คลังค้นคว้า
บทที่ 50: เจรอมและออมไน


บทที่ 50

เจรอมและออมไน

คำนำ

หนังสือของเจรอมและออมไนประกอบด้วยงานเขียนสุดท้ายในแผ่นจารึกเล็กของนีไฟ เจรอมได้รับแผ่นจารึกจากอีนัสผู้เป็นบิดา เขาบันทึกการต่อสู้ดิ้นรนและพรของชาวนีไฟตลอดช่วงเวลาประมาณ 60 ปี จากนั้นเขาส่งต่อแผ่นจารึกให้ออมไนบุตรชาย หนังสือของออมไนมีงานเขียนของผู้รักษาบันทึกชาวนีไฟห้าคนและครอบคลุมช่วงเวลาประมาณ 230 ปี อแมลิไคผู้เขียนหนังสือของออมไนคนสุดท้ายสรุปบันทึกของเขาด้วยการเชิญชวนให้ “มาหาพระคริสต์ … และถวายทั้งจิตวิญญาณของท่านเป็นเครื่องบูชาแด่พระองค์” (ออมไน 1:26)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

เจรอม 1:1–15

เจรอมบรรยายว่าชาวนีไฟรุ่งเรืองอย่างไรเมื่อพวกเขารักษาพระบัญญัติของพระเจ้า

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ให้แสดงภาพของประธานอุคท์ดอร์ฟขณะที่ท่านอ่าน

“ข้าพเจ้าจำได้เมื่อกำลังเตรียมตัวรับการฝึกเป็นนักบินประจัญบาน เราใช้เวลาส่วนใหญ่ของการฝึกทหารขั้นต้นไปกับการออกกำลังกาย ข้าพเจ้ายังไม่แน่ใจว่าทำไมการวิ่งไม่หยุดจึงถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเตรียมเป็นนักบิน กระนั้น เราก็วิ่งและวิ่งและวิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ขณะกำลังวิ่งข้าพเจ้าเริ่มสังเกตเห็นบางอย่างที่พูดตามตรงคือทำให้ข้าพเจ้าไม่สบายใจ คนสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และทำทุกอย่างขัดกับพระกิตติคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระคำแห่งปัญญากำลังวิ่งผ่านข้าพเจ้าไปคนแล้วคนเล่า

“ข้าพเจ้าจำได้ว่าตนเองคิดว่า ‘เดี๋ยวก่อน! ผมควรจะวิ่งและไม่เหนื่อยไม่ใช่หรือ’ แต่ข้าพเจ้า เหนื่อย และถูกคนที่ไม่ทำตามพระคำแห่งปัญญาวิ่งแซงหน้าไป ข้าพเจ้าสารภาพว่า ตอนนั้นเรื่องนี้ทำให้ข้าพเจ้าไม่สบายใจเลย ข้าพเจ้าถามตนเองว่าคำสัญญานี้จริงหรือ” (ดู “จงอดทนต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, หน้า 72)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองว่าพวกเขารู้สึกไม่สบายใจในทำนองเดียวกันหรือไม่ พลางสงสัยว่าพระเจ้าจะทรงทำตามสัญญาของพระองค์ว่าจะประทานพรแก่พวกเขาสำหรับการรักษาพระบัญญัติหรือไม่อย่างไร

เขียนคำว่า พิสูจน์ บนกระดาน และขอให้นักเรียนอธิบายว่าคำนี้หมายถึงอะไร (ยืนยันหรือตรวจสอบดูว่าบางอย่างถูกต้อง) อธิบายว่าเจรอมผู้เป็นบุตรของอีนัสใช้คำว่า พิสูจน์ ขณะเขียนเกี่ยวกับสัญญาที่ประทานแก่บรรพชนของเขา ขอให้นักเรียนอ่าน เจรอม 1:9 ในใจโดยระบุสัญญาของพระเจ้าที่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำสัญญานี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา) ยืนยันว่านักเรียนได้ระบุคำกล่าวนี้ “ตราบเท่าที่พวกเจ้าจะรักษาบัญญัติของเรา พวกเจ้าจะรุ่งเรืองในแผ่นดิน”

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงและคำถามต่อไปนี้บนกระดาน (เพื่อประหยัดเวลาท่านอาจต้องการเขียนไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนเริ่ม)

เจรอม 1:4–5, 8

มีตัวอย่างอะไรบ้างที่แสดงให้เห็นว่าชาวนีไฟเชื่อฟังอย่างไรและพวกเขาได้รับพรอย่างไร

