คลังค้นคว้า
บทที่ 85: แอลมา 23–24


บทที่ 85

แอลมา 23–24

คำนำ

หลังจากเปลี่ยนใจเลื่อมใส กษัตริย์ของชาวเลมันประกาศอิสรภาพทางศาสนาในบรรดาผู้คนของเขา การประกาศครั้งนี้ยอมให้แอรันกับพี่น้องของเขาสั่งสอนพระกิตติคุณและสถาปนาศาสนจักรในเมืองต่างๆ ของชาวเลมัน ชาวเลมันหลายพันคนเปลี่ยนใจเลื่อมใสและไม่ตกเลย ชาวเลมันที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสเหล่านี้ทำพันธสัญญาว่าจะวางอาวุธสงคราม และพวกเขาทำให้ตนต่างจากชาวเลมันที่ไม่เปลี่ยนใจเลื่อมใสโดยเรียกตนเองว่าชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ เมื่อชาวเลมันที่ไม่เปลี่ยนใจเลื่อมใสโจมตีพวกเขา ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮบางคนยอมสละชีวิตเพื่อรักษาพันธสัญญาของตน

หมายเหตุ: ในบทที่ 83 ท่านอาจจะกระตุ้นนักเรียนให้ใช้ประจักษ์พยานและแบบอย่างอันชอบธรรมของพวกเขาเป็นอิทธิพลต่อผู้อื่น เหมือนก้อนหินทำให้เกิดระลอกคลื่นในสระ หากท่านทำเช่นนั้น ท่านอาจจะเริ่มบทเรียนนี้โดยขอให้นักเรียนรายงานผลจากความพยายามของพวกเขา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 23

ชาวเลมันหลายพันคนเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้า

บนกระดาน ให้วาดรูปคนสองคน (รูปง่ายๆ แสดงโครงร่างของคน) จากนั้นให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังคำอธิบายของเอ็ลเดอร์สก็อตต์เกี่ยวกับคนสองประเภทที่แตกต่างกัน

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก๊อตต์

“เราต่างก็มองเห็นวิธีที่บางคนดำเนินชีวิตโดยทำสิ่งถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาดูมีความสุข มีความกระตือรือร้นในชีวิต เมื่อต้องทำการเลือกที่ยากดูเหมือนเขาไม่เคยเลือกผิดเลย แม้จะมีทางเลือกที่ล่อใจมากมาย เราต่างก็รู้ว่าเขามักจะพบการล่อลวง แต่เขาก็ไม่ใส่ใจต่อสิ่งนั้น ในทางกลับกันเราได้มองเห็นวิธีที่คนอีกพวกหนึ่งไม่มีความกล้าพอในการตัดสินใจ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับอิทธิพลอันทรงพลังทางวิญญาณ เขาตัดสินใจจะทำให้ดีขึ้น เปลี่ยนวิถีชีวิตของตน เลิกนิสัยที่ไม่ดี พวกเขามีความจริงใจอย่างยิ่งในความตั้งใจจะเปลี่ยนแปลง แต่แล้วไม่นานนักเขาก็หวนกลับไปทำสิ่งเดิมที่เคยตัดสินใจละทิ้ง

“อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ชีวิตของคนสองกลุ่มนี้แตกต่างกัน ท่านจะเลือกสิ่งที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอได้อย่างไร” (ดู “การเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างสมบูรณ์นำมาซึ่งความสุข,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, หน้า 29)

ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะเขียนติดที่ภาพคนสองภาพบนกระดานว่าอย่างไรตามความเห็นของเอ็ลเดอร์สก็อตต์ เขียนติดที่ภาพหนึ่งบนกระดานว่า ซื่อสัตย์ และอีกภาพหนี่งว่า ไม่คงเส้นคงวา ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะตอบคำถามที่เอ็ลเดอร์สก็อตต์ถามว่าอย่างไร

  • อะไรสร้างความแตกต่างในชีวิตคนสองกลุ่มนี้

  • ท่านจะเลือกสิ่งที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอได้อย่างไร

ขณะที่นักเรียนศึกษา แอลมา 23–24 กระตุ้นพวกเขาให้นึกถึงสิ่งที่จูงใจสมาชิกจำนวนมากของศาสนจักรให้แน่วแน่และซื่อสัตย์ตลอดชีวิตของพวกเขา

