คลังค้นคว้า
บทที่ 90: แอลมา 32


บทที่ 90

แอลมา 32

คำนำ

หลังจากเห็นรูปแบบการนมัสการของชาวโซรัมที่ละทิ้งความเชื่อ แอล-มากับเพื่อนร่วมทางเริ่มสั่งสอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าแก่ชาวโซรัม พวกเขาเริ่มประสบความสำเร็จพอสมควรในบรรดาคนยากจนและคนที่ถูกขับไล่ออกจากธรรมศาลา โดยเปรียบเทียบพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับเมล็ดพืช แอลมาสอนผู้คนให้รู้วิธีได้รับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและเพิ่มพูนศรัทธาของพวกเขา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 32:1–16

ชาวโซรัมที่อ่อนน้อมถ่อมตนแสดงให้เห็นว่าพวกเขาพร้อมจะฟังพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนให้สมมติว่าท่านเป็นเพื่อนที่ถามพวกเขาว่าท่านจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่าพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นความจริง ถามว่าพวกเขาจะพูออะไรเพื่อช่วยให้ท่านได้รับประจักษ์พยาน

หลังจากนักเรียนแบ่งปันความคิด ให้เขียนบนกระดานว่า วิธีได้รับและเสริมสร้างประจักษ์พยาน บอกนักเรียนว่าตลอดบทเรียน ท่านจะเขียนหลักธรรมและข้อคิดที่ค้นพบเกี่ยวกับวิธีได้รับและเสริมสร้างประจักษ์พยาน

เตือนความจำของนักเรียนว่าแอลมากับพี่น้องของเขาสังเกตเห็นการนมัสการแบบผิดๆ ของชาวโซรัม กลุ่มชาวนีไฟที่ละทิ้งความเชื่อ เพราะเศร้าใจกับความชั่วร้ายของผู้คน เขาจึงสวดอ้อนวอนขอการปลอบโยนและพละกำลังเพื่อจะสามารถสอนคนเหล่านั้นได้ (ดู แอลมา 31)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 32:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูว่าชาวโซรัมกลุ่มใดแสดงความสนใจในข่าวสารของผู้สอนศาสนา ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 32:3 คนเหล่านี้ยากจนในด้านใด (“พวกเขายากจนเกี่ยวกับสิ่งของทางโลก; และพวกเขายากจนในใจด้วย”)

  • ท่านคิดว่า “ยากจนในใจ” หมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยนักเรียนตอบคำถามนี้ ให้เชิญหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 32:4–12 (นักเรียนอาจเสนอแนะว่ายากจนในใจรวมถึงถ่อมตน กลับใจ และพร้อมจะฟังพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า)

  • คำถามใน แอลมา 32:5 แสดงให้เห็นอย่างไรว่าชาวโซรัมยากจนในใจ

  • ความยากจนนำไปสู่พรสำหรับชาวโซรัมกลุ่มนี้อย่างไร

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับการได้รับและการเสริมสร้างประจักษ์พยาน (ขณะที่นักเรียนแบ่งปันหลักธรรมต่างๆ ให้เขียนหลักธรรมเหล่านั้นไว้ใต้หัวข้อบนกระดาน พวกเขาพึงระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ความถ่อมตนเตรียมเราให้พร้อมรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

  • เหตุใดความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงจำเป็นในกระบวนการของการได้รับและการเสริมสร้างประจักษ์พยาน

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 32:13–16 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสองวิธีต่างกันที่ผู้คนอาจจะถ่อมตน (ผู้คนอาจจะเลือกถ่อมตน หรือพวกเขาอาจจะถูกบังคับให้ถ่อมตน)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับความถ่อมตนจากข้อเหล่านี้ (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เราได้รับพรเมื่อเราเลือกถ่อมตนมากกว่าเมื่อเราถูกบังคับให้ถ่อมตน ท่านคิดว่าเหตุใดการเลือกถ่อมตนจึงดีกว่า

