บทที่ 91
แอลมา 33
คำนำ
ชาวโซรัมกลุ่มหนึ่งปรารถนาจะรู้วิธีทำตามคำแนะนำของแอลมาเพื่อปลูกพระวจนะของพระเจ้าไว้ในใจพวกเขาและใช้ศรัทธา แอลมาใช้พระคัมภีร์สอนผู้คนเกี่ยวกับการนมัสการ การสวดอ้อนวอน และความเมตตาที่เราสามารถได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าเพราะพระผู้ช่วยให้รอด เขากระตุ้นผู้คนให้ตั้งตารอพระเยซูคริสต์และเชื่อในพลังแห่งการไถ่ของพระองค์
หมายเหตุ: บทที่ 94 เปิดโอกาสให้นักเรียนสามคนสอน ท่านอาจต้องการเลือกนักเรียนสามคนตอนนี้และมอบสำเนาส่วนที่กำหนดไว้ในบทที่ 94 ให้พวกเขาเตรียม กระตุ้นพวกเขาให้ศึกษาเนื้อหาบทเรียนร่วมกับการสวดอ้อนวอนและแสวงหาการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อพวกเขาจะรู้วิธีปรับบทเรียนตามคามต้องการของเพื่อนร่วมชั้น
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
แอลมา 33
แอลมาสอนชาวโซรัมให้เริ่มเชื่อในพระเยซูคริสต์
เขียนบนกระดานว่า ใช้
-
ใช้บางอย่างหมายความว่าอย่างไร (เมื่อนักเรียนตอบคำถามนี้ ท่านอาจจะขอให้นักเรียนคนหนึ่งสาธิตวิธีใช้แขน อาจจะโดยการวิดพื้น หรือใช้ขาโดยวิ่งอยู่กับที่)
ให้นักเรียนอ่าน แอลมา 33:1 ในใจโดยระบุการใช้ที่ชาวโซรัมต้องการเข้าใจ หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เราใช้ศรัทธาอย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนให้มองหาคำตอบอย่างน้อยสามข้อของคำถามนี้ขณะที่พวกเขาศึกษาและสนทนา แอลมา 33
อธิบายว่าเมื่อแอลมาเริ่มตอบคำถามของชาวโซรัมเกี่ยวกับวิธีใช้ศรัทธา เขาแก้ไขแนวคิดผิดๆ ที่คนเหล่านั้นมีเกี่ยวกับการนมัสการ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 33:2 ขอให้ชั้นเรียนระบุแนวคิดผิดๆ ของชาวโซรัมเกี่ยวกับการนมัสการพระผู้เป็นเจ้า
-
เหตุใดชาวโซรัมเหล่านี้จึงคิดว่าพวกเขาไม่สามารถนมัสการพระผู้เป็นเจ้าได้ (เพราะพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในธรรมศาลาของพวกเขา)
ขอให้นักเรียนสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ใน แอลมา 31 เกี่ยวกับรูปแบบการนมัสการของชาวโซรัม (ดู แอลมา 31:22–23 ชาวโซรัมกล่าวคำสวดอ้อนวอนเหมือนเดิมสัปดาห์ละครั้งในธรรมศาลาและพวกเขาไม่พูดถึงพระผู้เป็นเจ้าอีกเลยในช่วงวันที่เหลือของสัปดาห์)
-
เหตุใดการเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักรจึงเป็นส่วนสำคัญในการนมัสการของเรา เราสามารถนมัสการพระผู้เป็นเจ้าด้วยวิธีใดได้อีกบ้างนอกเหนือจากเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักรทุกสัปดาห์
อธิบายว่าแอลมาอ้างคำสอนของศาสดาพยากรณ์ชื่อซีนัสเพื่อแก้ไขแนวคิดผิดๆ ของชาวโซรัมเกี่ยวกับการนมัสการพระผู้เป็นเจ้า ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 33:3 ในใจโดยมองหาคำที่แอลมาใช้สลับกับคำว่า การนมัสการ (คำนั้นคือ การสวดอ้อนวอน)
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 33:4–10 ในใจโดยระบุสภาวการณ์แต่ละอย่าางซึ่งซีนัสสวดอ้อนวอน
-
ซีนัสสวดอ้อนวอนเมื่อใดและที่ใด
-
แอลมาสอนอะไรเกี่ยวกับการนมัสการเมื่อเขาอ้างถ้อยคำของซีนัส (ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้: เราสามารถนมัสการพระผู้เป็นเจ้าได้ตลอดเวลาผ่านการสวดอ้อนวอน)