เจรอม 1:7, 10–12

ผู้นำและศาสดาพยากรณ์ช่วยให้ชาวนีไฟเชื่อฟังและรุ่งเรืองอย่างไร

ออมไน 1:5–7

คำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าได้รับการพิสูจน์ภายหลังว่าเป็นความจริงในวิธีที่ต่างออกไปอย่างไร

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสามคน มอบหมายพระคัมภีร์อ้างอิงบนกระดานให้นักเรียนแต่ละกลุ่มคนละหนึ่งข้อ ให้นักเรียนอ่านข้อพระคัมภีร์ที่มอบหมายในใจโดยมองหาคำตอบของคำถามที่สอดคล้องกัน จากนั้นให้เวลาแต่ละคนในกลุ่มหนึ่งหรือสองนาทีเพื่อสรุปสิ่งที่นักเรียนอ่านและตอบคำถามที่มอบหมาย เชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนสรุปความจริงที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการศึกษาให้ชั้นเรียนฟังและสนทนาข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ขณะที่นักเรียนให้คำตอบ พวกเขาพึงเข้าใจว่า เมื่อเราเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า เราจะรุ่งเรือง

  • ตามสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากประสบการณ์ของชาวนีไฟ พระผู้เป็นเจ้าจะประทานพรคนที่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ด้วยวิธีใดบ้าง

เพื่อเสริมหลักธรรมนี้ เตือนนักเรียนให้นึกถึงประสบการณ์ของประธานอุคท์ดอร์ฟเมื่อท่านสงสัยว่าคำสัญญาของพระเจ้าที่ให้ไว้ในพระคำแห่งปัญญาจะเป็นจริงหรือไม่ จากนั้นให้อ่านคำกล่าวที่เหลือ ดังนี้

“คำตอบไม่ได้มาทันที แต่ข้าพเจ้าเรียนรู้ในท้ายที่สุดว่าคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าไม่เกิดสัมฤทธิผลอย่างรวดเร็วหรืออย่างที่เราหวังเสมอไป คำตอบมาตามจังหวะเวลาและวิธีของพระองค์ หลายปีต่อมาข้าพเจ้าได้เห็นหลักฐานชัดเจนของพรทางโลกที่มาถึงผู้เชื่อฟังพระคำแห่งปัญญา—นอกเหนือจากพรทางวิญญาณที่เกิดขึ้นทันทีจากการเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อมองย้อนกลับไปข้าพเจ้าทราบแน่นอนว่าคำสัญญาของพระเจ้า แม้ไม่รวดเร็วเสมอไป แต่แน่นอนเสมอ” (ดู “จงอดทนต่อไป,” หน้า 72)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • พระเจ้าประทานพรหรือทำให้ท่านรุ่งเรืองเพราะการรักษาพระบัญญัติของพระองค์เมื่อใด จากประสบการณ์ของท่าน ท่านจะแบ่งปันประจักษ์พยานอะไรเกี่ยวกับพระเจ้าและคำสัญญาของพระองค์

ออมไน 1:1–30

ผู้รักษาบันทึกเล่าประวัติศาสตร์ชาวนีไฟ

แนะนำหนังสือของออมไนพอสังเขปโดยอธิบายว่าหนังสือนี้เขียนโดยผู้สืบตระกูลของเจรอมและครอบคลุมประมาณ 230 ปี เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านหนังสือของออมไนเร็วๆ เพื่อบอกชื่อคนเก็บรักษาแผ่นจารึกเล็กต่อจากเจรอม เพื่อช่วยให้นักเรียนพบชื่ออย่างรวดเร็ว ท่านอาจจะให้พระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้: ออมไน 1:1, 4, 8, 10, 12, 25

อธิบายว่าหนังสือของออมไนบรรยายเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของผู้คนในพระคัมภีร์มอรมอน กล่าวถึงผู้คนของเซราเฮ็มลา (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าชาวมิวเล็ค) และโคริแอนทะเมอร์ (ชาวเจเร็ดคนสุดท้าย) อีกทั้งเล่าพอสังเขปด้วยว่าชาวนีไฟย้ายไปอยู่เซราเฮ็มลาและรวมกับชาวมิวเล็คอย่างไร ท่านอาจต้องการให้นักเรียนดูลำดับเหตุการณ์ในที่คั่นหนังสือของพระคัมภีร์มอรมอน (หมายเลขกำกับ 32336 425) และช่วยให้พวกเขาค้นพบการรวมตัวกันของชาวนีไฟกับชาวมิวเล็ค ให้นักเรียนหาชื่อโคริแอนทะเมอร์ใต้หัวข้อ “ชาวเจเร็ด” ในที่คั่นหนังสือด้วย

วาดแผนที่ในหน้านี้ไว้บนกระดาน แต่ไม่ต้องวาดลูกศร กระตุ้นนักเรียนให้ลอกแผนที่ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา

ภาพ
Map Nephite Migration

เตือนนักเรียนว่าในสมัยของนีไฟ ชาวนีไฟแยกจากชาวเลมันและตั้งรกรากในที่แห่งหนึ่งเรียกว่าแผ่นดินแห่งนีไฟ บนแผนที่ ให้วาดลูกศรจากแผ่นดินแห่งมรดกแต่แรกเริ่มไปยังแผ่นดินแห่งนีไฟ ขอให้นักเรียนอ่าน ออมไน 1:12–13 ในใจและระบุว่าชาวนีไฟมาอยู่ในแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลาอย่างไร ขณะนักเรียนบอกสิ่งที่พบ ให้วาดลูกศรจากแผ่นดินแห่งนีไฟไปแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลา ชี้ให้เห็นว่า ออมไน 1:12–13 สอนว่า พระเจ้าทรงจัดเตรียมการนำทางให้คนชอบธรรม

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ออมไน 1:14–19 ขอให้ชั้นเรียนมองหาความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างชาวนีไฟกับผู้คนที่พวกเขาพบในแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลา เชิญนักเรียนสองสามคนบอกสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

สรุป ออมไน 1:20–22 โดยอธิบายว่าผู้คนของเซราเฮ็มลาพบโคริแอนทะเมอร์ผู้รอดชีวิตหนึ่งในสองคนสุดท้ายของประชาชาติเจเร็ด (อีกคนหนึ่งคือศาสดาพยากรณ์อีเธอร์) ชี้ให้ดูแผ่นดินรกร้างบนแผนที่ และอธิบายว่านี่เป็นสถานที่ในแผ่นดินทางเหนือที่ “กระดูก [ของผู้คนชาวเจเร็ด] กองเกลื่อนกลาด” หลังจากพวกเขาถูกทำลาย (ออมไน 1:22) บอกนักเรียนว่าพวกเขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับชาวเจเร็ดเมื่อศึกษาหนังสือของอีเธอร์ ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้เขียนคำว่า ชาวเจเร็ด ในพระคัมภีร์ใกล้กับ ออมไน 1:20–22

วาดลูกศรจากแผ่นดินเซราเฮ็มลาไปแผ่นดินแห่งนีไฟแล้วย้อนกลับไปเซราเฮ็ม-ลา วาดลูกศรอีกอันหนึ่งจากแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลาไปแผ่นดินแห่งนีไฟ ถามนักเรียนว่าพวกเขาอธิบายได้หรือไม่ว่าลูกศรสองอันนี้แทนอะไร หากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือให้สรุป ออมไน 1:27–30 โดยอธิบายว่าคนสองกลุ่มจากเซราเฮ็มพยายามกลับไปแผ่นดินแห่งนีไฟ กลุ่มแรกล้มเหลวและกลับไปเซ-ราเฮ็มลา เมื่ออแมลิไคจบบันทึกของเขา เขากล่าวว่าเขาไม่รู้ชะตากรรมของคนกลุ่มที่สอง บอกนักเรียนว่าพวกเขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ ผู้คนของซีนิฟฟ์ขณะพวกเขาศึกษาหนังสือของโมไซยาห์ ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้เขียน ผู้คนของซีนิฟฟ์ ในพระคัมภีร์ใกล้กับ ออมไน 1:29–30

อธิบายว่าพระคัมภีร์มอรมอนไม่ได้อ้างว่าเป็นบันทึกของคนทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของทวีปอเมริกาสมัยโบราณ นอกจากชาวเจเร็ด ชาวมิวเล็ค และกลุ่มของลีไฮแล้ว อาจมีคนกลุ่มอื่นอีกที่มาทวีปอเมริกา

อธิบายว่าเมื่ออแมลิไคสรุปบันทึกของเขา เขาเขียนคำเชื้อเชิญสำคัญถึงคนที่จะอ่านถ้อยคำของเขา ขอให้นักเรียนอ่านคำเชื้อเชิญของอแมลิไคใน ออมไน 1:25–26 ในใจโดยมองหาความคิดที่เขาพูดซ้ำสามครั้ง (ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ)

  • การมาหาพระคริสต์มีความหมายต่อท่านอย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าคำเชื้อเชิญส่วนหนึ่งของอแมลิไคให้มาหาพระคริสต์คือเขาแนะนำเราให้ทำบางสิ่ง เขียนบนกระดานดังนี้

