คลังค้นคว้า
บทที่ 148: อีเธอร์ 7–11


บทที่ 148

อีเธอร์ 7–11

คำนำ

พี่ชายของเจเร็ดเสียใจที่ผู้คนของเขาขอให้กษัตริย์เป็นผู้นำ เขากล่าวว่า “สิ่งนี้จะนำไปสู่การเป็นเชลยโดยแน่แท้” (อีเธอร์ 6:23) คำพยากรณ์ของเขาเกิดสัมฤทธิผลในอีกสองรุ่นต่อมา ระหว่างการปกครองของกษัตริย์หลายองค์ ชาวเจเร็ดประสบวัฏจักรหลายรอบของการสดับฟังศาสดาพยากรณ์และดำเนินชีวิตในความชอบธรรมจากนั้นพวกเขาปฏิเสธศาสดาพยากรณ์และดำเนินชีวิตในความชั่วร้าย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

อีเธอร์ 7

โอไรฮาห์และคิบปกครองด้วยความชอบธรรม โคริฮอร์กบฏและยึดอาณาจักร ชูลน้องชายของเขายึดคืน เหล่าศาสดาพยากรณ์ประณามความชั่วร้ายของผู้คน

วาดห้องขังง่ายๆ บนกระดาน

ภาพ
ห้องขัง

ขอให้นักเรียนบรรยายว่าผู้คนจะรู้สึกอย่างไรขณะเป็นเชลย ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมที่เป็นบาปสามารถนำผู้คนไปสู่การเป็นเชลยทางวิญญาณและทางร่างกาย

  • พฤติกรรมที่เป็นบาปนำไปสู่การเป็นเชลยในด้านใด

นักเรียนอาจกล่าวถึงแนวคิดดังต่อไปนี้: การเลือกฝ่าฝืนพระคำแห่งปัญญาหรือดูภาพลามกสามารถนำไปสู่การเป็นเชลยของการเสพติด บาปทุกรูปแบบลดอำนาจของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตของเรา อธิบายว่าบทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนเห็นว่าพวกเขาจะหลีกเลี่ยงการเป็นเชลยได้อย่างไร

อธิบายว่าเมื่อพี่ชายของเจเร็ดเรียนรู้ว่าผู้คนต้องการกษัตริย์ เขาเตือนว่าการเลือกของคนเหล่านั้นจะนำไปสู่การเป็นเชลย (ดู อีเธอร์ 6:22–23) แม้กระนั้นผู้คนชาวเจเร็ดก็ยังเลือกมีกษัตริย์ กษัตริย์องค์แรกของพวกเขาคือโอไรฮาห์ บุตรชายคนหนึ่งของเจเร็ด กษัตริย์องค์ที่สองคือคิบบุตรของโอไรฮาห์

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 7:1–2 ในใจเพื่อเรียนรู้ว่าคำพยากรณ์ของพี่ชายของเจเร็ดเกิดสัมฤทธิผลในสมัยของโอไรฮาห์หรือไม่ ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่เรียนรู้

  • ท่านจะพูดอะไรกับคนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยของกษัตริย์โอไรฮาห์และไม่เชื่อว่าคำพยากรณ์ของพี่ชายเจเร็ดจะเกิดสัมฤทธิผล

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 7:3–7 ในใจโดยมองหาวิธีซึ่งทำให้คำพยากรณ์ของพี่ชายเจเร็ดเริ่มเกิดสัมฤทธิผล ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ พวกเขาพึงเข้าใจว่ากษัตริย์คิบและผู้คนของเขาถูกนำไปเชลย—“คิบพำนักอยู่ในการเป็นเชลย, และผู้คนของเขา” (อีเธอร์ 7:7)

