คลังค้นคว้า
บทที่ 142: มอรมอน 9


บทที่ 142

มอรมอน 9

คำนำ

โมโรไนจบบันทึกของบิดาโดยขอร้องคนที่ไม่เชื่อในพระเยซูคริสต์ให้หันมาหาพระเจ้าผ่านการกลับใจ เขาสอนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์ผู้ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงและปาฏิหาริย์ยุติเพียงเพราะความไม่เชื่อ เขากระตุ้นผู้คนให้เชื่อในพระเยซูคริสต์และสวดอ้อนวอนพระบิดาด้วยสุดใจของพวกเขาในพระนามของพระเยซูคริสต์เพื่อให้ได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มอรมอน 9:1–6

โมโรไนวิงวอนผู้ไม่เชื่อในพระเยซูคริสต์ให้กลับใจ

ขอให้นักเรียนนึกถึงสถานการณ์ที่พวกเขารู้สึกไม่สบายใจ เชิญนักเรียนสองสามคนเล่าประสบการณ์นั้นและอธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงรู้สึกไม่สบายใจ ท่านอาจจะถามพวกเขาด้วยว่าอะไรจะทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจขึ้นในสถานการณ์เหล่านั้น

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน มอรมอน 9:1–5 ในใจโดยมองหาสถานการณ์ไม่สบายใจที่โมโรไนพูดถึง (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 12:12–15 และเขียนอ้างอิงข้อนี้ใกล้กับ มอรมอน 9:1–5)

  • ณ การพิพากษาครั้งสุดท้าย คนชั่วร้ายจะรู้สึกอย่างไรในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์ เหตุใดพวกเขาจึงรู้สึกแบบนี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“ไม่สามารถมีความรอดได้หากปราศจากการกลับใจ มนุษย์ไม่สามารถเข้าในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าในบาปของเขา นั่นคงเป็นเรื่องขัดกันอย่างยิ่งที่คนๆ หนึ่งจะมาในที่ประทับของพระบิดาและอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าในบาปของเขา …

“ข้าพเจ้าคิดว่ามีคนมากมายนักบนแผ่นดินโลก อาจจะมากมายหลายคนในศาสนจักร—อย่างน้อยก็บางคนในศาสนจักร—ผู้มีความคิดว่าพวกเขาสามารถผ่านชีวิตนี้ไปได้โดยทำตามที่พวกเขาพอใจ ละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้า และในที่สุดพวกเขาจะยังได้เข้ามาในที่ประทับของพระองค์ พวกเขาคิดว่าพวกเขาจะกลับใจ อาจจะในโลกวิญญาณ

“พวกเขาควรจะอ่านถ้อยคำเหล่านี้ของโมโรไน [อ้างอิง มอรมอน 9:3–5]

“ท่านคิดว่าคนที่ชีวิตเต็มไปด้วยความเสื่อมทราม ผู้เคยกบฏต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้ไม่มีวิญญาณของการกลับใจ จะมีความสุขหรือสบายใจหรือหากเขาได้รับอนุญาตให้เข้ามาในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า?” (Doctrines of Salvation, ed. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 2:195–96; นำตัวเอนในต้นฉบับออก)

  • เหตุใดเราจึงต้องกลับใจจากบาปของเราวันนี้และไม่รอจนถึงการพิพากษา (เพื่อช่วยนักเรียนตอบคำถามนี้ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญพวกเขาให้อ่าน แอลมา 34:33–38)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 9:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่ผู้ไม่เชื่อต้องทำเพื่อพวกเขาจะรู้สึกสบายใจในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ขอให้พวกเขาระบุคำและวลีใน มอรมอน 9:6 ที่พูดถึงคนเหล่านั้นผู้ได้หันมาหาพระเจ้าและสวดอ้อนวอนขอการให้อภัย ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำและวลีที่พวกเขาพบ

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนหลักธรรมหนึ่งข้อลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เพื่อสรุป มอรมอน 9:6 เชิญ นักเรียนสองหรือสามคนอ่านสิ่งที่พวกเขาเขียนไว้ ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่คำตอบของพวกเขาควรแสดงให้เห็นความจริงต่อไปนี้: หากเรากลับใจ เราจะไม่มีมลทินเมื่อเข้ามาสู่ที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า

เป็นพยานว่าโดยผ่านการกลับใจและการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม เราเตรียมสบายใจในที่ประทับของพระเจ้าได้ เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขาควรทำเวลานี้เพื่อพร้อมพบพระเจ้า