อ้างคำถามบนกระดาน: เราใช้ศรัทธาของเราอย่างไร เขียนใต้คำถามนี้ว่า สวดอ้อนวอนเสมอ
-
การสวดอ้อนวอนเป็นการใช้ศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ในด้านใด
-
ท่านเคยสวดอ้อนวอนในสถานการณ์เหมือนที่ซีนัสกล่าวถึงเมื่อใด คำสวดอ้อนวอนของท่านได้รับตอบอย่างไร (เตือนนักเรียนว่าพวกเขาไม่ต้องแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านทวน แอลมา 33:4–5, 8–9 ในใจ ขอให้พวกเขามองหาถ้อยคำที่กล่าวถึงพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า (เช่น “พระองค์ทรงเมตตา”)
เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการชดใช้ของพระเยซูคริสต์กับพระเมตตาของพระบิดาบนสวรรค์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 33:11–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาวลีที่ปรากฏสี่ครั้ง ในข้อเหล่านี้ (วลีนั้นคือ “เพราะพระบุตรของพระองค์” ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายวลีนี้)
-
ท่านคิดว่าซีนัสหมายถึงอะไรเมื่อเขากล่าวว่า “พระองค์ทรงเพิกถอนการพิพากษาของพระองค์ไปจากข้าพระองค์, เพราะพระบุตรของพระองค์” (ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้: เราได้รับพระเมตตาจากพระบิดาบนสวรรค์ รวมถึงการให้อภัยบาปของเรา เพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนความจริงนี้ไว้ในพระคัมภีร์ใกล้ แอลมา 33:11–16)
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความเมตตาที่เราได้รับผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ท่านอาจเล่าเรื่องต่อไปนี้ที่อ้างโดยประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์
“ครูพูดว่า ‘สวัสดีครับนักเรียน เรามาบริหารโรงเรียนกันนะ’ เด็กๆ พากันตะโกน ส่งเสียงแหลมล้อเลียนครู ‘เอาละ ครูต้องการโรงเรียนที่ดี แต่ครูต้องสารภาพว่าครูไม่ทราบจะทำอย่างไรเว้นแต่เธอจะช่วยครู คิดว่าเราน่าจะมีกฎสักสองสามข้อ เธอบอกครูนะ ครูจะเขียนบนกระดาน’
“เด็กคนหนึ่งตะโกน ‘ไม่ขโมย!’ อีกคนตะโกนว่า ‘ตรงเวลา’ แล้วในที่สุดกฏทั้งสิบข้อก็ปรากฏอยู่บนกระดาน
“‘เอาละ’ ครูพูด ‘กฎจะไม่มีประสิทธิภาพถ้าไม่มีบทลงโทษกำกับไว้ด้วย เราจะทำอะไรกับคนที่ทำผิดกฎครับ?’
“‘เฆี่ยนหลังสิบทีโดยไม่สวมเสื้อ’ เด็กๆ ในชั้นเรียนตอบ
“‘นั่นทารุณมากนะนักเรียน เธอแน่ใจนะว่าเธอจะใช้วิธีนี้’ คนอื่นๆ พากันตะโกน ‘ผมเห็นด้วย’ ครูพูดว่า ‘ตกลง เราจะดำเนินตามกฎนี้ นักเรียน นั่งให้เรียบร้อย!’
“ในวันสองวันนั้นเอง ‘ทอมใหญ่’ พบว่าอาหารกลางวันของเขาถูกขโมย คนขโมยอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล—เพื่อนตัวเล็กผู้หิวโหย อายุราวๆ สิบขวบนั่นเอง ‘เราพบขโมยแล้วและเขาต้องถูกลงโทษตามกฎของพวกเธอ นั่นคือ เฆี่ยนหลังด้วยไม้เรียวสิบที จิม ออกมานี่!’ ครูพูด
“เจ้าหนูร่างจ้อยตัวสั่นเทิ้มค่อยๆ เดินออกมา พร้อมกับโค้ทตัวใหญ่ที่ผูกสูงขึ้นไปถึงคอ เขาวิงวอนว่า ‘ครูครับ ครูจะตีผมแรงแค่ไหนก็ได้ แต่ได้โปรดเถิดครับ อย่าถอดเสื้อโค้ทผมออกเลย!’ [ ]
“‘ถอดโค้ทออก’ ครูสั่ง ‘เธอเป็นคนช่วยออกกฎนี้นี่นา!’