สรุป แอลมา 23:1–5 โดยอธิบายว่าหลังจากกษัตริย์ของชาวเลมันเปลี่ยนใจเลื่อมใส เขาออกประกาศไปในบรรดาผู้คนว่าพวกเขาควรยอมให้แอรันกับพี่น้องสั่งสอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าทั่วแผ่นดินโดยไม่ขัดขวางและทำร้าย คำประกาศนี้ทำให้ผู้สอนศาสนาได้สถาปนาศาสนจักรในบรรดาชาวเลมัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวเลมันหลายพันคนเปลี่ยนใจเลื่อมใส

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 23:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสองสิ่งที่ช่วยทำให้ชาวเลมันเกิดการเปลี่ยนใจเลื่อมใส เชื้อเชิญนักเรียนให้รายงานสิ่งที่พวกเขาพบ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่แอมันกับพี่น้องของเขาต้องสอนชาวเลมัน “ตามวิญญาณแห่งการเปิดเผยและการพยากรณ์”

  • ท่านคิดว่า “เดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าที่ทำปาฏิหาริย์” ในชาวเลมันหมายถึงอะไร

  • ท่านเคยประสบเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในการช่วยให้ท่านเปลี่ยนใจเลื่อมใสเมื่อใด ท่านเคยเห็นเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าทำงานเพื่อช่วยให้คนบางคนเปลี่ยนใจเลื่อมใสเมื่อใด

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 23:6 อีกครั้งโดยระบุวลีที่พูดถึงชาวเลมันผู้เชื่อการสั่งสอนของแอ-มันกับพี่น้องของเขา นักเรียนพึงเข้าใจว่าชาวเลมันเหล่านี้ “เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระเจ้า” ไม่ใช่ศาสนจักรหรือผู้สอนศาสนาที่สอนพวกเขา นักเรียนพึงเห็นเช่นกันว่าคนเหล่านี้ “ไม่เคยตกเลย” เขียน เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระเจ้า และ ไม่เคยตกเลย บนกระดานใต้ภาพที่เขียนว่า ซื่อสัตย์)

  • เมื่อเราพบเจอสภาวการณ์ยุ่งยากและความยากลำบาก เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้าไม่ใช่คนอื่นหรือแนวคิดอื่น

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 23:7, 16–18 ในใจ โดยมองหาคำและวลีที่ให้หลักฐานยืนยันการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของชาวเลมัน ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ท่านอาจจะเขียนคำและวลีเหล่านี้ไว้บนกระดานใต้รูปคนที่เขียนว่า ซื่อสัตย์ เพื่อช่วยนักเรียนวิเคราะห์ข้อเหล่านี้เพิ่มเติม ท่านอาจต้องการถามคำถามต่อไปนี้

  • ความปรารถนาจะได้ชื่อใหม่เป็นหลักฐานยืนยันอย่างไรว่าผู้คนเปลี่ยนแปลงแล้ว

  • คนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสในทุกวันนี้จะทำให้ตน “แตกต่าง” จากผู้อื่นได้อย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 23:18 ชาวเลมันที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสเริ่มเป็นคนมีวิริยะอุตสาหะและเป็นมิตรกับชาวนีไฟ เมื่อคนหนึ่งพยายามกลับใจหรือเปลี่ยนชีวิตเขา การคบหากับคนอื่นที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นประโยชน์สต่อเขาอย่างไร

เขียนคำต่อไปนี้บนกระดาน: การเปลี่ยนใจเลื่อมใสหมายถึง …

เชื้อเชิญนักเรียนให้สรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก แอลมา 23 โดยเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันในคำตอบของพวกเขา แต่พวกเขาควรกล่าวถึงความจริงต่อไปนี้: การเปลี่ยนใจเลื่อมใสหมายถึงการเปลี่ยนแปลงและการเป็นคนใหม่ผ่านเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน

ให้นักเรียนดูคำ ซื่อสัตย์ และ ไม่คงเส้นคงวา บนกระดาน กระตุ้นพวกเขาให้พิจารณาว่าสองคำนี้คำใดพูดถึงระดับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขาได้ดีที่สุด

แอลมา 24

ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮทำพันธสัญญาว่าจะไม่จับอาวุธอีก

เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาในใจว่าพวกเขาเคยตัดสินใจหรือไม่ว่าจะไม่ทำความผิดหรือบาปอย่างหนึ่งซ้ำแต่ต่อมากลับทำความผิดหรือบาปนั้นอีก อธิบายว่าหากพวกเขามีประสบการณ์นี้ พวกเขาควรพยายามปรับปรุงต่อไป ขณะศึกษา แอลมา 24 พวกเขาจะเรียนรู้ความจริงที่จะช่วยพวกเขา

สรุป แอลมา 24:1–5 โดยอธิบายว่าชาวอแมลิไคและชาวอมิวลอนผู้เคยเป็นชาวนีไฟมาก่อน ต่างปลุกปั่นชาวเลมันจำนวนมากให้เกิดโทสะต่อต้านกษัตริย์และชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮคนอื่นๆ ในโทสะของพวกเขาชาวเลมันเหล่านี้จึงเตรียมโจมตีชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ ขณะต่อสู้กันกษัตริย์ของชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮเสียชีวิต อาณาจักรนี้จึงมอบให้บุตรชายคนหนึ่งของเขา แอมันมารวมกับกษัตริย์คนใหม่และกับลาโมไนพร้อมด้วยคนอื่นๆ เพื่อหารือกันและคิดหาวิธีป้องกันตนเองจากชาวเลมัน

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 24:6 ในใจโดยมองหาสิ่งที่ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮตัดสินใจว่าจะไม่ทำ หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ขอให้นักเรียนหลายคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 24:7–10, 12–14 ให้ชั้นเรียนดูตามโดยฟังทุกด้านที่กษัตริย์ของชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮยอมรับว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานพรแก่พวกเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 24:9 บาปอย่างหนึ่งที่ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮเคยทำคืออะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 24:13 เหตุใดพวกเขาจึงไม่ยอมต่อสู้ในการรบ

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองกลุ่ม เชื้อเชิญกลุ่มที่หนึ่งให้อ่าน แอลมา 24:11, 15 โดยมองหาวลีที่บ่งบอกการพยายามกลับใจของชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ ขอให้กลุ่มที่สองอ่าน แอลมา 24:16–19 โดยมองหาสิ่งที่ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮทำเพื่อให้พวกเขายังคงสะอาดเหมือนเดิม หลังจากนักเรียนมีเวลาอ่านมากพอแล้ว เชื้อเชิญพวกเขาให้แบ่งปันสิ่งที่พบ ท่านอาจจะใช้คำถามต่อไปนี้เพื่อให้เกิดแนวคิดเพิ่มเติม

  • ท่านคิดว่ากษัตริย์หมายความว่าอะไรเมื่อเขากล่าวว่า “นั่นคือทั้งหมดที่เราทำได้เพื่อกลับใจ” (แอลมา 24:11) (วลีนี้พูดถึงความพยายามอย่างมากและความตั้งใจของชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮว่าจะกลับใจจากบาปของตน)

  • คำว่า ประจักษ์พยาน ปรากฏสามครั้งใน แอลมา 24:15–16, 18 การฝังอาวุธให้ลึกในดินถือเป็นประจักษ์พยานอย่างไร (แสดงให้คนอื่นๆ และพระผู้เป็นเจ้าเห็นว่าพวกเขาได้ละทิ้งหรือทิ้งบาปของพวกเขาจริงๆ)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“ในการทิ้งบาป คนๆ หนึ่งจะเพียงหวังสภาพที่ดีขึ้นไม่ได้ … เขาต้องแน่ใจว่าเขาไม่เพียงทิ้งบาปเท่านั้นแต่เขาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์แวดล้อมบาปด้วย เขาควรหลีกเลี่ยงสถานที่ สภาพและสภาวการณ์ที่บาปเกิดขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้บาปเกิดขึ้นใหม่ได้ง่ายที่สุด เขาต้องละทิ้งคนที่เขาเคยทำบาปด้วย เขาจะไม่เกลียดคนที่เกี่ยวข้องแต่เขาต้องหลีกเลี่ยงคนหล่านั้นและทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับบาป” (The Miracle of Forgiveness [1969], 171–72)

  • ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮทำอะไรเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพและผู้คนที่อาจชักนำพวกเขาให้กลับไปทำบาปเดิมอีก

ท่านอาจต้องการให้เวลานักเรียนไตร่ตรองสักครู่ว่ามีสภาวการณ์ใดในชีวิตพวกเขาหรือไม่ที่พวกเขาต้องเปลี่ยนเพื่อจะกลับใจและละทิ้งบาปที่พยายามเอาชนะมาตลอด