มอรมอน 9:7–20

โมโรไนประกาศว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำปาฏิหาริย์และทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของคนซื่อสัตย์

เขียนบนกระดานว่า ปาฏิหาริย์ ถามนักเรียนว่าพวกเขานิยามคำนี้ว่าอย่างไร หลังจากนักเรียนสองสามคนตอบ เชิญชั้นเรียนค้นหาคำว่า ปาฏิหาริย์ ในคู่มือพระคัมภีร์ ขอให้พวกเขาอ่านและหาข้อมูลที่อาจจะขยายความหรือเพิ่มคำนิยามที่พวกเขาเสนอ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดบางคนจึงไม่เชื่อในปาฏิหาริย์

สรุป มอรมอน 9:7–8 โดยอธิบายว่าโมโรไนกล่าวกับผู้คนในวันเวลาสุดท้ายผู้จะอ้างว่าการเปิดเผย การพยากรณ์ ของประทานฝ่ายวิญญาณ และปาฏิหาริย์ไม่เกิดขึ้นอีก

แบ่งนักเรียนเป็นคู่ๆ เชิญคนหนึ่งในคู่อ่าน มอรมอน 9:9–11 ในใจ ส่วนอีกคนหนึ่งอ่าน มอรมอน 9:15–19 ในใจ ขอให้นักเรียนแต่ละคนเขียนประเด็นหลักที่โมโรไนชักชวนผู้คนให้เชื่อในปาฏิหาริย์ เมื่อนักเรียนมีเวลาเขียนมากพอแล้วให้พวกเขารายงานสิ่งที่เขียนกับคู่ของพวกเขา

ด้านซ้ายของกระดานให้เขียนว่า ปาฏิหาริย์ยุติเมื่อเรา …

ด้านขวาของกระดานให้เขียนว่า ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้เมื่อเรา …

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 9:20 และขอให้ชั้นเรียนมองหาเหตุผลที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงยุติการทำปาฏิหาริย์ในบรรดาบุตรธิดาของพระองค์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนเหตุผลเหล่านี้บนกระดานเพื่อเติมข้อความด้านซ้ายของกระดานให้ครบถ้วนดังแสดงไว้ในแผนภูมิต่อไปนี้

ขอให้นักเรียนกล่าวซ้ำแต่ละข้อความเกี่ยวกับสาเหตุที่ปาฏิหาริย์ยุติในลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงสภาพอันทำให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ คำตอบของพวกเขาควรคล้ายกับตัวอย่างด้านขวาของแผนภูมิ

ปาฏิหาริย์ยุติเมื่อเรา …

ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้เมื่อเรา …

เสื่อมโทรมอยู่ในความไม่เชื่อ

เพิ่มพูนศรัทธาของเรา

ออกจากทางที่ถูกต้อง

ดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้อง หรือรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

ไม่รู้จักพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเราควรวางใจพระองค์

มารู้จักและวางใจพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวน มอรมอน 9:9, 19 อย่างรวดเร็วโดยมองหาคำสอนของโมโรไนเกี่ยวกับพระลักษณะของพระผู้เป็นเจ้า หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้ถามดังนี้

  • เนื่องจากเรารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงเปลี่ยนแปลงและพระองค์ทรงกระทำปาฏิหาริย์ในบรรดาบุตรธิดาของพระองค์ในอดีต เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระองค์เต็มพระทัยกระทำปาฏิหาริย์ในชีวิตเราทุกวันนี้ (แม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรบอกหลักธรรมต่อไปนี้: พระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำปาฏิหาริย์เสมอ และเพราะพระองค์ไม่ทรงเปลี่ยนแปลง พระองค์จึงยังทรงทำปาฏิหาริย์ตามศรัทธาของเรา ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดานและเสนอแนะให้นักเรียนเขียนหลักธรรมดังกล่าวใกล้กับ มอรมอน 9:19–20 ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

อธิบายว่าเราสามารถอธิบายเดชานุภาพอันน่าอัศจรรย์ของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเราได้หลายๆ ด้าน เพื่อช่วยนักเรียนพิจารณาด้านต่างๆ ที่พระผู้เป็นเจ้ายังทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากซิสเตอร์ซิดนีย์ เอส. เรย์โนล์ดส์แห่งฝ่ายประธานปฐมวัยสามัญ

“ข้าพเจ้าเรียนรู้ … ว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเราในทุกด้านของชีวิตเมื่อเราพยายามรับใช้และทำตามพระประสงค์ของพระองค์

