บทที่ 151
อีเธอร์ 13–15
คำนำ
บันทึกของศาสดาพยากรณ์อีเธอร์เกี่ยวกับอารยธรรมชาวเจเร็ดเป็นพยานว่าคนเหล่านั้นผู้ปฏิเสธพระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์จะไม่รุ่งเรือง อีเธอร์เตือนโคริแอนทะเมอร์กษัตริย์ชาวเจเร็ดว่าผู้คนของเขาจะถูกทำลายถ้าเขากับครัวเรือนไม่กลับใจ เมื่อโคริแอน-ทะเมอร์กับผู้คนของเขาไม่ยอมกลับใจ สงครามและความชั่วร้ายทวีความรุนแรงอยู่หลายปีจนประชาชาติชาวเจเร็ดถูกทำลายสิ้น เฉพาะอีเธอร์กับโมโรไนเท่านั้นที่รอดชีวิตเพื่อเป็นพยานถึงสัมฤทธิผลแห่งคำพยากรณ์ของอีเธอร์ บทเหล่านี้เป็นสัมฤทธิผลแห่งประกาศิตของพระผู้เป็นเจ้าเช่นกันว่า “ประชาชาติใดก็ตามที่จะครอบครอง [แผ่นดินแห่งคำสัญญา] จะรับใช้พระผู้เป็นเจ้า, มิฉะนั้นพวกเขาจะถูกกำจัดออกไป” (อีเธอร์ 2:9)
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
อีเธอร์ 13:1–12
โมโรไนบันทึกคำพยากรณ์ของอีเธอร์เกี่ยวกับเยรูซาเล็มใหม่และเยรูซาเล็มสมัยโบราณ
อธิบายว่าเมืองบางเมืองเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปเพราะมีชื่อบ่งบอกลักษณะสำคัญของเมืองนั้น อ่านชื่อบอกลักษณะเมืองต่างๆ ต่อไปนี้ และขอให้นักเรียนทายว่าเมืองใดเข้าคู่กับแต่ละชื่อ ได้แก่ เมืองแห่งแสง (ปารีส ฝรั่งเศส) เมืองนิรันดร์ (โรม อิตาลี) เมืองแห่งลม (ชิคาโก อิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา) ไข่มุกแห่งบูรพา (มะนิลา ฟิลิปปินส์) และเมืองแห่งพระราชวัง (เม็กซิโกซิตี เม็กซิโก) ขอให้นักเรียนบอกว่าชื่อเหล่านี้สื่ออะไรเกี่ยวกับเมืองนั้น
ชี้ให้เห็นว่าโมโรไนบันทึกคำพยากรณ์ของอีเธอร์เกี่ยวกับเมืองสามเมือง ได้แก่ เยรูซาเล็มใหม่ (ดู อีเธอร์ 13:6–8, 10); เมืองของเอโนคซึ่งจะ “ลงมาจากสวรรค์” (อีเธอร์ 13:3; ดู โมเสส 7:62–64 ด้วย); และเยรูซาเล็มในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ (ดู อีเธอร์ 13:11) บอกชั้นเรียนว่าอีเธอร์สอนชาวเจเร็ดว่าแผ่นดินซึ่งพวกเขาอยู่เป็นที่ตั้งของเมืองที่มีความสำคัญมากในอนาคต (ดู อีเธอร์ 13:2–3) เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 13:4–8 ในใจ โดยมองหาชื่อเมืองที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้
-
เมืองเหล่านี้ชื่อว่าอะไรบ้าง (เยรูซาเล็มและเยรูซาเล็มใหม่) อีเธอร์ใช้ชื่อใดสำหรับเยรูซาเล็มในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์และเยรูซาเล็มใหม่ที่จะสร้างขึ้นวันหน้าในทวีปอเมริกา
-
ท่านคิดว่าการมีชีวิตอยู่ในเมืองที่รู้กันทั่วไปว่าเป็น “นครศักดิ์สิทธิ์” จะเป็นอย่างไร
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 13:10–11 ในใจโดยดูว่าผู้คนจะมีคุณสมบัติคู่ควรอยู่ในนครศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ได้อย่างไร
-
ผู้คนจะมีคุณสมบัติคู่ควรอยู่ในเมืองเหล่านี้ได้อย่างไร (โดยทำให้อาภรณ์ของพวกเขา “ขาวโดยทางพระโลหิตของพระเมษโปดก”)
-
การทำให้อาภรณ์ของพวกเขา “ขาวโดยทางพระโลหิตของพระเมษโปดก” หมายความว่าอย่างไร (หมายความว่าผู้คนกลายเป็นคนสะอาดและได้รับการทำให้บริสุทธิ์จากบาปผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า; ดู 1 นีไฟ 12:11; แอลมา 5:21)
