คลังค้นคว้า
บทที่ 107: ฮีลามัน 3–4


บทที่ 107

ฮีลามัน 3–4

บทนำ

ระหว่างช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของพระคัมภีร์มอรมอนนี้ ชาวนีไฟมีช่วงเวลาของความสงบสุขแต่ก็ประสบกับช่วงเวลาของความขัดแย้งเช่นกัน ชาวนีไฟหลายหมื่นคนเข้าร่วมศาสนจักรในช่วงที่มีความสงบสุข หลังจากช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองมาก ความจองหองเริ่มเข้าสู่ใจของผู้คน อย่างไรก็ตาม สมาชิกที่อ่อนน้อมของศาสนจักรและเติบโตด้วยศรัทธาของพวกเขามีจำนวนมากขึ้น ถึงแม้จะถูกข่มเหงจากผู้ที่จองหอง เพราะความชั่วร้ายมีอยู่มากมายท่ามกลางชาวนีไฟ พวกเขาจึงสูญเสียแผ่นดินทางตอนใต้ทั้งหมดให้แก่ชาวเลมัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ฮีลามัน 3

ชาวนีไฟหลายคนอพยพไปทางตอนเหนือ ขณะที่ศาสนจักรรุ่งเรืองท่ามกลางความชั่วร้ายและการข่มเหง

เขียนถ้อยคำต่อไปนี้บนกระดาน (ท่านอาจต้องเขียนก่อนชั้นเรียนเริ่ม)

ผู้คนใน … (ชื่อประเทศของท่าน)

ผู้คนใน … (ชื่อเมืองของท่าน)

ผู้คนในวอร์ดหรือสาขาของฉัน

ผู้คนในครอบครัวของฉัน

ตัวฉันเอง

ถามนักเรียนว่า จากผู้คนที่เขียนอยู่บนกระดาน พวกเขารู้สึกว่าควบคุมใครได้ จากนั้นขอให้พวกเขายกมือถ้าพวกเขาเคยรู้สึกท้อแท้เพราะการกระทำของผู้อื่น ให้พวกเขายกมือต่อไปถ้าพวกเขาเคยท้อแท้เมื่อเร็วๆ นี้เพราะการกระทำอันไม่ชอบธรรมของผู้อื่น อธิบายว่าขณะที่พวกเขาศึกษา ฮีลามัน 3 พวกเขาจะพบแนวคิดที่ว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเมื่อคนที่อยู่รอบข้างพวกเขาไม่ได้ดำเนินชิวิตตามพระกิตติคุณ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งให้อ่านออกเสียง ฮีลามัน 3:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม มองหาว่าวลี “ไม่มีความขัดแย้ง” จากข้อความที่อ่าน เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ฮีลามัน 3:3, 19 ในใจ ระบุคำหรือวลีที่บอกว่าสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรท่ามกลางชาวนีไฟ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดชาวนีไฟจึงเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจากช่วงเวลาที่ไม่มีความขัดแย้งไปสู่ช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งมาก

สรุป ฮีลามัน 3:3–16 โดยอธิบายว่าช่วงเวลาของความขัดแย้งนี้ ชาวนีไฟจำนวนมากอพยพไปทางเหนือ

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีลามัน 3:20 ขอให้ชั้นเรียนระบุว่าฮีลามันเป็นอย่างไรในช่วงเวลาของความขัดแย้งนี้

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับแบบอย่างของฮีลามันในช่วงเวลาของความขัดแย้งนี้ (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจแนะนำให้พวกเขาทำเครื่องหมายที่คำว่า ตลอดเวลา ใน ฮีลามัน 3:20)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ฮีลามัน 3:22–26 ในใจและระบุว่าสถานการณ์ท่ามกลางชาวนีไฟเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

  • อะไรเป็นสาเหตุให้ผู้นำศาสนจักรแปลกใจ

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับอิทธิพลแฝงที่ศาสนจักรมีต่อผู้คน