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเราทุกคนสามารถเป็นพยานถึงสิ่งอัศจรรย์เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เรารู้เรื่องของเด็กที่สวดอ้อนวอนขอให้ช่วยหาของที่หาย และหาพบ เรารู้เรื่องของคนหนุ่มสาวที่รวบรวมความกล้าหาญเพื่อยืนเป็นพยานพระผู้เป็นเจ้าและรู้สึกถึงพระหัตถ์ที่คอยค้ำจุน เรารู้เรื่องของเพื่อนๆ ที่จ่ายส่วนสิบด้วยเงินก้อนสุดท้ายและจากนั้นโดยผ่านสิ่งอัศจรรย์ก็พบว่าตนมีเงินพอจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าเช่า หรือบางครั้งก็มีอาหารสำหรับครอบครัว เราสามารถแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับคำตอบการสวดอ้อนวอนและพรฐานะปุโรหิตที่ให้ความกล้าหาญ นำมาซึ่งการปลอบโยน หรือฟื้นฟูสุขภาพ สิ่งอัศจรรย์ในแต่ละวันเหล่านี้ทำให้เราคุ้นเคยกับพระหัตถ์ของพระเจ้าในชีวิตเรา” (ดู “พระผู้เป็นเจ้าของสิ่งอัศจรรย์,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 16)

  • ท่านเคยมีประสบการณ์อะไรบ้างที่ยืนยันว่าพระผู้เป็นเจ้ายังทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์

มอรมอน 9:21–37

โมโรไนตักเตือนผู้ไม่เชื่อให้เชื่อในพระเยซูคริสต์และสวดอ้อนวอนในพระนามของพระองค์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 9:21 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่โมโรไนสอนเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนพระบิดาบนสวรรค์

  • โมโรไนให้สัญญาอะไร (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราสวดอ้อนวอนในศรัทธาและในพระนามของพระคริสต์ พระบิดาบนสวรรค์ย่อมประทานแก่เราไม่ว่าเราจะทูลขอสิ่งใด)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการสวดอ้อนวอน “ในพระนามของพระคริสต์” หมายความว่าอย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้

“เราสวดอ้อนวอนในพระนามของพระคริสต์เมื่อความคิดของเราเป็นพระดำริของพระคริสต์ และความปรารถนาของเราเป็นความปรารถนาของพระคริสต์—เมื่อพระวจนะของพระองค์อยู่ในเรา (ยอห์น 15:7) เราจึงทูลขอสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าจะประทานให้ได้ คำสวดอ้อนวอนมากมายยังไม่ได้รับตอบเพราะไม่ได้สวดอ้อนวอนในพระนามของพระคริสต์ ไม่แสดงพระดำริของพระองค์ แต่เกิดจากความเห็นแก่ตัวของใจมนุษย์” (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สวดอ้อนวอน (การ), สวดอ้อนวอน (คำ)”)

ท่านอาจต้องการถามคำถามต่อไปนี้

  • เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราสวดอ้อนวอนขอสะท้อนสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการสำหรับเรา

  • ท่านเคยเห็นสัญญาที่ให้ไว้ใน มอรมอน 9:21 เกิดสัมฤทธิผลเมื่อใด (ท่านอาจต้องให้เวลานักเรียนตรึกตรองคำถามนี้ก่อนตอบ)

สรุป มอรมอน 9:22–25 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาพรกับเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์เมื่อพระองค์ทรงส่งพวกเขาออกไปสอนพระกิตติคุณ ขอให้นักเรียนอ่าน มอรมอน 9:22–25 และระบุพรบางประการเหล่านั้น

  • พระผู้ช่วยให้รอดจะทรง “ยืนยันถ้อยคำ [ของพระองค์] ทั้งหมด” ข้อความนี้มีความหมายอะไรต่อท่าน (มอรมอน 9:25)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน มอรมอน 9:27–29 ในใจโดยมองหาเจตคติและการกระทำที่จะช่วยให้พวกเขามีคุณสมบัติคู่ควรได้รับความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจให้นักเรียนเขียนสรุปข้อเหล่านี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