  • ท่านคิดว่าถ่อมตน “เพราะพระวจนะ” หมายความว่าอย่างไร (แอลมา 32:14) สิ่งนี้จะประยุกต์ใช้กับเจตคติของเราในศาสนจักร เซมินารี หรือการศึกษาพระคัมภีร์เป็นครอบครัวได้อย่างไร

แอลมา 32:17–43

แอลมาสอนชาวโซรัมให้รู้วิธีเพิ่มพูนศรัทธาของพวกเขา

อธิบายว่าแอลมาระบุแนวคิดผิดๆ ที่คนมากมายมีเกี่ยวกับได้รับประจักษ์พยาน ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 32:17–18 ขณะที่ชั้นเรียนระบุแนวคิดผิดๆ นี้

  • คนจำนวนมากมีแนวคิดผิดๆ อะไรเกี่ยวกับการได้รับประจักษ์พยาน

  • มีอะไรไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเรียกร้องเครื่องหมายก่อนเชื่อ (ท่านอาจต้องการเตือนนักเรียนให้นึกถึงตัวอย่างของเชเร็มใน เจคอบ 7:13–16 และตัวอย่างของคอริฮอร์ใน แอลมา 30:43–52 ท่านอาจจะให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:9 ด้วยเพื่อเน้นว่าเครื่องหมายเป็นผลของศรัทธา ไม่ใช่สิ่งที่เราควรเรียกร้องก่อนมีศรัทธา)

อธิบายว่าแอลมาสอนผู้คนว่าศรัทธาคืออะไร เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านแอลมา 32:21 ในใจโดยมองหานิยามของแอลมาเกี่ยวกับศรัทธา ชี้ให้เห็นว่าข้อนี้เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนเพื่อพวกเขาจะสามารถหาเจอได้โดยง่าย

ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 32:22 ในใจโดยมองหาคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีได้รับและเสริมสร้างประจักษ์พยาน เชื้อเชิญพวกเขาให้รายงานสิ่งที่ค้นพบ

เพิ่ม จดจำพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า และ เชื่อพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เข้าไปในรายการบนกระดาน

  • เหตุใดการกระทำเหล่านี้จึงสำคัญต่อการพัฒนาศรัทธาของเรา

อธิบายว่าเพื่อช่วยให้ชาวโซรัมเข้าใจว่าจะเชื่อในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร แอลมาเสนอแนะให้พวกเขาทำการทดลองอย่างหนึ่ง

  • เหตุใดเราจึงทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ (เพื่อดูว่าทฤษฎีหรือแนวคิดนั้นๆ จริงหรือไม่)

ขอให้นักเรียนพูดถึงการทดลองที่พวกเขาเคยทำในวิชาวิทยาศาสตร์หรือในสภาพแวดล้อมอื่น ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าการทดลองต่างๆ ต้องมีการปฏิบัติในส่วนของนักวิจัย ไม่เพียงคาดเดา กระบวนการของการได้รับหรือการเสริมสร้างประจักษ์พยานเรียกร้องการปฏิบัติเช่นกัน

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 32:27 ขอให้ชั้นเรียนมองหาการทดลองที่แอลมาเชื้อเชิญชาวโซรัมให้ทำ เพิ่ม ทดลองพระวจนะ เข้าไปในรายการบนกระดาน

  • ท่านคิดว่าแอลมาหมายถึงอะไรเมื่อเขาบอกให้ “ทดลองคำพูด [ของเขา]”

  • ท่านคิดว่าแอลมาหมายถึงอะไรเมื่อเขาบอกให้ “ตื่นและปลุกพลังของท่าน” (ท่านอาจต้องอธิบายว่าคำว่า พลัง หมายถึงความสามารถในการคิด ปฏิบัติ และทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ แอลมากำลังเชื้อเชิญผู้คนให้ปฏิบัติตามถ้อยคำของเขา ท่านอาจต้องการเพิ่ม ตื่นและปลุกพลังของท่าน เข้าไปในรายการบนกระดาน)