อธิบายว่าอีกชื่อหนึ่งสำหรับเยรูซาเล็มใหม่คือ ไซอัน (ดู โมเสส 7:62; หลักแห่งความเชื่อ 1:10) แม้เยรูซาเล็มใหม่และนครเยรูซาเล็มจะได้รับการสถาปนาในอนาคต แต่สมาชิกทุกคนของศาสนจักรเวลานี้สามารถสร้างไซอันได้ทุกแห่งที่พวกเขาอยู่ (ดู คพ. 6:6; 14:6) ในความหมายพื้นฐานที่สุด ไซอันคือ “ผู้มีใจบริสุทธิ์” (คพ. 97:21) แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“ไซอันคือไซอันเพราะอุปนิสัย คุณลักษณะ และความซื่อสัตย์ของพลเมือง [ดู โมเสส 7:18] พึงระลึกว่า ‘พระเจ้าทรงเรียกผู้คนของพระองค์ว่าไซอัน, เพราะพวกเขามีจิตใจเดียวและความคิดเดียว, และดำรงอยู่ในความชอบธรรม; และไม่มีคนจนในบรรดาพวกเขา’ (โมเสส 7:18) ถ้าเราจะสถาปนาไซอันในบ้าน สาขา วอร์ด และสเตค เราต้องลุกขึ้นมารับมาตรฐานนี้ซึ่งจำเป็นต่อการ (1) เป็นเอกภาพในใจเดียวและความคิดเดียว (2) เป็นคนบริสุทธิ์ทั้งโดยส่วนตัวและโดยรวม และ (3) ดูแลคนยากไร้และคนขัดสน” (“มาสู่ไซอัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 47–48)
ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองครู่หนึ่งว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยสร้างมาตรฐานให้สูงขึ้นในบ้านและในสาขาหรือวอร์ดของพวกเขา ท่านอาจต้องการให้เวลาพวกเขาเขียนความคิดลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์
อีเธอร์ 13:13–15:34
ชาวเจเร็ดปฏิเสธคำเตือนของศาสดาพยากรณ์อีเธอร์ พวกเขาดึงดันอยู่ในความชั่วร้ายและสงครามจนกระทั่งถูกทำลาย
สรุป อีเธอร์ 13:13–14 โดยอธิบายว่าชาวเจเร็ดปฏิเสธอีเธอร์และขับไล่ท่านไปจากพวกเขา ในช่วงกลางวันอีเธอร์ซ่อนตัวอยู่ใน “ซอกหิน” ท่านจบบันทึกของชาวเจเร็ดที่นี่ ตอนกลางคืนท่านออกไปดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดกับชาวเจเร็ดผู้คนของท่าน แล้วเขียนสิ่งที่เห็น
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 13:15–19 ในใจโดยมองหาคำบรรยายเกี่ยวกับสังคมชาวเจเร็ด หลังจากอ่านแล้วให้พวกเขาบรรยายสังคมชาวเจเร็ดด้วยคำพูดของพวกเขาเอง จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 13:20–22 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาข่าวสารที่พระเจ้าทรงบัญชาอีเธอร์ให้บอกโคริแอนทะเมอร์
-
อะไรคือข่าวสารของอีเธอร์ถึงโคริแอนทะเมอร์ (ถ้าโคริแอนทะเมอร์กับครัวเรือนของเขาจะกลับใจ พระเจ้าจะทรงละเว้นผู้คนและยอมให้โคริแอนทะเมอร์ได้อาณาจักรคืน ถ้าพวกเขาไม่กลับใจ ทุกคนในอาณาจักรยกเว้นโคริแอนทะเมอร์จะถูกทำลาย)
-
โคริแอนทะเมอร์กับผู้คนของเขาตอบสนองอย่างไร
สรุป อีเธอร์ 13:23–14:20 โดยอธิบายว่าสงครามดำเนินต่อไปในแผ่นดิน ชายสามคนที่ดำรงตำแหน่งต่อจากกัน—เชเร็ด กิลิแอด และลิบ—พยายามชิงอาณาจักรจากโคริแอนทะเมอร์ ในที่สุด การมั่วสุมลับมีอำนาจมากขึ้น และทั้งประชาชาติถูกกลืนหายไปในสงคราม “ผู้คนทั้งปวงบนผืนแผ่นดินกำลังหลั่งเลือดกัน, และไม่มีผู้ใดยับยั้งพวกเขา” (อีเธอร์ 13:31) ศัตรูคนสุดท้ายของโคริแอนทะเมอร์คือชายชื่อชิซ
ขอให้นักเรียนอ่าน อีเธอร์ 14:21–25, 30–31 และ 15:1–2 ในใจโดยมองหาขอบเขตความพินาศอันเกิดจากสงคราม จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 15:3–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยดูว่าโคริแอนทะเมอร์พยายามทำอะไรเพื่อไว้ชีวิตคนที่เหลือจากการทำลายล้าง
-
โคริแอนทะเมอร์ทำอะไร (เขาเสนอจะยกอาณาจักรให้ชิซ)
-