เพื่อจบบทนี้ ให้สรุป มอรมอน 9:30–34 โดยบอกนักเรียนว่าโมโรไนห่วงใยว่าบางคนในวันเวลาสุดท้ายจะปฏิเสธข่าวสารของพระคัมภีร์มอรมอนเนื่องด้วยความบกพร่องของคนเขียนและภาษาที่เขียนในนั้น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 9:35–37 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลที่โมโรไนและคนอื่นๆ สวดอ้อนวอนขอให้พระคัมภีร์มอรมอนออกมาในยุคสุดท้าย (เพื่อชาวเลมันผู้สืบตระกูลของพี่น้องพวกเขาจะกลับคืนสู่ “ความรู้เรื่องพระคริสต์” และพันธสัญญาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำไว้กับเชื้อสายแห่งอิสราเอล)

เพื่อช่วยนักเรียนสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้ ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • พระคัมภีร์มอรมอนเป็นหลักฐานยืนยันอย่างไรว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์และพระองค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอน

  • ทุกวันนี้ท่านเรียนรู้ความจริงอะไรซึ่งจะส่งผลต่อการสวดอ้อนวอนส่วนตัวของท่าน

การทบทวนมอรมอน

ใช้เวลาบางส่วนช่วยนักเรียนทบทวนหนังสือของมอรมอน ขอให้พวกเขาตรึกตรองสิ่งที่เรียนรู้จากหนังสือนี้ทั้งในเซมินารีและในการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว เชื้อเชิญพวกเขาให้ทบทวนสรุปบทบางบทในมอรมอนพอสังเขปเพื่อช่วยให้พวกเขาจำได้ ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันบางสิ่งจากมอร-มอนที่เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาหรือได้ช่วยให้พวกเขามีศรัทธามากขึ้นในพระเยซูคริสต์

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

มอรมอน 9:9–10 “พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นเหมือนกันทั้งวันวาน, วันนี้, และตลอดกาล”

โมโรไนประกาศว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงเปลี่ยนแปลง พระองค์ทรงเป็น “เหมือนกันทั้งวันวาน, วันนี้, และตลอดกาล” (มอรมอน 9:9) ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:11–12 การออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนพิสูจน์ว่าพระผู้เป็นเจ้ายังทรง “ดลใจมนุษย์และเรียกพวกเขามาสู่งานอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” ในสมัยของเราเช่นที่พระองค์ทรงทำในอดีต “แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดิมทั้งวันวาน, วันนี้, และตลอดกาล”

Lectures on Faith กล่าวว่าเพื่อให้มีศรัทธาอันสมบูรณ์ในพระผู้เป็นเจ้า เราต้องมี “แนวคิด ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับพระอุปนิสัย ความดีพร้อม และพระคุณลักษณะ [ของพระผู้เป็นเจ้า]” (Lectures on Faith [1985], 38) ลักษณะพิเศษประการหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าคือ “[พระผู้เป็นเจ้า] ไม่ทรงเปลี่ยนแปลง ทั้งไม่มีความผันแปรกับพระองค์ แต่พระองค์ทรงเป็นเหมือนเดิมตั้งแต่ความเป็นนิจถึงความเป็นนิจ เป็นเหมือนเดิมทั้งวันวาน วันนี้ และตลอดกาล วิถีของพระองค์เป็นรอบนิรันดร์เดียว ปราศจากความผันแปร” (Lectures on Faith, 41)

พิจารณาพรของการรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้ายังทรงงานศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ในสมัยของเราและจะยังทรงเป็นเหมือนเดิมทั้งวันวาน วันนี้ และตลอดกาล

มอรมอน 9:10–26 ปาฏิหาริย์

โมโรไนให้หลักฐานมากมายที่เป็นพยานถึงปาฏิหาริย์ของพระผู้เป็นเจ้า—การสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก การสร้างมนุษย์ ปาฏิหาริย์ที่พระเยซูและอัครสาวกกระทำ (ดู มอรมอน 9:17–18) “พระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์” ตามที่โมโรไนเรียกยังคงพบได้ในทุกวันนี้ เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าปาฏิหาริย์มากมายเกิดขึ้นในสมัยของเราและมีอยู่ในศาสนจักรแท้จริงของพระเยซูคริสต์

“ปาฏิหาริย์มากมายเกิดขึ้นทุกวันในงานของศาสนจักรและในชีวิตสมาชิกของเรา พวกท่านหลายคนเห็นปาฏิหาริย์มาแล้ว อาจจะมากกว่าที่ท่านรับรู้

