คลังค้นคว้า
บทที่ 145: อีเธอร์ 3


บทที่ 145

อีเธอร์ 3

คำนำ

เพื่อตอบคำถามของพระเจ้า—“เจ้าอยากให้เราทำอะไรเพื่อเจ้าจะมีแสงสว่างในพาหนะของเจ้า”—พี่ชายของเจเร็ดได้เตรียมก้อนหินสิบหกก้อนและทูลขอพระเจ้าอย่างนอบน้อมถ่อมตนให้ทรงแตะก้อนหินเหล่านั้น “เพื่อมันจะส่องแสงออกมาในความมืด” (อีเธอร์ 2:23; 3:4) เพราะพี่ชายของเจเร็ดมีศรัทธามาก เขาจึงเห็นนิ้วพระหัตถ์ของพระผู้ช่วยให้รอดแตะก้อนหิน จากนั้นพระเจ้าทรงแสดงองค์ต่อพี่ชายของเจเร็ดและทรงเปิดเผยหลายเรื่อง พระเจ้าทรงบัญชาพี่ชายของเจเร็ดให้เขียนสิ่งที่เขาเห็นและได้ยินและผนึกงานเขียนเหล่านี้ไว้จนกว่าพระเจ้าจะทรงปรารถนาให้นำออกมา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

อีเธอร์ 3:1–20

พระเจ้าทรงแตะก้อนหินเพื่อให้แสงสว่างแก่เรือชาวเจเร็ดและทรงแสดงองค์ต่อพี่ชายของเจเร็ด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จด จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้และขอให้ผู้จดเขียนคำตอบของนักเรียนคนอื่นๆ ไว้บนกระดาน

  • วัยรุ่นสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจเพื่อขออะไรบ้าง

ขอให้นักเรียนสมมติว่าเพื่อนคนหนึ่งของพวกเขากำลังสวดอ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งที่เขียนบนกระดาน เพื่อนคนนี้อยากรู้วิธีปรับปรุงการสวดอ้อนวอนและการกระทำของเขาเพื่อจะสามารถได้รับความช่วยเหลือและการนำทางจากพระเจ้า กระตุ้นนักเรียนให้นึกถึงคำขอครั้งนี้ขณะพวกเขาศึกษาแบบอย่างของพี่ชายเจเร็ดใน อีเธอร์ 3 โดยมองหาข้อคิดที่พวกเขาจะแบ่งปันกับเพื่อนได้

เตือนนักเรียนว่าในบทก่อน พวกเขาสนทนาเรื่องพี่ชายของเจเร็ดทูลถามพระเจ้าเกี่ยวกับวิธีเตรียมการให้มีแสงสว่างในเรือของชาวเจเร็ด

  • พี่ชายของเจเร็ดขออะไรเพื่อช่วยให้มีแสงสว่างในเรือ (ดู อีเธอร์ 3:1)

  • พี่ชายของเจเร็ดขอให้พระเจ้าทรงทำอะไรเพื่อให้มีแสงสว่าง (ดู อีเธอร์ 3:1, 4)

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับความพยายามของพี่ชายเจเร็ด

ชี้ให้เห็นว่าพี่ชายของเจเร็ดพยายามมากเพื่อเตรียมก้อนหิน จากนั้นเชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาว่าก้อนหินจะมีประสิทธิผลเพียงใดในการให้แสงสว่างถ้าพระเจ้าไม่ทรงแตะก้อนหิน เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน อีเธอร์ 3:2–5 ในใจโดยมองหาวลีที่บ่งบอกว่าพี่ชายของเจเร็ดทราบดีว่าเขาต้องพึ่งพาพระเจ้า

หลังจากนักเรียนมีเวลาอ่านแล้ว ให้แบ่งพวกเขาเป็นคู่ๆ แล้วรายงานสิ่งที่พบให้กันฟัง เสนอแนะให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาประทับใจเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนของพี่ชายเจเร็ด