  • จนถึงทุกวันนี้ท่านเห็นหลักธรรมอะไรใน อีเธอร์ 7 (ขณะนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ หลักธรรมต่อไปนี้พึงชัดเจน: การปฏิเสธถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์สามารถนำไปสู่การเป็นเชลย)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 7:8–13 เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชูลผู้เกิดจากคิบขณะคิบเป็นเชลย ก่อนอ่านขอให้พวกเขาจินตนาการว่าพวกเขาเป็นผู้สื่อข่าวที่ได้รับมอบหมายให้รายงานเรื่องราวใน อีเธอร์ 7:8–13 จากนั้นขอให้นักเรียนแต่ละคนรายงานให้สมาชิกอีกคนหนึ่งของชั้นเรียนทราบว่าเขาจะเน้นอะไรจากเรื่องนี้

สรุป อีเธอร์ 7:14–22 โดยอธิบายว่าหลังจากชูลเป็นกษัตริย์และโคริฮอร์กลับใจจากสิ่งที่ทำ โนอาห์บุตรของโคริฮอร์นำการกบฏต่อต้านชูลและโคริฮอร์ ชูลถูกนำไปเป็นเชลย พวกบุตรของชูลสังหารโนอาห์ได้จึงปล่อยชูลเป็นอิสระ และชูลกลับไปเป็นกษัตริย์ในอาณาจักรของตน แต่โคฮอร์บุตรของโนอาห์คงอยู่ในอาณาจักรที่โนอาห์เคยปกครอง ประเทศถูกแบ่งแยกระหว่างกษัตริย์สององค์และคนสองพวกจนถึงเกิดการสู้รบซึ่งทำให้ชูลสังหารโคฮอร์ นิมรอดบุตรของโคฮอร์ยกอาณาจักรส่วนหนึ่งของโคฮอร์ให้ชูล

อธิบายว่าหลังจากชูลยึดอาณาจักรคืน เหล่าศาสดาพยากรณ์บังเกิดขึ้นในบรรดาผู้คน ขอให้นักเรียนอ่าน อีเธอร์ 7:23–25 ในใจโดยระบุศาสดาพยากรณ์กล่าวอะไรและผู้คนมีปฏิกิริยาอย่างไร หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้ถามว่า

  • ผู้คนตอบสนองต่อศาสดาพยากรณ์อย่างไร ชูลตอบสนองอย่างไร

  • การที่ชูลคุ้มครองศาสดาพยากรณ์เป็นพรแก่ผู้คนของเขาอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 7:26–27 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผู้คนเชื่อฟังถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ พวกเขาพึงระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราทำตามคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์และระลึกถึงพระเจ้า เราเริ่มรุ่งเรือง

  • ท่านได้รับพรอย่างไรเพราะท่านเชื่อฟังคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์

กระตุ้นนักเรียนให้นึกถึงวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถฟังและเชื่อฟังถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ได้ดีขึ้น

อีเธอร์ 8:1–9:13

เจเร็ดและจากนั้นเอคิชเป็นกษัตริย์ชาวเจเร็ดผ่านการมั่วสุมลับ

สรุป อีเธอร์ 8:1–14 โดยอธิบายว่าหลังจากชูลเสียชีวิต โอเมอร์กลายเป็นกษัตริย์ เจเร็ดบุตรของโอเมอร์กบฏต่อบิดาและใฝ่ใจกับการเป็นกษัตริย์ เขาสามารถได้อาณาจักรกึ่งหนึ่งชั่วคราว แต่ต่อมาเขาพ่ายแพ้และถูกบังคับให้สละอาณาจักรกึ่งหนึ่งของเขา จากนั้นธิดาของเจเร็ดวางแผนให้เจเร็ดเป็นกษัตริย์ เธอเตือนบิดาให้นึกถึงการมั่วสุมลับที่รู้กันในสมัยโบราณ จากนั้นเธอบอกว่าเธอจะร่ายรำต่อหน้าชายคนหนึ่งชื่อเอคิชผู้ซึ่งเธอรู้ว่าเขาปรารถนาจะแต่งงานกับเธอ เมื่อเอคิชขอเธอแต่งงาน เจเร็ดต้องบอกเอคิชว่าเขาต้องสังหารกษัตริย์โอเมอร์ เจเร็ดกับธิดาของเขาดำเนินการตามแผนนี้ เอคิชขอแต่งงานกับธิดาของเจเร็ดและจากนั้นก็เข้าสู่การมั่วสุมลับกับเพื่อนๆ เพื่อสังหารกษัตริย์โอเมอร์