เขียนบนกระดานดังนี้: หากเรา … พระผู้เป็นเจ้าจะทรง …

ขอให้นักเรียนอ่านทวน แอลมา 24:10–18 โดยมองหาวิธีที่พวกเขาจะเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนข้อความคล้ายข้อความต่อไปนี้ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา: หากเราจะทำสุดความสามารถเพื่อกลับใจ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำเอาความความผิดของเราไปและช่วยให้เราสะอาดเหมือนเดิม)

ให้นักเรียนดู แอลมา 24:17 อีกครั้ง

  • ตัวอย่างของอาวุธแห่งการกบฏอะไรบ้าง (ดู แอลมา 23:7) ที่ผู้คนจะวางหรือฝังเมื่อพวกเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้า (ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าอาวุธแห่งการกบฏอาจรวมถึงเจตคติหรือการกระทำที่เป็นบาปซึ่งผู้คนต้องยอมทิ้งเพื่อเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้า)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“การกลับใจใช้เวลานานเท่าๆ กับการที่ท่านพูดว่า ‘ฉันจะเปลี่ยน’—และหมายความตามนั้น แน่นอนว่าจะมีปัญหาต้องแก้และต้องทำการชดเชย ท่านอาจจะใช้—ท่านน่าจะใช้—ชีวิตที่เหลือพิสูจน์การกลับใจอย่างถาวร” (“For Times of Trouble,” New Era, Oct. 1980, 11–12)

ขอให้นักเรียนอธิบายการกระทำที่เยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงจะทำเพื่อหลีกเลี่ยงการทำบาปแต่ละอย่างต่อไปนี้ซ้ำอีก นั่นคือ การฝ่าฝืนพระคำแห่งปัญญา การดูสื่อลามก และไร้เมตตาต่อพี่น้อง

เชื้อเชิญนักเรียนให้จินตนาการว่าชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮรู้สึกอย่างไรหลังจากฝังอาวุธและจากนั้นก็พบว่ากองทัพชาวเลมันกำลังมาโจมตีพวกเขา ขอให้นักเรียนพิจารณาสถานการณ์นี้ขณะอ่าน แอลมา 24:20–22 ในใจ

เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: เมื่อเรารักษาพันธสัญญาของเรา เราสามารถช่วยให้ผู้อื่นเปลี่ยนใจเลื่อมใส เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 24:23–27 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำหรือวลีที่สอนหลักธรรมตามที่เขียนไว้บนกระดาน

  • เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อความปรารถนาจะรักษาพันธสัญญาของท่านอย่างไร

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเพิ่มพลังความปราถนาและความสามารถของเราในการรักษาพันธสัญญาที่เราทำไว้กับพระเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีกับหลักธรรมบนกระดาน สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมที่สอนในบทนี้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 23:17 “พวกเขาเรียกชื่อตนว่าชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ”

“ชาวเลมันที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสโดยพวกบุตรสี่คนของโมไซยาห์และคู่ผู้สอนศาสนาของพวกเขารับเอาชื่อ ‘ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ’ ไว้กับตน (แอลมา 23:17; แอลมา 24:1–5) ส่วนชื่อ ‘นีไฟ-ลีไฮ’ น่าจะหมายถึงแผ่นดินแห่งนีไฟและลีไฮ (หรือผู้คนที่เวลานั้นอยู่ในแผ่นดินเหล่านั้น) มากกว่าหมายถึงผู้สืบตระกูลของนีไฟหรือลีไฮ

“อย่างไรก็ดี ดร. ฮิวจ์ นิบลีย์ได้พบ ‘รากศัพท์ภาษาซิมิทิคและภาษาอินโด-ยูโรเปียนทั่วไปที่สอดคล้องกับคำว่าแอนไทซึ่งหมายถึง “ตรงหน้า” หรือ “เผชิญหน้า” เหมือนคนกำลังส่องกระจก และ “คนที่ต่อต้าน” หรือ “คนที่เลียนแบบ”’ (อ้างใน เอลดิน ริคส์, Book of Mormon Study Guide, p. 63) ด้วยเหตุนี้คำว่า ‘แอนไท-นีไฟ-ลีไฮ’ จึงอาจหมายถึงคนที่เลียนแบบคำสอนจากผู้สืบตระกูลของนีไฟและลีไฮ” (ดาเนียล เอช. ลัดโลว์, A Companion to Your Study of the Book of Mormon [1976], 209–10)