เตือนนักเรียนว่าขณะที่มอรมอนเตรียมบันทึกพระคัมภีร์มอรมอน บางครั้งเขาชี้ให้เห็น บทเรียน ที่เขาต้องการให้ผู้อ่านเรียนรู้จากเรื่องราวบางอย่าง ในกรณีของ ฮีลามัน 3 เข้าใช้วลีที่ว่า “ดังนั้นเราจึงเห็นว่า,” “ดังนั้นเราเห็นว่า” และ “เราเห็นว่า” เพื่อแนะนำบทเรียนของเขา เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ฮีลามัน 3:27–30 ในใจและระบุว่าบทเรียนใดที่มอรมอนต้องการให้เราเรียนรู้ หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ ถามว่า

  • มอรมอนต้องการให้เรารู้สิ่งใดเกี่ยวกับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองวิธีที่การศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาจะช่วยให้พวกเขาได้รับพรดังที่สัญญาไว้ใน ฮีลามัน 3:29 อาจเรียกให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา

อธิบายว่า ฮีลามัน 3 ที่เหลือเป็นการเล่าเรื่องหลังจากเวลาแห่งความรุ่งเรืองยิ่ง ความจองหองแพร่กระจายท่ามกลางชาวนีไฟ สมาชิกที่อ่อนน้อมถ่อมตนจำนวนมากของศาสนจักรประสบกับการข่มเหงจากสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ ที่มีความจองหองในใจ อ่านออกเสียงสถานการณ์ต่อไปนี้ ขอให้นักเรียนไตร่ตรองเมื่อพวกเขาเห็นหรือประสบกับสถานการณ์ที่คล้ายกัน

  1. เยาวชนหญิงคนหนึ่งล้อเลียนเด็กสาวคนหนึ่งในวอร์ดของเธอ

  2. เยาวชนชายคนหนึ่งล้อเลียนสมาชิกในโควรัมของเขาที่กระตือรือร้นตอบคำถามในชั้นเรียนหรืออาสาสมัครทำหน้าที่ฐานะปุโรหิต

  3. เยาวชนชายกลุ่มหนึ่งในวอร์ดตัดเยาวชนชายคนหนึ่งจากการสนทนาและกิจกรรมนอกโบสถ์

  4. เยาวชนหญิงกลุ่มหนึ่งแสดงความคิดเห็นที่ทำร้ายความรู้สึกเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่เยาวชนหญิงคนอื่นสวมใส่

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีลามัน 3:33–34 ขอให้ชั้นเรียนบอกความเหมือนกันระหว่างสถานการณ์ของชาวนีไฟกับสถานการณ์ที่อธิบายไว้ข้างต้น หลังจากให้เวลานักเรียนตอบ ถามคำถามต่อไปนี้

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่าการที่สมาชิกศาสนจักรข่มเหงสมาชิกศาสนจักรด้วยกันจึงเรียกว่า “ความชั่วมหันต์” ในบรรดาชาวนีไฟ

  • หลักธรรมพระกิตติคุณข้อใดที่เราละเมิดเมื่อเราปฏิบัติไม่ดีหรือไร้เมตตาต่อสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ เราจะเสริมสร้างความรักที่เรามีต่อเพื่อนวิสุทธิชนได้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ฮีลามัน 3:35 ในใจและระบุว่าชาวนีไฟมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างไรในการตอบสนองต่อการถูกข่มเหง

  • ศรัทธาของผู้คนที่ถูกข่มเห่งเพิ่มขึ้น ลดลง หรือยังคงอยู่เหมือนเดิม

  • ผู้คนที่ถูกข่มเหงกระทำสิ่งใดที่เอื้อต่อการเพิ่มพูนศรัทธาของตนเอง (พวกเขาอดอาหารและสวดอ้อนวอนบ่อยครั้ง พยายามอ่อนน้อมถ่อมตน และถวายใจแด่พระผู้เป็นเจ้า)

  • นอกจากศรัทธาที่เพิ่มขึ้น การกระทำอันนอบน้อมของชาวนีไฟนำไปสู่สิ่งใดอีกบ้าง (ปีติ การปลอบประโลม การชำระให้บริสุทธิ์และทำให้ใจพวกเขาบริสุทธิ์)