ชี้ให้เห็นว่าเพราะแผนดังกล่าว การมั่วสุมลับจึงเริ่มขึ้นในบรรดาชาวเจเร็ดและเป็นเหตุให้เกิดความพินาศในท้ายที่สุด อธิบายว่าการมั่วสุมลับคือ “กลุ่มคนที่ให้สัตย์สาบานต่อกันว่าจะดำเนินการให้บรรลุจุดประสงค์ที่ชั่วร้ายของกลุ่ม” (คู่มือพระคัมภีร์, “มั่วสุมลับ (การ)” scriptures.lds.org) พวกโจรแกดิ-แอนทันเป็นตัวอย่างของกลุ่มคนในพระคัมภีร์มอรมอนที่ใช้การมั่วสุมลับทำให้บรรลุจุดประสงค์ที่ชั่วร้ายของตน

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 8:15–19 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่เอคิชทำเพื่อตั้งการมั่วสุมลับ ขอให้นักเรียนดูว่าข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับการมั่วสุมลับ

  • อะไรคือเจตนาของคนที่ยอมรับการมั่วสุมลับ (ได้อำนาจเพื่อพวกเขาจะกระทำความชั่วร้ายได้)

  • อำนาจของใครอยู่เบื้องหลังการมั่วสุมลับ (มาร)

  • วลีใดใน อีเธอร์ 8:18 แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการมั่วสุมลับ (“น่าชิงชังที่สุดและชั่วร้ายยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวง”)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 8:20–22, 25 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พวกเขาสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการมั่วสุมลับ ขอให้พวกเขาเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อผลที่การมั่วสุมลับมีต่อสังคม (สังเกตว่า วลี “ก่อตั้งมันขึ้น” ที่อยู่ต้น อีเธอร์ 8:25 หมายถึงการก่อตั้งการมั่วสุมลับ)

  • จากสิ่งที่ท่านอ่าน การมั่วสุมลับมีผลกระทบอะไรต่อสังคม (ขณะที่นักเรียนแสดงความคิดเห็น พวกเขาพึงระบุความจริงต่อไปนี้: การสนับสนุนการมั่วสุมลับนำไปสู่ความพินาศของสังคม)

เชื้อเชิญชั้นเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 8:23–24, 26 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่โมโรไนต้องการให้เราทำเนื่องด้วยคำเตือนของเขาเกี่ยวกับการมั่วสุมลับ

  • โมโรไนบอกให้เราทำอะไร (จงระวังการมั่วสุมลับและพยายามทำให้เรื่องเช่นนั้นหมดไปจากสังคมของเรา)

  • ดังบันทึกไว้ใน อีเธอร์ 8:26 อะไรคือความหวังของโมโรไนสำหรับเราในวันเวลาสุดท้าย

สรุป อีเธอร์ 9:1–13 โดยอธิบายว่าเนื่องด้วยการมั่วสุมลับ เอคิชกับเพื่อนๆ จึงสามารถล้มล้างอาณาจักรของโอเมอร์ได้ แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงเตือนโอเมอร์ว่าเขาควรหนีไปกับครอบครัว ด้วยเหตุนี้จึงช่วยให้พวกเขารอดชีวิต เจเร็ดบุตรชายชั่วของโอเมอร์กลายเป็นกษัตริย์และยกธิดาของตนให้แต่งงานกับเอคิช เอคิชกับเพื่อนๆ ดำเนินแผนชั่วต่อไปโดยฆ่าเจเร็ดและแม้กระทั่งบุตรชายของเอคิชเอง การกระทำเหล่านี้ก่อให้เกิดสงครามระหว่างเอคิชกับพวกบุตรชายของเขาซึ่งในที่สุดได้ทำลายชาวเจเร็ดเกือบทั้งหมดและนำโอเมอร์คืนบัลลังก์ เน้นว่าเหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการมั่วสุมลับนำไปสู่ความพินาศของสังคม