  • ท่านคิดว่า “ใช้อนุภาคหนึ่งของศรัทธา” หมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนค้นพบว่าพวกเขาสามารถเริ่มทำการทดลองนี้ในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร ให้พวกเขาอ่าน แอลมา 32:28 ในใจ

  • แอลมาเปรียบเทียบพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับอะไร (เมล็ดพืช)

  • แหล่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามีอะไรบ้าง (คำตอบอาจได้แก่ พระคัมภีร์ คำสอนของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย และการเปิดเผยส่วนตัวจากพระวิญญาณบริสุทธิ์)

  • แอลมากล่าวว่าเราต้องทำอะไรกับ “เมล็ดพืช”

เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน ท่านอาจต้องการเขียนคำตอบเหล่านั้นไว้ใต้ ทดลองคำพูด ซึ่งท่านเขียนไว้ก่อนหน้านี้ รายการดังกล่าวอาจรวมถึงองค์ประกอบต่อไปนี้

  1. ให้ที่ปลูกพระวจนะ (หรือเมล็ดพืช) ไว้ในใจท่าน

  2. อย่าโยนพระวจนะทิ้งโดยความไม่เชื่อของท่าน

  3. รู้ถึงการเติบโตของพระวจนะในใจท่าน

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่อ่านเกี่ยวกับการทดลอง ให้ถามดังนี้

  • พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเปรียบเสมือนเมล็ดพืชที่สามารถปลูกในใจเราอย่างไร (คำตอบอาจได้แก่ มันสามารถเติบโตได้ สามารถทำให้เราเข้มแข็ง และเราต้องบำรุงเลี้ยง)

ขณะที่นักเรียนสนทนาเรื่องการเปรียบเทียบพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับเมล็ดพืช เชื้อเชิญพวกเขาให้อ่าน แอลมา 33:22–23 ในใจ ก่อนอ่าน ขอให้พวกเขามองหาคำอธิบายของแอลมาเกี่ยวกับ “พระวจนะนี้” ช่วยให้พวกเขาเห็นว่านี่หมายถึงพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์

  • ท่านคิดว่า “ให้ที่” ปลูกพระวจนะในใจเราหมายความว่าอย่างไร (ดู แอลมา 32:28 คำตอบอาจได้แก่เราต้องเปิดใจและเราต้องมีที่ว่างในชีวิตเราให้กับการศึกษาพระคัมภีร์)

  • ท่านคิดว่าการรู้สึกว่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า “พอง” อยู่ในท่านหมายความว่าอย่างไร หากพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากำลังพองในท่าน แสดงว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับประจักษ์พยานและศรัทธาของท่าน

  • พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าขยายจิตวิญญาณท่านและให้ความสว่างแก่ความเข้าใจของท่านเมื่อใด

ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านจาก แอลมา 32:29–34 เชื้อเชิญชั้นเรียนให้ดูตามโดยมองหาคำและวลีบอกสิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า จากนั้นขอให้นักเรียนอ่านคำและวลีที่พวกเขาพบและอธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงเลือกคำและวลีเหล่านั้น

  • เหตุใดศรัทธาของเราจึงยังไม่สมบูรณ์หลังจากทำการทดลองนี้ ท่านคิดว่าเราต้องทำอะไรอีกเพื่อจะได้รับประจักษ์พยานอันยั่งยืนในพระกิตติคุณ

  • กระบวนการของการช่วยให้ต้นไม้เติบโตคล้ายกับกระบวนการของการเสริมสร้างประจักษ์พยานอย่างไร

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 32:35–40 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำแนะนำของแอลมาเกี่ยวกับวิธีทำการทดลองให้สมบูรณ์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 32:37–40 เราต้องทำอะไรเพื่อศรัทธาที่เรามีต่อพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าจะเติบโตต่อไป (เพิ่ม บำรุงเลี้ยงพระวจนะ เข้าไปในรายการบนกระดาน)

  • เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อบำรุงเลี้ยงพระวจนะ (คำตอบอาจได้แก่ เราสามารถศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน สวดอ้อนวอนขอการนำทางขณะที่เราศึกษา มองหาวิธีประยุกต์ใช้พระคัมภีร์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายในชีวิตเรา และแบ่งปันสิ่งที่เราเรียนรู้)

  • เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราละเลยต้นไม้หรือไม่บำรุงเลี้ยง เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราละเลยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าที่ปลูกไว้ในใจเรา

ขอให้นักเรียนเขียนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก แอลมา 32 เกี่ยวกับวิธีได้รับและเสริมสร้างประจักษ์พยานลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ ท่านอาจเสนอแนะให้พวกเขาเขียนสรุปเหล่านี้ไว้ในพระคัมภีร์ใกล้กับ แอลมา 32:37–43 ด้วย

เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน ขณะที่พวกเขาแบ่งปัน พวกเขาพึงแสดงให้เห็นว่า หากเราบำรุงเลี้ยงพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในใจเราอย่างขยันหมั่นเพียร ศรัทธาและประจักษ์พยานที่เรามีต่อพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์จะเติบโต

ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 32:41–43 โดยมองหาคำพรรณนาของแอลมาเกี่ยวกับต้นไม้และผล

  • พระคัมภีร์มอรมอนมีคำพรรณนาเรื่องต้นไม้มีผลที่ “หวานเหนือทุกสิ่งที่หวาน” ที่ใดอีก (ท่านอาจต้องเตือนนักเรียนให้นึกถึงคำพรรณนาเกี่ยวกับต้นไม้แห่งชีวิตใน 1 นีไฟ 8:11–12 และ1 นีไฟ 11:9–24)

  • ในนิมิตของลีไฮกับนีไฟเกี่ยวกับต้นไม้แห่งชีวิต ต้นไม้และผลหมายถึงอะไร (ต้นไม้หมายถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าตามที่แสดงให้เห็นผ่านพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์ ผลหมายถึงพรที่เราสามารถได้รับผ่านการชดใช้ ดูบทที่ 12 ในหนังสือเล่มนี้)

  • ในนิมิตของลีไฮกับนีไฟ ผู้คนมาถึงต้นไม้อย่างไร (เดินตามราวเหล็กซึ่งหมายถึงพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า) สิ่งนี้เหมือนการเปรียบเทียบของแอลมาเรื่องพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับเมล็ดพืชอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนให้แบ่งปันว่าพวกเขาทำตามการปฏิบัติดังบรรยายไว้ใน แอลมา 32 อย่างไร ถามพวกเขาว่าการปฏิบัตินี้มีอิทธิพลต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองเมื่อท่านรู้สึกถึงเดชานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—แอลมา 32:21

ขอให้นักเรียนใช้ แอลมา 32:21 พิจารณาว่าผู้คนในสถานการณ์ต่อไปนี้กำลังใช้ศรัทธาหรือไม่ใช้ศรัทธา

  1. เยาวชนหญิงคนหนึ่งต้องการหลักฐานทางกายภาพยืนยันว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริงก่อนที่เธอจะเชื่อ

  2. เยาวชนชายคนหนึ่งได้ยินว่าเยาวชนชายที่มีค่าควรทุกคนควรรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา ถึงแม้ครอบครัวยากจนแต่เขาตั้งใจว่าจะรับใช้และเตรียมตัวรับใช้

  3. เยาวชนหญิงคนหนึ่งต้องการสะอาดจากบาปผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เธอรู้ว่าเธอต้องสารภาพการล่วงละเมิดบางอย่างกับอธิการเพื่อจะกลับใจอย่างสมบูรณ์ เธอขอนัดเพื่อพบกับอธิการ

หมายเหตุ: ท่านอาจใช้แนวคิดนี้ระหว่างบทเรียนขณะแนะนำข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ หรือท่านอาจจะใช้ตอนท้ายบทเรียน

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 32:21–22, 26–27 ศรัทธาเป็นการเลือก