“‘โอ ครูครับ อย่าตีผมเลย!’ เขาเริ่มปลดกระตุมเสื้อ แล้วครูเห็นอะไรรู้ไหม? เด็กชายคนนั้นไม่ได้สวมเสื้อเชิ้ตไว้ข้างใน จึงเผยให้เห็นร่างที่มีแต่หนังหุ้มกระดูกดูพิกลพิการ
“‘ผมจะเฆี่ยนเด็กคนนี้ได้อย่างไร?’ ครูคิด ‘แต่ผมต้อง ผมต้องทำบางอย่างเพื่อรักษาระเบียบวินัยของโรงเรียน’ ทั้งห้องเงียบงันราวกับไม่มีลมหายใจ
“‘ทำไมไม่สวมเสื้อเชิ้ตล่ะ จิม?’
“เขาตอบว่า ‘พ่อผมเสียแล้วครับ แม่จนมาก ผมมีเสื้อเชิ้ตตัวเดียว แม่ซักมันวันนี้ครับ ผมเลยใส่เสื้อโค้ทของพี่ชายมา จะได้ไม่หนาวครับ’
“ครูยืนถือไม้เรียว ท่าทางลังเล แต่ทันใดนั้นเอง ‘ทอมใหญ่’ ก็ผุดลุกขึ้นยืน และพูดว่า ‘ครูครับ ถ้าครูไม่ว่าอะไร ผมอยากให้ครูเฆี่ยนผมแทนจิมครับ’
“‘ดีมาก มีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า คนหนึ่งจะเป็นตัวแทนอีกคนหนึ่งได้ ทุกคนเห็นด้วยไหม?’
“ทอมถอดเสื้อโค้ท ตามมาด้วยการเฆี่ยนหลังห้าที ครูก้มหน้าเอามือกุมศีรษะ นึกในใจว่า ‘ผมทำงานที่ร้ายกาจนี้ได้อย่างไร?’ แต่แล้วเขาก็ได้ยินเสียงเด็กในชั้นเรียนร้องไห้สะอึกสะอื้น และเขาเห็นอะไรรู้ไหม? จิมน้อยเดินเข้าไปโอบกอดทอม ‘ทอม ขอโทษนะที่ฉันขโมยข้าวนายกิน แต่ฉันหิวชะมัดเลย ทอม ฉันจะรักนายจนตายเลยละ เพราะนายยอมถูกเฆี่ยนแทนฉัน! ใช่แล้ว ฉันจะรักนายตลอดไป!’” [ไม่ทราบนามผู้เขียน]
หลังจากเล่าเรื่องนี้ ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “เพื่อหยิบยกวลีหนึ่งจากเรื่องเบาๆ ที่ว่านี้ พระเยซู พระผู้ไถ่ของข้าพเจ้า ทรงยอมรับ ‘การเฆี่ยนตี’ แทนข้าพเจ้า และทรงรับการเฆี่ยนตีแทนท่าน” (ดู “เรื่องจริงและน่าอัศจรรย์ของคริสต์มาส,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2000, หน้า 5-6)
-
เรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับคำสอนของแอลมาเกี่ยวกับการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด (หากจำเป็นให้อธิบายว่าการที่ทอม “ยอมถูกเฆี่ยนแทนจิม” หมายถึงการชดใช้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับโทษบาปของเราไว้กับพระองค์เพื่อเราจะไม่ต้องทนรับโทษนั้นถ้าเรากลับใจ)
อธิบายว่าหลังจากอ้างถ้อยคำของซีนัสแล้ว แอลมาอ้างถ้อยคำของซีนัคศาสดาพยากรณ์อีกท่านหนึ่งด้วย อ่านออกเสียง แอลมา 33:15–16 ให้นักเรียนฟัง เน้นความไม่พอพระทัยของพระบิดาบนสวรรค์เมื่อผู้คนไม่ยอมเข้าใจสิ่งที่พระบุตรของพระองค์ทรงทำเพื่อพวกเขา
ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 33:12–14 ในใจโดยมองหาแหล่งที่แอลมาใช้เมื่อเขาแบ่งปันคำสอนเหล่านี้
-
เหตุใดแอลมาจึงคุ้นเคยกับถ้อยคำของซีนัสและซีนัค (เพราะถ้อยคำเหล่านี้อยู่ในพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าถ้อยคำของแอลมาในข้อ 12 และ 14 บอกเป็นนัยว่าชาวโซรัมได้อ่านพระคัมภีร์เหล่านี้ด้วย เน้นว่า พระคัมภีร์เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์)
เขียนใต้คำถามบนกระดานว่า ศึกษาและเชื่อพระคัมภีร์
