คลังค้นคว้า
บทที่ 87: แอลมา 27–29


บทที่ 87

แอลมา 27–29

คำนำ

เมื่อชาวเลมันไม่ประสบความสำเร็จในการโจมตีชาวนีไฟ พวกเขาหันมาโกรธชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ เนื่องด้วยพันธสัญญาที่ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮทำไว้ว่าจะไม่ทำให้ผู้อื่นหลั่งเลือดอีก พวกเขาจึงไม่ยอมจับอาวุธป้องกันตนเอง แอมันนำชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮไปเซราเฮ็มลา ที่นั่นพวกเขาได้รับความคุ้มครองจากชาวนีไฟและเป็นที่รู้จักในชื่อว่าผู้คนของแอมัน เมื่อชาวนีไฟปกป้องผู้คนของแอมันจากชาวเลมัน ชาวนีไฟและชาวเลมันหลายพันคนตายในการสู้รบ ทั้งที่ชาวนีไฟรู ้ สึกโศกเศร้าเพราะความตายของคนที่พวกเขารัก แต่หลายคนพบความหวังและปีติในคำสัญญาของพระเจ้าที่ว่าพระองค์จะทรง “ยก [คนชอบธรรม] ให้พำนักอยู่ทางพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้า, ในสภาพแห่งความสุขอันไม่รู้จบ” (แอลมา 28:12)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 27

แอมันนำผู้คนของแอนไท-นีไฟ-ลีไฮไปสู่ความปลอดภัยในบรรดาชาวนีไฟ

ขอให้นักเรียนยกมือถ้าเคยมีบางคนทำสัญญากับพวกเขาแล้วละเมิดสัญญานั้น จากนั้นขอให้พวกเขายกมือถ้าเคยมีคนทำสัญญากับพวกเขาแล้วรักษาสัญญานั้น

  • ท่านรู้สึกอย่างไรต่อคนที่รักษาสัญญา เพราะเหตุใด

  • ท่านคิดว่าพระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรกับคนที่รักษาสัญญาของพวกเขากับพระองค์

แนะนำ แอลมา 27 โดยอธิบายว่าหลังจากชาวเลมันพยายามทำลายชาวนีไฟไม่สำเร็จ พวกเขาโจมตีชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ ชาวเลมันที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสผ่านการรับใช้ของแอมันและพี่น้องของเขา ขอให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮทำเพื่อแสดงให้พระเจ้าเห็นว่าพวกเขาจะรักษาพันธสัญญาว่าจะไม่ “ใช้อาวุธเพื่อการหลั่งเลือดของมนุษย์อีกเลย” (แอลมา 24:18) (พวกเขาฝังอาวุธสงคราม) เพื่อดูว่าชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮตั้งใจรักษาสัญญาเพียงใด ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 27:2–3 (ท่านอาจเสนอแนะให้นักเรียนอ่าน แอลมา 24:18–19 ด้วยและเขียนอ้างอิงข้อนี้ตรงช่องว่างริมหน้าใกล้กับ แอลมา 27:3)

  • หากท่านเป็นชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮคนหนึ่ง ยากเพียงใดที่ท่านจะรักษาพันธสัญญาของท่านและไม่ไปสู้รบเพื่อปกป้องตนเองกับคนที่รักท่าน

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 27:4–10 ในใจโดยมองหาสิ่งที่แอมันเสนอให้ทำเพื่อคุ้มครองชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮและช่วยพวกเขารักษาพันธสัญญา ขอให้นักเรียนคนหนึ่งสรุปข้อนี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 27:11–12 และขอให้ชั้นเรียนมองหาคำแนะนำที่แอมันได้รับจากพระเจ้า อธิบายว่าชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮติดตามแอมันไปเซราเฮ็มลา (ดู แอลมา 27:13–15) (ท่านอาจต้องการสรุป แอลมา 27:16–19 โดยชี้ให้เห็นว่าภายใต้สภาวการณ์เหล่านี้นี่เองที่แอมันกับพวกบุตรคนอื่นๆ ของโมไซยาห์พบกับแอลมาอีกครั้ง ตามที่เล่าไว้ใน แอลมา 17:1–4)