อธิการริชาร์ด ซี. เอชลีย์แห่งฝ่ายอธิการควบคุมสอนว่าศรัทธาเป็นการเลือก

“เพราะความขัดแย้งและการท้าทายที่เราเผชิญอยู่ในโลกทุกวันนี้ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาจะเสนอการเลือกอย่างหนึ่งการเลือกสันติสุขกับความคุ้มครอง และการเลือกที่เหมาะกับเราทุกคน การเลือกนั้นคือศรัทธา ขอให้ตระหนักว่าศรัทธาไม่ใช่ของประทานที่ให้เราเปล่าๆ โดยไม่ต้องคิด ปรารถนา หรือพยายาม ไม่ได้เกิดกับเราดังน้ำค้างตกจากสวรรค์ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า ‘จงมาหาเรา’ (มัทธิว 11:28) และ ‘จงเคาะแล้วจะเปิดให้แก่ท่าน’ (มัทธิว 7:7) นี่เป็นคำกิริยา—มา เคาะ และนี่เป็นการเลือก ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้ากล่าว จงเลือกศรัทธา เลือกศรัทธาแทนความสงสัย เลือกศรัทธาแทนความกลัว เลือกศรัทธาแทนสิ่งที่ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จัก และเลือกศรัทธาแทนการมองโลกในแง่ร้าย

“คำอธิบายที่ยอดเยี่ยมของแอลมาเกี่ยวกับศรัทธาดังบันทึกไว้ในแอลมาบทที่ 32 ของพระคัมภีร์มอรมอน คือการเลือกอย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาและจรรโลงศรัทธาของเรา แอลมาแนะนำเราให้เลือก ท่านบอกว่าการกระทำเริ่มจากการเลือก ท่านใช้คำว่า ตื่น ปลุก ทดลอง ใช้ ปรารถนา ทำงาน และ ปลูก แอลมาอธิบายต่อจากนั้นว่าถ้าเราทำการเลือกเหล่านี้และไม่โยนเมล็ดทิ้งไปเพราะความไม่เชื่อ เมื่อนั้น ‘มันจะเริ่มพองอยู่ในอก [เรา]’ (แอลมา 32:28)

“ใช่แล้ว ศรัทธาคือการเลือก เราต้องแสวงหาและพัฒนา ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องรับผิดชอบศรัทธาของเรา เราต้องรับผิดชอบการขาดศรัทธาของเราด้วย การเลือกเป็นของท่าน” (“ศรัทธา—การเลือกเป็นของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 38–39)

แอลมา 32:40–43 แสวงหาประจักษ์พยานที่มีชีวิต

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดระบุวิธีที่เราสามารถบำรุงเลี้ยงประจักษ์พยานของเรา

“ประจักษ์พยานเรียกร้องการบำรุงเลี้ยงโดยการสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธา การหิวโหยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในพระคัมภีร์ และการเชื่อฟังความจริงที่เราได้รับ มีอันตรายเมื่อเราละเลยการสวดอ้อนวอน มีอันตรายต่อประจักษ์พยานของเราเมื่อเราเพียงแต่ศึกษาและอ่านพระคัมภีร์แบบขอไปที สิ่งเหล่านี้เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อประจักษ์พยานของเรา …

“การดื่มด่ำพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า การสวดอ้อนวอนด้วยความจริงใจ และการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า ต้องนำมาประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำเพื่อให้ประจักษ์พยานของท่านเจริญงอกงาม เราทุกคนต่างมีสภาวการณ์เหนือการควบคุมที่เข้ามาขัดจังหวะแบบแผนการศึกษาพระคัมภีร์ของเรา อาจมีช่วงเวลาที่เราเลือกไม่สวดอ้อนวอนด้วยเหตุผลบางอย่าง อาจมีพระบัญญัติที่เราเลือกเพิกเฉยชั่วเวลาหนึ่ง

“แต่ท่านจะไม่ปรารถนาการได้รับประจักษ์พยานที่มีชีวิตหากท่านหลงลืมคำเตือนและคำสัญญาในแอลมา [32:40–43]” (ดู “ประจักษ์พยานที่มีชีวิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 161–162)