มาหาพระคริสต์และ …

ให้นักเรียนเปิดดู ออมไน 1:25–26 อีกครั้ง เชื้อเชิญพวกเขาหลายๆ คนให้เติมประโยคบนกระดานโดยใช้วลีจากข้อเหล่านี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ออมไน 1:26 เราจะได้รับพรอย่างไรเพราะทำสิ่งเหล่านี้ (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า ถ้าเรามาหาพระคริสต์และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เราจะได้รับการช่วยให้รอด ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน)

ขอให้นักเรียนเลือกวลีหนึ่งบนกระดาน เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือทำโครงร่างคำพูดสั้นๆ ที่พวกเขาอาจจะใช้พูดในการประชุมศีลระลึกว่าพวกเขาจะมาหาพระคริสต์ในวิธีนั้นได้อย่างไร แนะนำว่าคำพูดของพวกเขาอาจรวมถึง: (1) การอ่าน ออมไน 1:25–26 และอธิบายวลีที่เลือกไว้ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง (2) อ่านพระคัมภีร์เพิ่มเติมที่อธิบายหรือเพิ่มความหมายของวลีนั้น (3) แบ่งปันประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องจากชีวิตของพวกเขาหรือจากชีวิตของคนที่พวกเขารู้จัก หรือ (4) แบ่งปันความคิด ความรู้สึก และประจักษ์พยานของพวกเขา (ท่านอาจต้องการเขียนคำแนะนำเหล่านี้ไว้บนกระดาน ทำเป็นเอกสารแจก หรืออ่านออกเสียงเพื่อให้นักเรียนจดไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา)

ให้เวลานักเรียนเตรียมคำพูดหกถึงเจ็ดนาที เชิญนักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันคำพูดหน้าชั้นเรียน (ถ้าไม่มีเวลาทำเช่นนี้ ท่านอาจขอให้บางคนแบ่งปันคำพูดตอนเริ่มบทเรียนคราวหน้าหรือเป็นส่วนหนึ่งของการให้ข้อคิดทางวิญญาณในชั้นเรียนครั้งต่อไป) ท่านอาจจะกระตุ้นพวกเขาให้แบ่งปันคำพูดที่การสังสรรค์ในครอบครัวหรือในการสนทนากับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อน) สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าถ้าเรามาหาพระคริสต์และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เราจะได้รับการช่วยให้รอด

การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

แนะนำให้นักเรียนรู้จักข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อใหม่สองสามข้อ ทำเช่นนี้โดยเขียนอ้างอิงหลายๆ ข้อบนกระดานและขอให้นักเรียนหาและอ่านข้อนั้นในพระคัมภีร์ของพวกเขา ท่านอาจกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อเหล่านั้นให้ชัดเจนเพื่อพวกเขาจะหาเจอได้โดยง่าย เพื่อช่วยให้นักเรียนจำข้อพระคัมภีร์อ้างอิงและคำสำคัญของข้อเหล่านั้นได้ ท่านอาจใช้กิจกรรม “การฝึกยิงเป้า” ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้

หมายเหตุ: ท่านอาจต้องการใช้กิจกรรมนี้ในอีกวันหนึ่งเมื่อท่านมีเวลามากกว่านี้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

ออมไน 1:14–15 ผู้คนในพื้นที่ของทวีปอเมริกา

หลังจากกษัตริย์โมไซยาห์และผู้ติดตามเขาหนีไปแผ่นดินแห่งนีไฟ พวกเขาค้นพบคนกลุ่มหนึ่งเรียกว่าผู้คนของเซราเฮ็มลา (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าชาวมิวเล็ค) นอกจากชาวมิวเล็ค กลุ่มของลีไฮ และชาวเจเร็ดแล้ว อาจจะมีอีกหลายกลุ่มที่มาทวีปอเมริกา พระคัมภีร์มอรมอนไม่ได้อ้างว่าเป็นบันทึกของคนทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ของทวีปอเมริกาสมัยโบราณ ประธานแอนโธนี ดับเบิลยู. ไอวินส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า

“เราจะต้องระวังในข้อสรุปที่เราได้ พระคัมภีร์มอรมอนสอนประวัติของผู้คนที่โดดเด่นสามกลุ่ม … ผู้มาจากโลกเก่ามาสู่ทวีปนี้ แต่ไม่ได้บอกเราว่าไม่มีใครอยู่ที่นี่ก่อนพวกเขา ไม่ได้บอกเราว่าไม่มีใครมาหลังจากนั้น และด้วยเหตุนี้ถ้ามีการค้นพบซึ่งบอกความแตกต่างในชาติกำเนิด ย่อมสามารถอธิบายได้ง่ายมากและอย่างมีเหตุผลเพราะเราเชื่อว่ามีคนอื่นมาทวีปนี้” (ใน Conference Report, Apr. 1929, 15)

พิมพ์