อธิบายว่าหัวหน้าผู้พิพากษาของชาวนีไฟถามผู้คนว่าพวกเขาจะยอมให้ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮอยู่ในบรรดาพวกเขาหรือไม่ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 27:22–24 ในใจโดยมองหาการตอบสนองของชาวนีไฟต่อคำประกาศของหัวหน้าผู้พิพากษา

  • ชาวนีไฟกล่าวว่าพวกเขาจะช่วยชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮอย่างไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดชาวนีไฟจึงเต็มใจคุ้มครองอดีตศัตรูของพวกเขา

ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 27:26 ในใจเพื่อค้นหาว่าชาวนีไฟเริ่มเรียกชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮว่าอย่างไร

ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 27:27–30 ให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าผู้คนของแอมันเป็นที่รู้จักเพราะอะไร เชื้อเชิญนักเรียนให้รายงานสิ่งที่พบ

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับผู้คนของแอมัน เพราะเหตุใด

  • แอลมา 27:27–30 สอนอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้ากับการรักษาพันธสัญญา (นักเรียนอาจจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเข้าใจความจริงต่อไปนี้: เมื่อเราเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้าโดยสมบูรณ์ เราจะรักษาพันธสัญญาที่ทำไว้กับพระองค์ ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • ใครในชีวิตท่านเป็นแบบอย่างของหลักธรรมนี้

แอลมา 28

ชาวนีไฟรบชนะชาวเลมันในการสู้รบครั้งใหญ่

ชี้ให้เห็นว่าแม้ชาวนีไฟจำนวนมากจะซื่อสัตย์ แต่พวกเขาก็ยังเผชิญกับการทดลองที่ยาก

อธิบายว่าประธานโธมัส เอส. มอนสันเล่าเรื่องต่อไปนี้เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ท่านเคยมีในวัยเยาว์ หลังจากทราบข่าวว่าอาร์เธอร์ แพททันเพื่อนของท่านเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สอง เด็กหนุ่มโธมัส มอนสันไปเยี่ยมแม่ของอาร์เธอร์ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของศาสนจักร ท่านเล่าในเวลาต่อมาว่า

“แสงสว่างออกไปจากชีวิตคุณนายแพททัน เธอคลำอยู่ในความมืดมิดและความสิ้นหวัง

“ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนในใจขณะเดินตามทางที่คุ้นเคยไปยังบ้านแพททัน พลางสงสัยว่าถ้อยคำปลอบประโลมใดจะออกมาจากปากเด็กอย่างข้าพเจ้าได้

“ประตูเปิดและคุณนายแพททันโอบกอดข้าพเจ้าอย่างที่เธอจะโอบกอดบุตรชาย บ้านกลายเป็นห้องนมัสการขณะมารดาที่กำลังเศร้าโศกและเด็กที่ยังไม่โตพอคุกเข่าสวดอ้อนวอนด้วยกัน

“ขณะลุกขึ้นยืน คุณนายแพททันจ้องตาข้าพเจ้าและพูดว่า ‘ทอมมี ฉันไม่ได้เป็นสมาชิกของศาสนจักรใดเลย แต่คุณบอกฉันหน่อยสิว่าอาร์เธอร์จะมีชีวิตอีกครั้งหรือเปล่า!” (“คุณนายแพททัน—เรื่องราวดำเนินต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, หน้า 26)

  • ท่านจะตอบคำถามของคุณนายแพททันอย่างไร

อ่านคำตอบของประธานมอนสันดังนี้

“ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อเธอสุดความสามารถว่าอาร์เธอร์จะมีชีวิตอีกครั้งแน่นอน” (“คุณนายแพททัน—เรื่องราวดำเนินต่อไป,” หน้า 26)

  • ความรู้เรื่องแผนแห่งความรอดเปลี่ยนมุมมองของบุคคลที่คนรักของพวกเขาตายจากไปอย่างไร

ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 28:1–3 ขอให้ชั้นเรียนมองหาราคาที่ชาวนีไฟจ่ายเพื่อช่วยให้ผู้คนของแอมันรักษาพันธสัญญาของพวกเขา เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 28:4–6 ในใจโดยดูว่าความตายมากขนาดนั้นส่งผลต่อชาวนีไฟอย่างไร ขอให้นักเรียนค้นคว้า แอลมา 28:11–12 เพื่อหาเหตุผลว่าทำไมบางคนจึงประสบความกลัวเมื่อคนที่พวกเขารักตายจากไป ขณะที่คนอื่นๆ อาจจะรู้สึกว่ามีความหวัง

  • เหตุใดบางคนจึงประสบความกลัวเมื่อคนที่พวกเขารักตายจากไป

  • เหตุใดบางคนจึงสามารถรู้สึกมีความหวังเมื่อคนที่พวกเขารักตายจากไป (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรแสดงให้เห็นว่า เมื่อเรามีศรัทธาในพระเยซูคริสต์และสัญญาของพระเจ้า เราสามารถมีความหวังและปีติในช่วงเวลาของความตาย)

เขียนประโยคที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: และดังนั้นเราจึงเห็น …

ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะเติมประโยคให้ครบถ้วนได้อย่างไรโดยใช้สิ่งที่พวกเขาศึกษาใน แอลมา 28

หลังจากนักเรียนมีเวลาตอบแล้ว เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน แอลมา 28:13–14 ให้นักเรียนเปรียบเทียบคำตอบของพวกเขากับหลักธรรมที่สอนในข้อเหล่านี้ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “ดังนั้นเราจึงเห็น” ทุกครั้งที่ปรากฏในข้อเหล่านี้ อธิบายว่ามอรมอนมักใช้วลีนี้แนะนำบทเรียนสำคัญที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเรื่องราวในพระคัมภีร์มอรมอน)

  • ท่านอ่านอะไรใน แอลมา 27–28 ที่สนับสนุนข้อความ “และดังนั้นเราจึงเห็น” ของมอรมอน

  • ท่านเคยเห็นบางคนเผชิญความตายของเขาหรือความตายของบุคคลที่เขารักด้วยความหวังเนื่องด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์เมื่อใด

  • ท่านจะอธิบายเรื่องการฟื้นคืนชีวิตอย่างไรเพื่อช่วยให้บางคนมีความหวังขณะเผชิญกับความตายของตนเองหรือของคนที่เขารัก

แอลมา 29

แอลมาปลาบปลื้มในการนำจิตวิญญาณมาหาพระผู้เป็นเจ้า

บอกนักเรียนว่า แอลมา 29 มีคำพูดของแอลมาแสดงความปรารถนาจะเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้า เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 29:1–3 ให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่แอลมาจะทำหากเขามี “ความปรารถนาได้ตามใจ [ของเขา]” (เขาอยาก “[ป่าวร้อง] การกลับใจแก่ทุกผู้คน”)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 29:2 เหตุใดแอลมาจึงปรารถนาเช่นนั้น

ให้นักเรียนอ่าน แอลมา 29:4–5 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงมอบให้คนเหล่านั้นผู้มีความปรารถนาอันชอบธรรม (หากนักเรียนต้องการให้ช่วยตอบคำถามนี้ ท่านอาจจะชี้ให้ดูวลี “ข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์ทรงมอบให้มนุษย์ … ตามความประสงค์ของพวกเขา” อธิบายว่า หากเราปรารถนาสิ่งชอบธรรม พระเจ้าจะทรงอวยพรเราตามความปรารถนาเหล่านั้น ชี้ให้เห็นว่าถ้าความปรารถนาอันชอบธรรมทั้งหมดของเราไม่เกิดสัมฤทธิผลในชีวิตนี้ แต่จะเกิดสัมฤทธิผลในนิรันดร)

ขอให้นักเรียนค้นคว้า แอลมา 29:10, 14, 16 ด้วยตนเอง โดยมองหาพรที่แอลมาได้รับเมื่อเขาช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์ ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ

  • แอลมาใช้คำพูดใดบรรยายความรู้สึกของเขาเกี่ยวกับการช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายทุกครั้งที่ใช้คำว่า ปีติ ในข้อเหล่านี้)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากประสบการณ์ของแอลมาในการช่วยให้ผู้อื่นกลับใจและมาหาพระเยซูคริสต์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้: เราจะประสบปีติเมื่อเราช่วยให้ผู้อื่นกลับใจและมาหาพระเยซูคริสต์)

  • ท่านเคยรู้สึกถึงปีติที่มาจาการช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์เมื่อใด

กระตุ้นนักเรียนให้มองหาโอกาสช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์ ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์อันน่ายินดีของการเผยแผ่ศาสนาของท่านเอง

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 28:11–12 พบปีติเมื่อเกิดความตาย

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดว่าการกระทำของเราในชีวิตนี้สามารถทำให้เรามีสันติสุขเมื่อเกิดความตายอย่างไร

“พี่น้องชายหญิงทั้งหลาย เราอยู่เพื่อตายและตายเพื่ออยู่ในอีกอาณาจักรหนึ่ง หากเราเตรียมตัวมาอย่างดี ความตายไม่น่ากลัว จากมุมมองนิรันดร์ ความตายเร็วเกินไปสำหรับผู้ไม่พร้อมจะพบพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

“บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะเตรียม หลังจากนั้นเมื่อความตายมาถึง เราจะสามารถเข้าสู่รัศมีภาพซีเลสเชียลที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงเตรียมไว้ให้บุตรที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ได้ ขณะเดียวกันสำหรับบุคคลอันเป็นที่รักผู้กำลังโศกเศร้าและถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง … ความเจ็บแปลบของความตายถูกระงับโดยศรัทธาอันมั่นคงในพระคริสต์ ความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง ความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและมนุษย์ทั้งปวง และความปรารถนาจะรับใช้คนเหล่านั้น” (ดู “บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะเตรียม,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 23)

เอ็ลเดอร์วิลฟอร์ด ดับเบิลยู. แอนเดอร์เซ็นแห่งสาวกเจ็ดสิบเล่าว่าเพื่อนบางคนรับมือกับความตายของบิดาพวกเขาอย่างไร

“เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนรักของข้าพเจ้าเพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เขากับครอบครัวเป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า นับเป็นแรงบันดาลใจที่ได้เห็นศรัทธานำพวกเขาผ่านช่วงเวลายากลำบากมาได้ พวกเขาต่างมีสันติสุขในใจคอยค้ำจุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้พวกเขา ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตจากสมาชิกครอบครัวนี้ให้อ่านจดหมายที่เธอเขียนไว้ไม่กี่วันก่อนคุณพ่อเธอจะจากไป

“‘สองสามวันสุดท้ายเป็นช่วงที่ยากเป็นพิเศษ … เมื่อคืนนี้ขณะที่เรามารวมกันอยู่ข้างเตียงคุณพ่อ เราสัมผัสได้ถึงพระวิญญาณพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระผู้ปลอบโยนเราอย่างแท้จริง เรามีสันติสุข … นี่เป็นเรื่องยากที่สุดเท่าที่เราเคยประสบมา แต่เรารู้สึกถึงสันติสุขที่รู้ว่า … พระบิดาในสวรรค์ทรงสัญญาว่าเราจะได้อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวอีก หลังจากแพทย์บอกคุณพ่อที่โรงพยาบาลว่าไม่สามารถช่วยอะไรได้แล้ว คุณพ่อมองมาที่เราทุกคนด้วยศรัทธาอันสมบูรณ์และถามด้วยความกล้าหาญว่า ‘มีใครในห้องนี้ข้องใจเรื่องแผนแห่งความรอดหรือเปล่า’ เรา … สำนึกบุญคุณที่คุณพ่อคุณแม่สอนให้เราวางใจในแผนนี้โดยไม่สงสัย” (“ศิลาแห่งพระผู้ไถ่ของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 21)