“ปาฏิหาริย์มีนิยามว่าเป็น ‘เหตุการณ์ที่เอื้อประโยชน์ เกิดขึ้นผ่านเดชานุภาพจากเบื้องบน มนุษย์ไม่เข้าใจและพวกเขาไม่อาจลอกเลียนได้’ [ใน Daniel H. Ludlow, ed., Encyclopedia of Mormonism, 5 vols. (1992), 2:908.] คนไม่มีศาสนาส่วนใหญ่และแม้คนมีศาสนาบางคนก็ยังปฏิเสธแนวคิดที่ว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นผ่านเดชานุภาพจากเบื้องบน …

“… ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นโดยอำนาจของฐานะปุโรหิตมีอยู่เสมอในศาสนจักรแท้จริงของพระเยซูคริสต์ [ดู George Q. Cannon, Gospel Truth (1987), sel. Jerreld L. Newquist, 151–52] พระคัมภีร์มอรมอนสอนว่า ‘พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดหาวิธีไว้เพื่อมนุษย์, โดยผ่านศรัทธา, จะได้ทำปาฏิหาริย์น่าแปลกประหลาด’ (โมไซยาห์ 8:18) ‘วิธี’ ที่จัดหาไว้คืออำนาจฐานะปุโรหิต (ดู ยากอบ 5:14–15; คพ. 42:43–48) และอำนาจนั้นทำปาฏิหาริย์ผ่านศรัทธา (ดู อีเธอร์ 12:12; โมโรไน 7:37)” (“Miracles,Ensign, June 2001, 6, 8)

มอรมอน 9:32–34 โมโรไนเขียนเป็นภาษาอียิปต์ปฏิรูป

โมโรไนกล่าวว่าเขามีความสามารถในการเขียนอย่างน้อยสองภาษา: ภาษาฮีบรูและภาษาอียิปต์ปฏิรูป เขากล่าวว่าหาก “แผ่นจารึกใหญ่พอ” เขาจะเขียนเป็นภาษาฮีบรู แต่คนจดบันทึกใช้ “ภาษาอียิปต์ปฏิรูป” เนื่องด้วยที่ว่างไม่พอ (มอรมอน 9:32–33) ก่อนหน้านี้ในพระคัมภีร์มอรมอน ทั้งนีไฟและกษัตริย์เบ็นจามินยอมรับการใช้ภาษาอียิปต์ของพวกเขา นีไฟกล่าวว่าเขาเขียนใน “ภาษาของชาวอียิปต์” เมื่อเขาจารึกบนแผ่นจารึกเล็ก (1 นีไฟ 1:2) เมื่อพูดกับบุตรชายเกี่ยวกับความสำคัญของแผ่นจารึกทองเหลือง กษัตริย์เบ็นจามินกล่าวว่าลีไฮอ่านบันทึกได้เพราะเขา “ได้รับการสอนมาในภาษาของชาวอียิปต์” (โมไซยาห์ 1:4) ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าใจว่าลีไฮสอนทั้งพระกิตติคุณและภาษาอียิปต์ “ให้ลูกๆ ของท่าน, เพื่อโดยการนั้นพวกเขาจะสอนให้ลูกๆ ของตนได้” (โมไซยาห์ 1:4) ประจักษ์ชัดว่ารูปแบบนี้ดำเนินต่อไปในบรรดาผู้จัดเก็บบันทึกหลายรุ่นต่อจากนั้นจนกระทั่งโมโรไนเรียนรู้ภาษาจากบิดาของเขา อย่างไรก็ดี โมโรไนยอมรับว่าเขาเขียนใน “ภาษาอียิปต์ปฏิรูป” ที่ “สืบทอดกันมาและ … เปลี่ยนแปลงตามวิธีพูด [ของพวกเขา]” (มอรมอน 9:32) โดยบ่งบอกว่าการปรับเปลี่ยนบางอย่างในการใช้ภาษาเกิดขึ้นตลอดพันปีตั้งแต่สมัยของลีไฮ นี่จะอธิบายได้ว่าเหตุใดโมโรไนจึงจบด้วยความคิดเห็นว่า “ไม่มีผู้คนอื่นใดรู้ภาษาของเรา” แต่พระผู้เป็นเจ้าทรง “เตรียมทางเพื่อ” การตีความและการแปลบันทึก (มอรมอน 9:34) ภาษาอียิปต์ใช้ทั่วไปในสมัยของลีไฮ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกพ่อค้าที่เดินทางไปทั่วแคว้นรอบเยรูซาเล็ม มีคนกล่าวว่าถ้าอาชีพของลีไฮทำให้เขาต้องเดินทางทั่วแคว้น เขาคงจะให้บุตรชายเรียนภาษาของชาวอียิปต์เพื่อสนับสนุนอาชีพของครอบครัว