป็นหนึ่งเดียว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 87) ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนลอกคำกล่าวนี้ลงในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ 4 นีไฟ 1:24
-
ท่านคิดว่าความจองหองเป็นศัตรูกับความเป็นหนึ่งเดียวในด้านใด
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้ชั้นเรียนฟังวิธีที่ความจองหองสามารถทำลายความเป็นหนึ่งเดียวได้
“โดยพื้นฐานแล้ว ความจองหองคือบาปของการเปรียบเทียบ เพราะถึงแม้โดยปกติจะเริ่มด้วย ‘ดูสิว่าฉันเยี่ยมแค่ไหนและฉันทำสิ่งสำคัญอะไรบ้าง’ แต่มักจะลงเอยด้วย ‘เพราะฉะนั้น ฉันจึงดีกว่าเธอ”
“เมื่อใจเราเต็มไปด้วยความจองหอง เท่ากับเราทำบาปร้ายแรง เพราะเราละเมิดพระบัญญัติข้อใหญ่สองข้อ [ดู มัทธิว 22:36–40] แทนที่จะนมัสการพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้าน เรากลับเผยเป้าหมายแท้จริงของการนมัสการและความรักของเรา—ภาพที่เราเห็นในกระจก” (ดู “ความจองหองและฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 70)
-
จากคำกล่าวของประธานอุคท์ดอร์ฟ ความจองหองสามารถทำลายความเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไร
เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 4 นีไฟ 1:24–35, 38–45 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาผลกระทบของความจองหองในบรรดาผู้คน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ (คำตอบอาจได้แก่ สวมเสื้อผ้าราคาแพง แบ่งชนชั้นทางสังคมหรือกลุ่มเพื่อนพิเศษ สร้างศาสนจักรเพื่อหาผลประโยชน์ ปฏิเสธศาสนจักรที่แท้จริง ข่มเหงคนซื่อสัตย์ ตั้งการมั่วสุมลับ และความชั่วร้าย)
ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งหนึ่งที่เขาพบทีละคน (นักเรียนอาจตอบซ้ำกัน) ขณะที่นักเรียนแต่ละคนตอบ ให้เขียนคำตอบของเขาลงในกระดาษสีแผ่นที่ท่านแยกไว้ต่างหากก่อนชั้นเรียน แจกกระดาษสีแก่นักเรียนแลกกับกระดาษขาวที่พูดถึงความสุขและความเป็นหนึ่งเดียวกันของผู้คน ทำขั้นตอนนี้ซ้ำจนกว่านักเรียนทุกคนในชั้นได้เปลี่ยนกระดาษขาวเป็นกระดาษสี
ขอให้นักเรียนมองไปรอบๆ และดูว่าทุกคนในชั้นมีกระดาษสีซึ่งเป็นตัวแทนของความจองหอง เชื้อเชิญพวกเขาให้ไตร่ตรองว่าสานุศิษย์สามคนของพระคริสต์ต้องรู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขาเห็นความจองหองและความชั่วร้ายแพร่ไปในบรรดาผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยมีความสุขและเป็นหนึ่งเดียวกัน
-
เราเรียนรู้ความจริงอะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้ (ถึงแม้นักเรียนอาจจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: บาปของความจองหองก่อให้เกิดการแบ่งแยกและนำไปสู่ความชั่วร้าย ท่านอาจต้องการเขียนความจริงดังกล่าวบนกระดาน)
-
ความจองหองของคนไม่กี่คนจะส่งผลต่อความสุขของคนทั้งกลุ่มได้อย่างไร
เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาว่าความจองหองของบุคคลหนึ่งอาจจะมีผลต่อผู้อื่นได้อย่างไรในตัวอย่างต่อไปนี้
-
แม้จะได้รับการกระตุ้นจากครอบครัว แต่พี่ชายก็มุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตนแทนที่จะรับใช้งานเผยแผ่
-
สมาชิกคนหนึ่งในชั้นเรียนเยาวชนหญิงหรือโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนจงใจสร้างความแตกแยก ไม่ยอมมีส่วนร่วมในชั้นเรียน และต่อต้านการทำตามคำแนะนำ
-
เยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงคนหนึ่งล้อเลียนหรือดูหมิ่นสมาชิกอีกคนหนึ่งในกลุ่มเพื่อนของเขา
ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาเคยเห็นความจองหองทำลายความสุขและความเป็นหนึ่งเดียว
เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาบทบาทของพวกเขาในกลุ่มต่างๆ ที่พวกเขาเป็นสมาชิก อาทิ ครอบครัว โควรัมหรือชั้นเรียน วอร์ดหรือสาขา และชั้นเรียนเซมินารี (ท่านอาจต้องการกล่าวถึงกลุ่มอื่นที่นักเรียนเป็นสมาชิกด้วย) ขอให้พวกเขาไตร่ตรองว่าพวกเขาได้ทำหรือกำลังทำสิ่งใดอันแสดงให้เห็นความจองหองในความสัมพันธ์ของพวกเขากับคนอื่นๆ ในกลุ่มเหล่านี้หรือไม่ กระตุ้นพวกเขาให้กลับใจและคิดหาวิธีที่พวกเขาสามารถเอาชนะความจองหองและส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวและความชอบธรรมในกลุ่มเหล่านี้ อีกทั้งกระตุ้นพวกเขาให้ไตร่ตรองสิ่งที่เขียนไว้ว่าพวกเขามีแผนจะดำเนินชีวิตให้เหมือนผู้สืบตระกูลของลีไฮที่เปลี่ยนใจเลื่อมในพระเจ้ามากขึ้นอย่างไร
เป็นพยานว่าเมื่อเราพยายามเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเยซูคริสต์และดำเนินชีวิตด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกันกับผู้อื่นมากขึ้น เราจะมีความสุขได้ดังที่บรรยายไว้ใน 4 นีไฟ 1:1–18