ชิซตอบสนองต่อข้อเสนอของโคริแอนทะเมอร์อย่างไร (เขากล่าวว่าเขาจะละเว้นผู้คนถ้ายอมให้เขาฆ่าโคริแอนทะเมอร์ ดู อีเธอร์ 14:24 ด้วย)
สรุป อีเธอร์ 15:6–11 โดยอธิบายว่าผู้คนของโคริแอนทะเมอร์และผู้คนของชิซยังคงรบกันอย่างต่อเนื่อง ท่านอาจต้องการอธิบายเช่นกันว่าการรบครั้งนี้ ซึ่งทำให้ประชาชาติชาวเจเร็ดถูกทำลาย เกิดขึ้นใกล้เนินเขาที่เรียกว่าเรมาห์ หลายร้อยปีต่อมา อารยธรรมชาวนีไฟถูกทำลายในการรบใกล้เนินเขาเดียวกัน ซึ่งต่อจากนั้นเรียกว่าคาโมราห์ (ดู อีเธอร์ 15:11; มอรมอน 6:6)
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 15:12–17 ในใจ ก่อนอ่านขอให้พวกเขามองหารายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ของชาวเจเร็ดและระบุสิ่งหนึ่งในเรื่องนี้ที่น่าเศร้าใจเป็นพิเศษ เมื่อพวกเขามีเวลาอ่านแล้ว ขอให้นักเรียนหลายๆ คนรายงานสิ่งที่ระบุ
เตือนนักเรียนว่าอีเธอร์ใช้เวลาหลายปีเตือนผู้คนให้กลับใจ (ดู อีเธอร์ 12:2–3; 13:20) เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ถ้าเราปฏิเสธพระดำรัสเตือนของพระเจ้าให้กลับใจ …
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 15:18–19 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยระบุวิธีเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน หลังจากนักเรียนแบ่งปันแนวคิดแล้ว ให้เติมข้อความโดยเขียนหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าเราปฏิเสธพระดำรัสเตือนของพระเจ้าให้กลับใจ พระวิญญาณของพระองค์จะทรงถอนไปและซาตานจะมีอำนาจเหนือใจเรา
-
การที่ชาวเจเร็ดไม่ยอมกลับใจแต่เนิ่นๆ ส่งผลต่อความสามารถในการเปลี่ยนแปลงของพวกเขาหลังจากนั้นอย่างไร
สรุป อีเธอร์ 15:20–32 โดยอธิบายว่ากองทัพของโคริแอนทะเมอร์และชิซต่อสู้กันจนเหลือแต่โคริแอนทะเมอร์และชิซ จากนั้นโคริแอนทะเมอร์ก็ฆ่าชิซ ดังอีเธอร์พยากรณ์ไว้ คนทั้งหมดในอาณาจักรเสียชีวิตยกเว้นโคริแอนทะเมอร์ผู้มีชีวิตอยู่เพื่อเห็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง—ผู้คนของเซราเฮ็มลา—ได้แผ่นดินเป็นมรดก (ดู อีเธอร์ 13:21; ออมไน 1:20–22) ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน อีเธอร์ 15:33 เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระดำรัสของพระเจ้าที่อีเธอร์เคยกล่าวไว้เกิดสัมฤทธิผล
ชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของชาวเจเร็ดเป็นตัวอย่างสุดขั้วของสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนเมื่อพวกเขาปฏิเสธพระดำรัสเชื้อเชิญหลายครั้งที่พระผู้เป็นเจ้ารับสั่งให้กลับใจ ถึงแม้นี่เป็นตัวอย่างสุดขั้ว แต่เราสามารถระบุหลักธรรมในเรื่องนี้ซึ่งสามารถช่วยเราได้ อธิบายว่าเช่นเดียวกับชาวเจเร็ด คนมากมายทุกวันนี้ปฏิเสธพระดำรัสเชื้อเชิญที่พระผู้เป็นเจ้ารับสั่งให้กลับใจ ด้วยเหตุนี้จึงสูญเสียพระวิญญาณของพระเจ้า พวกเขามักแก้ต่างให้แก่การไม่ยอมกลับใจของตน อ่านคำแก้ต่างต่อไปนี้ และเชื้อเชิญนักเรียนให้อธิบายว่าพวกเขาจะพูดอะไรกับคนที่พูดแบบนี้ ขณะที่นักเรียนแบ่งปันคำตอบของพวกเขา จงกระตุ้นพวกเขาให้กล่าวถึงหลักธรรมที่ได้เรียนรู้ใน อีเธอร์ 13–15
-
“ฉันรู้ว่าภาพยนตร์ที่ฉันดูไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของศาสนจักร แต่ไม่เห็นจะส่งผลเสียต่อฉันสักนิด”
-