เขียนสิ่งต่อไปนี้บนกระดาน ขณะที่เรา … ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์จะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะมีการข่มเหงหรือการทดลองอย่างไร ขอให้นักเรียนเติมประโยคนี้ให้เต็มจากสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากฮีลามัน 3:33–35 ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนให้แบ่งปันว่าพวกเขาเติมประโยคนี้ให้เต็มอย่างไร ถึงแม้คำตอบของนักเรียนอาจหลากหลาย แต่ขอให้แน่ใจว่าพวกเขาพูดความจริงต่อไปนี้ ขณะที่เราพยายามดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์จะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะมีการข่มเหงหรือการทดลองอย่างไร เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจคำสอนในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ให้ลึกซึ้งขึ้น ท่านอาจต้องการถามคำถามต่อไปนี้

  • การสวดอ้อนวอนและการอดอาหารช่วยท่านในช่วงเวลาของการข่มเหงหรือการทดลองอย่างไร

  • ท่านคิดว่าการถวายใจแด่พระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร

  • เหตุใดการถวายใจแด่พระผู้เป็นเจ้าจึงจำเป็นต่อการเพิ่มศรัทธาของท่านในช่วงเวลาของการข่มเหงหรือการทดลอง

ถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยรู้สึกว่าศรัทธาของพวกเขาเพิ่มขึ้นหรือไม่ขณะที่พวกเขาตอบสนองต่อการข่มเหงอย่างชอบธรรม เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา ท่านอาจต้องการเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเช่นกัน

เพื่อเตรียมนักเรียนให้ศึกษา ฮีลามัน 4 เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน ฮีลามัน 3:36 ในใจ ขอให้พวกเขาระบุถึงสถานะทั่วไปของชาวนีไฟ (ชาวนีไฟจองหองมากขึ้น ทั้งๆ ที่มีแบบอย่างของผู้ติดตามที่อ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระคริสต์)

ฮีลามัน 4

เพราะความชั่วร้าย พระวิญญาณของพระเจ้าจึงถอนไปจากชาวนีไฟ และชาวเลมันยึดแผ่นดินทางตอนใต้ทั้งหมดของชาวนีไฟ

อธิบายว่า ฮีลามัน 4:4–8 เล่าเรื่องราวการสู้รบที่ชาวนีไฟต่อสู้กับชาวเลมันและชาวนีไฟผู้แตกแยก เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียงข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ขอให้ชั้นเรียนดูตาม ระบุว่าแผ่นดินนีไฟแห่งใดที่ถูกยึดไปในช่วงการสู้รบครั้งนี้

เขียนคำแนะนำต่อไปนี้บนกระดาน (ท่านอาจเขียนก่อนชั้นเรียนเริ่ม) เชื้อเชิญให้นักเรียนลอกข้อความนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

เขียนข้อความสามประโยคที่บอกถึงเจตคติและการกระทำของชาวนีไฟ

เขียนข้อความสามประโยคที่บอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะการกระทำเหล่านี้

แบ่งนักเรียนเป็นคู่ ขอให้แต่ละคู่อ่าน ฮีลามัน 4:11–13, 23–26 ด้วยกัน มองหาและจดวลีสำคัญๆ ตามคำแนะนำบนกระดาน

เชื้อเชิญให้สองสามคู่มารายงานคำตอบ ขณะที่นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน ท่านอาจแนะนำให้พวกเขาทำเครื่องหมายที่วลีต่อไปนี้ในพระคัมภีร์ “ถูกทิ้งให้อยู่กับกำลังของตนเอง” (ฮีลามัน 4:13) “ตนกลับอ่อนแอ” (ฮีลามัน 4:24) และ “ดังนั้นพวกเขากลับอ่อนแอ” (ฮีลามัน 4:26)

ถามนักเรียนว่าพวกเขาสามารถระบุหลักธรรมใดจากการศึกษา ฮีลามัน 4 ช่วยพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ความจองหองและความชั่วร้ายแยกเราจากพระวิญญาณของพระเจ้าและทิ้งให้เราอยู่กับกำลังของตนเอง ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน ท่านอาจแนะนำให้นักเรียนเขียนข้อความนี้ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ ฮีลามัน 4:23–24