ขณะที่นักเรียนอ่าน อีเธอร์ 3:2 พวกเขาอาจมีคำถามเกี่ยวกับข้อความที่ว่า “พวกข้าพระองค์ไม่มีค่าควรต่อพระพักตร์พระองค์” และ “นิสัยของพวกข้าพระองค์จึงกลับชั่วตลอดเวลา” ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าเมื่อพี่ชายของเจเร็ดใช้คำเหล่านี้ เขาหมายถึงสภาพที่เราได้รับมา “เพราะการตก” เราถูกแยกทางร่างกายและทางวิญญาณจากพระผู้เป็นเจ้า และเราแยกตัวเราเองจากพระองค์เมื่อเราทำบาป เมื่อเทียบกับพระองค์แล้วเราอ่อนแอและไม่มีค่าควร หากปราศจากความช่วยเหลือจากพระองค์ เราไม่สามารถกลับไปอยู่ในที่ประทับของพระองค์ได้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของข้อที่พวกเขาอ่านมากขึ้น ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราพึงยอมรับว่าเราต้องพึ่งพาพระเจ้าเมื่อเราทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์

  • ใน อีเธอร์ 3:1–5 ท่านเห็นหลักฐานอะไรบ้างที่ยืนยันว่าพี่ชายของเจเร็ดมีศรัทธาว่าพระเจ้าทรงช่วยเขาแก้ปัญหาได้ (หากจำเป็นให้กระตุ้นนักเรียนมองหาวลีที่พูดถึงความพยายามของพี่ชายเจเร็ดและวลีที่แสดงว่าเขาวางใจพระเจ้า)

เพื่อเน้นพลังแห่งศรัทธาของพี่ชายเจเร็ด ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เจฟ-ฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“โดยแท้แล้ว พระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับผู้อ่าน รู้สึกว่ามีบางอย่างน่าประทับใจมากในความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเหมือนเด็กและศรัทธาแรงกล้าของชายผู้นี้ ‘ดูเถิด, ข้าแต่พระเจ้า, พระองค์ทรงทำการนี้ได้’ บางทีอาจไม่มีถ้อยคำใดที่มนุษย์พูดไว้ในพระคัมภีร์แสดงให้เห็นศรัทธาได้มากถึงเพียงนี้ … แม้ศาสดาพยากรณ์ไม่แน่ใจในความสามารถของตน แต่เขา ไม่มี ความไม่แน่ใจในเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า” (“Rending the Veil of Unbelief,” in Nurturing Faith through the Book of Mormon: The 24th Annual Sidney B. Sperry Symposium [1995], 12)

ให้ดูภาพพี่ชายเจเร็ดเห็นนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า (62478; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], หน้า 85) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน อีเธอร์ 3:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและจินตนาการว่าประสบการณ์ที่บันทึกไว้ในข้อนี้จะเป็นอย่างไรสำหรับพี่ชายของเจเร็ด

พี่ชายเจเร็ดเห็นนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า
  • ท่านจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรถ้าท่านมีประสบการณ์คล้ายกับพี่ชายของเจเร็ด

สรุป อีเธอร์ 3:6–8 โดยอธิบายว่าเมื่อพี่ชายเจเร็ดเห็นนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า เขา “ล้มลงต่อพระพักตร์พระเจ้า” (อีเธอร์ 3:6) เขาประหลาดใจเมื่อเห็นว่านิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า “เป็นดังนิ้วมือมนุษย์, เหมือนกับเนื้อหนังและโลหิต” (อีเธอร์ 3:6) (พี่ชายของเจเร็ดเรียนรู้ในเวลาต่อมาว่าเขาได้เห็นร่างวิญญาณส่วนหนึ่งของพระเจ้า [ดู อีเธอร์ 3:16])

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 3:9 ในใจ โดยมองหาเหตุผลว่าเหตุใดพี่ชายเจเร็ดจึงสามารถเห็นนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน

เมื่อเราเรียกหาพระเจ้าอย่างนอบน้อมถ่อมตน พระองค์จะประทานพรเราตาม … ของเราและพระประสงค์ของพระองค์

ขอให้นักเรียนเสนอคำที่จะใช้เติมข้อความนี้ นักเรียนควรเสนอคำว่า ศรัทธา เพื่อเติมประโยคดังกล่าว พวกเขาอาจจะเสนอคำต่างๆ เช่น ความพยายาม ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความต้องการ และ ความจริงใจ ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าคำทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นศรัทธาของเรา จากนั้นให้เติมข้อความบนกระดาน: เมื่อเราเรียกหาพระเจ้าอย่างนอบน้อมถ่อมตน พระองค์จะประทานพรเราตามศรัทธาของเราและพระประสงค์ของพระองค์