“การดื่มเหล้ากับเพื่อนไม่ดีตรงไหน—เราก็แค่สนุก”
-
“ฉันโกงเพราะทุกคนในชั้นโกงหมด คะแนนจะดีไม่ได้ถ้าฉันไม่โกง”
-
“ก็แค่ดูภาพโป๊นิดหน่อย ไม่ได้ออกไปทำผิดศีลธรรมสักหน่อย อีกอย่างฉันจะเลิกเมื่อไรก็ได้ที่รู้สึกอยากเลิก”
-
“ฉันไม่ต้องกลับใจตอนนี้หรอก ไว้รอจนกว่าจะเป็นผู้สอนศาสนาหรือแต่งงานในพระวิหารค่อยกลับใจ”
นักเรียนพึงเข้าใจว่าเมื่อผู้คนทำบาปและไม่กลับใจ พวกเขามักประสบผลของบาปเหล่านี้ ยืนยันกับนักเรียนว่าถ้าพวกเขาทำบาป พวกเขาสามารถกลับใจจากบาปและพระวิญญาณของพระเจ้าจะกลับเข้ามาในชีวิตของพวกเขาอีกครั้ง อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถและทรงประสงค์จะให้อภัยบาปของเรา นอกจากบาปของคนไม่กี่คนผู้เลือกความหายนะหลังจากรู้ความสมบูรณ์แล้ว ไม่มีบาปใดให้อภัยไม่ได้ นับเป็นสิทธิพิเศษอันน่าพิศวงยิ่งที่เราแต่ละคนสามารถหันหลังให้บาปและมาหาพระคริสต์ การให้อภัยจากสวรรค์เป็นผลอันน่าชื่นใจที่สุดอย่างหนึ่งของพระกิตติคุณโดยลบความรู้สึกผิดและความเจ็บปวดออกจากใจเรา แล้วแทนที่ด้วยปีติและความสงบในมโนธรรม” (ดู “จงกลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, –50)
เชื้อเชิญนักเรียนให้สำรวจบาปในชีวิตพวกเขาที่กำลังขัดขวางการมีความเป็นเพื่อนอันยั่งยืนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ กระตุ้นพวกเขาให้ดึงพลังแห่งการชดใช้มาเปลี่ยนแปลงซึ่งจะช่วยให้พวกเขารักษาความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณและต่อต้านอำนาจของซาตาน
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจอีกหลักธรรมหนึ่งที่สอนใน อีเธอร์ 13–15 ขอให้พวกเขาอ่านข้อต่อไปนี้ในใจ: อีเธอร์ 13:27; 14:24; 15:6, 22, 28 ก่อนอ่าน ขอให้พวกเขามองหาคำและวลีที่เน้นความรู้สึกโกรธและความปรารถนาจะแก้แค้นของชาวเจเร็ด ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำและวลีเหล่านี้
-
จากที่ท่านศึกษา อีเธอร์ 13–15 อะไรเป็นผลจากความโกรธและความปรารถนาจะแก้แค้นของชาวเจเร็ด
-
เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างเกี่ยวกับความโกรธและการแก้แค้นจากประวัติศาสตร์ช่วงสุดท้ายของชาวเจเร็ด (นักเรียนอาจจะแบ่งปันหลักธรรมต่างกันสองสามข้อ คำตอบของพวกเขาพึงสะท้อนว่า ความโกรธและความแค้นชักนำผู้คนให้เลือกทำร้ายตนเองและผู้อื่น
-
ความโกรธส่งผลอะไรบ้างต่อบุคคลหรือครอบครัว
เป็นพยานว่าเราสามารถเอาชนะความรู้สึกโกรธและความปรารถนาจะแก้แค้นได้เมื่อเราหันไปพึ่งพระเยซูคริสต์และรับการให้อภัยและการปลอบโยนผ่านการชดใช้ของพระองค์ กระตุ้นนักเรียนให้หันไปหาพระเจ้าในการสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือที่ต้องการถ้าพวกเขารู้สึกโกรธอีกคนหนึ่ง
การทบทวนอีเธอร์
ใช้เวลาบางส่วนช่วยนักเรียนทบทวนหนังสือของอีเธอร์ ขอให้พวกเขาตรึกตรองว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรจากหนังสือนี้ทั้งในเซมินารีและในการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว หากจำเป็นให้เชิญพวกเขาทบทวนสรุปบทบางตอนในอีเธอร์เพื่อช่วยให้พวกเขาจำได้ หลังจากให้เวลาพอแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันบางสิ่งจากอีเธอร์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาหรือได้ช่วยให้พวกเขามีศรัทธาในพระเยซูคริสต์มากขึ้น