อีเธอร์ 9:14–11:23

กษัตริย์องค์หนึ่งสืบทอดต่อจากอีกองค์หนึ่ง บางคนปกครองด้วยความชอบธรรมและบางคนปกครองด้วยความชั่วร้าย

อธิบายว่า อีเธอร์บทที่ 9–11 บันทึกว่ากษัตริย์มากกว่า 24 องค์ปกครองชาวเจเร็ดต่อจากเจเร็ด—บางคนปกครองด้วยความชอบธรรมและบางคนปกครองด้วยความชั่วร้าย เตือนนักเรียนให้นึกถึงหลักธรรมต่อไปนี้ซึ่งสนทนาไปแล้วก่อนหน้านี้ นั่นคือ การปฏิเสธถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์สามารถนำไปสู่การเป็นเชลยได้ ขอให้นักเรียนครึ่งชั้นศึกษา อีเธอร์ 9:26–35 (ระหว่างการปกครองของเฮ็ธ) และขอให้อีกครึ่งชั้นศึกษา อีเธอร์ 11:1–8 (ระหว่างการปกครองของคอมและชิบลัม) ขอให้ทั้งสองกลุ่มมองหาพยานหลักฐานยืนยันหลักธรรมนี้ เชื้อเชิญนักเรียนให้รายงานสิ่งที่พบพอสังเขป

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความสำคัญของการทำตามคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์ ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์จากชีวิตท่านที่สอนความสำคัญของการทำตามคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

อีเธอร์ 7:23–27; 9:28–3 ผู้คนมักปฏิเสธศาสดาพยากรณ์และข่าวสารของพวกท่าน

เหตุใดศาสดาพยากรณ์จึงประกาศข่าวสารที่คนมากมายในโลกไม่ชื่นชอบ เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายดังนี้

“ศาสดาพยากรณ์จะเตือนเราเสมอถึงผลของการล่วงละเมิดกฎของพระผู้เป็นเจ้า พวกท่านไม่ได้สอนสิ่งที่เป็นความนิยมของโลก … ทำไมศาสดาพยากรณ์จึงประกาศพระบัญญัติที่ไม่อยู่ในความนิยมและเรียกให้สังคมกลับใจจากการปฏิเสธ การดัดแปลง และแม้การเพิกเฉยต่อพระบัญญัติ เหตุผลนั้นธรรมดามาก จากการได้รับการเปิดเผย ศาสดาพยากรณ์ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการประกาศและยืนยันในสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานให้พวกท่านเพื่อบอกชาวโลก” (“แต่ถ้าท่านปรารถนาจะเข้าในชีวิตก็ให้ถือรักษาพระบัญญัติไว้,” เลียโฮนา, ก.ค. 1996, 47)

เอ็ลเดอร์แอล. อัลดิน พอร์เตอร์แห่งฝ่ายประธานสาวกเจ็ดสิบสอนดังนี้

“บางคนบ่นว่าเมื่อศาสดาพยากรณ์พูดด้วยความชัดเจนและหนักแน่น นั่นเท่ากับเป็นการนำเอาสิทธิ์เสรีไปจากเรา เรายังคงมีอิสระที่จะเลือก แต่เราต้องยอมรับผลอันเกิดจากการตัดสินใจของเรา ศาสดาพยากรณ์ไม่ได้นำเอาสิทธิ์เสรีไปจากเรา ท่านเพียงแต่เตือนเราว่าผลที่เกิดจากการเลือกของเราจะเป็นเช่นไร ช่างเขลาอะไรเช่นนี้ที่ไปตำหนิศาสดาพยากรณ์ในยามที่ท่านตักเตือนเรา” (“จุดหมายปลายทางของเรา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 81)

พิมพ์