ชี้ให้เห็นว่าแอลมาอ้างพระคัมภีร์อีกเรื่องหนึ่งเพื่อช่วยชาวโซรัมพัฒนาศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ให้ดูรูปโมเสสกับงูทองสัมฤทธิ์ (62202; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 16) สรุปเรื่องนี้โดยอธิบายว่าเมื่อโมเสสกำลังนำชาวอิสราเอลในแดนทุรกันดาร คนมากมายเริ่มกบฏต่อเขาและพระเจ้า เพื่อตอบโต้ความไม่เชื่อฟังของพวกเขา พระเจ้าทรงส่งงูพิษมากัดพวกเขา ผู้คนไปขอความช่วยเหลือจากโมเสส โมเสสสวดอ้อนวอนและได้รับคำแนะนำให้ทำงูตัวหนึ่งติดไว้บนเสาให้ผู้คนมองดู เขาเชื่อฟังโดยทำงูจากทองสัมฤทธิ์ (ดู กันดารวิถี 21:4–9) ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 33:19–20 เชื้อเชิญชั้นเรียนให้ระบุสิ่งที่เกิดกับผู้มองดูงูทองสัมฤทธิ์และสิ่งที่เกิดกับผู้เลือกไม่มองดู
-
ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 33:20 เหตุใดคนมากมายจึงเลือกไม่มอง
ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะเลือกมองหรือไม่ถ้าอยู่ในสถานการณ์นั้น
ให้ดูรูปการตรึงกางเขน (62505; หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 57) อธิบายว่างูทองสัมฤทธิ์บนเสาคือ “รูปแบบ” (แอลมา 33:19) อีกนัยหนึ่งคือสัญลักษณ์ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หมายถึงพระเยซูคริสต์บนกางเขน (ดู แอลมา 3:14)
ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 33:21–23 ในใจโดยดูว่าแอลมาเปรียบเรื่องนี้กับชาวโซรัมอย่างไร หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาค้นพบแล้ว ให้พูดถึงคำถามบนกระดานอีกครั้ง: เราจะใช้ศรัทธาได้อย่างไร
-
เรื่องราวของชาวอิสราเอลและงูทองสัมฤทธิ์สามารถสอนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อได้รับการบำบัดรักษาทางวิญญาณ
-
แอลมา 33:22–23 ตอบคำถามข้อนี้อย่างไร (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้: เราใช้ศรัทธาโดยเลือกเชื่อในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์)
เขียนใต้คำถามบนกระดานว่า เชื่อในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์
-
ท่านเห็นการกระทำหรือเจตคติใดในคนที่เชื่อเรื่องการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด
เพื่อเน้นว่าการเชื่อในพระเยซูคริสต์เป็นการเลือกที่เราทำ ให้ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่ข้อความต่อไปนี้ใน แอลมา 33:23: “และแม้สิ่งทั้งหมดนี้ท่านย่อมทำได้ถ้าตั้งใจทำ” ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อความนี้
เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดานและอาจจะกระตุ้นนักเรียนให้เขียนลงในพระคัมภีร์ของพวกเขา (ข้อความนี้อยู่ใน “Inquire of the Lord” [การปราศรัยกับนักการศึกษาด้านศาสนาของซีอีเอส 2 ก.พ., 2001], 1, si.lds.org)
ขอให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้หนึ่งข้อลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียน เตรียมคำถามเป็นเอกสารแจก หรืออ่านคำถามช้าๆ เพื่อให้นักเรียนจดตาม)
-
การที่ท่านเลือกเชื่อในพระผู้ช่วยให้รอดมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของท่านอย่างไร
-
การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวเสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างไร
-
การสวดอ้อนวอนส่วนตัวทุกวันและการนมัสการเสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างไร
-
ท่านรู้สึกว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้ท่านทำอะไรเพื่อใช้ศรัทธามากยิ่งขึ้น
เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขา เป็นพยานถึงความสำคัญของการเลือกเชื่อในพระผู้ช่วยให้รอด