ย้อนกลับไปที่รายการบนกระดานตั้งแต่ต้นบทเรียน เลือกหนึ่งหรือสองข้อจากรายการ เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันความคิดของพวกเขาว่าบางคนจะแสดงศรัทธาในพระเจ้าในสถานการณ์เหล่านั้นได้อย่างไร หลังจากนักเรียนแบ่งปันแล้ว ให้กล่าวถึงหลักธรรมที่ท่านเพิ่งเขียนบนกระดาน

  • ท่านเคยมีประสบการณ์อะไรบ้างที่ได้ช่วยให้ท่านรู้ว่าหลักธรรมนี้เป็นความจริง

เพื่อช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ในชีวิตพวกเขา เชื้อเชิญพวกเขาให้นึกถึงสถานการณ์ซึ่งทำให้พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้า ให้เวลาพวกเขาเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์โดยบอกหนึ่งวิธีที่พวกเขาสามารถใช้ศรัทธามากขึ้นขณะแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าอย่างนอบน้อมถ่อมตน กระตุ้นนักเรียนให้ทำตามสิ่งที่เขียนไว้ ท่านอาจต้องการแบ่งปัน ประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อครั้งได้รับพรเพราะท่านใช้ศรัทธาในพระเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ซึ่งเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์อธิบายว่าประสบการณ์ในอดีตของเราสามารถเสริมสร้างศรัทธาของเราได้

“ศรัทธาขั้นเตรียมเกิดจากประสบการณ์ในอดีต—จากสิ่งที่รู้อยู่แล้ว ซึ่งปูพื้นฐานสำหรับความเชื่อ” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 18)

  • เริ่มที่หอบาเบล พี่ชายของเจเร็ดมีประสบการณ์อะไรบ้างซึ่งน่าจะเสริมสร้างศรัทธาที่เขามีต่อพระเจ้า ท่านคิดว่าประสบการณ์เหล่านี้เตรียมเขาให้ใช้ศรัทธามากเช่นนั้นเมื่อเขานำก้อนหินไปหาพระเจ้าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งเป็นคู่และสนทนาคำถามต่อไปนี้

  • ประสบการณ์ใดเสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระเจ้า ประสบการณ์เหล่านั้นสามารถเตรียมท่านให้ใช้ศรัทธามากขึ้นในชีวิตท่านหลังจากนั้นได้อย่างไร

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก อีเธอร์ 3:9–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • เมื่อพระเจ้าตรัสถาม “เจ้าเชื่อถ้อยคำที่เราจะพูดหรือไม่?” พี่ชายของเจเร็ดตอบว่า “เชื่อ, พระองค์เจ้าข้า” (อีเธอร์ 3:11–12) ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่พี่ชายของเจเร็ดจะต้องยอมเชื่อถ้อยคำของพระเจ้าก่อนจึงจะได้ยินถ้อยคำเหล่านั้น

อธิบายว่าหลังจากเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์สอนเรื่องศรัทธาซึ่งมีพื้นฐานจากประสบการณ์ในอดีตแล้ว ท่านได้สอนเกี่ยวกับศรัทธาที่สมบูรณ์กว่านั้นซึ่งเราต้องพัฒนา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“บ่อยครั้งต้องใช้ศรัทธาที่เคยมีในอดีตเพื่อให้ได้ประสบการณ์ในอนาคต—ประสบการณ์ที่ไม่มีใครรู้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ได้ประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์ ศรัทธาที่แน่ชัด ศรัทธาที่เคลื่อนภูเขา ศรัทธาเฉกเช่นศรัทธาของพี่ชายเจเร็ด มาก่อน ปาฎิหาริย์และความรู้ … ศรัทธาคือการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข—และล่วงหน้า—ไม่ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเรียกร้องเงื่อนไขใดทั้งในอนาคตอันใกล้และไกล

“ศรัทธาของพี่ชายเจเร็ดสมบูรณ์แบบ” (Christ and the New Covenant, 18–19)