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ เชื้อเชิญนักเรียนหนึ่งคนออกมาหน้าชั้นเรียน ขอให้เขาสมมุติว่าเขาถูกเกณฑ์ไปต่อสู้ตามลำพังในการสู้รบกับชาวเลมัน ถามนักเรียนว่าเขามีโอกาสมากเพียงไรที่จะต่อสู้กับกองทัพที่มีจำนวนมาก ขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งออกมาหน้าห้องและยืนข้างนักเรียนคนแรก ถามนักเรียนคนแรกว่าการมีความช่วยเหลือจากนักเรียนคนที่สองจะเพิ่มโอกาสให้เขาได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับกองทัพของศัตรูหรือไม่ (การต่อสู้กับกองทัพที่มีจำนวนมาก เมื่อเพิ่มนักเรียนคนที่สองจะไม่เพิ่มโอกาสอย่างจริงจังที่จะได้รับชัยชนะ) จากนั้นเขียนคำว่า พระเจ้า บนกระดาน ถามนักเรียนคนแรกว่า

  • ท่านคิดว่าโอกาสที่จะชนะการสู้รบจะเป็นอย่างไรถ้ามีพระเจ้าอยู่ข้างท่าน

ถามนักเรียนว่ากิจกรรมนี้เกี่ยวข้องกับหลักธรรมที่ระบุจาก ฮีลามัน 4 อย่างไร ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้

  • ในประสบการณ์ของชาวนีไฟ การถูกทิ้งให้อยู่กับกำลังของตนเองหมายถึงความพ่ายแพ้การสู้รบและสูญเสียแผ่นดิน “การสู้รบ” ใดที่เราจะพ่ายแพ้ถ้าเราไม่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับเรา

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองสิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อรักษาความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิต เชื้อเชิญให้พวกเขาทำสิ่งนั้น แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความสำคัญของพระวิญญาณในชีวิตท่าน

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

ฮีลามัน 3:33–34, 36; 4:12 ผลกระทบของความหยิ่งจองหองต่อศาสนจักร

มอรมอนชี้ให้เห็นว่าความหยิ่งจองหองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักรของพระเจ้าแต่เป็นเพราะความร่ำรวยยิ่ง ความหยิ่งจองหองจึงเริ่มเข้าสู่จิตใจของสมาชิกศาสนจักรบางคน (ดู ฮีลามัน 3:33, 36)

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน สอนว่า

“ลองนึกดูว่าความจองหองทำให้เราสูญเสียอะไรในอดีตและเวลานี้ความจองหองกำลังทำให้เราสูญเสียอะไรในชีวิตเรา ครอบครัวเรา และศาสนจักร

“ลองนึกถึงการกลับใจที่สามารถเกิดขึ้นกับชีวิตที่เปลี่ยนแปลง การแต่งงานที่รักษาไว้ และบ้านที่ได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็ง ถ้าความหยิ่งจองหองไม่กั้นเราจากการสารภาพบาปของเราและละทิ้งบาปเหล่านั้น (ดู คพ. 58:43)

“ลองนึกถึงคนจำนวนมากที่เป็นสมาชิกแข็งขันน้อยของศาสนจักรเพราะพวกเขาถูกทำให้ขุ่นเคืองและความจองหองของพวกเขาไม่ยอมให้พวกเขาให้อภัยหรือมารับประทานมื้อค่ำให้เต็มอิ่มที่โต๊ะเสวยของพระเจ้า

“ลองนึกถึงเยาวชนชายและคู่สามีภรรยาอีกหลายหมื่นคนที่สามารถรับใช้งานเผยแผ่เว้นแต่ความหยิ่งจองหองที่กีดกันไม่ให้พวกเขาถวายใจแด่พระผู้เป็นเจ้า (ดู แอลมา 10:6; ฮีลามัน 3:34–35)

“ลองนึกถึงงานพระวิหารจะเพิ่มขึ้นมากเท่าใดถ้าใช้เวลาในการรับใช้อย่างพระผู้เป็นเจ้าในสิ่งสำคัญมากกว่างานอดิเรกของความจองหองที่ช่วงชิงเวลาของเราไป” (“Beware of Pride,Ensign, May 1989, 6)

พิมพ์