กระตุ้นนักเรียนให้พิจารณาว่าพวกเขามีศรัทธาในพระเจ้ามากพอจะยอมเชื่อและทำตามสิ่งที่พระองค์จะทรงเปิดเผยต่อพวกเขาแม้ก่อนพระองค์ทรงเปิดเผยหรือไม่

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 3:13–20 ในใจโดยมองหาพรที่พี่ชายของเจเร็ดได้รับเพราะศรัทธาของเขา ท่านอาจต้องการให้เวลาพวกเขาเขียนความจริงที่พี่ชายของเจเร็ดเรียนรู้และประสบการณ์ที่เขามี เมื่อนักเรียนมีเวลาเขียนแล้ว ท่านอาจขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียน

ช่วงต้นบทเรียน เมื่อนักเรียนอ่านเรื่องพี่ชายเจเร็ดเห็นนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า ท่านถามว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้ามีประสบการณ์คล้ายกัน ตอนนี้หลังจากอ่านมากขึ้นเกี่ยวกับประสบการณ์ของพี่ชายเจเร็ด ท่านอาจจะถามคำถามนั้นอีกครั้ง

เป็นพยานว่า เมื่อเราใช้ศรัทธาเหมือนศรัทธาของพี่ชายเจเร็ด เราจะใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น

อีเธอร์ 3:21–28

พระเจ้าทรงบัญชาพี่ชายของเจเร็ดให้เขียนสิ่งที่เขาเห็นและผนึกบันทึกของเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน อีเธอร์ 3:25–26 ขอให้ชั้นเรียนระบุสิ่งที่พระเจ้าทรงแสดงให้พี่ชายของเจเร็ดเห็นในนิมิต เชื้อเชิญนักเรียนให้รายงานสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

สรุป อีเธอร์ 3:21–24, 27–28 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงบัญชาพี่ชายของเจเร็ดให้จดสิ่งที่เขาเห็นและได้ยินและผนึกงานเขียนของเขา พระเจ้าทรงอธิบายเช่นกันว่าพระองค์จะทรงเตรียมทางให้แปลงานเขียนของพี่ชายเจเร็ดในอนาคต—ผ่านหินสองก้อน หินเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าอูริมและทูมมิม (ดู คพ. 17:1; ดูคู่มือพระคัมภีร์, “อูริมและทูมมิม” ด้วย)

สรุปโดยกระตุ้นนักเรียนให้ประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้—หาวิธีแสดงศรัทธาและความวางใจที่พวกเขามีต่อพระเจ้า แสดงความเชื่อมั่นของท่านว่าเมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ พระผู้เป็นเจ้าจะประทานพรเราดังที่พระองค์ประทานพรพี่ชายของเจเร็ด

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

อีเธอร์ 3:79 พระเจ้าตรัสถามพี่ชายของเจเร็ด

พระเจ้าตรัสถามพี่ชายของเจเร็ดว่า “ลุกขึ้นเถิด, เหตุใดเจ้าจึงล้มเล่า?” (อีเธอร์ 3:7) “เจ้าเห็นมากกว่านี้ไหม?” (อีเธอร์ 3:9) พระคัมภีร์มีตัวอย่างมากมายที่พระเจ้าตรัสถามทั้งที่ทรงทราบคำตอบอยู่แล้ว เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าเหตุใดพระเจ้าจึงตรัสถามเช่นนั้น

“สมมติฐานเบื้องต้นตามหลักศาสนาของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคือพระผู้เป็นเจ้า ‘ทรงรู้ทุกเรื่อง, และหาได้มีเรื่องใดที่พระองค์มิทรงรู้.’ [2 นีไฟ 9:20] พระคัมภีร์ ทั้งโบราณและปัจจุบัน เต็มไปด้วยข้อความยืนยันสรรพปรีชาญาณของพระองค์ กระนั้นก็ตาม พระผู้เป็นเจ้ายังคงตรัสถามมนุษย์บ่อยครั้ง โดยปกติจะเป็นวิธีทดสอบศรัทธาของพวกเขา ประเมินความซื่อสัตย์ของพวกเขา หรือพัฒนาความรู้ของพวกเขา” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 19–20)

อีเธอร์ 3:15 “เราไม่เคยแสดงตนแก่มนุษย์”

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเสนอคำอธิบายที่เป็นไปได้สำหรับพระดำรัสของพระเยซูที่ว่าพระองค์ไม่เคยแสดงองค์แก่มนุษย์ก่อนแสดงองค์แก่พี่ชายของเจเร็ด

“พระคริสต์กำลังตรัสกับพี่ชายของเจเร็ดว่า ‘เราไม่เคยแสดงตนแก่มนุษย์ ในลักษณะนี้ ไม่ใช่ความตั้งใจของเราเลย แต่ถูกบีบคั้นโดยศรัทธาของผู้เห็นเพียงอย่างเดียว’ ตามกฎแล้วศาสดาพยากรณ์ ได้รับเชิญ ให้เข้าในที่ประทับของพระเจ้า ได้รับอนุญาตให้เข้าในที่ประทับของพระองค์โดยพระองค์และด้วยการอนุมัติของพระองค์เท่านั้น แต่ดูเหมือนพี่ชายของเจเร็ดดันตนเองผ่านม่าน ไม่ใช่ในฐานะแขกที่ไม่ได้รับการต้อนรับแต่อาจจะในฐานะแขกที่ไม่ได้รับเชิญ … เห็นชัดว่าพระเจ้าพระองค์เองทรงกำลังเชื่อมโยงศรัทธาที่ไม่เคยมีมาก่อนกับนิมิตครั้งนี้ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถ้านิมิตนี้ไม่พิเศษ ศรัทธาก็ต้องพิเศษและนิมิตที่ได้รับจึงไม่มีอะไรเทียบได้ วิธีเดียวที่ศรัทธาดังกล่าวจะโดดเด่นคือศรัทธานั้นต้องสามารถพาศาสดาพยากรณ์ที่ไม่ได้รับเผชิญไปในที่ซึ่งคนอื่นจะไปได้ก็ด้วยพระดำรัสอนุญาตจากพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 23)

อีเธอร์ 3:16 “ร่างนี้ … เป็นร่างวิญญาณของเรา”

เอ็ลเดอร์เซซิล โอ. ซามูเอลสันแห่งสาวกเจ็ดสิบเน้นว่าจากเรื่องพี่ชายของเจเร็ด เราเรียนรู้เกี่ยวกับร่างก่อนมรรตัยและความเป็นพระผู้เป็นเจ้าของพระผู้ช่วยให้รอด

“ไม่มีที่ใดในพระคัมภีร์ให้เรื่องราวชัดเจนกว่านี้เกี่ยวกับพระลักษณะอันเป็นร่างวิญญาณของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ และลักษณะพิเศษของวิญญาณเราเอง พี่ชายของเจเร็ดไม่เพียงเห็นนิ้วพระหัตถ์ของพระเยซูคริสต์ก่อนมรรตัยเท่านั้นแต่มองเห็นร่างวิญญาณทั้งร่างของพระองค์ด้วย (ดู อีเธอร์ 3:6, 13) การเข้าใจความเป็นพระผู้เป็นเจ้าก่อนมรรตัยของพระเยซูคริสต์พร้อมด้วยอัตลักษณ์ทางวิญญาณของเราเองก่อนการเกิดของเราในเนื้อหนังนับเป็นพรอันประเสริฐและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ความเข้าใจอันลึกซึ้งเหล่านี้ที่กำลังทำลายแนวพรมแดนดั้งเดิมซึ่งเป็นผลโดยตรงจากศรัทธาที่ไม่มีขอบเขตของพี่ชายเจเร็ด” (“The Brother of Jared,in Heroes from the Book of Mormon [1995], 185)

อีเธอร์ 3:23–24 “ศิลาสองก้อนนี้”

ศิลาสองก้อนที่พระเจ้าประทานแก่พี่ชายของเจเร็ดเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าอูริมและทูมมิม พระคัมภีร์กล่าวถึงอูริมและทูมมิมมากกว่าหนึ่งชุด แต่เราทราบว่าโจเซฟ สมิธมีอูริมและทูมมิมที่พี่ชายของเจเร็ดใช้ (ดู อีเธอร์ 3:22–28; คพ. 10:1; 17:1) ใน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:35 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟให้คำอธิบายส่วนหนึ่งเกี่ยวกับอูริมและทูมมิมนี้ ท่านใช้ในการแปลพระคัมภีร์มอรมอนและในการได้รับการเปิดเผยอื่นๆ